ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยกับกลุ่มประเทศ GCC
  จำนวนคนเข้าชม  12113

ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจพึ่งพาระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ GCC**

 

นิพล  แสงศรี

 

          การประกอบธุรกิจและการลงทุนกับกลุ่มประเทศ GCC วางอยู่บนหลักชารีอะฮฺ (Shari‘ah) ซึ่งเป็นทั้งระบบกฎหมายและจริยธรรมที่มีความชัดเจน  เอกลักษณ์ดังกล่าวทำให้ธุรกิจและการลงทุนกับกลุ่มประเทศ GCC มีความแตกต่างจากระบบธุรกิจและการลงทุนทั่วๆไป จนกลายเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับและกระจายอยู่ทั่วโลกมุสลิม  ตลอดจนเป็นสาเหตุที่ทำให้ตะวันออกกลางรอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก

          ปัจจุบันพบกองทุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติอาหรับ (Sovereign Wealth Fund) เน้นการลงทุนในตะวันออกกลาง ก่อนจะเบนเข็มไปยังประเทศพัฒนาแล้วทั้งในสหรัฐและกลุ่มยุโรป  หลังจากมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการค้าน้ำมันและการลงทุนในสหรัฐและกลุ่มยุโรป ทุนอาหรับขยับขยายเป้าหมายการลงทุนมาทางเอเชีย  เช่น  จีน อินเดีย มาจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย  โดยประเทศไทยเป็นปลายทางที่ทุนอาหรับกำลังไหลทะลักเข้ามา  ด้วยเหตุนี้เราจึงพบว่า มาเลเซียพยายามผลักดันให้ตนเองกลายเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกมุสลิมโดยมีการผลักดันนโยบายธุรกิจ  การเงิน  การลงทุน  และธนาคารทั่วไปให้หันมาใช้หลักการทางการเงินอิสลามอย่างเต็มรูปแบบ  เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ  จีน  ญี่ปุ่น  และเกาหลีใต้ได้นำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้เพื่อหาทางดึงทุนอาหรับเข้าประเทศ   โดยอาศัยช่องทางที่สำคัญได้แก่


การลงทุน

          ปัจจุบันการลงทุนแบบ  al-Mdharabah  และ  al-Murabahah  กำลังเป็นที่นิยมของลูกค้าทั่วไป เพราะลูกค้าร่วมลงทุนกับธนาคารอิสลามและสถาบันการเงิน  หรือสามารถซื้อบ้าน ที่ดิน  รถยนต์และอื่นๆแม้ว่าจะมีเงินไม่พอ  โดยสามารถผ่อนชำระได้ภายหลังตามข้อตกลง    การลงทุนทั้งสองแบบจึงเหมาะกับธนาคารอิสลามและสถาบันการเงินที่มีเงินทุนสำรองค่อนข้างสูง  เพราะต้องลงทุนจ่ายเงินก้อนหนึ่งไปก่อนจะรับทุนคืนพร้อมกำไรภายหลัง  ดังนั้นควรศึกษาและส่งเสริมระบบธุรกิจและการลงทุนแบบแบ่งปันผลกำไรแทนระบบดอกเบี้ย  ซึ่งเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับจากนักธุรกิจ  นักลงทุน  ตลอดจนสถาบันการเงินและธนาคารอิสลามขนาดใหญ่ในตะวันออกกลาง  โดยอาจจะแต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจตะวันออกกลางขึ้นมากำกับดูแลให้คำปรึกษา 

เช่นเดียวกับการออกมาตรการบางประการเพื่อดึงเงินทุนจากตะวันออกกลาง  โดยกำหนดมาตรการปกป้องนักลงทุนในตลาดการเงินอิสลาม  ปรับเปลี่ยนระบบภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุนตะวันออกกลาง  ตลอดจนจับมือกับสถาบันการศึกษาของประเทศมาเลเซียและเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันนโยบายให้ประสบความสำเร็จ

รวมถึงการเปิดโอกาสให้นักธุรกิจและนักลงทุนจากตะวันออกกลางเข้ามาลงทุนและถือหุ้นในช่องทางต่างๆที่กำลังได้รับความนิยมในประเทศไทย  เช่น  เปิดซื้อขายกองทุนพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์  พันธบัตร  หุ้นของบริษัท  หุ้นบริษัทอสังหาฯ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ  ตะกาฟุลและธุรกิจประกันภัยอิสลาม  บริการซุกูค (เช็ค) ธุรกิจท่องเที่ยว  โรงแรม  รีสอร์ท  และโรงพยาบาล  โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมหรู  โรงแรมแบบประหยัด บ้านพักตากอากาศ  เครือ al-Mulla Group หรือ al-Istithmar Hotels หรือ Dubai Investments Group  ซึ่งมีฐานการลงทุนอยู่ในดูไบ  หรือกลุ่มมาแรงที่สุดคือ al-Nakheel เจ้าของเมกะโปรเจ็กต์ปาล์มจูมีเราะห์และเบิร์กอัลอาหรับร่วมทุนกับกลุ่ม Rotana Hotels ตั้งเป้าเปิดโรงแรม 18 ประเทศ  รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่ขยายเข้ามายังเมืองไทยภายใน 5 ปีข้างหน้า

          นอกจากนั้นยังอาศัยการสนับสนุนการลงทุนร่วมกับอาหรับ เช่น  การร่วมลงทุนก่อสร้างและบริหารโรงแรมใหม่ 4 แห่งรวมกว่า 2,000 ห้องของเครือดุสิตฯ  การส่งไมเนอร์ฯ มุ่งโรงแรม-ร้านอาหาร  การส่งอนันตรา-เดอะพิซซ่า บุกในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (U.A.E.) ส่วนบำรุงราษฎร์ชิมลางโรงพยาบาล 200 เตียง หลังพบตลาดเติบโตต่อเนื่องทุกปี

          การเข้าไปลงทุนในเมืองดูไบและอะบูดาบีนั้น มีเงินหมุนเวียนเกินกว่าปีละ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีแรงงานไทยในปัจจุบันประมาณ 4,000 คน  สิ่งเหล่านี้ทำให้คนไทยมีช่องทางธุรกิจอีกมาก  โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์  การออกแบบอาคารโครงการ  แรงงานคุณภาพ  และพนักงานบริการด้านการโรงแรม

          โอกาสทางการค้าของไทยในตลาดตะวันออกกลางที่ไทยมีศักยภาพสูงที่สุด 5 สาขา ได้แก่ การท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงพยาบาล สปาเพื่อสุขภาพ และการบริการด้านการออกแบบก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างงานให้กับบริษัทจากไทยเป็นอย่างมาก ขณะนี้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังดึงทั้งแรงงานและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก   ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 สาขา ต้องเตรียมปรับกลยุทธ์ไทยแบบฉับพลัน เนื่องจากพฤติกรรมของกำลังซื้อกลุ่มนิยมทัวร์เชิงศาสนา  และเริ่มจะเดินทางแลกเปลี่ยนภายในแถบตะวันออกกลาง 8 ประเทศมากขึ้นเนื่องจากมีความเข้าใจวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชาวมุสลิมด้วยกัน ส่วนเมืองไทยก็ยังเป็นทางเลือกของนักท่องเที่ยวตะวันออกกลางที่พร้อมจะเดินทางเข้ามาช่วงฤดูฝน อัตราการเติบโตจำนวนนักท่องเที่ยวและการใช้เงินแต่ละครั้งสูงกว่าประเทศอื่น

 


สถาบันการเงินและธนาคาร

          แม้ว่าประเทศไทยจะมีธนาคารอิสลาม  แต่มูลค่าตลาดและการเงินยังเล็กเกินกว่าที่สถาบันการเงินและการลงทุนจากตะวันออกกลางจะให้ความสนใจ ดังนั้นรัฐบาลควรเข้ามาช่วยเหลือจัดการด้านตลาดเพื่อหาทางขยายมูลค่าตลาดให้โตขึ้น    ส่วนธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ควรเปิดสาขาในดูไบและบาห์เรน เพื่อความสะดวกแก่ผู้ส่งออกสินค้าไปยังตะวันออกกลางด้วย  ตลอดจนทำให้สาขาดังกล่าวกลายเป็นศูนย์กลางสามารถกระจายสินค้าส่งออกไทยไปยังประเทศอาหรับรอบข้าง

          เช่นเดียวกับการเร่งพัฒนาและยกระดับธนาคารไทยทั่วไป ให้สามารถแข่งขันกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารอิสลามจากตะวันออกกลางหรือกลุ่มประเทศมุสลิม  เพื่อเปิดตลาดในตะวันออกกลาง  หรือเปิดช่องทางให้นักธุรกิจและนักลงทุนจากตะวันออกกลางเข้ามาลงทุนกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยให้มากขึ้น  ตลอดจนเน้นการให้บริการและขยายสินเชื่อที่ครอบคลุมทุกประเภทมากขึ้น  เช่น ที่อยู่อาศัย  รถยนต์  การเดินทาง  การลงทุน  และประกันอิสลามประเภทต่างๆ   การเปิดกองทุนชาริอะฮ์ เพื่อการเลี้ยงชีพ  กองทุนรวมเพื่ออนาคต หรือการลงทุนระยะยาวเพื่อวัยเกษียณ  ตลอดจนปรับปรุงกองทุนประเภทดังกล่าวจนสามารนำไปใช้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี  หรือออกพันธบัตรอิสลามมิก (อิสลามมิกบอนด์)

         รวมทั้งการสนับสนุนธนาคารอิสลามและตลาดหลักทรัพย์  เพื่อหาช่องทางเปิดตลาดหุ้นอิสลาม รวมทั้งการปรับดัชนีหุ้นชารีอะฮฺ (ตามหลักกฎมายอิสลาม) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานโลก เพื่อกระตุ้นการแข่งขันกับแหล่งเงินทุนธุรกิจการเงินอิสลามอื่นๆ  ตลอดจนเดินทางไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง  โดยเฉพาะตลาดหุ้นอิสลาม ดูไบ และตลาดหุ้นชะรีอะฮฺในกรุงริยาด ซาอุดิอาระเบีย

         และเพื่อสร้างฐานความแข็งแกร่งในธุรกิจอิสลาม  ควรจัดสัมมนาทั้งเชิงวิชาการและปฏิบัติการ หรือฝึกอบรมเกี่ยวกับธุรกิจและธนาคารอิสลามอยู่เสมอ  ตลอดจนจัดตั้งสถาบันที่ปรึกษาเกี่ยวกับการเงินการลงทุนและสถาบันศึกษาการเงินอิสลามนานาชาติขึ้นในประเทศไทย


อาหารหะลาล

          ที่ผ่านมาตลาดผู้บริโภคอาหารหะลาลคิดเป็น 1 ใน 3 ของโลก  และภาคใต้ของไทยมีศักยภาพที่เข้มแข็งเพียงพอและเป็นต้นทุนสำคัญ  ดังนั้นภาครัฐควรจะสนับสนุนสินเชื่อเอสเอ็มอีด้านอุตสาหกรรมหะลาลให้มากขึ้น  เช่น  เสื้อผ้า  อัญมณี  อาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหะลาล หากประชาชนมุสลิมไทยระดับรากหญ้ามีแหล่งทุนและตอบรับนโยบาย ก็จะทำให้ประชาชนท้องถิ่นให้มีรายได้มากขึ้น ช่วยคลี่คลายปัญหาปากท้องชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบได้อีกทางหนึ่ง 

ภาครัฐควรประสานงานกับกองทุนการเงินจากประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งมีทิศทางขยายการลงทุนเข้ามาในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ และสนใจนำเงินจำนวนมากเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมหะลาลแบบครบวงจร  เช่น  กลุ่มคูเวตไฟแนนซ์เฮาส์ และกลุ่มกองทุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติอาหรับ (SWF)  รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารทะเล  โดยอาจร่วมทำอุตสาหกรรมประมงน่านน้ำและแปรรูปสัตว์น้ำในน่านน้ำตะวันออกกลางเพื่อตอบสนองการบริโภคอาหารทะเลของผู้บริโภคในตะวันออกกลางให้มากขึ้น


ประการสุดท้าย

          กระชับความสัมพันธ์และติดตามความก้าวหน้าของโครงการความร่วมมือด้านพลังงานต่าง ๆ เพื่อแสวงหาลู่ทางในการพัฒนาแหล่งน้ำมันและแหล่งก๊าซธรรมชาติในต่างประเทศ รวมทั้งการผลิตน้ำมันดิบที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้และจะนำกลับมาใช้ในประเทศเพื่อบรรเทาสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง   ส่งเสริมให้ ปตท. ปตท.สผ. และผู้ประกอบการไทยอื่น ๆ ที่สนใจลงทุนกิจการพลังงานร่วมกับประเทศในตะวันออกกลางผ่านกลไกทางการทูตและความสัมพันธ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 



** กลุ่มประเทศ Gulf Cooperation Council (GCC) ได้แก่  คูเวต การ์ตา บาห์เรน โอมาน  สหรัฐอาหรับเอมิเรต และซาอุดีอาระเบีย