บทเรียนจากชีวประวัติของเศาะหาบิยาต
  จำนวนคนเข้าชม  8834

 

บทเรียนจากชีวประวัติของเศาะหาบิยาตบางท่าน

 

เรียบเรียงโดย ซุฟอัม อุษมาน


          แท้จริงแล้วอัลลอฮฺได้สร้างมนุษย์ทั้งเพศชายและเพศหญิงเป็นคู่กัน โดยทั้งคู่เป็นสิ่งที่ขาดจากกันไม่ได้เพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต ดังปรากฏในวจนะของท่านรอซูล มีใจความว่า

“แท้จริงแล้วเหล่าผู้หญิงนั้นคือผู้เคียงคู่ผู้ชาย”

 (อบู ดาวูด)

          ดังนั้นจึงไม่เป็นที่คลางแคลงอีกเลยว่า บทบาทของผู้หญิงในการร่วมกันสร้างสรรค์ชีวิตครอบครัวและสังคมให้ดีนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยถ้าจะหมายถึงว่าเป็นเสาหลักแล้วก็เป็นการตีความที่ถูกต้องตามนัยที่ว่าภาระหน้าที่อีกส่วนหนึ่งในชีวิตผู้ชายมิอาจจะสมบูรณ์ได้ถ้าหากปราศจากผู้หญิง สังเกตได้จากหะดีษบทหนึ่งซึ่งมีความว่า

“ผู้ใดที่อัลลอฮฺประทานภรรยาที่ดีให้เขา แน่แท้ย่อมแสดงว่าพระองค์ได้ช่วยเหลือในครึ่งหนึ่งของศาสนาเขาแล้ว”

(อัล-หากิม)

          ณ ที่นี้ขอยกตัวอย่างบทบาทของมุสลิมะฮฺในการทำหน้าที่เป็นเสาหลักสำหรับคู่ชีวิตของนาง จากเรื่องเล่าของบรรดาภริยาท่านรอซูล และเหล่าเศาะหาบิยาต ผู้เป็นบุปผชาติแห่งสวนสวรรค์ พอสังเขปดังนี้
 

1.      เคาะดีญะฮฺ บินติ คุวัยลิด

           เคาะดีญะฮฺ บินติ คุวัยลิด เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา ภริยาคนแรกของท่านรอซูล  เป็นสตรีหมายเลขหนึ่งซึ่งประเสริฐที่สุดในหมู่สตรีทั้งหลายในโลก ท่านรอซูล มักจะพูดถึงนางด้วยความชื่นชมและยกย่องเสมอ ท่านอาอิชะฮฺ เคยเล่าว่า

 “ท่านรอซูล  เมื่อกล่าวถึงเคาะดีญะฮฺแล้ว ไม่เบื่อที่จะพูดยกย่องและอิสติฆฺฟารฺ(ขออภัยโทษจากอัลลอฮฺ)ให้นาง

 

         วันหนึ่งขณะที่ท่านพูดถึงนางอีกครั้งฉันมีความรู้สึกหึงหวงขึ้นมา จึงได้กล่าวแก่ท่านว่า แท้จริงอัลลอฮฺได้ทดแทนให้ท่านจากหญิงที่มีอายุมาก(ด้วยภรรยาคนอื่น)แล้ว เมื่อนั้นฉันเห็นท่านรอซูลโกรธมากจนฉันใจสั่น และคิดในใจว่า โอ้ อัลลอฮฺ หากพระองค์ทำให้ท่านหายโกรธฉันแล้ว ฉันจะไม่กล่าวถึงเคาะดีญะฮฺด้วยคำพูดที่ไม่ดีอีกเลย

เมื่อท่านรอซูลเห็นอาการฉันเช่นนั้น จึงกล่าวขึ้นว่า

"เธอพูดเช่นนั้นได้อย่างไรกัน? ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ แท้จริงนาง(เคาะดีญะฮฺ)ได้ศรัทธาต่อฉันในขณะที่คนอื่นทั้งหลายไม่ยอมเชื่อ

นางได้ต้อนรับฉันในขณะที่ผู้อื่นปฏิเสธฉัน และฉันยังได้มีบุตรกับนาง ในขณะที่พวกเธอไม่มีบุตรกับฉันเลย”

(อัซ-ซะฮะบีย์. สิยัร อะอฺลาม อัน-นุบะลาอฺ. 2:112)

          เมื่อครั้งที่ท่านรอซูล ได้เจอญิบรีลครั้งแรก ซึ่งสร้างความตระหนกตกใจแก่ท่านเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้กลับไปหาเคาะดีญะฮฺด้วยอาการสั่นทั้งตัวเพราะความกลัว ท่านได้สั่งให้นางห่มผ้าให้และพูดกับนางว่า "ฉันเป็นอะไรนี่เคาะดีญะฮฺ? ฉันกลัวเหลือเกินว่าจะเกิดอะไรไม่ดีกับฉัน"

นางได้ตอบท่านว่า

 “ไม่ใช่เช่นนั้นอย่างแน่นอน จงยินดีเถิด ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ พระองค์จะไม่ทรงทำร้ายท่านเด็ดขาด

แท้จริงท่านเป็นผู้ที่ผูกสัมพันธ์กับญาติมิตร ท่านเป็นผู้สัจจริงในคำพูด

ท่านคอยแบกรับความเดือดร้อนของผู้อื่น และคอยช่วยเหลือในความถูกต้อง”

          นางยังได้พาท่านรอซูลไปหา วะรอเกาะฮฺ อิบนุ เนาฟัล ญาติผู้หนึ่งของนางที่เป็นผู้รู้เกี่ยวกับคัมภีร์อินญีล ซึ่งได้บอกแก่ท่านรอซูล ว่า ผู้ที่มาหาท่านนั้นคือญิบรีล ผู้เคยลงมาหาศาสนทูตมูซาแล้วในอดีต

(อัล-บุคอรีย์ ดู อัซ-ซะฮะบีย์. 2:112)
 

2.      อาอิชะฮฺ บินติ อบู บักรฺ

          ในบรรดาภริยาทั้งหลายของท่านรอซูล ท่านอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา เป็นภรรยาที่ท่านรักมากที่สุด เพราะนางมีความพิเศษหลายประการที่สร้างความสุขให้ชีวิตของท่านรอซูล ในฐานะสามี สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือความสุขที่ได้รับจากภรรยา และอาอิชะฮฺได้ทำหน้าที่นี้อย่างดีเยี่ยมแก่ท่านรอซูล

 นางเป็นภรรยาคนเดียวที่ท่านรอซูลแต่งงานในขณะที่ยังเป็นสาว เป็นบุตรีของอบู บักรฺ สหายผู้เป็นที่รักที่สุดของท่านรอซูล นางมีนิสัยเยี่ยงเด็กสาวที่มักจะขี้เล่น อ่อนโยน ไร้เดียงสาเหมือนเด็กๆ ในขณะที่มีความเฉลียวฉลาดเป็นยอด และเข้าใจปรนนิบัติสามีของนางอย่างดี

ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เล่าให้ฟังว่า ท่านรอซูล  ได้วิ่งแข่งกับนางและนางได้วิ่งชนะท่าน จนเมื่อนางอ้วนขึ้นท่านก็วิ่งชนะนาง และกล่าวแก่นางว่า

“นี่อาอิชะฮฺ ชนะครั้งนี้แทนที่แพ้ครั้งก่อนไงล่ะ”

 (อะหฺมัด, อบู ดาวูด, อัน-นะสาอีย์, อิบนุ มาญะฮฺ. ดู อัซ-ซะฮะบีย์. 2:174)

ท่านรอซูล  เคยนอนหนุนตักอาอิชะฮฺในขณะที่นางมีรอบเดือน และ ท่านได้อ่านอัลกุรอานให้นางฟัง

 ท่านเคยจูบนางในขณะที่นางถือศีลอด และยังให้นางหวีผมให้เมื่อตอนที่ท่านอิอฺตีก้าฟในมัสยิดโดยยื่นศรีษะให้นางซึ่งอยู่นอกมัสยิด

 (อัล-บุคอรีย์และมุสลิม)

ท่านอาอิชะฮฺ ได้เล่าอีกว่า เคยอาบน้ำญะนาบะฮฺร่วมกับท่านรอซูล จากถังใบเดียว ท่านได้รีบอาบแข่งกับฉัน จนฉันกล่าวว่า ปล่อยบ้าง ปล่อยให้ฉันอาบบ้าง

 (มุสลิม)

         เมื่อครั้งที่ท่านรอซูล  ใกล้จะเสียชีวิตนั้น อับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ อบู บักรฺ ได้เข้ามาหาท่านพร้อมไม้สีฟันที่ยังสดอยู่ ท่านได้มองดูมัน จนท่านอาอิชะฮฺสังเกตเห็นและเข้าใจว่าท่านต้องการมัน นางเล่าว่า

 “ฉันจึงเอาไม้สีฟันนั้นมากัดให้นุ่มและส่งให้ท่าน ท่านรอซูล  ได้ใช้ไม้นั้นสีฟันและส่งมันคืนแก่ฉัน แต่มือของท่านตกลงไปด้วยไม่มีแรง

ฉันได้ขอดุอาอ์ให้ท่านด้วยดุอาอ์ที่ญิบรีลได้ขอให้ท่านทุกครั้ง เป็นดุอาอ์ที่ท่านรอซูลเองขอให้ตัวเองเมื่อท่านป่วย แต่ครั้งนี้ท่านไม่ได้อ่านมัน

จากนั้นท่านได้มองไปยังเบื้องบนและกล่าวว่า "สู่การเป็นสหายกับผู้สูงส่งยิ่ง" แล้วลมหายใจของท่านก็หมดลง

ขอสรรเสริญอัลลอฮฺที่ได้รวมน้ำลายของฉันกับของท่านในห้วงสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านรอซูลในโลกดุนยา”

 (อะหฺมัด, อัล-หากิม. ดู อัซ-ซะฮะบีย์. 2:189)

         มีคนถามท่านอาอิชะฮฺว่า โอ้ ผู้เป็นมารดาแห่งศรัทธาชน อัลกุรอานและความรู้เกี่ยวกับสิ่งหะลาลและหะรอมนั้นท่านรับมาจากรอซูล ส่วนความรู้เกี่ยวกับกวี เชื้อสาย และเรื่องเล่านั้นท่านรับมาจากบิดาและคนอื่นๆ แล้วความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ท่านรับมาจากไหนกันเล่า?

ท่านอาอิชะฮฺตอบว่า

“ได้มีแขกจากที่ต่างๆ มาหาท่านรอซูล เป็นประจำ บ่อยครั้งที่มีผู้ถามท่านเกี่ยวกับโรคนั้นโรคนี้

และท่านได้บอกพวกเขาถึงยาต่างๆ ในการใช้รักษา ฉันได้ฟังได้จำมาและเข้าใจมัน”

(อัซ-ซะฮะบีย์. 2:197)
 

3.      อุมมู สะละมะฮฺ

          เมื่อครั้งที่ท่านรอซูล เสร็จจากการทำสนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮฺ ท่านได้สั่งบรรดาเศาะหาบะฮฺให้เชือดสัตว์และโกนผมเพื่อออกจากอิหฺรอม แต่ต่างคนต่างก็ไม่มีผู้ใดทำเพราะยังฝังใจที่พวกกุเรชขัดขวางไม่ให้เข้ามักกะฮฺ ท่านได้สั่งเช่นนั้นถึงสามครั้ง เมื่อเห็นว่าไม่มีใครทำตาม จึงเข้าไปหาอุมมุ สลามะฮฺ และเล่าให้นางฟัง ด้วยไหวพริบของอุมมุ สลามะฮฺ นางบอกแก่ท่านรอซูลว่า

“ท่านจงออกไปโดยไม่ต้องพูดกับผู้ใดทั้งสิ้น จนกว่าท่านได้เชือดสัตว์และโกนผมแล้ว”

ท่านจึงได้ออกไปอีกครั้งและทำตามที่นางเสนอ เมื่อเหล่าเศาะหาบะฮฺเห็นดังนั้นจึงรีบทำตามท่านรอซูล กันอย่างถ้วนหน้า

(อิบนุล ก็อยยิม. ซาดุล มะอาด )
 

4.      อุมมู ซุลัยมฺ

         อุมมู ซุลัยมฺ เป็นภรรยาของอบู ฏ็อลหะฮฺ เป็นมารดาของท่านอะนัส อิบนุ มาลิก เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุม

อะนัส เคยเล่าถึงแม่ของท่านว่า ลูกคนหนึ่งของอุมมู ซุลัยมฺ ป่วยหนัก เมื่ออบู ฏ็อลหะฮฺ ออกไปยังมัสยิดเด็กน้อยก็เสียชีวิต นางจึงจัดแจงศพของเขาให้เรียบร้อยและสั่งว่าอย่าเพิ่งบอกแก่อบู ฏ็อลหะฮฺ เมื่ออบู ฏ็อลหะฮฺกลับมา นางก็จัดอาหารค่ำให้และทั้งสองร่วมหลับนอนจนกระทั่งเมื่อถึงช่วงท้ายของคืน นางก็พูดกับอบู ฏ็อลหะฮฺว่า

“ท่านเห็นอย่างไรกับครอบครัวหนึ่งที่ยืมของจากคนอื่นมา และเมื่อเจ้าของมาทวงของคืน พวกเขากลับไม่ยอมให้มันแก่เขา และรู้สึกลำบากที่จะคืนให้”

อบู ฏ็อลหะฮฺ ตอบว่า “แสดงว่าพวกเขาไม่มีสำนึก”

นางจึงกล่าวต่อว่า “แท้จริงลูกของท่านก็เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺให้ท่านยืมมา แล้วพระองค์ก็ได้มาเอาคืนไปแล้ว”

เมื่อนั้นอบู ฏ็อลหะฮฺ จึงได้กล่าว อินนาลิลลาฮฺ วะอินนา อิลัยฮิ รอญิอูน และสรรเสริญอัลลอฮฺ

นเมื่อถึงรุ่งเช้า อบู ฏ็อลหะฮฺ ได้ไปพบกับท่านรอซูล ไม่ทันที่จะพูดอะไร

ท่านรอซูล ก็กล่าวว่า "ขออัลลอฮฺทรงประทานความประเสริฐให้กับคืนของพวกเจ้าทั้งสอง"

(อัล-บุคอรีย์และมุสลิม ดู อัซ-ซะฮะบีย์. 2:310)

 
5.      อัสมาอ์ บินติ อบู บักรฺ

          อัสมาอ์ บินติ อบู บักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา เป็นผู้ที่คอยนำอาหารและน้ำให้ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม และบิดาของนาง เมื่อครั้งที่ทั้งสองอพยพจากมักกะฮฺและพักอยู่ในถ้ำหิรออฺ นางได้เล่าให้ฟังว่า

         “ฉันได้เตรียมสำรับให้ท่านรอซูล   ในบ้านของพ่อเมื่อครั้งที่ท่านต้องการอพยพ แต่ฉันไม่มีเชือกที่จะใช้ผูกถุงสำรับอาหารและที่ใส่น้ำดื่ม ฉันกล่าวกับพ่อว่า ฉันไม่มีอะไรนอกจากผ้าคาดเอวของฉันเท่านั้น ท่านจึงสั่งให้ฉันฉีกผ้าออกเป็นสองสายและใช้ผูกถุงสำรับอาหารกับน้ำดื่ม”

ตั้งแต่นั้นมานางจึงได้ชื่อว่า ซาตุน นิฏอก็อยนฺ หมายถึง หญิงผู้มีผ้าคาดเอวสองสาย และอบู ญะฮัล ได้มาหานางที่บ้านเพื่อซักถามว่าพ่อของนางไปไหน นางเล่าว่า

“ฉันตอบว่า ฉันไม่รู้ ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ฉันไม่รู้ว่าเขาไปไหน เมื่อนั้นอบู ญะฮัลจึงยกมือขึ้นตบหน้าฉันจนกระทั่งต่างหูอันหนึ่งหลุดไป”

(อัซ-ซะฮะบีย์. 2:289-290)

         อัสมาอ์ ได้แต่งงานกับ ซุเบร อิบนุ อัล-เอาวาม นางเล่าว่า “ซุเบรได้แต่งงานกับฉัน เขาไม่มีสมบัติอะไรนอกจากม้าที่ฉันคอยดูแลและหาอาหารให้ ฉันจะคอยหาเมล็ดอินทผาลัมมาทุบให้มันกิน ฉันจะขนเมล็ดพวกนั้นจากสวนของซุเบรที่ท่านรอซูล แบ่งให้เขาซึ่งอยู่ไกลจากบ้านมาก วันหนึ่งขณะที่ฉันกำลังเดินทูนเมล็ดอินผาลัมบนหัว ท่านได้รอซูล  ได้ขี่อูฐมาพร้อมกับเศาะหาบะฮฺหลายคน ท่านได้เข้ามาใกล้ฉันและสั่งให้อูฐนั่งลงเพื่อให้ฉันขึ้นไปขี่ข้างหลัง แต่ฉันอายและนึกถึงความหึงหวงของซุเบรจึงไม่ได้ขึ้นไปขี่ ท่านรอซูล  จึงจากไป เมื่อถึงบ้านฉันได้เล่าเรื่องนี้ให้ซุเบรฟัง

เขาได้กล่าวว่า “แท้จริง ที่เธอทูนเมล็ดพวกนั้นบนหัวย่อมหนักใจแก่ฉันมากกว่าที่เธอขึ้นไปขี่หลังอูฐกับท่านรอซูล  

จนกระทั่งเมื่ออบู บักรฺ ได้ส่งคนใช้มาให้ฉัน ฉันจึงไม่ต้องคอยดูแลม้าอีก และรู้สึกเหมือนเป็นทาสที่ถูกปลดปล่อย”

 (อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม ดู อัซ-ซะฮะบีย์. 2:291)

          ในสมัยการปกครองของอับดุลมาลิก อิบนุ มัรฺวาน บุตรคนหนึ่งของนางคืออับดุลลอฮฺ อิบนุ ซุเบร ไม่ยอมขึ้นต่ออับดุลมาลิก โดยได้แยกตัวมาปกครองมักกะฮฺ อับดุลมาลิกจึงใช้แม่ทัพของตนยกทัพมาตีมักกะฮฺ ในฐานะที่เป็นแม่ อัสมาอ์ ผู้มีความเด็ดเดี่ยวได้ปลูกฝังจิตสำนึกในตัวลูกของนางด้วยการสั่งเสียว่า

“ลูกจงมีชีวิตอยู่ด้วยเกียรติ จงตายไปด้วยเกียรติ และจงอย่ายอมให้ใครมาจับเป็นเชลย”

“เจ้าอย่าเชียวที่จะยอมรับข้อเสนอที่เจ้าไม่เห็นด้วย เพียงเพราะเจ้ากลัวตาย”

(อัซ-ซะฮะบีย์. 2:293)
 

บทเรียน

          เรื่องราวต่างๆ ที่ยกมาเป็นตัวอย่างของเหล่าสตรีศอลิหะฮฺที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทในการเป็นเสาหลัก ทั้งในด้านการเป็นพลังทางใจที่สำคัญ เป็นผู้มอบความสุขในชีวิตให้แก่สามี เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ปรนนิบัติ ผู้ร่วมอุดมการณ์ที่ยืนหยัดและเด็ดเดี่ยว คอยช่วยเหลือ เข้าใจและรับภาระในหน้าที่ของตนอย่างมั่นคง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น วัลลอฮฺ อะอฺลัม
 
 

 


www.e-daiyah.com