สิทธิสตรีด้านการเป็นผู้นำในครอบครัว (อัล-กิวามะฮฺ)
อับดุรเราะห์มาน อับดุลกะรีม อัช-ชีหะฮฺ
อัลลอฮฺ ตรัสในคัมภีร์อัลกุรอาน
(الرِّجَالُ قَوَّامُونَ عَلَى النِّسَاء بِمَا فَضَّلَ اللهُ بَعْضَهُمْ عَلَى بَعْضٍ وَبِمَا أَنفَقُواْ مِنْ أَمْوَالِهِمْ﴾ (النساء : 34 )
“บรรดาชายนั้น คือผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองเลี้ยงดูบรรดาหญิง
เนื่องด้วยการที่อัลลอฮฺ ได้ทรงให้บางคนของพวกเขาเหนือกว่าอีกบางคน และด้วยการที่พวกเขาได้จ่ายไปจากทรัพย์ของพวกเขา”
คําว่า กิวามะฮฺ มาจากคําว่า กิยาม ซึ่งหมายถึง การปกครองเลี้ยงดู เป็นลักษณะเฉพาะของบรรดาชายอันเนื่องมาจากร่างกายและสติปัญญาที่อัลลอฮฺทรงสร้างมาสำหรับเขานั้นเอื้ออํานวยต่อการแบกรับภาระที่ว่านี้มากกว่าเพศหญิง
ดังนั้น เขาในฐานะผู้ปกครองจึงจําเป็นจะต้องทําหน้าที่ปกป้องดูแลบรรดาสมาชิกในครอบครัว อีกทั้งยังต้องรับผิดชอบในการแสวงหาปัจจัยยังชีพ ท่านศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ของเราได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า สตรีนั้นถูกสร้างมาในลักษณะรูปร่างที่อ่อนแอมากกว่าผู้ชายเนื่องจากหลายส่วนตามธรรมชาติของนาง ดังเช่น การมาประจําเดือน การตั้งครรภ์ การคลอดบุตร การให้นม และการเลี้ยงดูเด็ก สิ่งเหล่านี้ทําให้นางไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ปกครองอย่างเต็มรูปแบบ
การมาประจําเดือน : มีส่วนต่อความรู้สึกของสตรีมาก และสร้างความเหน็ดเหนื่อย แก่นาง เพราะการขาดหายของเลือดในแต่ละเดือน
การตั้งครรภ์ : สตรีต้องเผชิญกับความยากเย็นสาหัสพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดของร่างกายเพราะการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์หรือการดูดอาหารของทารก จึงทําให้นางต้องเหน็ดเหนื่อยอ่อนแรงซึ่งนางจะรู้สึกอ่อนเพลียเพราะงานเล็กน้อยที่ลงมือทํา หรือภาวะจิตใจของนางเกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะความห่วงใยของนางที่มีต่อทารกในครรภ์ นางจะกังวลถึงเด็กและมีความรู้สึกหวาดกลัวเมื่อต้องเผชิญกับการคลอดในอนาคต เหล่านี้จะส่งผลในแง่ไม่ดีต่อจิตใจของนางและจะแสดงอาการออกมาในทางปฏิบัติ
การคลอดลูกและความยากลําบากหลังคลอด : เป็นช่วงที่สตรีต้องประสบกับความเจ็บปวดและความยากเย็นอย่างมาก ซึ่งจําเป็นที่นางต้องพักผ่อนเอาแรง ไม่สมควรที่จะออกแรงทํางานใดๆ ทั้งสิ้น หรืองานใดก็ตามแต่ที่ส่งผลในแง่ไม่ดีต่อจิตใจของนาง ตามสถานการณ์และความแตกต่างของแต่ละคน
การให้นมบุตร : การให้นมบุตรคือการแบ่งปันอาหารส่วนหนึ่งของนางออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ บางคนถึงขั้นต้องเผชิญกับภาวะผมร่วงในช่วงการให้นม สีผิวอาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือบางทีอาจจะรู้สึกปวดหัวและหมุนเวียนศีรษะ
การเลี้ยงดู : การเฝ้าเลี้ยงดูบุตรและภาระอื่นๆ ที่จําเป็นในช่วงนี้ บางครั้งต้องอดนอน ดังนั้นนางต้องใช้เวลามากพอสมควรในการเลี้ยงดูทารก
ท่าน อักก๊อด กล่าวว่า :
แท้จริงแล้ว ผู้หญิงถูกสร้างมาเคียงคู่กับความรู้สึกเฉพาะตัวซึ่งแตกต่างจากผู้ชายอย่างสิ้นเชิง การเฝ้าเลี้ยงดูเด็กต้องการปัจจัยหลายๆ สิ่งที่ต้องสมดุลระหว่างกัน เช่น ความรู้สึกของนางที่ต้องสมดุลกับความรู้สึกของเด็ก ความเข้าใจของนางที่ต้องสมดุลกับความเข้าใจของเด็ก ภาวะการเปลี่ยนแปลงของร่างกายของนางที่ต้องสอดคล้องกับภาวะการเจริญวัยของเด็ก ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้น รากแท้ของหัวใจสตรีคือสาเหตุสําคัญที่ส่งผลให้นางต้องออกอาการ เพราะความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งยากที่นางจะควบคุมอารมณ์ หรือเอาชนะความรู้สึก หรือยืนหยัดด้วยจิตที่เข้มแข็งทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้มันง่ายสําหรับผู้ชาย
ดร. เคเรล ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบล ได้ชี้แจงข้อแตกต่างด้านร่างกายระหว่างชายหญิงว่า :
ข้อแตกต่างระหว่างชายหญิงไม่เพียงแต่เฉพาะรูปลักษณ์ของอวัยวะเพศ มดลูกและการตั้งครรภ์เท่านั้น และไม่เพียงแต่ความแตกต่างด้านวิธีการสอนเท่านั้น ทว่าข้อแตกต่างเหล่านี้เป็นไปโดยธรรมชาติดั้งเดิมของมันอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น ความแตกต่างด้านส่วนประกอบในร่างกายของทั้งสอง การที่ร่างกายดูดสารเคมีที่มาจากต่อมต่างๆ ก็แตกต่างกัน สําหรับกลุ่มคนที่กําลังเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมกันระหว่างสตรีเพศที่อ่อนโยนกับเพศชายย่อมไม่รับรู้ถึงข้อแตกต่างเหล่านี้ดี พวกเขาเรียกร้องเพื่อให้ทั้งสองมีระบบการเรียนการสอนแบบเดียวกัน มีหน้าที่และความรับผิดชอบเหมือนกัน รูปแบบการทํางานที่เหมือนกัน เป็นต้น
ทั้งๆ ที่ตามความเป็นจริงแล้วสตรีนั้นมีความแตกต่างกับผู้ชายในหลายๆ ปัจจัย ทุกเซลล์ในร่างกายของนางมีลักษณะที่บ่งบอกถึงความเป็นหญิง และสัดส่วนอื่นของร่างกายก็เช่นกัน ที่มากกว่านั้นก็คือระบบประสาทของนางที่ไม่เหมือนชาย แท้จริงแล้ว ระบบการทํางานของอวัยวะของร่างกายมีขอบเขตและมีขีดจํากัดเหมือนๆ กับระบบจักรวาลซึ่งไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้เพียงแค่เพราะความปรารถนาของมนุษย์ สิ่งที่เราทําได้คือการยอมจํานนต่อสภาพดั้งเดิมตามธรรมชาติโดยที่ไม่ต้องไปทุ่มเทเพื่อแสวงหาสิ่งที่ผิดกับธรรมชาติของมัน ดังนั้นสตรีควรแสวงหาประสบการณ์ต่างๆ ที่สอดคล้องกับธรรมชาติของนาง และไม่สามารถเลียนแบบผู้ชายได้อย่างสิ้นเชิง
แปลโดย : อิบนุ ร็อมลี ยูนุส / Islam House