กลุ่มชนที่เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน และวิชาการอย่างลึกซึ้ง
ยูซุฟ อบูบักร
กลุ่มชนที่ก้าวผ่านปัญหาอุปสรรค และปฏิเสธเรื่องไร้สาระ แก้ไขปัญหาด้วยสถานการณ์จริง ไม่ใช่ด้วยกับการคาดคะเน และต้องไม่ลืมว่าเขากำลังมุ่งหน้าสู่ฟากฟ้าในขณะที่กำลังยืนสง่าอยู่บนแผ่นดิน ดั้งนั้นเขาจะไม่ทิ้งให้สิ่งที่อยู่เบื้องหลังตกอยู่บนความเพ้อฝัน โกหก หรือมโนภาพถึงสิ่งที่มิอาจเป็นไปได้ หรือหวังลม ๆ แล้ง ๆ จนกระทั้งคิดไปถึงการที่จะว่ายน้ำบนบก คิดจะบินโดยที่ไม่มีปีก เขาจะไม่หว่านเมล็ดพืชลงไปในท้องทะเล ไม่เพาะปลูกเมล็ดพันธุ์บนโขดหิน ไม่ทอผ้าด้วยกับการนั่งจินตนาการ และไม่สร้างวิมานในหมอกเมฆ
กลุ่มชนที่ตั้งความหวังไว้อย่างยาวไกล และไม่ลืมคำนึงสถานการณ์จริง เขาต้องการที่จะมุ่งสู่ชายฝั่งทะเลแห่งความฝัน แต่ต้องระมัดระวังต่อกระแสคลื่นลม และความรุนแรงของพายุที่โหมกระหน่ำ เขาต้องเข้าใจและตระหนักว่า เวลาคือหัวใจของการขับเคลื่อน ดุนยาเป็นสิ่งไม่แน่นอน ส่วนวันคืนที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปนั้นไม่มั่นคง และเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะกอดรัดความสุขสบายไว้ให้อยู่ในอ้อมแขนตลอดไป
“และบรรดาวันเหล่านั้นเราได้ให้มันหมุนเวียนเปลี่ยนไประหว่างมนุษย์”
(อาละอิมรอน / 140)
เขาจะไม่หมดอาลัยต่ออัลลอฮฺ ไม่สิ้นหวังต่อความเมตตาของพระองค์ แต่เขากลับเป็นผู้ที่รู้ถึงขอบเขตความสามารถของตนเอง รู้ถึงบริบทของความน่าจะเป็น เขาจะไม่มุ่งหวังผลลัพธ์อันมหาศาลก่อนที่จะลงมือกระทำ ไม่รีบเร่งร้อนใจในการกระทำกิจการต่าง ๆ ไม่ผูกมัดตัวเองในสิ่งที่ไม่มีความสามารถ เขาจะไม่เอาศีรษะมุดเข้าไปในรู จนกว่าเขาจะรู้ทางออกที่ดีเสียก่อน ดั่งกวีอาหรับได้กล่าวว่า
“ผู้ที่มีความระมัดระวัง เขายอมตายหากต้องให้เขาเข้าใกล้กุหลาบที่เขายังไม่ได้รู้จักหนามคมของมันเสียก่อน”
กลุ่มชนผู้เข้าใจกฎของอัลลอฮฺในการสร้างสรรค์โลกได้อย่างลึกซึ้งเสมือนที่เขาปฏิบัติต่อบัญญัติอย่างเคร่งครัด เขาจะสถาปนาหลักการบริหารอย่างช้า ๆ เป็นระบบ อดทนรอต่อผลลัพธ์อันหอมหวาน เขาจะรอคอยการเจริญเติบโตจากเมล็ดพันธุ์จนกระทั่งงอกเงยเป็นต้นกล้า รดน้ำพรวนดินจนงอกงามแตกกิ่งก้านสาขา ชุบเลี้ยงจนกระทั่งแตกยอดหน่อ ผลิดอกออกผลรอวันเชยชมรับประทานได้ในที่สุดด้วยการอนุมัติของอัลลอฮฺ
กลุ่มชนที่มีความลึกซึ้งทางวิชาการ ใจกว้างและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมจำนนต่อหลักการและเหตุผล ปฏิเสธต่อสิ่งแปลกปลอมบิดเบือน ไม่กระทำในสิ่งที่ไม่มั่นใจ และไม่กระทำตามอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวของตนเอง ศึกษาเรียนรู้จากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ การใช้สติปัญญาใคร่ครวญเป็นฟัรฎู การพิเคราะห์สังเกตเป็นอิบาดะฮฺ การศึกษาหาความรู้เป็นการญิฮาด การยึดตามบรรพบุรุษอย่างงมงาย คร่ำครึ เป็นสิ่งที่โง่เขลาหลงผิด
ดังนั้นเขาต้องวิเคราะห์ต่อทุกสิ่งที่พบเจอการจะตัดสินใจ ศึกษาค้นคว้าก่อนลงมือปฏิบัติ ต้องหาหลักฐานประกอบก่อนที่จะเชื่อมั่น ต้องวางแผนก่อนลงมือทำ ไม่ยอมรับคำตัดสินโดยที่ไม่มีความกระจ่างชัด
เพราะดำรัสแห่งผู้สร้างทางวางอยู่ต่อหน้าต่อตาทั้งสองของเขา
“พวกท่านจงแจ้งให้ฉันทราบด้วยความรู้อันใดอันหนึ่ง หากพวกท่านเป็นผู้พูดจริง”
(อัลฮาม / 143)
และดำรัสของพระองค์
“จงกล่าวเถิดมุฮัมมัดว่า ณ ที่พวกท่านนั้นมีความรู้อันใดหรือ ฉะนั้นพวกท่านจะต้องนำมันออกมาให้เรา”
(อัลอาม / 148)
และอีกดำรัสของพระองค์
“จงกล่าวเถิดมุฮัมมัดว่า พวกท่านจงนำหลักฐานของพวกท่านมา หากพวกท่านเป็นผู้สัตย์จริง”
(อัลบากอเราะฮฺ / 111)