สตรีต่อการเป็นพยาน
  จำนวนคนเข้าชม  5956

 

 

สตรีต่อการเป็นพยาน

อับดุรเราะห์มาน อับดุลกะรีม อัช-ชีหะฮฺ


อัลลอฮฺ  ตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

﴿وَاسْتَشْهِدُواْ شَهِيدَيْنِ من رِّجَالِكُمْ فَإِن لَّمْ يَكُونَا رَجُلَيْنِ فَرَجُلٌ وَامْرَأَتَانِ مِمَّن تَرْضَوْنَ مِنَ الشُّهَدَاء أَن تَضِلَّ إْحْدَاهُمَا فَتُذَكِّرَ إِحْدَاهُمَا الأُخْرَى﴾ (البقرة : 282 )

“และพวกเจ้าจงให้มีพยานขึ้นสองนายจากบรรดาผู้ชายในหมู่พวกเจ้า แต่ถ้ามิปรากฏว่า พยานทั้งสองนั้นเป็นชาย

ก็ให้มีผู้ชายหนึ่งกับผู้หญิงสองคน จากผู้ที่พวกเจ้าพึงใจในหมู่พยานทั้งหลาย

 เพื่อว่า หญิงใดในสองคนนั้นหลงไป คนหนึ่งในสองคนนั้นก็จะได้เตือนอีกคนหนึ่ง”   

(อัลกุรอานบท อัล-บะเกาะเราะฮฺ 282)

          อัลลอฮฺ  ตรัสในบทนี้ว่า การเป็นพยานเพื่อยืนยันในการเรียกร้องสิทธินั้นจะไม่สมบูรณ์นอกจากต้องมีพยานสองคนจากบรรดาชาย  หรือชายหนึ่งกับผู้หญิงสองคน

          ตามความเป็นจริงที่พระเจ้ากําหนดแล้ว จิตใจที่อ่อนโยนและความรู้สึกที่บอบบางซึ่งมีอยู่ในสตรีนั้นบ่งบอกถึงบุคลิกภาพด้านจิตใจของเธอที่มีอยู่กับความพร้อมในการรับภาระต่างๆ ตามธรรมชาติ  เช่น การคลอดบุตร  การให้นมทารกและการเลี้ยงดูทารก  และนี่คือภาระหน้าที่ที่ต้องการหัวใจอันอ่อนนุ่ม   ความรู้สึกที่อ่อนโยนและจิตใจที่อบอุ่น

          ดังนั้น ด้วยหลักการที่ว่า เธอคือผู้ที่มีความรู้สึกอ่อนโยนโดยธรรมชาติ  สามารถแสดงอาการและความรู้สึกออกมาอย่างง่ายดาย ซึ่งอาจมีผลต่อการเป็นพยานของเธอได้ เพราะส่วนมากแล้วถ้าเธอได้เข้าไปเป็นพยานในสถานที่ที่เกิดอาชญากรรมอยู่ อาจเป็นกรณีของการฆาตกรรมหรือการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงอื่นๆ เธอจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์และจิตใจให้เป็นปกติได้  ในทางกลับกันเธอจะพยายามหาทางหลีกหนีและออกห่าง  ด้วยเหตุนี้เอง การเป็นพยานของเธอจึงไม่มีผลในเรื่องอาชญากรรม ทั้งนี้ก็เนื่องจากความรู้สึกตามธรรมชาติของเธอดังที่กล่าวมานั่นเอง 

          หรือถ้าต้องการให้เธอเป็นพยานในเรื่องดังกล่าว  เธออาจจะลืมหรือจำสับสนได้  ดังนั้นจึงให้มีสตรีอีกคนช่วยเป็นพยานเพื่อให้ข้อสงสัยเหล่านี้หมดไป  เงื่อนไขนี้ถูกระบุในโองการอัลลอฮฺ  ข้างต้นที่ว่า

 “เพื่อว่าหญิงใดในสองคนนั้นหลงไป คนหนึ่งในสองคนนั้นก็จะได้เตือนอีกคนหนึ่ง”   

(อัลกุรอานบท อัล-บะเกาะเราะฮฺ 282)

          หมายถึงว่า กลัวว่าหญิงใดในสองคนผิดพลาดหรือลืม  อีกคนในสองคนจะได้เตือนอีกฝ่ายหนึ่งได้  เช่นนี้แหละคือฐานะของนางในเรื่องนี้  เว้นแต่ในกรณีที่เธอต้องเป็นพยานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสตรี  อาทิ  การคลอดบุตร  ความบกพร่องด้านการมีเพศสัมพันธ์  ฯลฯ  ก็สามารถเป็นพยานแต่ลำพังผู้เดียวได้ ซึ่งสามารถลบล้างข้อโจมตีของบางคนที่พยายามตั้งข้อสงสัยว่า อิสลามหยามเกียรติของสตรีในการเป็นพยานหรือไม่ ถ้าเรื่องนี้คือความจริงตามที่พวกเขาอ้างมา  อิสลามคงไม่เปิดโอกาสให้เธอเป็นพยานแต่เพียงลําพังผู้เดียวในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสตรีเป็นการเฉพาะ ซึ่งส่วนมากเเล้วพวกนางเท่านั้นที่สามารถจะสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้ 

 

          ดังนั้น การเป็นพยานของนางเพียงผู้เดียวในเรื่องความโสดของสตรี  เรื่องการคลอดบุตร  เรื่องข้อบกพร่องด้านการร่วมเพศเเละเรื่องอื่นๆ ที่สอดคล้องกันนั้นถือว่าใช้ได้ ในขณะที่ผู้ชายนั้นจะไม่มีสิทธิในการเป็นพยานเพียงผู้เดียวเเม้เเต่ในเรื่องการเงินเล็กๆ ก็ตาม   จากจุดนี้เรากล่าวได้ว่าสตรีมีสิทธิเหนือชายด้านการเป็นพยานตามลําพังผู้เดียวในเรื่องที่เสี่ยงมากกว่าเรื่องการเงินด้วยซ้ำ  ดังนั้น เรื่องของเรื่องก็คือเพื่อความละเอียดอ่อนด้านการการตัดสินคดีเท่านั้น

         เช่นเดียวกัน ผู้ชายถึงเเม้ว่าไม่สามารถเป็นพยานเพียงคนเดียวตามลําพังในเรื่องการเงินเเล้ว  ยังต้องมีพยานอีกคนจนกว่าจะเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้  ทําไมไม่มีใครสักคนโจมตีว่าฝ่ายชายถูกเหยียดหยามด้านเกียรติเเละศักดิ์ศรีในกรณีนี้บ้าง ?

          นอกเหนือจากนี้แล้ว การเป็นพยานไม่ใช่สิทธิประการใดที่ทุกคนปรารถนาจะแข่งขันกันกระทำ  ทว่ามันคือภาระหน้าที่อันหนักอึ้งซึ่งมนุษย์ต่างหนีออกห่าง  ด้วยเหตุนี้เอง อัลลอฮฺ  จึงทรงสั่งใช้ไม่ให้หนีจากการรับหน้าที่ด้านนี้

 อัลลอฮฺ  ตรัสในคัมภีร์อัลกุรอาน 

﴿وَلاَ يَأْبَ الشُّهَدَاء إِذَا مَا دُعُواْ﴾ (البقرة : 282 )

“และบรรดาพยานนั้นก็จงอย่าได้ปฏิเสธ เมื่อพวกเขาถูกเรียกร้อง”

(อัลกุรอานบท อัล-บะเกาะเราะฮฺ 282)  

          โองการดังกล่าว ถือว่าครอบคลุมทั้งชายและหญิง  เพราะต่อเมื่อเรารับรู้ว่าการเป็นพยานคือภาระหน้าที่ที่หนัก อาจทำให้ต่างคนต่างต้องการที่จะหนีและรู้สึกเบื่อหน่ายในการตอบรับมัน  อีกทั้งยังสร้างความลําบากและความยุ่งยากเมื่อต้องรับหน้าที่นี้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการรอคอยและการใช้เวลาที่ยาวนานด้านการตัดสินคดี หรืออาจจะพบกับความเสี่ยงและความลําบากด้านร่างกายและการเงิน 

       อิสลามจึงบรรเทาความลําบากส่วนนี้ให้แก่บรรดาสตรีเท่าที่จะทําได้ หรือลดภาระบางอย่างแก่พวกนาง  ดังเช่นในเรื่องการปกครองและการแสวงหาปัจจัยยังชีพแก่สมาชิกในครอบครัว  เพื่อให้นางหันมาสนใจเรื่องที่สําคัญยิ่งกว่าซึ่งนางถูกมอบหน้าที่ให้ทำ เช่นนี้แหละคือการให้เกียรตินางมากกว่าการที่จะเหยียดหยามสิทธิของนาง

          และมากกว่านั้น อิสลามยังถือว่า การเป็นพยานของนางเท่ากับการเป็นพยานของชาย  นั่นก็คือในเรื่องการลบล้างพยานของผู้ชายด้วยการลิอาน(การกล่าวสาบานสี่ครั้งด้วยพระนามของอัลลอฮฺ   ถ้าเขาพูดจริงในกรณีที่เขากล่าวหาว่าภรรยาเขามีชู้หรือกระทําผิดประเวณีแต่ไม่มีพยานหลักฐาน  ทั้งนี้เพื่อเป็นการทดแทนพยานสี่คนและครั้งที่ห้าเขาจะต้องกล่าวว่า แท้จริงการสาปแช่งของอัลลอฮฺจงมีแด่เขา หากเขาเป็นผู้ที่กล่าวเท็จ) ในกรณีที่สามีกล่าวหาว่าภรรยาของเขามีชู้หรือกระทําผิดประเวณีแต่ไม่มีพยานหลักฐาน

 อัลลอฮฺ  ตรัสในคัมภีร์อัลกุรอาน 

(وَالَّذِينَ يَرْمُونَ أَزْوَاجَهُمْ وَلَمْ يَكُن لَّهُمْ شُهَدَاء إِلَّا أَنفُسُهُمْ فَشَهَادَةُ أَحَدِهِمْ أَرْبَعُ شَهَادَاتٍ بِاللهِ إِنَّهُ لَمِنَ الصَّادِقِينَ، وَالْخَامِسَةُ أَنَّ لَعْنَتَ اللهِ عَلَيْهِ إِن كَانَ مِنَ الْكَاذِبِينَ، وَيَدْرَأُ عَنْهَا الْعَذَابَ أَنْ تَشْهَدَ أَرْبَعَ شَهَادَاتٍ بِاللهِ إِنَّهُ لَمِنَ الْكَاذِبِينَ، وَالْخَامِسَةَ أَنَّ غَضَبَ اللهِ عَلَيْهَا إِن كَانَ مِنَ الصَّادِقِينَ) (النور : 6 - 9 )

“และบรรดาผู้กล่าวโทษภรรยาของพวกเขา และสำหรับพวกเขาไม่มีพยานนอกจากตัวของพวกเขาเอง

ก็ให้การเป็นพยานของคนหนึ่งในพวกเขากล่าวสาบานสี่ครั้ง ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ

แท้จริงเขาเป็นหนึ่งในหมู่ผู้พูดจริง

และครั้งที่ห้าให้เขากล่าวว่า แท้จริงการสาปแช่งของอัลลอฮฺจงมีแด่เขา หากเขาเป็นผู้ที่กล่าวเท็จ 

และพวกเขาจะทำให้นางพ้นจากการลงโทษ ต่อเมื่อนางกล่าวสาบานสี่ครั้ง ด้วยพระนามอัลลอฮฺ

ว่าเขาเป็นหนึ่งในหมู่ผู้กล่าวเท็จ

และครั้งที่ห้าให้นางกล่าวว่า แท้จริง ความกริ้วของอัลลอฮฺจงมีแด่นาง หากเขาเป็นหนึ่งในหมู่ผู้พูดจริง”

 (อัลกุรอานบท อัน-นูรฺ 6-9 )

 

 

แปลโดย : อิบนุ ร็อมลี ยูนุส / Islam House