การบริจาคทาน (ศอดาเกาะฮฺ)
การบริจาคทาน (ทำทานโดยสมัคใจ) ถือเป็นสุนนะฮฺอย่างหนึ่ง ซึ่งควรกระทำในทุกๆ สภาวะการณ์ และในช่วงเดือนรอมฎอนเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทำทานสมัคใจ ซึ่งผลบุญของมันนั้นจะทวีคูณ ดังที่อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮ อายะฮฺที่ 261 ความว่า
“ อุปมาบรรดาผู้บริจาคทรัพย์ของพวกเขาในหนทางของอัลลอฮฺ นั้น ดังอุปมัยเมล็ดพืชเมล็ดหนึ่งที่งอกขึ้นเป็นเจ็ดรวงซึ่งแต่ละรวงนั้นมีร้อยเมล็ด
และอัลลอฮฺ นั้นจะทรงเพิ่มพูนแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์นั้นผู้ทรงกว้างขวางผู้ทรงรอบรู้ ”
และควรแจกจ่ายทานสมัคใจให้ทั่วถึง นอกจากนี้ ทานสมัคใจสามารถกระทำได้ในสภาวะที่กำลังเจ็บป่วย เดินทาง ที่มักกะฮ ที่มะดีนะฮฺ ในภาวะสงคราม ช่วงประกอบพิธีฮัจญ์ และในเวลาที่ประเสริฐ เช่น 10 วันแรกของเดือนแห่งการทำฮัจญ์ ในการบริจาคนั้นไม่ควรเปิดเผย และควรบริจาคในสิ่งที่ ดังที่อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานซูเราะฮฺ อาลิอิมรอน อายะฮฺที่ 92 ความว่า
“ พวกเจ้าจะไม่ได้คุณธรรมเลย จนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคจากสิ่งที่พวกเจ้าชอบ และสิ่งที่พวกเจ้าบริจาคไป แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงรู้ในสิ่งนั้นดี ”
สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นให้ปัจจัยยังชีพแก่ผู้ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครอง โดยหากบริจาคจะทำให้เกิดความขัดสน ดังนั้น จึงไม่อนุญาตสำหรับบุคคลดังกล่าวให้ทำศอดาเกาะฮฺ
การบริจาคทานสมัครใจไม่กำหนดรูปแบบ และปริมาณ ซึ่งสามารถทำได้แม้มีปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ตาม ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า
“ ผู้ใดในหมู่พวกท่านสามารถที่จะปกป้องไฟนรก เขาก็จงบริจาค แม้เพียงซีกหนึ่งของผลอินทผลัม
แล้วถ้าใครไม่มีก็จงพูดจาสุภาพเรียบร้อย(ก็ถือว่าเป็นการบริจาคทานแล้ว) ”
(บันทึกโดยอะฮหมัด และมุสลิม)
ประเภทของการบริจาคทาน (ศอดาเกาะฮฺ)
การบริจาคนั้นมิได้เจาะจงชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่โดยหลักทั่วไปแล้ว ความดีทุกอย่างนั้น ถือเป็นศอดาเกาะฮฺ ( การบริจาคทาน ) ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า
“ ทุกๆชีวิตนั้นจะถูกบันทึกแก่เขาให้มีการบริจาคทานทุกวันที่ดวงอาทิตย์ยังขึ้นอยู่
จากดังกล่าวนั้น การที่เขาให้ความเที่ยงธรรมในระหว่างคู่กรณี ก็ถือเป็นศอดาเกาะฮฺ
การยกของให้แก่เขาก็ถือเป็นศอดาเกาะฮฺ การเอาสิ่งของอันตรายออกจากดินก็ถือเป็นศอดาเกาะฮฺ
คำพูดที่ดีก็ถือเป็นศอดาเกาะฮฺ ทุกก้าวที่เดินไปละหมาดก็ถือเป็นศอดาเกาะฮฺ ”
(บันทึกโดยอะหมัด และคนอื่นๆ )
คนที่มีสิทธิได้รับบริจาคมากที่สุดคือใคร ?
คนที่มีสิทธิได้รับบริจาคมากที่สุดคือ ลูกๆของผู้บริจาค ครอบครัวของเขา ญาติที่ใกล้ชิดของเขา โดยที่บุคคลเหล่านี้มีความจำเป็นต่อสิ่งที่บริจาค เพื่อเป็นค่าครองชีพของเขา และคนที่อยู่ในการดูแลของเขา ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า
“ ถ้าปรากฏว่าคนหนึ่งในหมู่พวกท่านยากจน ก็จงเริ่มด้วยตัวของเขาก่อน ถ้ายังมีเหลือก็ให้แก่ลูกๆของเขา
ถ้ายังมีเหลือก็ให้ญาติที่ใกล้ชิดของเขา หรือวงศ์ญาติที่ใกล้ชิด ถ้ายังมีเหลือก็ให้เอามายังที่นี้ ที่นั้น ”
นอกจากนี้ท่านเราะซูล ยังได้กล่าวว่า “ เจ้าจงบริจาค ”
ชายคนหนึ่งกล่าวว่า “ ฉันมีหนึ่งเหรียญทอง ”
ท่านกล่าวว่า “ จงบริจาคเพื่อตัวเจ้าก่อน ”
เขากล่าวว่า “ ฉันมีอีกเหรียญทองหนึ่ง ”
ท่านกล่าวว่า “ จงบริจาคให้ภรรยาของเจ้า ”
เขากล่าวว่า “ ฉันมีอีกเหรียญทองหนึ่ง ”
ท่านกล่าวว่า “ จงบริจาคให้ลูกๆของท่าน ”
เขากล่าวว่า “ ฉันมีอีกเหรียญทองหนึ่ง ”
ท่านกล่าวว่า “ จงบริจาคให้คนรับใช้ของเจ้าก่อน ”
เขากล่าวว่า “ ฉันมีอีกเหรียญทองหนึ่ง ”
ท่านกล่าวว่า “ เจ้าจงพิจารณาดูก็แล้วกันว่าจะให้ใคร ”
(บันทึกโดยอบูดาวูด อันนาซาอี และอัลฮากิม)
การทำให้การบริจาคไร้ผล ( เป็นโมฆะ )
การบริจาคนั้นขึ้นอยู่กับเจตนาที่ทำเพื่ออัลลอฮฺ ซึ่งนับว่าเป็นความสำคัญมากเพราะการบริจาคที่สูญเปล่านั้นจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆเลย เช่น การบริจาคสิ่งที่หะรอม ( ต้องห้าม ) และภรรยาเอาทรัพย์สินสามีมาบริจาคโดยที่สามีไม่รู้ หรือไม่อนุญาต ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไร้ผล ดังที่อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺ 264 ความว่า
“ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่าให้บรรดาทานของพวกเจ้าไร้ผล ด้วยการลำเลิก และก่อความเดือดร้อน เช่น ผู้ที่บริจาคทรัพย์ของเขาเพื่ออวดผู้คน ”
การบริจาคทานให้แก่สัตว์
อิสลามเป็นศาสนาที่แสดงออกถึงความเมตตาต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้งสัตว์ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า
“ขณะที่สุนัขตัวหนึ่งกำลังเดินวนเวียนอยู่รอบๆ สระความกระหายน้ำเกือบทำให้มันสิ้นชีวิต
แล้วบังเอิญหญิงชั่วคนหนึ่งจากวงค์วานบนีอิสรออีลได้เห็นมัน นางได้ถอดรองเท้าบู๊ตของนางแล้วเอาตักน้ำมาให้มันดื่ม
และนางก็ได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ เนื่องด้วยการกระทำอันนั้น ”
(บันทึกโดยบุคอรีย์ และมุสลิม )
จะเห็นได้ว่าการทำทานให้สัตว์สามารถลบล้างไฟนรก และได้เข้าสวรรค์
คัดลอกจาก http://www.hilal.or.th/