ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำงานของผู้หญิง
  จำนวนคนเข้าชม  10560

 

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำงานของผู้หญิง

 

อับดุรเราะห์มาน บิน อับดุลกะรีม อัช-ชีหะฮฺ

 

          อัลลอฮฺ ได้ทรงสร้างมนุษย์เป็นเพศชายและเพศหญิง และทรงได้สร้างความรักใคร่ และความเมตตาระหว่างเพศทั้งสอง นั่นเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความร่วมมือในการสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ของพวกเขา  อัลลอฮฺได้ทรงบรรจงสร้างผู้ชายให้มีความแข็งแกร่งด้านร่างกาย  ความสามารถแบกรับในภาคอุตสาหะและทำงานหนัก พระองค์ก็ทรงบรรจงสร้างเพศหญิงให้มีสรีสระที่ต้องรับการตั้งครรภ์ การให้นม เลี้ยงดูลูก  และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความห่วงใย ความเมตตา ฉะนั้นด้วยโครงสร้างที่พระผู้อภิบาลทรงสร้างข้างต้น เป็นธรรมชาติของผู้ชายที่จะต้องทำงานนอกบ้าน และเป็นธรรมชาติของผู้หญิงที่ทำงานในบ้าน

          จริงๆ แล้ว อิสลามไม่ได้ห้ามผู้หญิงทำงาน หากแต่ยอมรับการซื้อขาย การทำธุรกรรมต่างๆ ของสตรี และยอมรับความถูกต้องของการซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องรออนุมัติจากผู้ปกครองหรือสามีแต่อย่างใด เพียงแต่มีการจัดระเบียบ มีข้อกำหนด มีกฎกติกาและวางเงื่อนไขไว้ว่า หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งก็จะกลายเป็นที่ต้องห้าม ดังต่อไปนี้


          1. งานที่ทำจะต้องไม่ชนกับงานในบ้าน โดยงานที่ทำนั้นจะไม่เป็นสาเหตุของความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของนางที่มีต่อสามี  และต่อลูก ๆ ของนาง และไม่ทำให้เกียรติของนางภายในบ้านต้องเสียไป เพราะผู้หญิงในอิสลามนั้น อย่างที่กล่าวมาแล้วขั้นต้น คือ สามีมีหน้าที่ต่อนาง นางก็มีหน้าที่ต่อสามีด้วยเช่นกัน และนางยังมีหน้าที่ต่อลูกๆ อีกด้วย

ท่านศาสนทูต ได้กล่าวว่า

“....และสตรีคือผู้ดูแลภายในบ้านสามีของนาง และนางต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่นางดูแล...”  

 (เศาะฮีฮฺบุคอรีย์ เล่มที่ 1หน้าที่ 304 หมายเลข 853)


          2. ต้องเป็นงานที่ทำร่วมกับเพศเดียวกัน ห่างไกลการปะปนและคลุกคลีกับเพศชาย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันให้เธอห่างไกลจากสิ่งที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เธอตกเป็นเหยื่อ และพลาดพลั้งต่ออารมณ์ใฝ่ต่ำของเพศชายซึ่งไม่ใช่สามีของตน และความสูญเสียในเกียรติของเธอจากหลุมพรางอันชั่วร้าย

ท่านศาสนทูต  ได้กล่าวว่า

“เจ้าอย่าได้อยู่กับผู้หญิงแบบสองต่อสอง เพราะจะมีซาตานเป็นบุคคลที่สาม”

(เศาะฮีฮฺ อิบนิ หิบบาน เล่มที่ 16 หน้าที่ 239 )

 

นักเขียนชาวอังกฤษ เลดี้ โค้ค ได้เขียนในหนังสือพิมพ์ อีโก้  ว่า :

         "การอยู่ปะปนชายหญิงนั้นเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชาย และผู้หญิงเองก็ละโมบที่จะทำอะไรให้ผิดแผกแตกต่างจากธรรมชาติของเธอ ตราบใดที่มีการอยู่ปะปนระหว่างชายหญิงมากเท่าใด บุตรนอกสมรสก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และนี่คือ ความหายนะอันใหญ่หลวง..."

(อะมะลุล มัรอะตี ฟิลมีซาน . เขียนโดย อับดุลเลาะฮฺ บิน วะกีล อัช-ชัยค์)

 

ซัยยิด กุฏุบ (ขออัลลอฮฺประทานความเมตตาแก่ท่าน) กล่าวว่า  :

          “แท้จริงแล้ว สิทธิของผู้ชายและของผู้หญิงคือ การที่แต่ละคนจากทั้งสองต่างวางใจอีกฝ่ายหนึ่ง  และไม่ควรคบหากันในฐานะเพื่อนใกล้ชิด  เพราะบางทีความรู้สึกของเธอหรือเขาอาจจะโน้มเอียงไปยังเพื่อนดังกล่าวได้  แม้นว่าการโน้มเอียงที่ว่านี้จะไม่ทําให้เธอหรือเขาถึงขั้นกระทำความผิดร้ายแรงก็ตาม แต่ก็เป็นเหตุให้เสื่อมความสัมพันธ์อันบริสุทธิ์ระหว่างกันหรืออาจจะทําลายบรรยากาศการไว้วางใจและความเชื่อมั่นที่มีต่อกัน  หรือด้วยความใกล้ชิดสนิทสนมอาจก่อให้เกิดความรู้สึกจนเกินเลยขอบเขต  นำไปสู่การตกหลุมพรางแห่งความสัมพันธ์ที่ไม่ชอบธรรมและยังทิ้งร่องรอยที่ไม่ดีเกินการคาดเดาได้ในทุกวินาที ดังที่เราพบเห็นในสังคมซึ่งนิยมการปะปนกันระหว่างชายหญิง 

เราจะเห็นได้ว่าผู้หญิงในสังคมนั้นจะเดินออกจากบ้านในลักษณะที่นางแต่งตัวโอ้อวดเปลือยร่างและถูกตามด้วยเหล่ามารร้ายที่คอยหลอกลวงนาง   สําหรับใครที่พยายามจะกล่าวว่า การปะปนกันหญิงชายจะช่วยขัดเกลาความรู้สึกที่มีต่อกัน  ช่วยกระตุ้นพลังที่หายไป  ช่วยเสริมสร้างมารยาทในการพูดคุยของสองบุคคลและมารยาทในการคลุกคลี   เพิ่มพูนประสบการณ์ที่พอจะป้องกันการหกล้ม  และการเลือกคู่ที่อยู่บนรากฐานแห่งประสบการณ์การรู้จักซึ่งกันอย่างสมบูรณ์เท่านั้น(แม้ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ผิดๆ ก็ตาม)ที่จะรับประกันได้ว่าสามารถครองคู่ได้อย่างยืดยาวถาวร เพราะเป็นการเลือกที่มาจากความพอใจและประสบการณ์จริงของทั้งสอง  ฉันขอตอบว่า ทั้งหมดคือคําพูดที่ไร้สาระไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง 

สภาพความเป็นจริงนั้นโน้มเอียงไปยังหนทางที่ไม่ถูกต้องเรื่อยๆ  การสับสนด้านจิตสํานึกและความรัก  และการทําลายครอบครัวด้วยการหย่าร้างและด้วยวิธีอื่น   การหลอกลวงและการทุจริตต่อชีวิตของสามีภรรยาเป็นเรื่องที่รู้จักทั่วไปในสังคม  ถ้าจะเอ่ยถึงระบบการขัดเกลาที่อ้างมาหรือการมีความสัมพันธ์อันบริสุทธิ์ด้วยวิธีการนัดพบหรือพูดคุยกันแล้วล่ะก็  จงสืบถามข้อเท็จจริงเหล่านี้จากจํานวนนักเรียนที่ตั้งท้องในโรงเรียนมัธยมปลายอเมริกาแห่งหนึ่ง ซึ่งบางโรงเรียนมีจํานวนถึง 48% ของเด็กนักเรียนที่ตั้งท้อง  

ส่วนการใช้ชีวิตครอบครัวที่แสนสุขหลังจากการแต่งงานโดยผ่านวิธีการปะปนชายหญิงหรือผ่านระบบการคบหากันเพื่อลองใจกัน ก็จงสืบถามข้อเท็จจริงเหล่านี้จากสถิติการล่มสลายของครอบครัวเพราะการหย่าร้างในอเมริกา  ซึ่งสติถิเหล่านี้เพิ่มจํานวนขึ้นเป็นระยะๆ ตามระดับความรุนแรงของการปะปนชายหญิงและการเลือกคู่ด้วยการลองเป็นแฟนกันมาก่อน

 (ในหนังสือ อัสสลามุลอาละมีย์ วัล อิสลาม หน้าที่ 56 )


          3. ต้องเป็นงานที่อนุมัติโดยพื้นฐาน และต้องเป็นงานที่เหมาะสมกับธรรมชาติของผู้หญิง ดังนั้น เธอจะต้องไม่ทำงานที่ไม่เหมาะกับธรรมชาติของเธอ อย่างเช่น งานอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานหนักๆ หรืองานในสนามรบที่ใช้เวลายาวนาน และงานที่หักโหมเกินไปสำหรับนาง เช่น งานทำความสะอาดที่เหมาะเฉพาะผู้ชาย และงานทำความสะอาดถนนหนทาง  เป็นต้น ซึ่งเป็นงานที่อิสลามได้ห้ามไว้สำหรับสตรี

 

แต่ในที่นี้เราจะถามกลับว่า ทำไมผู้หญิงต้องทำงานด้วยล่ะ ?

          หากนางทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ และเพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นส่วนตัวของนางแล้วไซร้ อิสลามได้รักษาสิทธินี้ของนางไว้แล้ว ซึ่งระบบการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในอิสลาม คือ พ่อจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของลูกสาวจนกว่าเธอจะแต่งงาน เมื่อเธอแต่งงาน สามีจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของเธอและของลูกๆ ของเธอทั้งหมด เมื่อสามีของเธอเสียชีวิตความรับผิดชอบนี้จะกลับสู่พ่อเธออีกครั้ง ถ้าหากเธอไม่มีพ่อแล้ว ลูกของเธอจะรับผิดชอบแทน หากลูกของเธอยังเล็กอยู่ พี่น้องของเธอต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ต่อ จากนั้นก็ญาติที่ใกล้ชิดที่สุด แล้วก็ญาติที่ใกล้ชิดที่สุดในขั้นต่อๆ ไป  ซึ่งจากวันที่เธอเกิดจนถึงวันที่เธอจากโลกนี้ไป เป็นที่รับประกันแล้วว่าเธอไม่จำเป็นต้องทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเธอเองเลย นอกเสียจากว่า เธอทำไปเพื่อภารกิจทางสังคมที่เธอได้รับมอบหมายและเป็นงานที่สังคมคาดหวังจากเธอ และงานที่คล้ายๆ กัน อาทิ การดูแลบ้านและงานดูแลเด็ก  เพื่อให้การดูแลสามารถทำได้อย่างถูกต้อง เธอต้องใช้ความพยายามและแบกรับความยากลำบากอันใหญ่หลวงนัก ซึ่งจำเป็นจะต้องจัดสรรเวลา  และความคิดให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ด้วย

 

แซมมวล สไมลัส นักวิชาการชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการฟื้นฟูวิทยาการประเทศอังกฤษ กล่าวว่า  

          “ระบบที่ให้ผู้หญิงหมกมุ่นในที่ทำงานนั้นเป็นระบบที่รัฐมีเงินมากมายก็จริง แต่ผลของมันทำให้ชีวิตครอบครัวพังทลาย เพราะมันไปทำลายโครงสร้างบ้านเรือน และทําลายรากฐานของสถาบันครอบครัว และกลายข้อผูกมัดในการอยู่ร่วมกัน เพราะมันทำให้เกิดการแย่งความเป็นภรรยาจากสามีไป  และความเป็นลูกจากผู้ที่ใกล้ชิดไป ทำให้เป็นอีกรูปแบบเฉพาะตัวซึ่งไม่มีผลใดๆ นอกจากความตกต่ำทางศีลธรรมของผู้หญิง

เพราะจริงๆแล้วหน้าที่ของผู้หญิงก็คือทำงานที่จำเป็นต่างๆ ภายในบ้าน เช่น จัดบ้านให้เป็นระเบียบ อบรมเลี้ยงดูลูกๆ และบริหารค่าใช้จ่ายภายในบ้านเพื่อสามารถพักอาศัยได้อย่างปกติสุข โดยทำพร้อมกับงานที่จำเป็นภายในบ้านทั้งหลาย แต่ถ้าหากเธอละเลยจากการทำงานเหล่านี้ โดยปล่อยให้ภายในบ้านไม่เป็นเหมือนบ้าน  และลูกๆ ก็เติบโตอย่างไร้การอบรมเลี้ยงดูและพวกเขาถูกละเลย ความรักระหว่างสามีภรรยาถูกดับมอด ผู้หญิงจะออกจากความเป็นภรรยาที่ดีที่เป็นที่รักของสามี และเธอกลายเป็นแค่เพื่อนในการทำงานและคนรักของเขา และบังคับให้เธอต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลต่างๆ ซึ่งส่วนมากแล้วสร้างข้อบกพร่องต่อความคิดถ่อมตัวของเธอ  และอุปนิสัยอันทรงเกียรติของเธอ”

(ดูในหนังสือ นะเซาะรอต ฟี กิตาบิลฮิญาบ วัสสุฟูร เขียนโดย มุสตอฟา อัลเฆาะลายีนีย์ หน้า  94 - 95)

 

 

 

 

แปลโดย : อิบรอฮีม มุฮัมมัด / Islam House