ความเสี่ยงในการพิพากษา
  จำนวนคนเข้าชม  7885

ความเสี่ยงในการพิพากษา
 


         1.  การพิพากษานั้น ประเด็นของมันคือการตัดสินเหตุการณ์ต่างๆ ของมนุษย์ ในด้านชีวิต  ทรัพย์สิน  และสิทธิทางด้านต่างๆ ของพวกเขา  ด้วยเหตุนี้อันตรายที่เกิดจากการพิพากษาใหญ่หลวงยิ่งนัก เพราะเกรงว่าผู้พิพากษาจะเอนเอียงเข้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดของคู่กรณีพิพาท  บางทีเนื่องจากเป็นญาติใกล้ชิด  เป็นเพื่อนฝูง  เป็นคนมีฐานะร่ำรวยโดยหวังผลประโยชน์อะไรบางอย่าง เป็นผู้มีบารมีเพราะเกรงกลัวในอำนาจบารมี  หรือจะด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกันนี้  ดังนั้นเขาอาจจะอธรรมในการตัดสินจากที่ได้กล่าวผ่านมา

         2.  จำเป็นต่อผู้พิพากษาจะต้องทุ่มเทเสียสละความพยายามอย่างมากในการเข้าถึงบทบัญญัติศาสนาอย่างถ่องแท้ ค้นคว้าศึกษาหลักฐานต่างๆ ใช้ความมุ่งมั่นเพื่อให้ได้รับความถูกต้องบังคับตัวเองให้ถึงขั้นที่สุด อัลลอฮฺ จะทรงช่วยเหลือผู้พิพากษาตราบใดที่เขาไม่อธรรม แต่เมื่อใดที่เขาอธรรม พระองค์ก็จะไม่ทรงช่วยเหลือเขาอีกต่อไป


ประเภทของและหน้าที่ของผู้พิพากษา

     1. อัลลอฮฺ  ตรัสว่า

ความว่า  “โอ้ดาวูด เราได้แต่งตั้งเจ้าให้เป็นตัวแทนบนผืนแผ่นดินนี้ ดังนั้นเจ้าจงตัดสินคดีต่างๆ ระหว่างมวลมนุษย์ด้วยความยุติธรรม และอย่าได้ปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ มันจะทำให้เจ้าหลงออกจากทางของอัลลอฮฺ  แท้จริงบรรดาผู้ที่หลงออกจากทางของอัลลอฮฺนั้น สำหรับพวกเขาจะได้รับการลงโทษอย่างแสนสาหัส  เนื่องจากพวกเขาหลงลืมวันแห่งการคิดบัญชี” (ศอด / 26)

     2.  จากบุร็อยดะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ  จากท่านรอสูลุลลอฮฺ   กล่าวว่า

عن بريدة رضي الله عنه عن رسول الله ﷺ قال: «القُضَاةُ ثَلاثَةٌ، اثْنَانِ فِي النَّارِ، وَوَاحِدٌ فِي الجَنَّةِ، رَجُلٌ عَلِـمَ الحَقَّ فَقَضَى بِـهِ فَهُوَ فِي الجَنَّةِ، وَرَجُلٌ قَضَى لِلنَّاسِ عَلَى جَهْلٍ فَهُوَ فِي النَّارِ، وَرَجُلٌ جَارَ فِي الحُكْمِ فَهُوَ فِي النَّارِ»  أخرجه أبو داود وابن ماجه

 “ผู้พิพากษามีสามประเภท  สองประเภทจะได้อยู่ในนรก  ส่วนอีกประเภทจะได้เข้าสวนสวรรค์  ผู้ที่รู้ความจริงแล้วเขาได้ตัดสินไปตามนั้นเขาจะได้เข้าสวนสวรรค์  ผู้ที่ได้ตัดสินผู้คนไปด้วยความไม่รู้ เขาจะได้อยู่ในนรก  และผู้ที่อธรรมในการตัดสินเขาจะได้อยู่ในนรก” 

(บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลขหะดีษ 3573  และอิบนุมาญะฮฺ หมายเลขหะดีษ  2315)

      3. จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ จากท่านนบี  กล่าวว่า 

عن أبي هريرة رضي الله عنه عن النبي ﷺ قال: «مَنْ جُعِلَ قَاضِياً بَيْنَ النَّاسِ فَقَدْ ذُبِحَ بِغَيْرِ سِكِّيْنٍ». أخرجه أبو داود وابن ماجه

 “ผู้ใดที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาแก่มวลมนุษย์  ก็เท่ากับถูกเชือดโดยไม่ได้ใช้มีด” 

(บันทึกโดยอบูดาวุด หมายเลขหะดีษ 3572  และอิบนุมาญะฮฺ หมายเลขหะดีษ  2308)


บทบัญญัติ (หุก่ม) ในการแสวงหาตำแหน่งผู้พิพากษา

         ไม่เป็นการเหมาะสมในการแสวงหาหรือดิ้นรนพยายามให้ได้มาซึ่งตำแหน่งผู้พิพากษา  ดั่งพจนารถของท่านรอสูล   ที่กล่าวว่า

«يَا عَبْدَالرَّحْـمَنِ بْنَ سَمُرَةَ لا تَسْأَلِ الإمَارَةَ فَإنْ أُعْطِيتَـهَا عَنْ مَسْأَلَةٍ وُكِلْتَ إلَيْـهَا، وَإنْ أُعْطِيتَـهَا عَنْ غَيْرِ مَسْأَلَةٍ أُعِنْتَ عَلَيْـهَا» متفق عليه

 “โอ้อับดุรเราะฮฺมาน บิน สะมุเราะฮฺ ท่านอย่าได้ร้องขอตำแหน่งผู้นำ  หากท่านได้รับในสิ่งที่ร้องขอท่านจะถูกโดดเดี่ยว  และหากท่านได้รับมันโดยมิได้ร้องขอ  ท่านจะได้รับการช่วยเหลือ” 

(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 7147  สำนวนหะดีษเป็นของท่าน  และมุสลิม หมายเลขหะดีษ  1652)

 

มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

แปลโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ  / Islam House