ถึงเวลาที่โลกต้องจารึก
นิพล แสงศรี
เมื่อต้นเดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกจำนวนมากไปประชุมเพื่อเปิดตัว สถาบันแนวคิดเศรษฐศาสตร์ใหม่ (New institutional economics news conference concept) ที่ King College มหาวิทยาลัย Cambridge University เนื่องจากถูกโจมตีอย่างหนักเรื่อง โมเดลทางเศรษฐกิจ
(1) วางบนพื้นฐานคณิตศาสตร์และสถิติ
(2) ตลาดการเงินจะมีประสิทธภาพขึ้นอยู่กับข้อมูล
(3) และถกเถียงกันในระบบเศรษฐศาสตร์ตะวันตกอีกหลายประเด็น
หลายศตวรรษที่ผ่านมามนุษย์เกือบทั่วโลกประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจมากมาย เช่น ปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากร กรรมสิทธิ์ ปัจจัยการการผลิต การสะสมกักตุนความมั่งคั่ง การผูกขาดด้านการค้า การแทรกแซงของผู้มีอำนาจและนายทุน การตกงาน การแบ่งชนชั้น ขูดรีดด้วยระบบดอกเบี้ย และอื่นๆอีกมากมาย จนก่อให้เกิดแนวคิดต่างๆตามมา เพื่อนำทฤษฏีต่างๆนำมาแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจหลายครั้ง เช่น ยุคก่อนนครรัฐกรีก มีการจำกัดสิทธิและการถือครองที่ดินหรือทรัพย์สินมาใช้ จนทำให้ระบบเศรษฐกิจและชีวิตความอยู่เป็นทั่วไปดีขึ้น แต่ก็ไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากการผลิตเดิมแบบพอเพียงเป็นการผลิต เพื่อการธุรกิจการค้า ผลประโยชน์และกำไร
เช่นเดียวกับการใช้กฎหมายของโซล็อนมาใช้ เช่น ห้ามยึดลูกหนี้ที่ไม่มีเงินชะระหนี้มาเป็นทาส ใครมีทาสให้ปลดปล่อย แต่ไม่มีบัญญัติห้ามเรื่องดอกเบี้ยจึงทำให้สังคมเต็มไปด้วยระบบดอกเบี้ยและหนี้สิน จนเกิดการเรียกร้องให้สภาประชาชนจำกัดสิทธิในการถือครองที่ดินและทรัพย์สินทั่วไป หลังจากจักรวรรดิโรมมันล่มสลาย สังคมยุคกลางอยู่ภายใต้การบริหารงานและควบคุมของคณะบาทหลวงและมีการนำกฎหมายเทวะมาใช้ เช่น ห้ามการขูดรีดด้วยดอกเบี้ย ห้ามสะสมความมั่งคั่ง ห้ามขายสินค้าเกินราคากำหนด ห้ามกักตุนสินค้า หรือขึ้นและลดราคาสินค้าเพื่อขายตัดหน้าคนอื่น มีการจำกัดการถือครองทรัพย์สินของเอกชน มีการนำราคาที่ยุติธรรมมาควบคุมการค้าเป็นต้น แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของอัตราดอกเบี้ย การผูกขาดของพวกนายทุนและพวกพ่อค้าได้
จนกระทั่งความคิดแบบพาณิชย์นิยมเริ่มก่อตัวขึ้นในยุโรปตะวันตกราวศตวรรษที่ 15 โครงสร้างเศรษฐกิจของยุคกลางเปลี่ยนไป เกิดการเปลี่ยนถ่ายจากสังคมศักดินาสู่สังคมพาณิชย์นิยม แนวคิดพาณิชย์นิยมได้รับความนิยมเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 18 จึงเริ่มเสื่อมความนิยมลง เนื่องจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์ไม่เชื่อว่า ทองคำ จะเป็นฐานแห่งความมั่งคั่ง แต่ให้เน้นการผลิตมากกว่าการค้าเพราะการผลิตจะทำให้เกิดการกินดีอยู่ดี
ในระยะเวลาใกล้เคียงกันมีการนำแนวคิดธรรมชาตินิยมมาใช้โดยเชื่อว่า ทุกสิ่งในโลกไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือสังคมมนุษย์จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ธรรมชาติ ดังนั้นการปกครองที่จะทำให้เกิดผลดีและเกิดแก่ประเทศชาติ จะต้องยึดกฎเกณฑ์ธรรมชาติเป็นที่ตั้งและที่ดินเท่านั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความมั่งคั่ง แนวคิดนี้อยู่ได้ไม่นานก็จบลง
ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 17-18 เป็นช่วงที่ปรัชญาทางเศรษฐกิจจะเน้นความก้าวหน้า โดยมองจริยธรรมทางธุรกิจว่าเป็นสิ่งงมงาย จนเกิดการแยกระบบเศรษฐกิจออกจากศีลธรรมและจริธรรมทางศาสนา และเป็นจุดเริ่มต้นของลัทธิเสรีนิยมหรือลัทธิทุนนิยม โดยเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันในตลาดการค้าอย่างเสรี และปล่อยให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวไปเรื่อยๆ จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ในต้นศตวรรษที่ 18 กิจการอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดการอพยพของคนงานจากชนบทเข้าสู่ตัวเมือง จนทำให้เกิดปัญหา ว่างงาน การเอาเปรียบทางด้านค่าจ้าง และความแตกต่างของชนชั้นที่ครอบครองทรัพย์สิน โดยแนวคิดของลัทธิเสรีนิยมไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวของประชาชนส่วนใหญ่ได้ และแนวคิดแบบสังคมนิยมจึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ความพยายามของมนุษย์ในการคิดค้นทฤษฏีต่างๆ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและตอบสนองความต้องการในดินแดนของตน ทำให้ไม่ประสบกับความสำเร็จมากนัก เนื่องจากแนวคิดต่างๆล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งมิอาจหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด ความบกพร่อง การลองผิดลองถูก การคาดคะเนถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังแอบแฝงด้วยผลประโยชน์ของตน พวกพ้องและดินแดน
นอกเหนือจากการแยกระบบเศรษฐกิจของมนุษย์ออกจากภาคศีลธรรมและจริยธรรม ดังนั้นประเทศต่างๆในกลุ่มยุโรปจึงตกอยู่ในยุคมืดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1000-1500 (ตรงกับยุคราชวงศ์อับบาซียะฮ์) ช่วงศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นยุคอารยธรรมอิสลามในสเปนและปาเลสไตน์กำลังรุ่งเรือง ชาวยุโรปได้นำอารยธรรมอิสลามเข้ามาใช้ประยุกต์แก้ไขปัญหาของพวกเขามากขึ้น โดยผ่านวิชาการแขนงต่างๆ หนังสือภาษาอาหรับถูกแปลเป็นภาษาลาติน จนทำให้ตะวันตกรุ่งเรื่องเรื่อยมา
เมื่อเกิดวิกฤติธุรกิจสินเชื่อและการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาจนกลายเป็นวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) กระจายอยู่ทั่วโลก ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนและเปราะบางของระบบโลกาภิวัฒน์ เพราะส่งผลให้ระบบการเงินและเศรษฐกิจของหลายประเทศที่อยู่ข้ามทวีปไกลออกไป เช่น ไอซ์แลนด์ ต้องพังพินาศย่อยยับ และยังเป็นตัวทำลายความเชื่อที่ว่า ตลาดสามารถดูแลตนเองได้โดยรัฐไม่ควรเข้าแทรกแซง เพราะพฤติกรรมนักธุรกิจและนักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งอยู่บนความมีเหตุมีผล แต่ตั้งอยู่บน “ความโลภและความกลัว” ตลอดจนเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า กลไกของตลาดทุนนิยมแบบการเงินกระแสหลักที่ผ่านมาไม่สามารถใช้กับ "ตลาดคนจน" ได้ เพราะวิกฤติดังกล่าวได้ทำลายความมั่งคั่งของผู้มีรายได้น้อยหลายล้านคนลงอย่างราบคาบ
ระบบทุนนิยมสะสมสัญญาณอันตรายหลายประการเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ได้แก่ ระบบดอกเบี้ย การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้กู้ที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน การซื้อขายตราสารหนี้ การใช้ตราสารเป็นหลักประกันในการกู้ และการซื้อขายหรือการจำนองที่ซับซ้อน ตลอดจนขาดจริยธรรมทางธุรกิจและการลงทุน
สิ่งเหล่านี้คือต้นตอแห่งวิกฤติทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศทุนนิยม ในขณะที่ประเทศในตะวันออกกลาง (ที่ไม่ได้อิงระบบทุนนิยม) แถบจะไม่ได้รับผลกระทบแต่ประการใด แต่ยังคงความมั่นคง เหนี่ยวแน่น และสร้างความมั่นใจต่อนักธุรกิจและนักลงทุนตลอดเวลา รวมทั้งยังให้การช่วยเหลือทางการเงินเพื่อบรรเทาวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ เหตุผลดังกล่าวทำให้การทำธุรกิจและการลงทุนกับกลุ่มประเทศ Gulf Cooperation Council (GCC) ได้แก่ คูเวต การ์ตา บาห์เรน โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรต และซาอุดีอาระเบีย เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจยิ่ง