ศัลยกรรมความงาม
  จำนวนคนเข้าชม  26271


ศัลยกรรมความงาม

เรียบเรียงโดย อับดุศเศาะมัด สง่าบ้านโคก

 

          ย่อมเป็นธรรมดาที่เหล่าสตรีและบุรุษทุกวัยต่างก็รักสวยรักงาม โดยเฉพาะเหล่าสตรีนั้นต่างก็อยากที่จะมีรูปโฉม ใบหน้า และผิวพรรณ ที่นวลเนียนน่าสัมผัส เพราะรูปร่างและใบหน้าเป็นจุดโฟกัสที่เจ้าของต่างพยายามรักษาและทะนุถนอมไว้ จนทำให้เครื่องสำอางชนิดต่างๆ ขายดิบขายดีไปตามๆกัน


          ณ ที่นี้ เราขอนำท่านให้รู้ถึงจุดยืนของอิสลามเกี่ยวกับเรื่องการทำศัลยกรรมความงาม ทำไมอิสลามต้องพูดถึงเรื่องนี้ แน่นอนเพราะอิสลามได้ให้ความสำคัญกับมนุษย์ในทุกแง่มุมของการดำเนินชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้คุณหรือให้โทษกับมนุษย์ เราจะพบว่าอิสลามได้พูดถึงสิ่งนั้นและได้ระบุบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวข้องไว้ ด้วย


อนึ่งการทำศัลยกรรมความงามนั้นแบ่งออกเป็นสองประเภท


     ประเภทที่ 1 การทำศัลยกรรมโดยเจตนาทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ แต่ทำไปเพียงเพื่อให้ได้รูปทรงสวยงามขึ้นหรือเพื่อคงความสาวไว้ เช่นการดึงผิวหนังสำหรับผู้ที่มีหน้าเหี่ยวย่น


     ประเภทที่ 2 การทำศัลยกรรมเนื่องจากความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเพราะจากอุบัติเหตุหรืออวัยวะมีตำหนิมาตั้งแต่กำเนิด


          การทำศัลยกรรมในประเภทที่ 2 นี้เป็นที่อนุมัติตามหลักศาสนบัญญัติ และเพื่อความกระจ่างมากขึ้นเราขออธิบายเพิ่มเติมว่า อวัยวะหรือส่วนที่มีตำหนิในร่างกายของมนุษย์นั้นเกิดมาจากสองสาเหตุ


     1.อวัยวะที่มีตำหนิมาตั้งแต่กำเนิด หรือเป็นผลกระทบที่ได้รับมาจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น ปากแหว่ง นิ้วมือนิ้วเท้าติดกัน ไม่มีช่องถ่ายปัสสาวะ ระบบขับถ่ายมีความผิดปกติ และแผลเป็นอันเนื่องมาจากโรค เป็นต้น


     2.อวัยวะที่มีตำหนิอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ เช่น แผลเป็น แผลไฟไหม้ แผลจากการโดนของมีคม นิ้วมือนิ้วเท้าติดกันเพราะถูกไฟครอก เป็นต้น


          แม้ว่าการทำศัลยกรรมประเภทนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความสวยงามที่เป็น ผลตามมาทีหลัง กระนั้นก็ยังมีเหตุผลเพียงพอที่ควรได้รับการอนุมัติให้กระทำได้ เพราะแน่นอนเหลือเกินว่าสิ่งที่น่าตำหนิประเภทนี้มีผลกระทบทางลบในความ รู้สึกของเจ้าของ และเป็นที่ยอมรับกันในวงการแพทย์


           ด้วยความประเสริฐของอิสลาม ศาสนบัญญัติได้เปิดโอกาสให้ผู้ประสบเหตุดังกล่าวสามารถทำศัลยกรรมได้ ด้วยเหตุผลคือ อวัยวะที่มีตำหนิประเภทนี้เป็นที่ยอมรับกันว่ามีผลกระทบในทางลบแก่ผู้ที่ ประสบทั้งความรู้สึกและรูปลักษณ์ (รูปธรรมและนามธรรม) เข้าข่ายหลักนิติธรรมที่ว่า "ความจำเป็นทั่วไปอยู่ในฐานะเดียวกับความจำเป็นขั้นคับขัน ไม่ว่าสภาวะของมันจะครอบคลุมทั่วทุกคน หรือเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ตาม"

 

           การอนุมัติให้กระทำดังกล่าวไม่ได้ขัดแย้งกับหลักฐานที่ห้ามไม่ให้ทำการ เปลี่ยนแปลงต่อสิ่งที่อัลลอฮสร้างมา และไม่ได้ขัดแย้งกับหุกุ่มที่ว่าด้วยการห้ามทำศัลยกรรมความงามแต่อย่างใด สาเหตุที่อนุญาตเช่นนั้นเป็นเพราะ


     1.มีความจำเป็นต้องทำจึงถูกยกเว้นจากหลักฐานที่ต้องห้าม ท่านอิมามนะวาวีย์ ได้อธิบายฮาดีษที่ว่า (ผู้ที่ตกแต่งฟันเพื่อความสวยงาม) คือ การจัดฟันที่มีความถี่กันให้ห่างออก เพื่อให้ดูสวยมีเสน่ห์ยิ่งขึ้น การกระทำดังกล่าวเป็นที่ต้องห้ามก็ต่อเมื่อทำเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่หากทำเพราะความจำเป็น เช่นเพื่อบำบัดรักษาหรือเพราะฟันมีตำหนิก็ถือว่าไม่เป็นไร


     2. การทำศัลยกรรมประเภทนี้ไม่ถือว่ามีเจตนาเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงอวัยวะที่อัลลอฮฺทรงห้ามมาแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะเพื่อขจัดสิ่งที่ให้โทษหรือมีผลกระทบต่อผู้ประสบ ถึงแม้ว่ามีผลดีต่อความสวยงามก็ตาม


     3. การักษาอวัยวะที่มีตำหนิเนื่องมาจากอุบัติเหตุนั้นไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยน แปลงรูปเดิมที่อัลลอฮฺทรงสร้างมา เพราะการทำศัลยกรรมดังกล่าวเพื่อที่จะทำให้อวัยวะกลับคืนสู่ภาวะปกติหรือ ใกล้เคียงสภาพเดิมมากที่สุด


     4. การศัลยกรรมประเภทนี้ เข้าข่ายการเยียวยามากกว่าการทำเพื่อความงาม


           จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นถือว่าไม่เป็นความผิดใดๆแก่แพทย์และผู้ป่วย ที่จะทำศัลยกรรมประเภทนี้ ทั้งยังเป็นที่อนุมัติให้กระทำได้แค่ว่าการอนุมัตินั้นจะต้องว่างอยุ่บนพื้นฐานของความจำเป็นและมีเหตุผลเพียงพอ ส่วนการทำศัลยกรรมอวัยวะที่มีตำหนิอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุหรือโรคร้ายนื้น เป็นที่อนุมัติโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เพราะถือว่าเป็นการเยียวยา


          ความจำเป็นดังกล่าวนั้นอาจจะถึงขั้นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการ ผ่าตัดเช่น ผ่าตัดเพื่อรักษาดรคบางอย่างที่ร้ายแรง หรือการผ่าตัดที่สืบเนื่องมาจากอุปสรรคในการคลอด หรืออาจจะเป็นความจำเป็นธรรมดา เช่น การผ่าศพเพื่อทำการศึกษา และการผ่าเพื่อตรวจโรค เป็นต้น หรืออาจจะอยู่ในขั้นต่ำกว่านั้นเช่น การผ่าตัดเล็ก บางทีอาจจะเป็นการอนุญาตโดยตรงจากบทบัญญัติ เช่นการสุนัต(อัลคีตาน)

 

          การทำศัลยกรรมที่ต้องห้ามนั้นคือการทำศัลยกรรมความงามในประเภทแรกหรือการดึงผิวหนังที่เหี่ยวย่นให้ดูเต่งตึงขึ้นยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การเสริมดั้งจมูกให้โด่งขึ้นหรือดัดให้เล็กลง การกระชับแก้มหน้าให้เล็กเรียวสวยหรือฟอกคางให้โตขึ้น การเสริมแต่งและฟื้นฟูทรวงอกให้เต่งตึงอวบใหญ่ด้วยการใช้วิธีฉีดฮอร์โมน การตกแต่งใบหูที่กางให้กลับไปข้างหลัง การดูดไขมันและดึงหน้าท้องให้ตึง ตลอดจนการทำศัลยกรรมขจัดรอยย่นบนใบหน้าให้ดูเต่งตึงเพื่อคงความสาว


หลักฐานที่ห้ามการกระทำดังกล่าวมีดังต่อไปนี้


1. อัลลอฮฺทรงกล่าวถึงคำพูดของมารร้ายมีใจความว่า

"และแน่นอนยิ่ง ข้าจะใช้พวกเขา แล้วพวกเขาก็จะทำการเปลี่ยนแปลงการสร้างของอัลลอฮฺ"

อันนิสาอฺ 119

           โองการดังกล่าวได้ตำหนิและอธิบายถึงสิ่งต้องห้ามที่มารร้ายที่มารร้าย ได้ล่อลวงลูกหลานอาดัมให้กระทำกันและในจำนวนสิ่งที่ว่าคือการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่อัลลอฮฺทรงสร้างซึ่งการทำศัลยกรรมเพื่อความงามนั้นก็ถือว่าเข้าข่าย ประเด็นที่ว่านี้เหมือนกัน


2. อับนุมัสอูด เล่าว่า

"ฉันได้ยินท่านรอซูล กล่าวสาปแช่งบรรดาสตรีที่ถอนขนบนใบหน้า(เช่นขนคิ้ว) และผู้ที่ตกแต่งซี่ฟันให้ห่างออกจากกัน เพื่อความสวยงาม

ผู้ซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อัลลอฮฺสร้างมา"

(รายงานโดยบุคอรี 3/199 มุสลิม 3/339)


      3. อิสลามห้ามไม่ให้ทำศัลยกรรมความงามเช่นเดียวกับที่ห้ามการสักลายบนผิวหนัง ด้วยรูปต่างๆ ตลอดจนการขจัดขนบนใบหน้า เนื่องจากการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการละเล่นกับการสร้างสรรค์ของอัลลอฮฺ


     4. การทำศัลยกรรมความงามนั้นเป็นการหลอกลวงและฉ้อฉลต่อผู้อื่น ซึ่งล้วนแล้วเป็นที่ต้องห้ามตามหลักการอิสลามทั้งสิ้น


     5.การทำศัลยกรรมความงามบางประเภทนั้นต้องใช้ยาสลบ ซึ่งถือว่าเป็นที่ต้องห้ามในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่อนุญาตให้กระทำได้ และเป็นการเปิดเผยร่างกายในส่วนที่เป็นเอาเราะห์โดยไม่จำเป็น


     6.การทำศัลยกรรมประเภทนี้ อาจจะให้โทษต่อร่างกายได้ หรืออาจจะมีผลในแง่ลบได้ในภายหลัง


          จากหลักการและเหตุผลข้างต้นจึงไม่อนุญาตให้นายแพทย์และผู้ป่วยทำศัลยกรรมประเภทนี้ตามบทบัญญัติอิสลาม สำหรับเหตุผลและคำกล่าวอ้างต่างๆในเรื่องนี้ ถือว่าไม่ถึงขั้นจำเป็นที่อนุญาตให้กระทำได้

 

          สัจธรรมก็คือสัจธรรม สำหรับวิธีการรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วยประเภทนี้คือการปลูกฝังอีมาน และความเชื่อมั่นต่อกฏสภาวะของอัลลอฮฺ และให้ยืนหยัดอยู่กับคำสอนของอิสลามไว้ตลอดไป

 

 


เนื้อหาโดยสรุปอิงจากหนังสือ "บทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการทำศัลยกรรมของแพทย์" โดย ดร.มูฮัมหมัด อัลมุคตาร อัชชันกีฏีย์ อุลามาอ์ประจำมัสยิดนะบาวี และศาสตราจารย์ภาควิชานิติศาสตร์อิสลาม มหาวิทยาลัยอิสลาม นครมะดีนะฮฺ

 

 

 


www.e-daiyah.com