อ่านอย่างไร ไม่ทำร้ายดวงตา ?
หากจะสอนให้เด็กรุ่นใหม่รักการอ่าน ก็น่าจะสอนด้วยว่า อ่านอย่างไรจึงจะไม่ทำร้ายดวงตา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ได้ออกคู่มือ เคล็ดลับการอ่าน...เพื่อสุขภาพ หวังให้คนไทยรักการอ่าน ขณะเดียวกันก็รักสุขภาพด้วยกระดาษถนอมสายตา หรือ Green Read Paperกระดาษที่เหมาะกับการอ่าน คือกระดาษถนอมสายตา ซึ่งเกิดจากการนำเยื่อกระดาษบริสุทธิ์มาผสมกับกระดาษที่เสียหายหรือไม่ได้มาตรฐานการผลิต ได้ออกมาเป็นกระดาษที่สะท้อนแสงน้อย สีของกระดาษจะออกสีตุ่นๆ ไม่ขาวจั๊วะเหมือนกระดาษส่วนใหญ่ เหมาะกับการอ่าน และถนอมสายตาสมชื่อ คืออ่านแล้วจะรู้สึกสบายตา ไม่ปวดตา
หมึกพิมพ์ และขนาดตัวอักษรการพิมพ์หนังสือโดยทั่วไปจะใช้หมึกสีเข้ม คือสีดำบนพื้นกระดาษสีขาว เพราะตัวอักษรสีเข้มที่ลอยเด่นจากพื้นหลังสีขาวย่อมอ่านง่ายกว่าตัวอักษรสีอ่อนๆ หนังสือที่ดีไม่ควรเล่นสีสันระหว่างตัวอักษรและพื้นหลังจนอ่านไม่รู้เรื่อง
ขนาดของตัวอักษรนิยมให้ใหญ่กว่า 14 พอยต์ เพราะถ้าเล็กกว่านั้นจะทำให้อ่านยาก และดวงตาเกิดความล้าเร็วเกินไป แต่ตัวหนังสือที่ใหญ่เกินไปก็ใช่ว่าจะดี เพราะจะทำให้ตาไม่สามารถจับโฟกัสได้ชัดเจน พลอยทำให้อ่านไม่รู้เรื่อง ช่องไฟระหว่างตัวหนังสือที่ชิดกันมากเกินไปหรือห่างเกินไป ก็ทำให้อ่านลำบากเช่นกัน
ขนาดรูปเล่มหนังสือขนาดเล็กเกินไป แล้วยังใช้ตัวอักษรขนาดเล็ก ทำให้อ่านยาก ส่วนหนังสือเล่มใหญ่หรือหนาเกินไป ก็ต้องเลือกท่าทางในการอ่านให้เหมาะสม มิฉะนั้นถ้าต้องถืออ่านนานๆ ร่างกายต้องรับน้ำหนักมากเกินไป หรืออยู่ในท่าที่ไม่สมดุลนานๆ จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้
เลือกอ่านในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมควรอ่านหนังสือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่มืดหรือจ้าเกินไป หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือบนรถที่กำลังวิ่ง เพราะสายตาต้องปรับโฟกัสตลอดเวลา
หากอยากอ่านหนังสือให้มีสมาธิ ไม่ควรฟังเพลงไปด้วย โดยเฉพาะเพลงที่มีจังหวะเร็วๆ เพราะสมาธิจะไปอยู่ที่เพลงมากกว่า หากอยากฟังเพลงไปด้วยจริงๆ ควรเลือกเพลงบรรเลงเบาๆ สบายๆ จะดีกว่า ยิ่งฟังเพลงจากหูฟัง ยิ่งไม่เหมาะกับการอ่าน เพราะนอกจากจะให้เสียงที่ใกล้และดังก้องเกินไปแล้ว หูฟังแบบที่กดกับใบหูยังทำให้ปวดศีรษะได้ง่าย หรือแบบที่ใส่ในหูก็ทำให้เจ็บหูได้ง่ายเช่นกันหามุมอ่านหนังสือที่เงียบสงบ อากาศปลอดโปร่งถ่ายเทสะดวก ไม่ควรอ่านหนังสือบริเวณที่มีคนผ่านไปมาตลอดเวลา เช่น ประตู ทางเดิน หรือหน้าบ้าน เพราะจะทำให้เสียสมาธิได้ง่าย
เลือกที่จะอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว ดีกว่าทำกิจกรรมหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน เช่น กินไปด้วย ฟังเพลงไปด้วย จะทำให้เสียสมาธิและเสียอรรถรสจากการอ่านไปอย่างน่าเสียดาย รวมทั้งไม่ควรอ่านหนังสือขณะขับถ่าย เพราะจะเป็นผลเสียต่อร่างกาย
พักสายตาเมื่อเหนื่อยล้าหลังจากอ่านหนังสือทุกๆ 40-50 นาที ควรพักสายตาด้วยการมองไกลๆ หรือมองต้นไม้ ใบไม้เขียวๆ จะช่วยผ่อนคลายสายตาได้ดี
ปกติแล้วคนเราจะกะพริบตาโดยอัตโนมัติ แต่หากอยากจะเป็นนักอ่าน ต้องหัดกะพริบตาเพื่อเป็นการออกกำลังสายตา ภายใน 10 วินาที ให้พยายามกะพริบตาสัก 1-2 ครั้ง เมื่อหัดจนชิน จะช่วยลดความอ่อนล้าของสายตาได้มาก
อีกวิธีหนึ่งคือการให้ดวงตาได้รับแสงแดดบ้าง โดยการหลับตาลง ให้แสงแดดส่องผ่านหนังตาที่หลับอยู่ วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น ครั้งละ 10 นาที แสงแดดจะช่วยให้เกิดการไหลเวียนของโลหิตรอบๆ ดวงตา ผ่อนคลายกล้ามเนื้อดวงตาและระบบประสาทรอบดวงตา
การใช้น้ำเย็นเป็นวิธีง่ายๆ อีกวิธีหนึ่ง แค่เอามือรองน้ำเย็น หลับตา แล้ววักใส่หน้าบริเวณดวงตา ไม่ต้องแรงนัก สัก 20 ครั้ง ซับให้แห้งเบาๆ จะช่วยให้ดวงตา กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทสดชื่นขึ้น
การใช้ฝ่ามือ เป็นวิธีการที่จักษุแพทย์แนะนำว่าสามารถลดความเครียดให้กับดวงตาได้เป็นอย่างดี เริ่มจากนั่งบนเก้าอี้ด้วยท่าที่สบายที่สุด เอาฝ่ามือทั้งสองข้างปิดดวงตาไว้ โดยให้ฝ่ามือซ้ายปิดตาซ้าย ฝ่ามือขวาปิดตาขวา ปลายฝ่ามือทั้งสองข้างไขว้ทับกันไว้บนหน้าผาก ทำอย่างนี้วันละครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง
เตรียมตัวอ่านอย่างไรให้มีสมาธิควรอ่านหนังสือตอนที่ร่างกายสดชื่น อุณหภูมิเหมาะสม ไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป สวมเครื่องแต่งกายสบายๆ ไม่อึดอัด
อย่าอ่านเมื่อรู้สึกหิว เพราะจะไม่มีสมาธิ แถมยังไม่มีพลังงานให้สมอง และไม่ควรอ่านหนังสือหลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ เพราะร่างกายต้องใช้พลังงานในการย่อยอาหาร ถ้าอ่านหนังสือ เลือดจะขึ้นไปเลี้ยงสมองมาก จนทำให้กระเพาะย่อยอาหารได้ไม่ดี
ท่านั่งที่ถูกต้องสำหรับการอ่าน คือนั่งหลังตรง ไม่เกร็งเกินไป เลือกเก้าอี้ที่มีพนักพิงและเท้าแขนที่พอเหมาะกับร่างกาย เก้าอี้ที่นุ่มเกินไปหรือแข็งเกินไป ทำให้นั่งไม่สะดวก และทำให้อ่านไม่ได้นาน
ควรถือหนังสือให้ห่างจากดวงตาไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร และไม่ควรนอนอ่านหนังสือ เพราะนอกจากจะทำให้เมื่อยแขนมากกว่าปกติแล้ว สายตายังต้องปรับระดับมากอีกด้วย
เมื่ออยู่ในยามเครียดหรืออารมณ์ไม่ดี ไม่ควรฝืนอ่านหนังสือ เพราะไม่มีสมาธิและทำให้อ่านไม่รู้เรื่อง จะไม่เกิดประโยชน์จากการอ่านอย่างเต็มที่ ควรอ่านหนังสือก่อนนอนในสภาวะที่ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย หรืออ่านในวันหยุดสบายๆ ที่ไม่ต้องเร่งรีบไปไหนจะดีกว่า
ที่มาข้อมูล : ผู้จัดการ