สังคมมุสลิมต้องการความรัก ความสามัคคี
พี่น้องผู้ร่วมละหมาดญุมอัตที่เคารพรักทั้งหลาย
ก่อนอื่นก็ขอความสันติสุขจงมีแด่พวกเราทุกคน ขอให้พวกเราทุกคนชุกูรต่อเอกองค์อัลลอฮฺ ที่พระองค์ยังให้โอกาสพวกเราได้ทำหน้าที่ในฐานะเป็นบ่าวที่ดี และขอให้พวกเราจงตักวาต่อพระองค์ เพราะการตักวาเท่านั้นจะทำให้พวกเราประสบกับความสำเร็จทั้งดุนยาและอาคิเราะฮฺ ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า
( وَاتَّقُوا اللَّهَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ) (سورة آل عمران: 200)
ความว่า "พวกเจ้าจงตักวาต่ออัลลอฮฺเถิดเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ(ทั้งดุนยาและอาคิเราะฮฺ)"
พี่น้องผู้ร่วมละหมาดญุมอัตที่เคารพรักทั้งหลายหากเราติดตามข่าวสารไม่ว่าตามหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรืออินเทอร์เน็ต จะสังเกตเห็นได้ว่าสังคมของเรา ณ วันนี้มีความวุ่นวาย ความไม่เข้าใจกัน ความแตกแยก เกิดขึ้นอันส่งผลทำให้สังคมของเรามีความอ่อนแอลง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ที่พวกเราจะต้องมีความรัก ความสมัครสมาน สามัคคี หากจะแตกต่างกันในด้านความคิดเห็น แต่ก็ต้องไม่นำไปสู่ความแตกแยก ต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อปรับปรุงแก้ไขและหาทางออกที่ดี ทั้งนี้ก็เพราะอิสลามได้ห้ามและไม่อนุญาตให้เกิดความแตกแยก ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
(وَاعْتَصِمُوا بِحَبْلِ اللَّهِ جَمِيعاً وَلا تَفَرَّقُوا وَاذْكُرُوا نِعْمَتَ اللَّهِ عَلَيْكُمْ إِذْ كُنْتُمْ أَعْدَاءً فَأَلَّفَ بَيْنَ قُلُوبِكُمْ فَأَصْبَحْتُمْ بِنِعْمَتِهِ إِخْوَاناً وَكُنْتُمْ عَلَى شَفَا حُفْرَةٍ مِنَ النَّارِ فَأَنْقَذَكُمْ مِنْهَا كَذَلِكَ يُبَيِّنُ اللَّهُ لَكُمْ آيَاتِهِ لَعَلَّكُمْ تَهْتَدُونَ) (سورة آل عمران: 103)
ความว่า “และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกของอัลลอฮฺ(ศาสนาของอัลลอฮฺ)ในทุกๆส่วนทั้งหมด และจงอย่าแตกแยกกัน
และจงรำลึกถึงความเมตตาของอัลลอฮฺที่มีต่อพวกเจ้า ขณะที่พวกเจ้าเป็นศัตรูกัน แล้วพระองค์ได้ทรงทำให้หัวใจของพวกเจ้ามีความสนิทสนมกัน
และพวกเจ้าก็กลายเป็นพี่น้องกันด้วยความเมตตาของพระองค์
และพวกเจ้าเคยอยู่บนปากหลุมของไฟนรก แล้วพระองค์ก็ทรงช่วยพวกเจ้าให้พ้นจากปากหลุมแห่งไฟนรกนั้น
ในทำนองนั้นแหละ อัลลอฮฺจะทรงชี้แจงแก่พวกเจ้าซึ่งโองการต่างๆของพระองค์ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับแนวทางอันถูกต้อง"
จากอายะฮฺข้องต้น ท่านอิมามอิบนุ กะษีร(2/85) ได้อธิบายว่าอัลลอฮฺทรงรับสั่งให้มีความสามัคคีในญะมาอะฮฺและทรงห้ามความแตกแยก และอายะฮฺนี้ยังได้กล่าวถึงเผ่าอาวสฺและค็อซร็อจญ์แห่งนครมะดีนะฮฺ ซึ่งเป็นการเตือนสติว่า ในสมัยญาฮีลียะฮฺนั้น ทั้งสองเผ่าเป็นศัตรูกัน มีการรบราฆ่าฟันกันอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งการใช้ชีวิตของพวกเขาก็เป็นการใช้ชีวิตตามความใคร่ ความรู้สึกของตนอย่างไม่มีขอบเขตและยังมีการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺอีกด้วย เสมือนหนึ่งว่าพวกเขากำลังอยู่บนปากเหวแห่งไฟนรกเกือบจะตกลงไปอยู่แล้ว แต่ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺพระองค์ได้ทรงประทานอิสลามและอีมานมายังพวกเขา ทำให้พวกเขารอดพ้นจากการตกลงไปในนรกอีกทั้งพวกเขาก็กลายเป็นพี่น้องกัน มีความรัก ความสามัคคีต่อกัน และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่านการสร้างความรัก ความสามัคคีในสังคมนั้น เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน เราจะต้องช่วยกันทำให้สังคมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
(وَإِنَّ هَذِهِ أُمَّتُكُمْ أُمَّةً وَاحِدَةً وَأَنَا رَبُّكُمْ فَاتَّقُونِ) (سورة المؤمنون: 52)
ความว่า “แท้จริงนี่คือประชาชาติของพวกเจ้า เป็นประชาชาติเดียวกัน และข้าคือพระเจ้าของพวกเจ้า ฉะนั้นพวกเจ้าจงยำเกรงต่อข้าเถิด ”
ท่านอะบู มูซา อัล-อัชอะรีย์ได้รายงานว่า ท่านนบีได้กล่าวว่า
"المؤمن للمؤمن كالبنيان يشد بعضه بعضاً ، وشبك بين أصابعه" متفق عليه
“ความสัมพันธ์ระหว่างมุอฺมินนั้น เปรียบเสมือนกับสิ่งก่อสร้างที่ส่วนหนึ่งจะต้องประสานกับอีกส่วนหนึ่ง และท่านนบีก็ได้ประสานนิ้วมือทั้งสองข้าง”
จากหะดีษบทนี้เราสามารถเข้าใจและเห็นภาพได้เลยว่า ลักษณะของสิ่งก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นตึก อาคาร หรือบ้านเรือนนั้น จะต้องยึดเหนี่ยวกันและกันในทุกๆด้าน เพื่อเกิดความแข็งแรง มั่นคงและทนทานของตัวอาคาร เช่นเดียวกัน การใช้ชีวิตในสังคมของบรรดามุอฺมินก็ต้องจับมือประสานกัน ผู้ที่แข็งแรงกว่าก็ช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า ผู้ที่ร่ำรวยก็ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ยากจน ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ให้ความรักความเมตตาต่อผู้เยาว์ และผู้เยาว์ก็ต้องให้เกียรติและเชื่อฟังผู้ใหญ่ นอกจากนั้นสมาชิกในสังคมก็จะต้องช่วยกันสอดส่องดูแลให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ช่วยกันขจัดภัยอันตรายต่างๆที่จะเล็ดลอดเข้ามาในสังคมของเรา และเมื่อใดก็ตามที่พี่น้องในสังคมของเราได้รับความเดือดร้อน สมาชิกที่เหลือก็ต้องยื่นมือให้ความช่วยเหลือทันที เพราะอิสลามถือว่าความเดือดร้อนของมุอฺมินแต่ละคนเป็นความเดือดร้อนที่มุอฺมินทุกคนต้องมีความรู้สึกร่วมกัน
ดังที่ท่านนบี ได้กล่าวว่า
"مثل المؤمنين فى توادهم وتراحمهم وتعاطفهم مثلُ الجسد الواحد إذا اشتكى منه عضو تداعى له سائر الجسد بالسهر والحمى" رواه البخارى ومسلم
“บรรดามุอฺมิน ในด้านความรัก ความเอื้ออาทร และปรองดองที่มีให้กันและกันนั้น เปรียบเสมือนกับร่างกายเดียวกัน
เมื่อใดก็ตามที่อวัยวะส่วนหนึ่งได้รับบาดเจ็บแล้ว ก็จะส่งผลต่ออวัยวะส่วนที่เหลือในการอดหลับอดนอนเพราะความเจ็บปวดที่ได้รับด้วยเช่นกัน”
พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่านสำหรับสาเหตุที่จะทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมของเรานั้น โดยส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากการไม่ระมัดระวังคำพูด ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม มีหะดีษมากมายที่กำชับให้มีความระมัดระวังคำพูด อาทิเช่น ท่านนบีได้กล่าวว่า
"المسلم من سلم المسلمون من لسانه ويده "
“มุสลิมคือผู้ที่บรรดามุสลิมได้รับความปลอดภัยจากลิ้นและมือของเขา ”
กล่าวคือคุณลักษณะของมุสลิมตามหะดีษนี้ ก็คือ เป็นบุคคลที่ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำ
ท่านนบีกล่าวอีกว่า
"من كان يؤمن بالله واليوم الآخر فليقل خيراً أو ليصمت"
“ผู้ใดก็ตามที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ เขาจงพูดในสิ่งที่ดี หรือไม่ก็จงนิ่งเฉยเสีย”
ท่านอิมามอัช-ชาฟิอีย์ได้อธิบายว่า เมื่อใดก็ตามที่เขาต้องการจะพูด ก็จงคิดไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน ถ้าหากมีความแน่ใจว่าไม่มีพิษไม่มีภัยก็จงพูด แต่ถ้าหากคิดว่ามันอาจจะเกิดความเสียหายก็จงนิ่งเฉยเสีย
ในหะดีษยังมีอีกว่า
"من كثر كلامه كثر سقطه ومن كثر سقطه كثرت ذنوبه ومن كثرت ذنوبه فالنار أولى به"
“ใครก็ตามที่พูดมาก ความผิดของเขาก็ย่อมมาก และเมื่อความผิดมาก บาปของเขาก็จะมาก และผู้ใดมีบาปมาก นรกเท่านั้นที่เหมาะสมสำหรับเขา”
พี่น้องผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺทุกท่าน
คำพูดที่เป็นสาเหตุของความแตกแยกมีหลายลักษณะ ดั่งที่อัลลอฮฺได้ตรัสในซูเราะฮฺอัลหุญุร็อต อายะฮฺที่ 11และ12ว่า
(يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لا يَسْخَرْ قَوْمٌ مِنْ قَوْمٍ عَسَى أَنْ يَكُونُوا خَيْراً مِنْهُمْ وَلا نِسَاءٌ مِنْ نِسَاءٍ عَسَى أَنْ يَكُنَّ خَيْراً مِنْهُنَّ وَلا تَلْمِزُوا أَنْفُسَكُمْ وَلا تَنَابَزُوا بِالْأَلْقَابِ بِئْسَ الِاسْمُ الْفُسُوقُ بَعْدَ الْإِيمَانِ وَمَنْ لَمْ يَتُبْ فَأُولَئِكَ هُمُ الظَّالِمُونَ، يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اجْتَنِبُوا كَثِيراً مِنَ الظَّنِّ إِنَّ بَعْضَ الظَّنِّ إِثْمٌ وَلا تَجَسَّسُوا وَلا يَغْتَبْ بَعْضُكُمْ بَعْضاً أَيُحِبُّ أَحَدُكُمْ أَنْ يَأْكُلَ لَحْمَ أَخِيهِ مَيْتاً فَكَرِهْتُمُوهُ وَاتَّقُوا اللَّهَ إِنَّ اللَّهَ تَوَّابٌ رَحِيمٌ) (سورة الحجرات: 11-12)
ความว่า “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย ชนกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยชนอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีกลุ่มชนที่ถูกเยาะเย้ยนั้นจะดีกว่ากลุ่มชนที่เยาะเย้ย
และสตรีกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยสตรีอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีกลุ่มสตรีที่ถูกเยาะเย้ยจะดีกว่ากลุ่มที่เยาะเย้ย
และพวกเจ้าอย่าได้ใส่ร้ายตัวเอง(การใส่ร้ายผู้อื่นก็เหมือนการใส่ร้ายตัวเอง เพราะมุสลิมคือร่างกายเดียวกัน) และอย่าได้ล้อเลียนกันด้วยการตั้งฉายาที่ไม่ดี
ช่างเลวทรามจริงๆที่บรรดาผู้ศรัทธาถูกเรียกว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนภายหลังที่ได้มีการศรัทธาแล้ว และผู้ใดไม่สำนึกผิด ชนเหล่านั้นคือบรรดาผู้อธรรม
โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกเจ้าจงห่างไกลจาก ความสงสัยต่างๆ(ที่เป็นการให้ร้ายผู้อื่น) เพราะการสงสัยบางอย่างนั้นเป็นบาป และจงอย่าสอดแนม
และจงอย่านินทาลับหลังกัน ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายแล้วกระนั้นหรือ ทั้งๆที่พวกเจ้ารังเกียจมัน
(การนินทาเปรียบเสมือนการกินเนื้อคนตาย)
และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงให้อภัยและเป็นผู้ทรงเมตตาเสมอ”
ท่านอะบูฮุร็อยเราะฮฺ ได้รายงานว่า มีเศาะฮาบะฮคนหนึ่งถามท่านนบีว่า
"قيل : يارسول الله ،ما الغيبة ؟ قال: ذكرك أخاك بما يكره ، قيل : أفرأيت إن كان في أخي ما أقول ؟ قال: إن كان فيه ما تقول فقد اغتبته ، وإن لم يكن فيه ما تقول فقد بهته"
ความว่า “โอ้ท่านเราะซูลุลลอฮฺ การนินทาคืออะไร?
ท่านนบีตอบว่า การที่ท่านพูดถึงพี่น้องของท่านในเรื่องที่เขาไม่ชอบ
เศาะฮาบะฮฺคนนั้นได้ถามต่อว่า ถ้าหากว่าเรื่องที่ฉันพูดถึงนั้นเป็นเรื่องจริงล่ะ ท่านจะว่าเช่นไร
ท่านนบีตอบว่า ถ้าหากว่าสิ่งที่ท่านพูดถึงเป็นเรื่องจริงนั่นก็หมายความว่าท่านได้นินทาเขาแล้ว และถ้าหากว่าสิ่งที่ท่านพูดถึงนั้นเป็นเรื่องไม่จริง ก็หมายความว่าท่านได้ปรักปรำเขา”
พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่านนอกจากคำพูดแล้ว ฤติกรรมและลักษณะนิสัยบางอย่างก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดความแตกแยกเช่นเดียวกัน ซึ่งอิสลามก็ได้ห้ามไว้ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสในอายะฮฺข้างต้นว่า
ولا تجسسوا ความว่า "และจงอย่าได้มีการสอดแนม"
และท่านนบีได้กล่าวอีกว่า
"لا تجسسوا ولاتحسسوا ولا تباغضوا ولا تدابروا وكونوا عباد الله إخوانا"
“พวกท่านทั้งหลายจงอย่าได้สอดแนม อย่าแอบฟังการพูดคุยของคนอื่น อย่าได้โกรธกัน หรือเกลียดชังกัน และอย่าทะเลาะกัน
จงเป็นบ่าวของอัลลอฮฺที่มีความรักฉันท์พี่น้องกันเถิด”
และหะดีษอีกบทหนึ่งท่านนบีกล่าวว่า
"لا تحاسدوا ولا تناجشوا ولا تباغضوا ولا تدابروا، ولا يبع بعضكم على بيع بعض. وكونوا عباد الله إخوانا. المسلم أخو المسلم، لا يظلمه، ولا يخذله ولا يكذبه ولا يحقره. التقوى ها هنا ـ ويشير إلى صدره ثلاث مرات ـ بحسب امرئ من الشر أن يحقر أخاه المسلم ، كل المسلم على المسلم حرام دمه، وماله وعرضه". رواه مسلم
“พวกท่านทั้งหลายจงอย่าอิจฉาริษยากัน จงอย่าคดโกงกัน จงอย่าเกลียดชังกัน จงอย่าทะเลาะกัน จงอย่าเบียดเบียนในการซื้อขายของผู้อื่น
และขอให้พวกท่านทั้งหลายเป็นบ่าวของอัลลอฮฺที่มีความรักฉันท์พี่น้องกัน มุสลิมด้วยกันนั้นคือพี่น้องกัน จะต้องไม่ทำร้ายกัน ไม่ทำให้เขาต้องเสียใจ
ไม่โกหกหลอกลวงกัน ไม่ดูถูกเหยียดหยามกัน ความยำเกรง(ตักวา)นั้นอยู่ตรงนี้(แล้วท่านนบีก็ชี้ที่หน้าอกของท่านสามครั้ง) และท่านกล่าวต่อไปอีกว่า
เป็นการเพียงพอแล้วที่จะเรียกว่า คนเลว สำหรับคนที่ดูถูกเหยียดหยามพี่น้องมุสลิมด้วยกัน
มุสลิมทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองไว้ ซึ่งชีวิต ทรัพย์สินและเกียรติของเขา”
พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่านจากอายะฮฺอัลกุรอานและหลายๆหะดีษข้างต้นต่างก็กำชับอย่างหนักแน่นว่า ศรัทธาชนทั้งหลายเป็นพี่น้องกัน ฉะนั้นสิทธิต่างๆของพี่น้องของเรา เราก็จะต้องปกปักษ์รักษา จะต้องไม่ละเมิด และที่สำคัญเราจะต้องรักพี่น้องผู้ร่วมศรัทธาของเราเหมือนกับที่เรารักตัวของเราเอง ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราจะได้เอาใจเขามาใส่ใจเราและเราก็จะไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว ความรักในลักษณะนี้ยังเป็นมาตรวัดอีมานของมุสลิมแต่ละคนอีกด้วย ดังที่ท่านนบีได้กล่าวว่า
"لا يؤمن أحدكم حتى يحب لأخيه ما يحب لنفسه"
“อีมานของคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านจะยังไม่สมบูรณ์จนกว่าเขาจะรักพี่น้องของเขา เหมือนกับที่เขารักตัวของเขาเอง ”
พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่านความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกในสังคมมีความรักอันบริสุทธิ์ใจให้แก่กัน ให้อภัยในความผิดพลาดที่ผ่านพ้นไป และห่างไกลจากคำพูดและพฤติกรรมต่างๆที่เป็นสาเหตุของความแตกแยกตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า สังคมของเราต้องการความรัก ความสามัคคี เพื่อเป็นฐานอันมั่นคง และเป็นเกราะกำบังที่แข็งแรงที่จะต่อสู้และปกป้องภัยอันตรายต่างๆ และในที่สุดสังคมก็จะมีความเข้มแข็งและสงบสุข
أعوذ بالله من الشيطان الرجيم
(إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ إِخْوَةٌ فَأَصْلِحُوا بَيْنَ أَخَوَيْكُمْ وَاتَّقُوا اللَّهَ لَعَلَّكُمْ تُرْحَمُونَ) (سورة الحجرات: 10)ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า
และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา”
بارك الله لي ولكم في القرآن العظيم، ونفعني وإياكم بما قيه من الآيات والذكر الحكيم، وتقبل مني ومنكم تلاوته إنه هو السميع العليم، وأستغفر الله لي ولكم ولسائر المسلمين من كل ذنب فاستغفروه إنه هو الغفور الرحيم.
ชุดคุฏบะฮฺญุมอัต ณ มัสยิดวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีโดย อัสมัน แตอาลี อาจารย์ประจำภาควิชาอิสลามศึกษา วอศ. มอ.ปัตตานี