เส้นทางนักเรียนมุสลิมชายแดนใต้...สู่นักแบ่งแยกดินแดนจริงหรือ?
ปัญหาการจัดการศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มี ‘ไฮไลต์’ อยู่ที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของประเทศ โดยวัดจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเฉพาะวิชาสามัญเท่านั้นที่เป็นเช่นนี้คงต้องย้อนกลับไปดูความเป็นมาจากบริบทในสังคมนั้นเอง จะเห็นได้ว่าแต่เดิมนั้น การศึกษาวิชาสามัญยังไม่เป็นที่นิยมหรือยังไม่มีใครเห็นความจำเป็น สถาบันการศึกษาในพื้นที่เวลานั้น ซึ่งจัดโดย ‘อาเนาะ ตือปะ’ (‘ลูกถิ่น’) หรือคนในพื้นที่จึงมีเฉพาะ ‘ปอเนาะ’ ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาด้านศาสนา อันสามารถตอบสนองความต้องการหรือความจำเป็นรวมทั้งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาอิสลามและพูดภาษามลายูในชีวิตประจำวัน
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2504 รัฐบาลได้เข้าจัดระเบียบปอเนาะ ให้ปอเนาะจดทะเบียนกับทางราชการ และให้บรรจุวิชาภาษาไทยในการเรียนการสอนด้วย รวมทั้งให้จัดการเรียนการสอนวิชาศาสนาในแนวทางที่รัฐบาลต้องการ โดยรัฐบาลต้องการให้ปอเนาะจัดทำหลักสูตรและแบ่งชั้นเรียนออกเป็นระดับต่างๆ เนื่องจากการศึกษาปอเนาะไม่มีหลักสูตรชัดเจนและไม่มีการวัดผลที่เป็นระบบแน่นอน
ปอเนาะ มาจากไหนตามประเพณีการเรียนการสอนแบบปอเนาะน่าจะคล้ายการศึกษาแบบ ‘สำนักทิศาปาโมกข์’ ในชมพูทวีป ซึ่งแพร่หลายสู่ภาคใต้มานานนับพันปีก่อน ‘สำนักทิศาปาโมกข์’ มีลักษณะเป็นสำนักพระอาจารย์ซึ่งทุกอย่างรวมศูนย์ที่ ‘พระอาจารย์’ หรือ ‘เจ้าสำนัก’ ซึ่งในที่นี้อาจพอเทียบเคียงได้กับ ‘โต๊ะครู’ เจ้าของ ‘สำนัก’ ปอเนาะนั่นเอง
ลักษณะของสถานที่เรียนเป็นห้องโถงบนโรงเรือนใต้ถุนสูง ซึ่งขยายต่อเติมจากบ้านพักอาศัยของโต๊ะครู ส่วนบ้านพักของผู้เรียนสร้างเป็นกระท่อมเรียกว่า ‘ปอเนาะ’ อันเป็นที่มาของชื่อเรียกสถานศึกษาว่า ‘ปอเนาะ’ (pondok - กระท่อม) มองอีกนัยหนึ่งก็เหมือน ‘กุฏิ’ ซึ่งเป็นที่กระท่อมที่พักของพระสงฆ์และเณรในวัดพุทธนั่นเอง
จึงเป็นไปได้ว่าการจัดการศึกษาแบบปอเนาะอาจจะคลี่คลายมาจากการจัดการศึกษาและการจัดผังสถานศึกษาแบบสำนักทิศาปาโมกข์และแบบวัดพุทธ ผสมกับแบบตะวันออกกลาง เนื่องจากในสมัยอาณาจักรลังกาสุกะ (Langkasuka) อันเป็นอาณาจักรโบราณของปาตานีเอง (ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 7-21) บรรพชนของคนปาตานีเคยนับถือศาสนาฮินดู (ไศวนิกายในสมัยเริ่มแรกอาณาจักร) ต่อมาศาสนาพุทธ (มหายานนิกายสมัยศรีวิชัย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-18) และศาสนาอิสลาม
(ประมาณช่วงสถาปนารัฐสุโขทัยราวพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นไป เทียบจากอายุของศิลาจารึกตรังกานู ค.ศ.1303/พ.ศ.1846 เนื้อหาเป็นข้อกฎหมายอิสลาม โปรดดู http://www.etourz.com/batu_bersurat.htm ส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่า ศาสนาอิสลามน่าจะรุ่งเรืองทางชายฝั่งตะวันออกตั้งแต่ตรังกานู กลันตัน และปาตานีมาก่อนหน้านี้ระยะหนึ่งแล้ว)
การศึกษาตามอัธยาศัย
ปอเนาะมีลักษณะเป็นการศึกษาตามอัธยาศัยหรือการศึกษานอกระบบ (non formal education) รูปแบบหนึ่ง ลักษณะการเรียนการสอนในปอเนาะไม่มีการแบ่งเป็นชั้นเรียนและห้องเรียน แต่เป็นแบบล้อมวง โดยโต๊ะครูหรือผู้สอนจะนั่งด้านหนึ่ง โต๊ะครูจะเป็นผู้บรรยายวิชาการต่างๆ จากตำราภาษาอาหรับและภาษามลายูที่ ‘อูลามะ’ (ulama) หรือปราชญ์มลายูมุสลิมปาตานีราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 หลายคน (โดยเฉพาะ ท่านเช็คดาวูดและท่านเช็คอาหฺมัด อัลฟาฏอนี ฯลฯ) ได้รวบรวมและเรียบเรียงขึ้นมา
สำหรับการวัดผลนั้นเป็นการวัดความรู้ความเข้าใจของศิษยานุศิษย์โดยท่านโต๊ะครูเป็นหลัก ซึ่งเป็นการวัดผลตลอดเวลา ในขณะเดียวกันผู้เรียนเองก็จะต้องประเมินผลตนเองด้วย จะเห็นได้ว่ามีนักศึกษาสำนักปอเนาะหลายคน หลังจากศึกษาในปอเนาะเดิมหลายปี ก็จะขอย้ายไปศึกษากับโต๊ะครูที่สำนักปอเนาะอื่น ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในวิชาการสาขาอื่นๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สึกว่าตนได้เติมเต็มความรู้ความเข้าใจในศาสตร์แต่ละสาขาที่ตนสนใจจนพอใจแล้ว
แต่ในท้ายที่สุดผู้ที่จะตัดสินความเป็น ‘ผู้ทรงความรู้’ ของนักเรียนปอเนาะแต่ละคนจริงๆ ก็คือชุมชน โดยผ่านกระบวนการคัดเลือกและการยอมรับของชุมชน เพราะนักศึกษาปอเนาะเหล่านั้นในท้ายที่สุดก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตในสังคมชุมชนของตนต่อไป
ถึงกระนั้นทุกคนย่อมตระหนักดีว่า คำกล่าวที่ว่า “เรียนจบจากปอเนาะ” หรือ “เรียนหรือสำเร็จจากปอเนาะ” เป็นคำกล่าวที่ไม่เหมาะสมนัก คำกล่าวที่ถูกต้องคือ “เคยเรียนปอเนาะมา” หรือ “ผมเป็นเด็กปอเนาะมาก่อน” (เหมือนที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เคยพูดบ่อยๆ) ทั้งนี้เพราะตามปรัชญาการศึกษาอิสลามถือว่ามีแต่ “การศึกษาตลอดชีวิตเท่านั้น”
ดังนั้น ผู้ที่เคยศึกษาจากปอเนาะมาจะพยายามขวนขวายสืบค้นข้อความรู้ทางศาสนาจากเพื่อนสมัยเรียนปอเนาะ ตลอดจนจากโต๊ะครูผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีชื่อเสียงอยู่เนืองๆ ทำให้เกิดเครือข่ายทางวิชาการศาสนาขึ้น จากความจำเป็นตามหลักปรัชญาการศึกษาตลอดชีวิตของอิสลามดังกล่าว
เรียนอะไร เรียนทำไม
เป็นที่ชัดเจนว่าประชาชนในพื้นที่หรือชุมชนให้การยอมรับปอเนาะ (หรือสำนักปอเนาะ) ว่าเป็นสถาบันการศึกษาทางเลือกที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะมากกว่าการศึกษาภาคสามัญด้วยซ้ำ เนื่องจากทุกองค์ความรู้จากสำนักปอเนาะ ‘ต้อง’ สามารถเอาไปใช้ได้ในชีวิตจริงหรือในชีวิตประจำวัน โดยองค์ความรู้เหล่านั้นได้ผ่านการตีความและอรรถาธิบายโดยปราชญ์คนสำคัญๆ แล้ว
ที่มาขององค์ความรู้ดังกล่าวล้วนมาจากโต๊ะครู ผู้ประสาทวิชาการสาขาต่างๆ ที่สอนกันในปอเนาะ อาทิ วิชาอัล-กุรอาน อัล-ฮะดิษ (วัจนะศาสดา) ฟิกฮฺ (นิติศาสตร์อิสลาม) อัคลาก (หน้าที่ศีลธรรม) อุศุลลุดดีน (ปรัชญาศาสนาหรือเทววิทยา) มันติก (ตรรกวิทยา) อัล-ฟาลัค (ดาราศาสตร์) ภาษาอาหรับ และ (อาจจะสอน) วิชาตะเศาวุฟ (ฌานวิทยา) ด้วย ฯลฯ องค์ความรู้เหล่านี้นับว่ามีความจำเป็นโดยเฉพาะกับผู้ที่จะเป็น ‘อิหม่าม’ (ผู้นำชุมชนอิสลามและผู้นำละหมาด) ‘คอเต็บ’ (นักเทศน์ประจำมัสยิด) หัวหน้าครอบครัว (เพราะเป็นผู้รับผิดชอบสมาชิกในครอบครัวโดยตรง) รวมทั้งสัปปุรุษของมัสยิดทั่วไป
กำเนิดโรงเรียนราษฎร์-เอกชนสอนศาสนาอิสลาม
ด้วยเหตุผลของความมั่นคงและความต้องการแนวทางที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในการจัดการศึกษาของรัฐ ในปี พ.ศ.2508 รัฐบาลพยายามโน้มน้าวให้ปอเนาะแปรสภาพเป็น ‘โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม’ และในปีถัดมา (พ.ศ.2509) รัฐบาลได้ประกาศห้ามจัดตั้งปอเนาะขึ้นมาใหม่ตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทั้งๆ ที่สำนักปอเนาะเป็นรูปการศึกษาเฉพาะกิจ ซึ่งมีจุดประสงค์เช่นเดียวกับการศึกษาปริยัติธรรมหรือโรงเรียนปริยัติธรรมในวัดพุทธ (จะเห็นได้ว่าต่างกันโดยสิ้นเชิงกับโรงเรียนวัดหรือโรงเรียนทั่วไป) ดังนั้นการให้ยกเลิกหรือการห้ามจดทะเบียนปอเนาะขึ้นใหม่จึงเหมือนกับการให้ยกเลิกวัดหรือโรงเรียนปริยัติธรรม หรือห้ามจดทะเบียนวัดใหม่ไม่ต่างกัน
แม้ว่ารัฐบาลไม่ได้ห้ามจดทะเบียนมัสยิดใหม่ แต่มัสยิดเป็นเพียงสถานที่ประกอบศาสนกิจเท่านั้น ไม่เหมือนวัดอย่างสิ้นเชิง (ขอให้เข้าใจว่ามัสยิดเป็นเพียงสถานที่ละหมาดรวม ซึ่งถ้าจดทะเบียนเรียกว่ามัสยิด ถ้ายังไม่จดทะเบียนเรียกว่า ‘มุศ็อลลา /musalla’ และมีอยู่มากมายตามปั๊มน้ำมันตลอดถนนสายเพชรเกษมตั้งแต่จังหวัดนราธิวาสถึงเพชรบุรี)
ในขณะที่โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามไม่ใช่เรื่องใหม่ หากเป็นรูปแบบโรงเรียนสมัยใหม่ซึ่งมีปรากฏทั่วไปในประเทศมุสลิม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน ฯลฯ โดยทั่วไปเรียกว่า ‘มัดราซะห์’ (madrasah) ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสำนักปอเนาะ หรือที่ในอินโดนีเซียเรียกว่า ‘ปซันเตร็น’ (pesantren) จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างมากที่รัฐบาลได้ไปเชื่อมโยง ‘ปอเนาะ’ เข้ากับ ‘โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม’ ซึ่งแม้ในปัจจุบันนี้ความสับสนในเรื่องนี้ก็ยังดำรงอยู่ จนยากที่ใครๆ จะเกิดความกระจ่างในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2525 โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามได้เปลี่ยนเป็น ‘โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม’ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจัดการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าโรงเรียนราษฎร์หรือโรงเรียนเอกชนอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามเหล่านั้นจึงแปรเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล และได้เปิดการเรียนการสอนภาคสามัญตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ช่วงชั้นที่ 3) และบางโรงได้ขยายถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ช่วงชั้นที่ 4) โดยนักเรียนส่วนใหญ่ต้องแบ่งเวลาไปเรียนวิชาสามัญควบคู่กับวิชาศาสนา ภาษาอาหรับและภาษาท้องถิ่น (ภาษามลายู) แบบคู่ขนานกันไป
สำหรับเวลาเรียนทั้งสองภาคมีพอๆ กัน โดยนักเรียนบางคนเลือกเรียนเฉพาะภาควิชาศาสนาจนจบชั้น 6 ชั้น 10 หรือชั้น 12 (เทียบเท่า ม.6) ส่วนการศึกษาวิชาสามัญนักเรียนกลุ่มนี้จะไปเรียนต่อในหลักสูตร กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน) แทน เพราะถือเป็นทางลัดกว่าและเรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์
หลักสูตรการศึกษาและการวัดผล
ปัจจุบันหลักสูตรการศึกษาศาสนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ จัดทำโดยโรงเรียนผู้บริหารสถานศึกษานั้นๆ และโดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแต่ละจังหวัด ในส่วนกลางผู้ทรงคุณวุฒิศาสนาอิสลามกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นอดีตศิษย์เก่าโรงเรียนอันยุมันอิสลาม บางรัก มีความพยายามจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนศาสนาอิสลามตั้งแต่ พ.ศ. 2497 ต่อมาในปี 2499 กลุ่มดังกล่าวสามารถจัดตั้ง ‘สมาคมคุรุสัมพันธ์’ สำเร็จ ได้จัดทำหลักสูตรและเป็นผู้จัดการวัดผลสอบด้วย โดยในปัจจุบันสมาคมคุรุสัมพันธ์มีหน่วยสอบทั่วประเทศมากกว่า 70 แห่ง โปรดดู http://www.kurusampan.com/subIndex.php?option=content&category=47&id=37 และได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในส่วนกลางและภาคใต้ตอนบน
ส่วนใหญ่นักเรียนมุสลิมไม่ว่าจากพื้นที่ 3 จชต. จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง และจังหวัดภาคใต้ตอนบน รวมทั้งในส่วนกลาง (กรุงเทพฯ ปทุมธานี อยุธยา ฯลฯ) จะสำเร็จการศึกษาทั้งภาคศาสนาและภาคสามัญได้รับประกาศนียบัตรพร้อมกันทั้งสองใบ หากจบชั้นมัธยมปลายสายสามัญ (ม.6) ก็สามารถสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในประเทศหรือต่างประเทศได้ตามปกติ แต่หากจบภาคศาสนาชั้น 6 หรือชั้น 10 (เทียบเท่าระดับประถมศึกษาตอนปลายหรือมัธยมศึกษาตอนต้น) ก็สามารถเอาไปประกอบกับประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายของรัฐบาล (ม.6) เพื่อสมัครศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำในมาเลเซีย อินโดนีเซีย อียิปต์ ฯลฯ ได้ รวมทั้งสามารถขอทุนการศึกษาได้ด้วย
นักเรียนมุสลิมที่ไปศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ (โดยเฉพาะประเทศในตะวันออกกลาง) ส่วนใหญ่ได้รับทุนการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี และอาจจะในขั้นสูงกว่าปริญญาตรีจนสำเร็จปริญญาเอก โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยในประเทศซาอุดิอาระเบีย
ตัวอย่างผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยในซาอุดิอาระเบียซึ่งผ่านเส้นทางดังกล่าวที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน เช่น
ดร.อิสมาแอ อาลี (ชาวจังหวัดนราธิวาส) ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ดร.อิสมาแอล ลุฏฟี จะปะกียา (ชาวจังหวัดปัตตานี) อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข (ชาวกรุงเทพฯ) อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้แปลพระมหาคัมภีร์กุรอานภาษาไทยฉบับที่รับรองโดยประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น
คำถามถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา?
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของทางการไทยเคยกล่าวว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศมากที่สุดในประเทศไทย ขณะที่เราบอกว่าพวกนี้ด้อยการศึกษา โดยวัดเฉพาะผู้สำเร็จการศึกษาชั้นสูงจากสถาบันในประเทศเท่านั้น ในขณะที่การสำเร็จการศึกษาในประเทศอาจทำให้พวกเขากลายเป็นบัณฑิตตกงาน ทั้งๆ ที่ความจริงมีนักเรียนมุสลิมไม่มากนักที่สามารถเรียนจนสำเร็จเป็นบัณฑิตได้จริงๆ เนื่องจากต้องมาเจอกับสภาพสังคมของกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยอบายมุขและค่าใช้จ่ายที่สูงมากเกินกว่าที่ผู้ปกครองสามารถส่งเสียได้ ทำให้เยาวชนชายหญิงมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากกลายเป็นพวกที่ล้มเหลวทั้งสองทาง (double failure) ทำให้ปฏิเสธทั้ง ‘เป้าหมาย’ (aims) และ ‘วิธีไปสู่เป้าหมาย’ (means) จำนวนไม่น้อยที่กลายเป็นพวก ‘ติดยาเสพติด’ และ ‘ติดเซ็กส์’
กระทั่งครั้งหนึ่งผู้บริหารการศึกษาระดับสูงของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งย่านรามคำแหงถึงกับบอกผู้เขียนว่า ช่วยฝากบอกผู้ปกครองเด็กจาก 3 จชต.ทีเถอะว่า อย่าส่งลูกหลานไปเรียนเลยที่กรุงเทพฯ เพราะไปแล้วจะเสียผู้เสียคนไปเลย (ความหมายคือ เรียนใกล้ๆ บ้านดีกว่า)
ตอกย้ำด้วยการให้สัมภาษณ์ของ อัมพร หมาดเด็น ผู้เขียนหนังสือ Sexual Culture Among Young Migrant Muslims In Bangkok ชื่อปกภาษาไทยแปลคร่าวๆ ได้ว่า “วัฒนธรรมทางเพศของหนุ่มสาวมุสลิมย้ายถิ่นในกรุงเทพฯ” ใน Amana. Vol.I Issue 4, 2007 (สำนักพิมพ์ AMAN กรุงเทพฯ 2550) ซึ่งมาจากรายงานวิจัยของเธอเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศของนักศึกษามุสลิมทั้งหญิงชายซึ่งจากบ้านเกิดเมืองนอนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาศึกษาต่อในส่วนกลางที่กรุงเทพฯ โดยกำหนดพื้นที่ศึกษารอบ ๆ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ผลการศึกษาที่น่าสนใจพบว่า ค่านิยมและการปฏิบัติในเรื่องเพศของนักศึกษามุสลิมเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัดและโดยมีนัยสำคัญ เธอยกกรณีนักศึกษาหญิงคนหนึ่งซึ่งสารภาพว่าเพิ่งทำแท้งครั้งที่ 2 มาได้หมาดๆ โดยยอมรับว่า เธอมีเพศสัมพันธ์กับแฟนหนุ่มเพื่อนนักศึกษาซึ่งอยู่กินฉันผัวเมียทั้งๆ ที่มิได้ผ่านการแต่งงานตามหลักการศาสนาอิสลาม โดยทั่วไปความฟอนเฟะเช่นนี้ถ้าทราบกันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ แม้ว่ากำนันระดับแหนบทองคำคนหนึ่งจากนราธิวาสเคยบอกกับผู้เขียนครั้งหนึ่งว่า เรื่องอย่างนี้ชาวบ้านเขาพูดว่า ถ้าหวังให้ลูก (สาว) เรียนสูงๆ ก็ต้องยอม...(ให้เสรีเรื่องเพศ) “ไม่รู้จะว่ายังไง สังคมมันเปลี่ยนไปมากแล้ว อีกอย่างมันถึงวัยของเขาด้วย”
อย่างไรก็ตาม มีผู้แย้งว่าผู้หญิงที่เสียสาวก่อนแต่งงานกระทำตัวที่ ‘ไม่ยุติธรรม’ ต่อสามีในอนาคต เพราะตามหลักการศาสนาอิสลามแล้ว ผู้ชายต้องจ่ายค่าสินสอดให้เจ้าสาวจำนวนไม่น้อย โดยปัจจุบันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าฝ่ายผู้หญิงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี พ่อแม่ฝ่ายหญิงอาจเรียกจากฝ่ายชาย 1.5-2 แสนบาทขึ้นไป ส่วนในส่วนกลางค่าสินสอด (และอื่นๆ) อาจอยู่ระหว่าง 3 แสนบาทถึงกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชาย (สามี) จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่างในครอบครัว (รวมทั้งค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าจ้างการดูแลบ้าน ฯลฯ) รวมทั้งบาปทางศาสนาทั้งหมดของภรรยาที่ละเมิดกฎศาสนา อาทิ ไม่คลุมฮิญาบเมื่อออกนอกบ้าน ฯลฯเมื่อสามีเสียชีวิตลงก็ต้องแบ่งทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้ภรรยา ขณะที่ฝ่ายสามีไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินของภรรยาเลยไม่ว่าก่อนหรือหลังแต่งงาน ความรับผิดชอบของฝ่ายชาย (สามี) อย่างมากมายตลอดเวลาที่อยู่ร่วมกันซึ่งอาจถึงตลอดชีวิตเช่นนี้ จึงนับว่าไม่ยุติธรรมที่เขากลับได้ภรรยาที่เคยมอบหัวใจและ/หรือร่างกายให้ชายอื่น เชยชมแบบฟรีๆ มาแล้ว (แถมยังไม่ต้องรับผิดชอบอะไร)
สถานะปัญญาชนมุสลิมสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธ เมื่อหันมาดูหนุ่มสาวมุสลิมที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ เมื่อกลับสู่บ้านเกิดพวกเขากลับใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า และมีประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมอย่างกว้างขวาง มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันนี้ทุกหมู่บ้านในพื้นที่ 3 จชต. มีผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งมีความรู้ความสามารถในแขนงวิชาที่ศึกษา ที่น่าสนใจคือมีความสามารถทางภาษาอย่างน้อยสามภาษา คือ มลายู ไทย อาหรับ และ/หรือ อังกฤษ (และอาจรู้ภาษาที่ 4-5 เพิ่มคือภาษาฝรั่งเศส)
นักเรียนมุสลิมเหล่านี้เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้กลับมายังบ้านเกิดเมืองนอน หลายคนประกอบอาชีพเป็นครูสอนศาสนา ภาษา คอมพิวเตอร์ หลายคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในสาขากฎหมาย รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การบริหารการศึกษา ภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ หลายคนเป็นผู้บริหารโรงเรียน นักธุรกิจ หลายคนเป็นแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก บางคนก็เป็นนักการทูตสังกัดกระทรวงการต่างประเทศไทย ฯลฯ และไม่ว่าพวกเขาจะเป็นอะไร ที่แน่ๆ คือพวกเขาเป็นปัญญาชนในพื้นที่
แต่ปัญญาชนไม่ใช่นักแบ่งแยกดินแดน เหมือนอย่างที่หลายคนตั้งข้อสงสัยล่วงหน้าไปก่อนแล้ว
การวาดภาพพวกเขาเสียน่ากลัวเช่นนี้เท่ากับไม่ให้ความเป็นธรรมกับเขาซึ่งเป็นคนไทยด้วยกัน เพียงเพราะพวกเขาเป็น ‘ปัญญาชน’ ที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางแห่งการเรียนรู้ในวัยเด็ก จากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่สุดปลายด้ามขวานเท่านั้นเอง
กัณหา แสงรายา