علوُّ مكانة أهل البيت عند الصحابة و تابعيهم بإحسان ฐานะอันทรงเกียรติของ “อะฮฺลุ้ลบัยติ” ณ ซอฮาบะฮฺ และบรรดาตาบิอีน ตอนที่ 1 |
ท่านอบูบักรฺ อัซซิดดี๊ก ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ
ท่านอิมาม บุคอรีย์ ได้บันทึกไว้ในซอฮี๊ฮฺของท่าน (ฮะดีษ เลขที่ 3712) ว่า ท่านอบูบักรฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวกับท่านอะลีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า :
أن أبابكر رضي الله عنه قال لعلي رضي الله عنه :
والذي نفسي بيده لقرابة رسوالله صلى الله عليه وسلم أحب إليَّ أن أصل من قرابتي
رواه البجاري في صحيحه
“ขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ แน่นอน ด้วยกับการที่ท่านเป็นวงศ์ญาติใกล้ชิดของท่านรอซูล ฉันจึงรักที่จะติดต่อสัมพันธ์กับท่านมากกว่าที่จะติดต่อสัมพันธ์กับวงศ์ญาติของฉันเองเสียอีก”
ท่านบุคอรีย์ได้บันทึกไว้ในซอฮี๊ฮฺของท่านเช่นกัน (ฮะดีษเลขที่ 3713) จากท่านอิบนุ อุมัร จากท่านอบูบักรฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า :
عن ابن عمر ، عن أبي بكر رضي الله عنه قال : ارقبوا محمدا في أهل بيت
رواه البجاري
“พวกท่านทั้งหลาย จงช่วยกันสอดส่องดูแลท่านนบีมุฮัมมัด กับวงศ์วานของท่านด้วยเถิด”
ท่านฮาฟิซ อิบนุ ฮะญะริน ได้กล่าวไว้ในการอธิบาย (ชัรฮ์) ของท่านว่า “ท่านอบูบักรฺ ได้กล่าวคำปราศรัยเช่นนั้นกับผู้คนทั้งหลาย และได้กำชับสั่งเสียผู้คนทั้งหลายเพื่อให้ความสำคัญต่อวงศ์วานของท่านนบี ฉะนั้น การเฝ้ามองดูของสิ่งหนึ่ง ก็คือการคอยดูแลรักษาของสิ่งนั้นไว้นั่นเอง ดังนั้นคำพูดของท่านก็คือ “ขอให้พวกท่านจงดูแลรักษาท่านนบีกับบรรดาวงศ์วานเหล่านั้น และจงอย่าก่อความรำคาญ และจงอย่าสร้างความเลวร้ายให้กับท่านเหล่านั้นเลย”
ในซอฮี๊ฮฺ บุคอรีย์ (ฮะดีษเลขที่ 3542) จากอุกบะฮฺ อิบนุ ฮาริษ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า :
عن عقبة بن الحارث رضي الله عنه قال :
رواه البجاري في صحيحه
صلّى أبوبكر رضي الله عنه العصر ثم خرج يمشي ، فرأى الحسن يلعب مع الصبيان ،
فحمله على عاتقه ، وقال : بأبي شبيه بالنبي لا شبيه بعلي وعلي يضحك
“ท่านอบูบักรฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ทำการละหมาดอัศริเสร็จ แล้วท่านก็เดินออกไป แล้วท่านได้มองไปเห็น อัลฮะซัน กำลังเล่นอยู่กับบรรดาเด็กๆ ท่านก็ได้อุ้มอัลฮะซันขึ้นมาขี่คอท่าน และกล่าวว่า : ฉันขอไถ่ชีวิตของเขาด้วยกับชีวิตบิดาของฉัน เขา(อัลฮะซัน) เหมือนกับท่านนบี เขาไม่เหมือนอะลีย์เลย และท่านอะลีย์ก็หัวเราะ”
ท่านฮาฟิซ กล่าวอธิบายไว้ในหนังสือของท่านว่า : คำพูดของอบูบักรฺที่ว่า “บิ อะบีย์” ในคำพูดประโยคนี้มีคำที่ถูกตัดออกไป ที่จริงแล้วต้องกำหนดคำขึ้นมาคือ “ฉันขอไถ่ชีวิตของเขาด้วยกับชีวิตบิดาของฉัน” ท่านฮาฟิซ ได้กล่าวต่อไปอีกว่า ในฮะดีษนี้ได้กล่าวถึงความประเสริฐของท่านอบูบักรฺ และความรักของท่านที่มีต่อวงศ์ญาติใกล้ชิดของท่านนบี
ท่านอุมัร อิบนุล ค็อฏฏ็อบ และท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา
ท่านอิมาม บุคอรีย์ ได้บันทึกไว้ในซอฮี๊ฮฺของท่าน (ฮะดีษเลขที่ 1010 และ 3710) จากท่านอนัส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า :
เมื่อผู้คนทั้งหลายประสบความแห้งแล้ง ท่านอุมัรจะเป็นผู้ที่ขอฝนด้วยการอาศัยอ้างอิงท่านอับบ๊าสเป็นสื่อขออีกทีหนึ่ง ท่านได้กล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮฺ เราเคยเป็นผู้ขอให้นบีของเราเป็นสื่อกลางเพื่อขอจากพระองค์ แล้วพระองค์ก็ทรงประทานน้ำฝนลงให้แก่เรา (และเมื่อท่านนบีจากไป) เราขอเอาผู้เป็นลุงของนบีของเรามาเป็นสื่อกลางเพื่อขอจากพระองค์ ดังนั้น ขอพระองค์ได้ทรงประทานฝนมาให้แก่เราด้วยเถิด” ท่านอนัสกล่าวว่า แล้วพวกเขาก็ได้รับน้ำฝน
ดังนั้น ความหมายของคำว่า “ตะวัซซุล” ของท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กับท่านอัลอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ นั้น เป็น “ตะวัซซุล” ด้วยการขอให้ท่านอับบ๊าสช่วยขอดุอาอฺให้ ดังปรากฏสิ่งที่จะให้ความกระจ่างชัดนี้ในบางรายงาน ท่านอัลฮาฟิซได้ระบุรายงานต่างๆ ในการอธิบายฮะดีษนี้ไว้ในบทที่ว่าด้วย “เรื่องการขอฝน” ในหนังสือ “ฟัตฮุลบารีย์”
การที่ท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้ตัดสินใจเลือกท่านอับบ๊าส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เพื่อให้เป็นสื่อกลาง “ตะวัซซุล” ด้วยการให้ท่านขอดุอาอฺให้นั้น ในความเป็นจริงแล้ว เพราะท่านอัลอับบ๊าส เป็นญาติที่ใกล้ชิดกับท่านร่อซูล ด้วยเหตุนี้ ท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ จึงได้กล่าวไว้ในการทำ “ตะวัซซุล” ของท่านว่า “และแท้จริง เราขอนำเอาผู้เป็นลุงของท่านนบีของเรามาเป็นสื่อกลางเพื่อขอดุอาอฺจากพระองค์” ท่านอุมัรไม่ได้พูดว่า “ด้วยกับอับบ๊าส”
เป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านอะลีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เป็นผู้ที่ประเสริฐกว่าท่านอับบ๊าส และท่านก็เป็นญาติใกล้ชิดกับท่านร่อซูล แต่ท่านอับบ๊าสนั้นใกล้ชิดกับท่านร่อซูล มากกว่าท่านอะลีย์ และหากท่านนบี มีมรดกตกทอดจากท่าน แน่นอน ท่านอับบ๊าส จะต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ในมรดกนั้นก่อนผู้ใดโดยเป็นไปตามคำกล่าวของท่านร่อซูล ที่ว่า :
قال رسول الله صلى الله عليه وسلم :
(( ألحقوا الفرا ئض بأهلها ، فما أبقت الفرائض فلأولى رجل ذكر ))
أجرجه البخاري ومسلم
“พวกท่านจงแบ่งมรดกให้แก่ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับตามสัดส่วนของมัน (อัศฮาบุลฟุรู๊ฎ) และมรดกที่เหลือ ก็จงแบ่งให้แก่เพศชายที่ใกล้ชิดท่าน ที่ใกล้ชิดที่สุด (ผู้ที่มีสิทธิ์ในอะซอบะฮฺ)" บันทึกโดย ท่านอิมาม อัลบุคอรีย์ และท่านอิมาม มุสลิม
และในบันทึกของซอฮี๊ฮฺทั้งสองจากฮะดีษของท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า ท่านนบี พูดถึงลุงของท่าน (อัลอับบ๊าส) กับท่านอุมัรว่า :
“ท่านไม่ทราบหรือว่า ผู้เป็นลุงของผู้ชายนั้นนับเป็นหน่อที่แยกออกมาจากลำต้นเดียวกับบิดาของเขา“
ในตัฟซีร อิบนิ กะซี๊ร ได้อธิบายอายาตของซูเราะฮฺอัชชูรอ ว่า ท่านอุมัร อิบนุ ค็อฏฏ็อบ ได้กล่าวกับท่านอับบ๊าส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า : ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า การเข้ารับอิสลามของท่าน (อับบ๊าส) ในวันนั้น เป็นที่ชื่นชอบสำหรับฉันยิ่งกว่าการเข้ารับอิสลามของอัลค็อฎฎอบเสียอีก ถ้าหากเขาเข้ารับอิสลาม เพราะการเข้ารับอิสลามของท่าน (อับบ๊าส) เป็นที่ยินดีสำหรับท่านร่อซูล ยิ่งกว่าการเข้ารับอิสลามของอัลค็อฏฏ็อบเป็นอย่างมาก” ดังกล่าวนี้มีอยู่บันทึกของ อิบนุ ซะอ์ดฺ ในหนังสือ “อัฏเฏาะบะก็อต” (เล่มที่ 4 หน้าที่ 22-30)
ในหนังสือ “อิกติฎออิศศิรอฎิลมุสตะกีม มุคอละฟะตุ อัศฮาบิลญะฮีม” (เล่มที่ 1 หน้าที่ 446) ของท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ว่า “เมื่อท่านอุมัร อิบนุ ค็อฏฏ็อบ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กำหนดรายการเงินกู้ให้เปล่า ท่านได้บันทึกรายชื่อผู้คนตามลำดับเชื้อสายที่เหมาะสม ซึ่งท่านจะเริ่มเรียงตั้งแต่บุคคลที่มีเชื้อสายใกล้ชิดกับท่านร่อซูลมากที่สุดเป็นลำดับแรก และเมื่อเชื้อสายของคนอาหรับหมดแล้ว ท่านก็จะระบุบุคคลที่ไม่ใช่คนอาหรับ (อะญัม) ตามมา การลงทะเบียนรายชื่อเช่นนี้มีมาตั้งแต่ในยุคสมัยของบรรดา “คุละฟาอฺอัรรอชิดีน” ตลอดจนสมัยการปกครองของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ และสมัยราชวงศ์อับบ๊าส เรื่อยมาจนกระทั่งได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบหลังจากนั้น”
ท่านอิบนุ ตัยมียยะฮฺ ได้กล่าวไว้อีก (ในหนังสือดังกล่าวเล่มที่ 1 หน้าที่ 453) ว่า “ท่านจงพิจารณาดูท่านอุมัรฺ อิบนุ ค็อฏฏ็อบ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ในขณะที่ท่านได้ใส่รายชื่อบุคคลในทะเบียนรายชื่อเงินกู้ มีผู้คน (ที่รับผิดชอบเรื่องนี้) กล่าวกับท่านว่า “ท่านอะมีริลมุอฺมินีน ท่านก็เริ่มใส่ชื่อท่านลงไปเป็นคนแรกก่อนซิ” ท่านอุมัรกล่าวว่า “ไม่ได้ แต่ท่านทั้งหลายจงใส่ชื่ออุมัรฺไว้ตามที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดไว้" แล้วท่านก็ได้ใส่รายชื่อโดยเริ่มต้นด้วยวงศ์วานของท่านร่อซูล เป็นอันดับต้น แล้วตามมาด้วยบุคคลถัดมา จนกระทั่งเวียนมาถึงรอบของท่านอุมัรฺซึ่งอยู่ในตระกูลอะดีย์ ซึ่งเป็นตระกูลที่ห่างไกลจากเชื่อสายส่วนใหญ่ของเผ่ากุเรช”
เนื้อหาข้างต้นนี้ ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องความประเสริฐของวงศ์วานของท่านนบี ที่มาจากซุนนะฮ์ คือฮะดีษที่ว่า : “ทุกสายสัมพันธ์ และทุกเชื้อสายต้องขาดสะบั้นลงในวันกิยามะฮ์ นอกจากสายสัมพันธ์ และเชื้อสายของฉัน(ท่านนบี) เท่านั้น”
และสิ่งนี้เองที่ผลักดันให้ท่านอุมัรฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ไปขอหมั้น อุมมุ กัลซูม บุตรสาวของท่านอะลีย์มาเป็นภรรยา และท่านอัล-อัลบานีย์ ได้ระบุฮะดีษนี้ไว้ในหนังสือ “อัซซิลซิละติซซอฮีฮะฮฺ” ภายใต้ (ฮะดีษเลขที่ 2036) สายรายงานฮะดีษนี้มาจากท่านอุมัรฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ
เป็นที่ทราบกันดีว่า บรรดาคุละฟาอฺ อัรรอชิดีน ทั้งสี่ท่าน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุม (ผู้ปกครองผู้ยึดมั่นในหลักธรรมอย่างเที่ยงตรงทั้งสี่ท่าน) ล้วนเป็นพ่อตา-ลูกเขย ท่านรอซูล ทั้งสิ้น ดังเช่น ท่านอบูบักรฺ และท่านอุมัรฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ทั้งสองได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงด้วยการที่ท่านนบี ได้สมรสกับบุตรสาวของท่านทั้งสอง คือ ท่านหญิง อาอิชะฮฺ และท่านหญิง ฮัฟเซาะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา
ส่วนท่านอุษมาน และท่านอะลีย์ได้รับเกียรติเป็นอย่างมาก ในการที่ให้ท่านทั้งสองทำการสมรสกับบุตรสาวของท่านร่อซูล โดยท่านอุษมานได้สมรสกับท่านหญิง รุกอยยะฮ์ และภายหลังจากที่ท่านหญิงได้เสียชีวิตลงไป ท่านอุษมานก็ได้รับเกียรติให้สมรสกับน้องสาวของท่านหญิงรุกอยยะฮ์ คือท่านหญิง อุมมุ กัลซูม ด้วยเหตุนี้ท่านอุษมานจึงได้รับการขนานนามว่า “เจ้าของรัศมีสองรัศมี” (ซุลนูรอยนิ)
ในส่วนของท่านอะลีย์ ได้สมรสกับท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ซึ่งเป็นบุตรสาวคนสุดท้องของท่านนบี และในหนังสือ “ซียัรอะอฺลาม อันนุบะลาอฺ” ของท่าน อัซซะฮะบีย์ และในหนังสือ “ตะฮฺซีบิตตะฮฺซี๊บ” ของท่านอิบนุ ฮะญะริน ได้ระบุเกี่ยวกับประวัติของท่านอับบ๊าสว่า : “ท่านอับบ๊าสนั้น เมื่อท่านเดินผ่านท่านอุมัรฺ และท่านอุษมาน ซึ่งขณะที่ท่านทั้งสองกำลังขี่พาหนะอยู่ ทั้งสองจะลงมายืนอยู่ด้านล่าง จนกว่าท่านอับบ๊าสจะผ่านไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้เป็นลุงของท่านร่อซูล
ท่านอุมัรฺ อิบนุ อับดุลอะซี๊ซ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ
ในหนังสือ “ฏอบะก็อต อิบนุ ซะอฺดิน (เล่มที่5 หน้าที่ 333) และ (เล่มที่ 5 หน้าที่ 387–388) ด้วยสายรายงานของเขาที่สืบถึงฟาฏิมะฮฺ บุตรสาวของท่านอะลีย์ อิบนุ อบูฏอลิบ เล่าว่า ท่านอุมัร อิบนุ อับดุลอะซีซ ได้กล่าวแก่ฟาฏิมะฮฺว่า :
“โอ้ บุตรีของท่านอะลีย์เอ๋ย! ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า ไม่มีวงศ์วานใดบนหน้าแผ่นดินนี้ จะเป็นที่รักสำหรับฉันยิ่งไปกว่าพวกท่าน และแน่แท้ พวกท่านนั้นเป็นที่รักสำหรับฉันยิ่งกว่าวงศ์วานของฉันเองเสียอีก”
อบูบักร อิบนุ อบูชัยบะฮฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ
ในหนังสือ “ตะฮฺซีบิลกะมาล” ของอัลมิซซีย์ เกี่ยวกับประวัติของท่านอะลีย์ อิบนุ ฮุซัยนฺ อบูบักรฺ อิบนุ อบีชัยบะฮฺ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า :
"สายรายงานทั้งหมดถือว่าแข็งแรงที่สุดคือ จากอัซซุฮฺรีย์ รายงานจากอะลีย์ อิบนุ ฮุซัยนฺ จากบิดาของเขา (อัลฮุซัยนฺ) จากท่านอะลีย์”
โปรดติดตามต่อใน ตอนที่ 2 >>>Click <<<
ฐานะอันทรงเกียรติของ “อะฮฺลุ้ลบัยติ” ณ ซอฮาบะฮฺ และบรรดาตาบิอีน
ความประเสริฐ และฐานะอันสูงส่งของ “อะฮฺลุ้ลบัยติ” ณ อะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ