การบริหารจัดการงานของอุมมะฮ์(ประชาชาติ)
  จำนวนคนเข้าชม  16012

การบริหารจัดการงานของอุมมะฮ์(ประชาชาติ)


นิพล  แสงศรี 


ความสำคัญของการบริหารและจัดการ

           ตำราอิสลามหลายเล่มระบุว่า  ยุคของท่านนะบี    ได้กำหนดตัวบุคคลที่จะรับผิดชอบงานในด้านต่างๆได้อย่างลงตัว   ตลอดจนเน้นเลือกเฟ้นคนดีและมีความสามารถเข้ามารับผิดชอบงานได้อย่างเหมาะสม  ไม่ว่าจะเป็นด้านการเผยแพร่  สังคม  เศรษฐกิจ  การทหาร  การปกครอง  และการศึกษา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการอพยพมาสู่นครมาดีนะฮ์ท่านได้นำกฎหมายอิสลามมาใช้  วิธีการดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่และเป็นจุดเริ่มต้นของรูปแบบการปกครองแบบอิสลาม  จนถูกเรียกว่า  กิยาม อัดเดาละฮฺ  (การสถาปณารัฐอิสลาม) อันเป็นผลมาจากการบริหารจัดการของท่าน  เช่นเดียวกับความเจริญรุ่งเรืองและการขยายตัวในงานด้านต่างๆยุค 4  เคาะลีฟะฮฺ  ราชวงศ์อุมมัยยะฮฺ  และราชวงศ์อับบาซียะฮฺล้วนได้รับอิทธิพลมาจากรูปแบบการบริหารและจัดการของท่านนะบี      ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและโลกอิสลามให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง  ก้าวหน้า  และยืนยงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน  

อัลกุรอานระบุว่า 

“แท้จริงอัลลอฮ์จะมิทรงเปลี่ยนแปลงสภาพของชนกลุ่มใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสภาพของพวกเขา  และเมื่ออัลลอฮ์ทรงปรารถนาความทุกข์แก่ชนกลุ่มใดแล้ว  ก็จะไม่มีผู้ตอบโต้พระองค์”   (อัรเราะอฺดุ  อายะฮฺที่  11)


การโอนถ่ายอำนาจและหน้าที่

          เมื่อการบริหารการจัดการงานของอุมมะฮ์(ประชาชาติ)อย่างมีรูปแบบและแบบแผนในนครมะดีนะฮ์   ก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างใหญ่หลวงตามมาในสังคมมุสลิม  ไม่ว่าจะเป็นด้านการเผยแพร่ศาสนา  การศึกษา  การจัดระเบียบสังคม   การส่งเสริมให้รู้จักทำมาหากินสร้างรายได้  การสร้างฐานทางเศรษฐกิจ  และการปกครอง  ตลอดจนการใช้กฎหมายอิสลาม   ดังนั้นภาระกิจและความรับผิดชอบต่างๆ  ดังที่กล่าวมาจึงจำเป็นต้องมีการถ่ายเทจากรุ่นสู่รุ่น  ท่านนะบี     เคยกล่าวว่า  

     “ทุกครั้งที่นะบีท่านหนึ่งได้จบชีวิตไป  จะมีนะบีอีกท่านตามมา  และแท้จริงหลังจากข้าพเจ้าจะไม่มีนะบีอีก  แต่จะมีเพียงบรรดาตัวแทนเท่านั้น”   (รายงานสอดคล้องทั้งอัลบุคอรีย์และมุสลิม) 

นอกจากนั้นท่านยังได้กล่าวว่า

     “ ผู้ใดภักดีต่อข้าพเจ้า  แท้จริงเขาได้ภักดีต่ออัลลอฮ์แล้ว  และผู้ใดทรยศต่อข้าพเจ้า  แท้จริงเขาได้ทรยศต่ออัลลอฮ์แล้ว  ผู้ใดภักดีต่อผู้นำ  แท้จริงเขาได้ภักดีต่อข้าพเจ้า  ผู้ใดทรยศต่อผู้นำ  แท้จริงเขาทรยศต่อข้าพเจ้า”  (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม)


การกระจายอำนาจและหน้าที่

     การดำเนินงาน  การบริหารและการจัดการงานอุมมะฮ์(ประชาชาติ) นั้นจะไม่อาจลุล่วงไปได้ด้วยดี หากปล่อยให้ผู้นำรับผิดชอบหรือผูกขาดอำนาจเพียงลำพัง  โดยปราศจากการกระจายหน้าที่  แบ่งเบาภาระ  และความรับผิดชอบให้แก่ผู้ที่เหมาะสมและมีความสามารถอย่างแท้จริง  เพราะในความเป็นจริงคงไม่มีใครสามารถกระทำทุกอย่างได้เพียงลำพัง  หรือเชี่ยวชาญในทุกๆเรื่องโดยไม่พึงพาใคร  การกระจายอำนาจบริหารและหน้าที่ต่างๆเหล่านี้  สามารถพบได้จากช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ในนครมะดีนะฮ์ ทั้งในรูปแบบมอบหมายให้รับผิดชอบงานเป็นรายบุคคลและกลุ่มคณะ  นอกจากนั้นท่านนะบี    ยังกำชับว่า 

     “ทุกคนย่อมมีหน้าที่  และทุกคนต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่  ผู้นำก็มีหน้าที่และเขาต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ของเขา  ชายคนหนึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบต่อครอบครัว  และเขาต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ของเขา  สตรีคนหนึ่งก็มีหน้าที่รับผิดชอบต่อครอบครัวของสามี  และนางต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ของนาง  คนรับใช้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อทรัพย์สินของเจ้านาย  และเขาต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ของเขา  ทุกคนต้องมีหน้าที่และต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ของเขา”  (รายงานสอดคล้องทั้งอัลบุคอรีย์และมุสลิม)


การบริหารและจัดการงานของอุมมะฮ์(ประชาชาติ)

     1) ระดับผู้มีอำนาจสูงสุดอย่างเคาะลีฟะฮ์ (ผู้นำแห่งโลกมุสลิม) ผู้นำประเทศ และประมุขของรัฐอิสลาม  ตลอดจนนักปกครอง  ผู้บริหาร และบุคคลากรของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ  บุคคลเหล่านี้จะต้องผ่านการเลือกสรรจากสภามติชูรอของแต่ละรัฐ  แต่ละประเทศ  หรือแต่ละเขตด้วยความเป็นธรรมและด้วยความเหมาะสม   ดังนั้นหากแกนนำระดับแนวหน้าไม่ขยับขับเคลื่อน  หรือไม่สนใจ  หรือให้ความสำคัญต่อหน้าที่และกิจการงานของอุมมะฮ์ แล้ว  ความยากจน  ความขัดแย้ง  ความล้าหลัง  และความด้อยพัฒนาจะเข้ามาแทรกในสังคมทุกด้าน  ทุกระดับ  และอาจจะจบลงด้วยความขัดแย้งหรือความหายนะ 

     2) ระดับครอบครัว  ถือเป็นฐานของโครงสร้างของสังคมหรือองค์ประกอบทางสังคมขนาดใหญ่ที่สำคัญที่สุด   หากแต่ละครอบครัวขาดระเบียบ  ขาดการรับผิดชอบ  ขาดการศึกษา  และขาดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อคำสอนของอัลอิสลาม  หรือผู้นำครอบครัว(พ่อบ้านและแม่บ้าน)ไม่สนใจ  ไม่ดูแลรับผิดชอบในส่วนที่ตนเองต้องรับผิดชอบ  หรือลูกไม่รู้จักหน้าที่ของตนเองแล้ว  ความบกพร่องความอ่อนแอและปัญหาต่างๆ ก็ย่อมจะเกิดขึ้นตามมาอย่างง่ายดาย   ซึ่งไม่ใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะกับครอบครัวหรือระดับรากหญ้าเท่านั้น  แต่มันจะกระจายออกจากบ้านแต่ละบ้านเข้าฝังตัวอยู่ในสังคมส่วนรวม  จนกลายเป็นปัญหาสังคมที่ยากแก่การแก้ไข  และยากที่จะเยียวยา

     3) ระดับทาส  ปัจจุบันอาจจะรวมถึงคนรับใช้  ก็ต้องมีหน้าที่ที่ต้องดูแลและรับผิดชอบ  ปฎิบัติงานให้ลุล่วงไปด้วยดีตามที่ได้รับมอบหมาย

     4)  ระดับประชาชน ทุกคนก็มีหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือ  ประสานงาน  และดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี 

          หากทุกคนได้ตั้งใจหรือพยายามปฎิบัติตามหน้าที่อย่างพร้อมเพรียงกัน  ตลอดจนให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสิ่งที่เป็นความดีถูกต้องตามหลักกฎหมายอิสลาม   ความเข้มแข็ง  ความมั่นคง และความน่าเกรงขามก็จะเกิดขึ้น  และการเป็นประชาชาติ (อุมมะฮ์) ที่ดีก็ย่อมจะปรากฎให้เห็นทั้งในระดับครอบครัว  สังคมส่วนรวม  ระดับประเทศ  และโลกมุสลิม


งานหลักที่ต้องปฎิบัติ

           เมื่อบรรดาผู้นำ  ผู้ปกครอง  ผู้บริหาร  และประชาชนทุกคนตระหนักในหน้าที่และรู้จักหน้าที่ๆ ของตน  ตลอดจนมีความรับผิดชอบในด้านต่างๆ และสาขาต่างๆ ตามความสามารถและความเหมาะสมแล้ว  การลงมือปฎิบัตถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง 

     1) ด้านการศึกษา 

          เน้นคำสอนที่มีจากอัลกุรอานและอัลฮะดีษต้องมาก่อนเรื่องเล่าในนิยายปรัมปรา หรือค่านิยมความเชื่อ ความงมงายที่ผิดๆ จัดให้มีการเผยแพร่ตามคำสอนของบัญญิตศาสนา ทั้งในหมู่คนมุสลิมและคนต่างศาสนิกเพื่อความเข้าใจที่ดี ส่งเสริมการเรียนการสอนให้หลายหลาก และจัดลำดับการศึกษาประเภทต่างๆให้ถูกต้อง  ตามสภาพความจำเป็นทางสังคม การเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ  

     2) ด้านสังคมและความเป็นอยู่   

          จัดระเบียบทางสังคมด้วยการนำข้อห้ามข้อใช้ของอัลอิสลามมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  ตระหนักถึงความสำคัญแห่งการดำเนินวิถีชีวิตตามแบบฉบับของท่านนะบี   หรือตัวอย่างจากบรรดาเศาะฮาบะฮ์และชาวสะลัฟ  เพื่อเป็นการเสริมสร้างบุคลากรในสังคมให้เข้มแข็ง  ทั้งด้านศีลธรรมและจริยธรรม  หากพบสิ่งใดที่เป็นความชั่ว  ผิด  บาป  ชิริก  อุตริกรรม  ต้องรีบเข้ายับยั้ง  หาทางแก้ไข  และไม่สนับสนุนหรือให้การช่วยเหลือ  และหากพบสิ่งใดที่เป็นความดีงามตามกฎหมายอิสลามต้องรีบหาทางส่งเสริม  หรือดำเนินการให้ลุล่วงไปด้วยดี

     3) ด้านเศรษฐกิจ 

         ส่งเสริมให้ทำมาหากินด้วยอาชีพที่สุจริต  อดทน  ไม่เบียดเบียนคนอื่น  ข้อสำคัญธุรกิจ  การลงทุน  หรือช่องทางหากินนั้นๆ จะต้องไม่สวนทางกับคำสอนของอัลอิสลาม  ตลอดจนรู้จักประหยัดไม่สุ่รุ่ยสุ่หร่าย  รู้จักกินรู้จักใช้ในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต  มีการเก็บออมเพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจทั้งในระดับบุคคลและระดับครอบครัว  ข้อสำคัญคือ  มีความซื่อสัตย์ ไม่เอารัดเอาเปรียบ  ซึ่งเป็นหัวใจหลักของความอยู่รอดของคนในสังคมโลกาภิวัฒน์  และนำพาสังคมไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและไม่ล้าหลัง  สิ่งเหล่านี้สามารถศึกษาได้จากรูปแบบการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในยุคของท่านนะบี   

    4) ด้านการบริหารและปกครอง 

          ศึกษารูปแบบจากนะบี      และเคาะลีฟะฮ์ทั้งสี่ นำมาเป็นแนวทาง  ซึ่งได้ประความสำเร็จและสร้างความเจริญรุ่งเรืองมาให้เห็นแล้ว  ในเวลาเดียวกันศึกษาจุดอ่อนแอ  และสาเหตุของการขัดแย้ง  สงคราม และความหายนะที่เกิดขึ้นในยุคหลังเคาะลีฟะฮ์ทั้งสี่  เพราะหากมองในแง่การบริหารจัดการถือว่า  ความอยู่รอดและความปลอดภัยของอุมมะฮ์ ตกอยู่ในมือผู้นำที่มีวิสัยทรรศน์กว้างไกล  หรือบรรดานักปกครองผู้มีความเป็นธรรม  หรือนักบริหารและนักพัฒนาผู้มีความคิดสร้างสรรค์พร้อมกับลงมือปฎิบัติในทุกๆ ระดับอย่างเสมอภาค  ไม่ว่าจะเป็นระดับครอบครัว  ชุมชน  มัสยิด  รัฐ  ระดับประเทศ  และโลกอิสลาม


ทุกสิ่งนั้นย่อมมีวัตถุประสงค์

อัลลอฮ์  ทรงตรัสว่า 

“พวกเจ้านั้นเป็นประชาชาติที่ดียิ่งซึ่งถูกอุบัติขึ้นสำหรับมนุษย์ชาติ  โดยพวกเจ้าจะต้องใช้ให้ปฎิบัติในสิ่งที่ชอบ  และพวกเจ้าจะต้องละเว้นในสิ่งที่มิชอบ”  (อาลิอิมรอน อายะฮ์ 110)

และพระองค์ทรงตรัสว่า 

“พวกเจ้าจงช่วยเหลือสนับสนุนกันในการทำความดีและสร้างความยำเกรง  และพวกเจ้าอย่าได้สนับสนุนกันในการความผิดและเป็นศัตรูกัน” (อัลมาอิดะฮฺ  อายะฮฺที่  2)

และพระองค์ทรงตรัสว่า 

“แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงเปลี่ยนแปลงชนกลุ่มหนึ่งกุล่มใด  จนกว่าชนกลุ่มนั้นจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตัวของพวกเขาเสียก่อน” (อัรเราะอฺดุ  อายะฮฺที่  11)



-Abd  al-Salam. 1989. Tahsib  Sirah  Ibn  Hisham. Egypt :  Dar al-Sunnah.
-Abu  Shubah, Muhammad  Muhammad.  1999.  al-Sirah  al-Nabawi  Fi  Daw ’  al-Qur’an  Wa  al-Sunnah.  Syria  :  Dar  al-Qalam.
-Alam  al-din, Mustafa.  1992.  al-Mujatama  al-Islami. Lebanon : Dar al-Nahdha al-Arabia.
-al-Buti, Muhammad  S. Ramadan.  1978.  Fiqh  al-Sirah al-Nabawiyah.  Syria :  Dar  al-Fikr.
-al-Farra, Abu Yala. 1973.  al-Ahkam al-Sultaniyah.  al-Qahirah : al-Halabi.
-al-Qaradawi, Yusuf. 1998. al-Siyasah  al-Shareyah  Fi  Daw  al-Nusus  al-Shareyah.  al-Qahirah :  Wahbah.
al-Sharif, Abd  al-Salam  Muhammad.  1996.  Nathariyah al-Siyasah al-Shar e yah.  Bangghazi : Jamiah Qariyunus.
-บางตอนคัดย่อมาจากบทความของ  เชคยุซุฟ  อัลเกาะเราะฎอวีย์