รู้ทัน "ปอดบวมในเด็ก"
  จำนวนคนเข้าชม  125270

รู้ทัน "ปอดบวมในเด็ก" แนะวิธีจัดท่าระบายเสมหะให้ลูก


 
 
       โรคปอดบวมในเด็ก ปัจจุบันพบประมาณร้อยละ 8 -10 ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ และยังเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พยากรณ์ของโรคจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคปอดบวม การรักษาที่เหมาะสม ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น และโรคประจำตัว
      
       กับโรคนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มันกลับมาได้ทุกเมื่อ เพื่อรู้เท่าทัน ทีมงาน Life and Family ได้รับข้อมูลจาก "พญ.มณินทร วรรณรัตน์" กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเวชธานี ที่อธิบายให้เข้าใจถึงโรคนี้ว่า โรคปอดบวม (Pneumonia) เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอด สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และพยาธิ โดยเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปอดบวมที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่ เชื้อนิวโมคอคคัส เชื้อฮีโมฟิลุส เชื้อไมโคร พลาสม่า ส่วนเชื้อไวรัสที่พบบ่อย ได้แก่ เชื้ออาร์เอสวี เชื้อไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
      
       อาการเบื้องต้น เด็กจะมีไข้ หรือบางรายอาจมีอาการหนาวสั่น ไอมีเสมหะ อัตราการหายใจเร็วกว่าปกติ หรือหอบ ในบางรายอาจมีอาการอื่นๆ เช่น เจ็บชายโครงขณะหายใจลึกๆ หรือไอ ปวดศรีษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว ถ้าอาการปอดบวมเป็นรุนแรง อาจมีการหายใจลำบาก หน้าอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน ริมฝีปากเขียว หรือมีอัตราการหายใจเร็วกว่าปกติ ขึ้นกับอายุของเด็ก ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 2 เดือนมีอัตราการหายใจมากกว่า 60 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป เด็กอายุ 2-12 เดือนมีอัตราการหายใจมากกว่า 50 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป และเด็กอายุ 1-5 ปีมีอัตราการหายใจมากกว่า 40 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป
      
       อย่างไรก็ตาม เด็กที่มีอาการหอบ ไข้สูง เสมหะเหนียว เบื่ออาหาร การให้สารน้ำให้เพียงพอเป็นสิ่งจำเป็น และในรายที่มีการหายใจเร็ว หอบ ชายโครงบุ๋ม กระวนกระวาย หรือซึม และตรวจพบว่ามีออกซิเจนต่ำควรพิจารณาให้ออกซิเจนด้วย หากได้ยินเสียงวี๊ดให้ใช้ยาขยายหลอดลม และพิจารณาให้ยาขับเสมหะหรือยาละลายเสมหะในรายที่อาการไอและมีเสมหะมาก ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดทรวงอก ได้แก่ การจัดท่าระบายเสมหะ การเคาะปอด และช่วยดูดเสมหะเพื่อช่วยระบายเสมหะที่คั่งค้างในหลอดลมออกมาได้
      
       กันไว้ดีกว่าแก้ โรคปอดบวมป้องกันได้
      
       พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงให้เด็กสัมผัสกับโรค โดยไม่ให้เด็กใกล้ชิดผู้ป่วยทุกประเภท หลีกเลี่ยงการนำเด็กไปอยู่ในที่แออัด เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีควรดูแลที่บ้าน ไม่ควรส่งไปเลี้ยงตามสถานเลี้ยงเด็ก และถ้าเด็กมีอาการไอ จาม มีน้ำมูกควรพิจารณาใช้ผ้าปิดปากและจมูก ควรทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อยๆ
      
       - ฝึกหัดให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ไม่ขยี้ตา หรือจมูก และควรดูแลความสะอาดของบ้านเรือนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
      
       - เพิ่มความต้านทานโรค ควรให้เด็กได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน และให้อาหารครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที ที่สำคัญควรนำเด็กไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข
      
       นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนเสริมบางชนิดที่ช่วยลดการเกิดโรคปอดบวมในเด็ก ได้แก่ วัคซีนไอพีดี ซึ่งจะป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส วัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันโรคปอดบวมจากไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาลในปีนั้นๆ แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้
      
       - หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยง เช่น ควันไฟ ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ อากาศหนาวเย็น เป็นต้น
      
       - พ่อแม่เด็ก หรือผู้เลี้ยงดู ควรรู้จักอาการแรกเริ่มของโรคปอดบวม และควรนำมาพบแพทย์
      
       ท่าระบายเสมหะส่วนต่างๆ ของปอด

 
 


 
 
       ท่าที่ 1 ปอดกลีบซ้ายบนส่วนยอด จัดให้เด็กอยู่ในท่านั่งเอนตัวมาข้างหลังประมาณ 30° เคาะบริเวณด้านบน เหนือทรวงอกด้านซ้าย ระหว่างกระดูกไหปลาร้าและกระดูกสะบัก
      
       ท่าที่ 2 ปอดกลีบซ้ายบนด้านหลัง จัดท่าให้เด็กนั่งคร่อมตัวมาทางด้านหน้าเล็กน้อย (30°) บนแขนของผู้ให้การบำบัด เคาะบริเวณด้านหลังตอนบนเหนือกระดูกสะบัก ระหว่างกระดูกต้นคอและหัวไหล่
      
       ท่าที่ 3 ปอดกลีบซ้ายบนด้านหน้า จัดท่านอนหงายราบ เคาะบริเวณเหนือราวนมต่ำจากกระดูกไหปลาร้าเล็กน้อย

 
  


 
 
       ท่าที่ 4 ปอดกลีบซ้ายส่วนกลาง จัดท่าให้ศีรษะต่ำลงประมาณ 15° และตะแคงด้านซ้ายขึ้นมาประมาณ ¼ จากแนวราบ และเคาะบริเวณราวนมด้านซ้าย
      
       ท่าที่ 5 ปอดกลีบซ้ายล่างส่วนชายปอดด้านหน้า จัดให้เด็กนอนตะแคงกึ่งคว่ำหน้า ศีรษะต่ำ 30° ประคองทรวงอกบริเวณชายโครงด้านซ้ายหงายขึ้นมาเล็กน้อย เคาะบริเวณเหนือชายโครงด้านข้างตอนหน้าต่ำจากราวนมลงมาเล็กน้อย
      
       ท่าที่ 6 ปอดกลีบซ้ายล่างส่วนชายปอดด้านข้าง จัดท่าศีรษะต่ำ 30° นอนตะแคงเกือบคว่ำ เคาะบริเวณด้านข้างเหนือชายโครงระดับเดียวกับท่าที่ 5 ใต้ต่อรักแร้ของเด็ก
      
       ท่าที่ 7 ปอดกลีบซ้ายด้านล่างส่วนหลัง จัดท่าศีรษะต่ำ 30° นอนคว่ำ เคาะบริเวณด้านหลังต่ำจากกระดูกสะบักลงมาในระดับเดียวกับชายโครงด้านหน้า


Life & Family / Manager online