อิสลามคือทางออกที่ดี
ดร. อับดุลเราะหฺมาน อับดุลการีม อัซซีหะฮฺ เขียน
ท่านผู้อ่านที่เคารพ ...
ข้าพเจ้ามั่นใจเหลือเกินว่า อิสลามย่อมมีทางออกทีดีสำหรับทุกปัญหาที่เราพบเห็นในโลกทุกวันนี้ การยึดเอาอิสลามแล้วนำมาปฏิบัติเพียงพอแล้วที่จะเป็นตัวกำจัดปัญหาเหล่านั้น แท้จริงแล้วโลกได้ทดลองทุกระบบที่เคยมีมา ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าระบบเหล่านั้นไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาต่างๆได้ ถึงแม้ในบางครั้งบางระบบอาจแก้ปัญหาได้ในบางเรื่อง - ทำไมเล่าโลกนี้จึงไม่ยอมรับอิสลามมาปฏิบัติ ?
เอฟ ฟิลเวียส( F . Filweas )- นายพลเรือ เชื้อสายอังกฤษ ผู้เคยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งทีหนึ่งและสอง ผู้ซึ่งเติบโตในสังคมคริสต์และเคยชินในวัฒนธรรมชาวคริสต์ แต่ท่านได้เข้ารับอิสลามหลังจากที่ได้ศึกษาอัลกุรอ่านและหนังสือต่างๆที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม ปีค.ศ 1923- ( ดูหนังสือ กอลู อะนิล อิสลาม ดร. อิมาดุดดีน อัล คอลีล )
เขาได้กล่าวว่า แท้จริงได้มีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์หลายๆเล่ม ข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่านักปรัชญาและนักเขียนชาวยุโรปได้อ้างว่า ทุกศาสนาในสมัยนี้ได้สูญหายและถูกทอดทิ้งไปแล้ว จำจะต้องละทิ้งเสีย ได้บ่งบอกถึงอาการท้อใจอย่างแรงของบรรดานักเขียนเหล่านั้น สืบเนื่องมาจากอุปสรรคต่างๆ ที่เขาพบเห็น ความยุ่งยากและความไม่ชัดเจนในหลักคำสอนของศานาคริสต์เอง พวกเขาได้กระทำความผิด ดังนั้นอิสลามเท่านั้นคือคำตอบที่ดีที่สุด ซึ่งจนถึงเวลานี้ยังคงอยู่ พร้อมที่จะเป็นทางออกที่ดีสำหรับอุปสรรคดังกล่าว
ท่านผู้อ่านที่เคารพ ....
คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนักถ้าข้าพเจ้าจะกล่าวว่า มีมุสลิมจำนวนมากในยุคนี้ที่ห่างไกลจากการปฏิบัติตามหลักการอิสลามที่ถูกต้อง เพราะสิ่งต่างๆที่มุสลิมได้ปฏิบัติในสังคมทุกวันนี้มันช่างห่างไกลจากหลักการอิสลามเหลือเกิน ไม่ตรงกับจุดประสงค์ที่อิสลามต้องการ อิสลามไม่ได้เป็นเพียงแค่พิธีทางศาสนาที่ควรปฏิบัติเฉพาะบางเวลาแล้วก็จบตามที่บางคนเข้าใจ
แต่อิสลามคือการเชื่อมั่น ระเบียบ หลักอิบาดะฮฺ (หลักการภักดี) ดังนั้นอิสลามจึงเป็นศาสนาและเป็นประเทศชาติอย่างเต็มความหมาย ได้มีการกล่าวกันว่า มันช่างยิ่งใหญ่เหลือเกินถ้าศาสนานั้นมีผู้คนเลื่อมใสมากมายคอยดำเนินตามรอยศาสนา และปฏิบัติตามหลักคำสั่งสอนของมัน ละทิ้งการกระทำใดๆที่ศาสนาห้าม และได้ทำการเผยแผ่ศาสนานี้ให้กับชาวโลกตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าในโองการอัลลอฮฺ ความว่า :
“จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของสูเจ้าโดยสุขุม และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า”
( อันนะฮฺลุ 125 )
เจ เอส เรสต์เลอร์ ( J . S . Restler ) ได้กล่าวในบทนำของหนังสือเล่มหนึ่งของเขาที่ชื่อ "อารยธรรมชาวอาหรับ “ คำว่า อิสลาม สามารถที่จะตีความความหมายได้ในสามแง่ด้วยกัน ความหมายที่หนึ่ง คือ ศาสนาหรือความเชื่อมั่น ความหมายที่สองคือ ประเทศชาติ สามคือ ความรู้และวัฒนธรรม ซึ่งกล่าวโดยสรุป "อิสลามคือความรู้และวัฒนธรรมที่เป็นหนึ่งเดียว”
แท้จริงหลักการศรัทธา หลักการภักดี หลักการปฏิบัติ และคำสั่งสอนทั่วไปในศาสนาอิสลาม ตั้งแต่ยุคของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ มุฮัมมัด จนถึงบัดนี้ก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่ปัจจัยที่ทำให้ใครหลายคนมองภาพศาสนาอิสลามเปลี่ยนไปคือ คนที่อ้างตนว่าเป็น”มุสลิม”นั่นเอง จึงอยากให้เข้าใจว่า เรื่องผิดๆที่เกิดขึ้นมานั้น สืบเนื่องจากฝีมือของคนที่อ้างตนว่าเป็นมุสลิม ไม่ได้หมายความว่า :อิสลามสั่งให้ทำหรือยอมรับการกระทำดังกล่าว
เราจะยกตัวอย่างง่ายๆ เพื่อความชัดเจนในเรื่องนี้ สมมุติว่า เรามอบเครื่องมืออะไรบางอย่างที่เพิ่งผลิตมาจากโรงงานและยังไม่ได้ประกอบให้กับคนๆหนึ่ง โดยมีคู่มือบอกวิธีและขั้นตอนในการประกอบไว้ให้ ถ้าเจ้าของประกอบเครื่องมือที่ให้ไม่ตรงกับคำชี้แจงในคู่มือ เราจะบอกว่าข้อมูลที่ให้มาในคู่มือผิดกระนั้นหรือ ? คงเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเรื่องคงไม่พ้นจาก 3 กรณีดังต่อไปนี้
๑- เจ้าของไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่มีในคู่มืออย่างถูกต้อง
๒- หรือไม่ เขาก็ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนในคู่มืออย่างสมบูรณ์แบบ คือปฏิบัติตามไม่ครบขั้นตอน
๓- หรือ เขาไม่เข้าใจขั้นตอนที่ได้ชี้แจงในหนังสือคู่มือ ในกรณีนี้เขาควรกลับไปหาบริษัทผู้ผลิตเพื่อขอคำชี้แจงให้ชัดเจน
อิสลามก็เช่นกัน ใครที่ต้องการรับรู้เละเข้าใจอิสลามอย่างแท้จริง ก็ต้องกลับไปสู่แหล่งที่มาของอิสลามอย่างถูกต้อง เนื่องจากความรู้ด้านศาสนาต้องเอาความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น คนป่วยก็ต้องไปหาหมอ ใครต้องการสร้างบ้านก็ต้องไปหาวิศวกร เป็นต้น จะเห็นได้ว่าทุกเรื่องต้องกลับไปหาผู้เชี่ยวชาญของมันเป็นการเฉพาะ
บางคนอาจจะข้องใจว่า กฎระเบียบที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ใช้ในการพัฒนาสังคมก็คล้ายๆกันกับกฎระเบียบที่อิสลามนำมามิใช่หรือ? ฉะนั้นเราต้องพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่มาก่อนระหว่างอิสลามกับกฎระเบียบดังกล่าว ? ดังนั้นแน่นอนบทบัญญัติอิสลามย่อมมาก่อน จะเห็นได้ว่าอิสลามมีกฎเกณฑ์ที่ได้ปฏิบัติกันมาเนิ่นนานมากกว่า 15 ศตวรรษ ฉะนั้นอะไรก็ตามที่มาหลังอิสลามซึ่งอาจคล้ายหรือเหมือนกับอิสลาม ก็ถือว่าเป็นการอ้างอิงมาจากศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ายุคเเรกๆที่อิสลามเข้ามา ได้มีบุคคลต่างศาสนิกเข้ามาศึกษาอิสลามและสนใจอิสลามเป็นพิเศษ เช่นนักบูรพาคดี ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมีจุดประสงค์ที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม
อิบนูรอมลี เเปล / www.musliminside.org