การรับมือกับเด็กที่โมโหง่าย
  จำนวนคนเข้าชม  6844

การรับมือกับเด็กที่โมโหง่าย


คำถาม 

         ดิฉันมีลูกคนชายคนหนึ่ง  ซึ่งแกเป็นคนที่มีอารมณ์ค่อนข้างรุนแรง  ดิฉันจึงขอคำแนะนำในการที่ดิฉันจะปฏิบัติต่อแกอย่างไร


บรรดาการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์แด่ พระองค์อัลลอฮฺ


คำตอบ 

          มีบทความที่ได้กล่าวถึงการจัดการกับอารมณ์โกรธ  ซึ่งท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากคำถามหมายเลข 658  โดยได้กล่าวถึงการจัดการกับอารมณ์โกรธไว้ดังนี้

- ขอความคุ้มครองจากพระองค์อัลลอฮฺ ให้พ้นจากการล่อลวงของชัยฏอน

- อยู่ในที่เงียบ ๆ

- ทำจิตใจให้สงบ  และถ้าหากคุณกำลังยืนอยู่  ก็ให้คุณนั่งลง  และถ้าหากคุณกำลังนั่งอยู่ ก็ให้คุณนอนลง

- ให้ระลึกถึงรางวัลตอบแทนที่คุณได้รับ  เมื่อคุณสามารถยับยั้งความโกรธได้  ดังมีรายงานในฮะดีษซอเฮียะว่า “จงอย่าโกรธ แล้วคุณจะได้เข้าสวรรค์”

- ให้คุณได้ทราบถึงตำแหน่งที่สูงกว่า  สำหรับบุคคลที่สามารถควบคุมตนเองได้  ดังมีรายงานในฮะดีษซอเฮียะว่า

“ผู้ใดก็ตามที่สามารถยับยั้งความโกรธของเขาเอาไว้ได้  พระองค์อัลลอฮฺ  จะทรงปกปิดบรรดาความผิดของเขาไว้  และใครก็ตามที่สามารถควบคุมความโกรธของเขาเอาไว้ได้  ทั้ง ๆ ที่เขามีความสามารถที่จะแสดงความโกรธของเขาออกมาได้  พระองค์อัลลอฮฺ  จะทรงทำให้หัวใจของเขาเต็มไปด้วยความหวังในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ”

(ฮะดีษฮาซัน รายงานโดย al-Albaani ใน al-Silsilah al-Saheehah, 906)

- ให้ศึกษาสิ่งที่นะบีมุฮัมมัด  ได้สอนเอาไว้เกี่ยวกับเรื่องของความโกรธ

- พึงทราบว่าการควบคุมความโกรธนั้น  เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของผู้ที่มีความศรัทธา   ดังที่ได้มีกล่าวเอาไว้ในฮะดีษข้างต้น

- ให้รู้ตนเองว่าเริ่มมีความรู้สึกโกรธแล้ว  และให้ควบคุมตนเองและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

- ทราบถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากความโกรธ

- ทราบถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบอันเกิดจากความโกรธ ณ ขณะนั้น

- ขอความช่วยเหลือจากพระองค์อัลลอฮฺ  ให้ทรงโปรดเอาความไม่พอใจออกไปจากหัวใจของเรา

         มีเรื่องราวที่น่ารักอยู่เรื่องหนึ่ง  ที่น่าจะช่วยคุณในการรับมือกับเด็กที่มีอารมณ์โมโหง่ายได้  ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า  มีเด็กชายอยู่คนหนึ่งเป็นคนที่เจ้าอารมณ์มาก  พ่อของเขาจึงได้มอบถุงที่เต็มไปด้วยตะปูหลายดอกอยู่ในนั้นให้แก่เขา  และได้กล่าวกับลูกของเขาว่า 

“ลูกชายของฉันเอ๋ย  ฉันต้องการให้เจ้านำตะปูไปตอกไว้ยังรั้วที่สวนของเรา  ทุกครั้งที่เจ้ามีความรู้สึกโกรธหรืออารมณ์ไม่ดี”

         ลูกชายได้เริ่มปฏิบัติตามคำแนะนำของพ่อของเขา  ซึ่งในวันแรกนั้นเขาได้ตอกตะปูลงไปเป็นจำนวน 37 ดอก  ซึ่งในการตอกตะปูลงไปยังรั้วนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายสำหรับเขาเลย  ดังนั้นเขาจึงพยายามที่จะควบคุมตัวเองเมื่อเขารู้สึกว่ามีอารมณ์โกรธเกิดขึ้น 

          หลายวันผ่านไปเขาตอกตะปูลดจำนวนลง  และภายในไม่กี่สัปดาห์เขาก็สามารถที่จะควบคุมตนเองและยับยั้งตนเองจากความโกรธได้  ทำให้เขาไม่ต้องตอกตะปูลงไปยังรั้วอีก  เขาจึงกลับมายังพ่อของเขาและได้กล่าวกับพ่อของเขาว่า “ เขาทำได้แล้ว”

พ่อของเขารู้สึกพอใจในความพยายามของลูกชาย  และได้กล่าวกับลูกว่า “จากนี้  เจ้าจงไปถอนตะปูออกวันละดอก  ในทุกวันที่เจ้าไม่มีความรู้สึกโกรธ”

ลูกชายของเขาได้เริ่มถอนตะปูออกจากรั้ว  ในแต่ละวันที่เขาไม่มีความรู้สึกโกรธ  จนกระทั่งไม่เหลือตะปูอยู่ที่รั้วอีกเลย

จากนั้นเขาจึงได้กลับมายังพ่อของเขาและได้กล่าวว่า  “ผมทำสำเร็จแล้ว” 

พ่อของเขาได้พาเขาไปยังรั้วและได้กล่าวว่า  “ลูกชายของฉันเอ๋ย  เจ้าทำได้ดีมาก  แต่เจ้าดูนี้  ร่องรอยที่เกิดจากการตอกตะปูของเจ้าบนรั้วนี้  ไม่สามารถทำให้รั้วกลับไปมีสภาพเหมือนเดิมได้อีกแล้ว” 

พ่อของเขาได้กล่าวต่ออีกว่า  “เมื่อใดก็ตามที่เจ้าพูดกับผู้อื่นในขณะที่เจ้ามีความรู้สึกโกรธอยู่   เจ้าก็จะทิ้งแผลในใจให้กับผู้อื่นเหมือนกับร่องรอยของรั้วนี้  แม้ว่าเจ้านั้นสามารถที่จะทิ่มแทงคนอื่นด้วยมีดได้ แต่เมื่อเจ้าได้ดึงมีดนั้นออกไปแล้ว  และได้กล่าวคำขอโทษ   คำขอโทษที่ไม่ว่าเจ้าจะพูดเป็นจำนวนกี่ครั้งก็ตาม  มันก็ไม่สามารถที่จะช่วยอะไรได้เลย  เพราะว่าเจ้าได้ทิ้งบาดแผลนั้นให้มันยังคงอยู่กับผู้อื่นเสียแล้ว "  

 


ที่มา http://www.islamqa.com/en/ref/21357

แปลโดย นูรุ้ลนิซาอฺ