เรื่อง"จั๊กกะจี้" ที่พ่อแม่ 'ขี้แกล้ง' ควรอ่าน!
  จำนวนคนเข้าชม  12770

ว่าด้วยเรื่อง "จั๊กกะจี้" ที่พ่อแม่ 'ขี้แกล้ง' ควรอ่าน!


 
 
       การเล่นจั๊กกะจี้เป็นความสนุกที่เกิดขึ้นได้ทุกบ้าน ซึ่งถ้าเล่นอย่างเหมาะสมสามารถช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเด็ก กับพ่อแม่ได้ แต่ถ้าเล่นเกินขอบเขต และไม่คำถึงถึงข้อจำกัดในตัวลูก แทนที่จะเป็นความสนุก อาจทำให้เด็กไม่ชอบ "การเล่น" ชนิดนี้ และเกิดเป็นอันตรายได้
      
       กับการเล่นชนิดนี้ "พญ.นลินี เชื้อวณิชชากร" กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการ และพฤติกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ เผยให้ทีมงาน Life and Family ฟังว่า การเล่นจั๊กกะจี้ เป็นการเล่นรูปแบบหนึ่งของเด็ก (Sensori-motor play) ช่วยส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก และเสริมสร้างความรักใคร่ผูกพันให้แน่นแฟ้นขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องเล่นอย่างระมัดระวังด้วย ไม่ใช่แกล้งลูกจนเกินขอบเขต ซึ่งควรสังเกตท่าทีของเด็กว่าเขาสนุกไปกับพ่อแม่ด้วยหรือไม่ เพราะหากพ่อแม่สนุกอยู่ข้างเดียว ก็ไม่นับว่าเป็นการเล่นที่แท้จริง
      
       "ถ้าเล่นกับลูก แล้วดูเหมือนว่าลูกยังสนุกอยู่ พ่อแม่ต้องดูจังหวะ และปล่อยให้ลูกได้พักบ้าง ซึ่งหมอไม่ได้ห้ามให้เล่น เพราะกิจกรรมชนิดนี้เป็นตัวเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเล่นได้ แต่ต้องดูท่าที และปฏิกิริยาของลูกด้วย เพราะเด็กอาจหัวเราะ จนเหนื่อยหอบมากเกินไปได้" กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการ และพฤติกรรมเด็กกล่าว
      
       สำหรับเด็กที่มีอาการ "บ้าจี้" คุณหมออธิบายเสริมว่า บ้าจี้ เป็นภาวะที่เด็กรับรู้ไวเกินกว่าปกติ (สำหรับระบบการรับสัมผัส) ซึ่งที่เด็กบางคนแค่ถูกสัมผัสเพียงนิดเดียว จะรู้สึกจั๊กกะจี๋ทันทีนั้นเป็นเรื่องของระบบการรับรู้ของสมอง ที่เด็กแต่ละคนจะไวมาก หรือน้อยแตกต่างกัน โดยเฉพาะเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 7 ขวบ ที่เรียนรู้โลกผ่านระบบประสาทสัมผัส และการเคลื่อนไหว (ระบบประสาทสัมผัส มีตั้งแต่ การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรสชาติ การสัมผัส การทรงตัว และการรับความรู้สึกของกล้ามเนื้อเอ็นและข้อต่อ) ซึ่งเมื่อเด็กได้รับรู้แล้ว เขาก็จะปรับระดับความรู้สึก (ว่าชอบ-ไม่ชอบ กลัว-ไม่กลัว หรือรู้สึกอย่างไรกับสิ่งเร้าที่รับเข้ามา) และเตรียมพร้อมสำหรับการทำกิจกรรม
 
 
       อย่างไรก็ตาม ภาวะไวต่อการรับสัมผัสดังกล่าว คุณหมอบอกว่า เด็กอาจแสดงออกได้หลายรูปแบบ เช่น การใส่เสื้อผ้า เพราะเด็กบางคนรู้สึกจั๊กกะจี๋เมื่อใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อไม่เรียบ หรือเด็กบางคนไม่กล้าเหยียบบนหญ้าหรือทราย ทั้งนี้ ระบบการรับสัมผัสมีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย จึงถือว่าเป็นระบบที่สำคัญสำหรับลูกน้อย
      
       ดังนั้นพ่อแม่ต้องคอยสังเกตและทำความเข้าใจในระบบการรับรู้ของลูกด้วย (ไม่ใช่เพียงแค่เลี้ยงให้โต) โดยการสังเกตว่า สิ่งเร้าแบบไหนที่ลูกชอบ และไม่ชอบ ซึ่งหากมีสิ่งใดที่ลูกรับรู้ไวเกิน พ่อแม่ก็ควรฝึกลูกโดยค่อยๆ ปรับสิ่งเร้านั้นให้มากขึ้นทีละน้อย เพื่อให้ลูกทนกับสิ่งเร้าดังกล่าวได้ แต่หากลูกดูเฉื่อยเกินไป ก็ต้องหาระดับความแรงของสิ่งเร้ามาช่วยให้ลูกสามารถเปิดโลกของการเรียนรู้ของสมองได้ (อาจปรึกษากุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม หรือนักกิจกรรมบำบัด
      
       พร้อมกันนี้ คุณหมอ ฝากเรื่อง "การเล่น" กับลูกของพ่อแม่ยุคใหม่ทุกคนว่า "ช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิด ถึง 7 ปี เป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้ผ่านระบบประสาทสัมผัส และการเคลื่อนไหว (ต่างจากผู้ใหญ่ที่เรียนรู้ผ่านภาษาและความคิด) ดังนั้น จึงควรให้เด็กได้มีโอกาสเล่นตามวัย และควรให้ลูกได้อยู่กับธรรมชาติโดยตรง มากกว่าจะให้เล่นกับเครื่องใช้ไฮเทค อย่าง ทีวี คอมพิวเตอร์ ที่มีเสียง แสง ที่อาจเร้าเด็กมากจนเกินไป
      
       "พ่อแม่ยุคใหม่ มักมองข้ามความสำคัญของการเล่นของลูก เห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ (ในสายตาผู้ใหญ่) กลัวว่าลูกจะเลอะเทอะ กลัวว่าลูกจะไม่ฉลาด ไม่เก่ง สู้เพื่อนไม่ได้ จนทำให้พ่อแม่เข้าไปขัดขวางพัฒนาการของลูก เพราะมัวแต่ไปให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่เหมาะสมตามวัย จนพบว่าปัจจุบันมีเด็กที่มีปัญหาซน สมาธิสั้น มีพัฒนาการไม่สมวัย มีปัญหาอารมณ์และพฤติกรรม และมีปัญหาในการเรียนรู้มากขึ้น"
      
       เพื่อเป็นแง่คิดให้กับพ่อแม่ยุคใหม่ทุกคน คุณหมอกล่าวทิ้งท้ายว่า พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นตามวัย อย่าไปยึดติด ตื่นเต้น หรือวางเป้าหมายที่ผิดๆ ว่าลูกจะต้องเก่งทางวิชาการ หรือให้ลูกหมกมุ่นอยู่กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่จำเป็นสำหรับเด็ก
 


Life & Family / Manager online