ความรักและการใคร่หลง
  จำนวนคนเข้าชม  9340


 

ความรักและการใคร่หลง

 

คำถาม

เมื่อหญิงสาวรักชายหนุ่มคนใดอยู่ห่างๆ แสดงว่าเธอได้ทำบาปแล้วหรือไม่ ?

 

คำตอบ

          หลักทางศาสนบัญญัติได้ห้ามการกระทำต่างๆ ที่เป็นประตูสู่ความชั่วและความผิดบาป และพยายามที่จะปิดหนทางที่จะนำไปสู่หายนะของหัวใจและสติปัญญา การเป็นแฟน การหลงรัก และการคลั่งไคล้ระหว่างเพศ เป็นหนึ่งในภัยที่ใหญ่หลวงและอันตรายยิ่ง

 

ชัยคุล อิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้กล่าวใน มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา (เล่ม 10 หน้า 129) ว่า

          “การใคร่หลงนั้นเป็นโรคทางจิตประเภทหนึ่ง เมื่อมันขยายเติบโตก็จะส่งผลต่อร่างกายแล้วกลายเป็นโรคทางกายได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับสมอง เพราะฉะนั้นมันจึงได้ชื่อว่าเป็นโรคแห่งความลังเล หรืออาจจะกลายเป็นโรคทางกายอย่างอื่น เช่น ความซึมเศร้าอ่อนเพลียและผอมแห้ง เป็นต้น”

ในหนังสือเล่มเดียวกัน (เล่ม 10 หน้า 132) ท่านได้กล่าวว่า

         “การหลงรักหญิงอื่นนั้นมีความเสียหายมากมายแฝงอยู่ซึ่งนับไม่ได้ เว้นแต่อัลลอฮฺพระผู้อภิบาลของปวงบ่าวเท่านั้น มันเป็นหนึ่งในโรคที่ทำลายศาสนาของเจ้าของที่เป็นโรคนี้ แล้วมันก็ทำให้สติปัญญาของเขาเสียหาย แล้วเลยไปทำลายร่างกายของเขาด้วย”

          เป็นการเพียงพอแล้วที่เราควรจะได้รู้ว่า ในจำนวนภัยของความรักและการใคร่หลงเพศตรงข้ามนั้น คือการที่หัวใจกลายเป็นเชลยและตกเป็นทาสคนที่เขารัก ความรักนั้นเป็นประตูแห่งความต่ำต้อย ความยากจน และความลำบาก มันเพียงพอแล้วที่จะเป็นปัจจัยทำให้เราไม่อยากที่จะข้องแวะกับโรคนี้

 

ชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ ใน มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา (เล่ม 10 หน้า 185) กล่าวว่า

        “เมื่อหัวใจของผู้ชายแขวนติดอยู่กับผู้หญิงคนใด แม้ว่านางจะเป็นคนที่อนุญาตสำหรับเขาก็ตาม หัวใจของเขาก็จะเป็นเชลยของนาง นางจะเป็นคนที่คอยควบคุมตามที่นางต้องการ โดยผิวเผินแล้วนางคือเจ้านายของเขาเพราะนางเป็นภรรยาของเขานั่นเอง แต่ที่จริงแล้วตัวเขานั้นคือเชลยและทาสของนาง

          โดยเฉพาะเมื่อเขาจำเป็นต้องพึ่งนางและหลงรักนาง เมื่อนั้น นางจะควบคุมเขาเหมือนกับเจ้านายที่แข็งกร้าวและเหี้ยมโหดคอยใช้งานทาสผู้อ่อนแอที่ไม่อาจจะหลีกหนีไปให้พ้นได้ ทว่ามันอาจจะยิ่งกว่านั้น เพราะการเป็นเชลยของหัวใจย่อมต้องใหญ่หลวงกว่าการเป็นเชลยทางกายด้วยซ้ำ การเป็นทาสของหัวใจย่อมหนักหนากว่าการกดขี่ให้เป็นทาสทางกายเสียอีก

 

          การรู้สึกผูกยึดและติดอยู่กับเพศตรงข้ามเยี่ยงดังกล่าวจะไม่โดนกับหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักต่ออัลลอฮฺ แต่มันจะโดนกับหัวใจที่ว่างเปล่า  อ่อนแอและเพลี่ยงพล้ำ จากนั้นก็จะเข้าไปควบคุมมัน ถ้าหากขยายใหญ่โตเรื่อยๆ มันอาจจะเข้าไปปกคลุมมีชัยชนะเหนือความรักต่ออัลลอฮฺ และนำเจ้าของไปสู่การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺได้ นี่เองคือที่มาของคำกล่าวที่ว่า “อารมณ์ใฝ่ต่ำนั้นคือความเคลื่อนไหวของหัวใจที่ว่างเปล่า”

 

         เพราะหัวใจนั้นเมื่อว่างเปล่าจากความรักต่ออัลลอฮฺผู้ทรงเมตตา  ไม่มีการระลึกถึงพระองค์ และปราศจากความอิ่มเอิบด้วยการเข้าเฝ้าและสยบยอมต่อถ้อยดำรัสของพระองค์แล้วละก็ ย่อมต้องสาละวนอยู่กับการรักใคร่สตรีเพศ หลงอยู่กับรูปลักษณ์ และการฟังเพลง

 

ชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้กล่าวใน มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา (เล่ม 10 หน้า 135) ว่า

        “เมื่อหัวใจมีความรักต่ออัลลอฮฺและบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์เพียงผู้เดียว ย่อมจะไม่ถูกทดสอบให้รักผู้อื่นนอกจากพระองค์ด้วยซ้ำ นับประสาอะไรกับการใคร่หลงงมงายอยู่ในความรัก และเมื่อถูกทดสอบให้ตกอยู่ในการหลงรักคนอื่น นั่นแสดงว่าเป็นเพราะการบกพร่องในความรักที่มีต่อพระองค์  ด้วยเหตุนี้ ท่านนบียูซุฟ อะลัยฮิสลาม ซึ่งเป็นคนที่มีความรักและบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺเพียงผู้เดียว จึงไม่ตกเป็นผู้ถูกทดสอบให้ใคร่หลงตกอยู่ในความรักเยี่ยงนั้น

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

﴿كَذَلِكَ لِنَصْرِفَ عَنْهُ السُّوءَ وَالْفَحْشَاء إِنَّهُ مِنْ عِبَادِنَا الْمُخْلَصِينَ﴾ (يوسف : 24)

 “เช่นนั้นแหละเพื่อเราจะให้ความชั่วและการลามกห่างไกลจากเขา แท้จริงเขาคือคนหนึ่งในปวงบ่าวที่สุจริตของเรา”

(ยูซุฟ 24)

ส่วนภรรยาของเจ้าเมืองและสาวๆ ในเมืองนั้น พวกนางเป็นพวกที่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ดังนั้นจึงตกอยู่ในบททดสอบแห่งความใคร่หลงดังกล่าว”

 

           ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นเหนือมุสลิมก็คือ ต้องหาทางให้รอดพ้นแก่ตัวเองจากความหายนะนี้ ต้องไม่ละเลยที่จะปกป้องและดูแลตัวเองให้ปลอดภัย ถ้าหากเขาบกพร่องในเรื่องดังกล่าว แล้วกลับไปเดินบนเส้นทางแห่งการรักและเป็นแฟน ด้วยการทอดสายตามองสิ่งที่หะรอมเป็นประจำ ฟังสิ่งที่หะรอมอยู่เสมอ ทำเป็นเรื่องเล็กน้อยกับการพูดคุยกับเพศตรงข้าม หรืออะไรเช่นนี้เป็นต้น แล้วเขาก็ตกอยู่ในหลุมพรางแห่งความรักและใคร่หลงระหว่างชายหญิงอย่างไม่ถูกต้อง เขาก็ย่อมเป็นผู้ที่บาปและต้องถูกลงโทษเนื่องด้วยพฤติกรรมนั้น

          มีผู้คนมากเท่าใดที่ไม่แยแสกับหลักการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมดังกล่าวนี้ และคาดคิดว่า สามารถที่จะคุมตัวเองได้เมื่อใดที่เขาต้องการ หรือคิดไปว่าสามารถที่จะหยุดได้โดยไม่ละเมิดขอบเขตต้องห้าม สุดท้ายเมื่อโรคหลงรักที่ว่าซึมซับจนกลายเป็นนิสัยที่ยากจะสลัดพ้น เมื่อนั้นก็ไม่มีหมอหรือยาใดๆ ที่สามารถจะรักษาเขาได้อีก เมื่อที่มีผู้กล่าวว่า

เมื่อบุรุษหนึ่งตกอยู่ในความรัก   ครั้นเมื่อคิดจะพัก กลับมิอาจทำได้

เขาเห็นคลื่นลูกใหญ่ แต่ใจกลับคิดว่ามันเล็ก    จนเมื่อมันเข้าประชิด เขาก็จมดิ่งมิหวนคืน

 

อิบนุล ก็อยยิม ได้กล่าวไว้ใน เราเฎาะตุล มุหิบบีน (หน้า 147) ว่า

       “เมื่อใดที่มีมูลเหตุเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของเขา หากมีผลกรรมใดๆ ตามมาหลังจากนั้นโดยที่เขาไม่ตั้งใจก็ย่อมไม่ถูกอนุโลมให้ เมื่อเขาสร้างมูลเหตุที่ต้องห้ามแล้วส่งผลให้เกิดอาการมึนเมา เพราะเหตุที่ว่า เขาก็จะไม่ได้รับการอนุโลมในความผิดนั้น และเป็นที่ชัดเจนอย่างไม่ต้องสงสัยว่า การทอดสายตาและครุ่นคิดเรื่องรักๆ ใคร่ๆ อยู่ตลอดเวลานั้นเปรียบเสมือนคนที่ดื่มของมึนเมา ดังนั้นจงอย่าได้กล่าวหาและต่อว่ามูลเหตุที่ว่านั้นอีกเลย”

 

          ถ้าหากเขาพยายามที่จะหลีกเลี่ยงจากช่องทางต่างๆ ที่นำไปสู่โรคภัยนี้ ด้วยการลดสายตาจากการมองสิ่งต้องห้าม ระงับหูไม่ให้ฟังสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และเบี่ยงหัวใจให้ออกห่างจากความคิดฟุ้งซ่านที่ชัยฎอนพ่นเข้าไปในใจเขา ทว่าเขาก็ยังได้รับผลกระทบจากเศษเสี้ยวของโรคที่ว่านี้ เนื่องเพราะการเผลอมองชั่ววูบ หรือเพราะการปฏิสัมพันธ์ที่ดั้งเดิมแล้วไม่ใช่สิ่งต้องห้าม จนกลายเป็นเหตุให้เขายึดติดอยู่กับผู้หญิงคนหนึ่งคนใด กรณีนี้เขาจะไม่บาป อินชาอัลลอฮฺ เพราะอัลลอฮฺได้ตรัสว่า

﴿لاَ يُكَلِّفُ اللهُ نَفْساً إِلاَّ وُسْعَهَا﴾ (البقرة : 286)

“อัลลอฮฺจะไม่ทรงบังคับใช้ชีวิตหนึ่งชีวิตใด เว้นแต่เท่าที่มันสามารถจะแบกรับได้”

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ 286)

 

อิบนุ ตัยมียะฮฺ ในมัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา (เล่ม 11 หน้า  10) ได้กล่าวว่า

“ใครที่ไม่ได้ปล่อยปะละเลยและไม่ทำการล่วงละเมิด เขาก็ไม่ต้องรับผิดในสิ่งที่ประสบกับเขา”

อิบนุล ก็อยยิม ในเราเฎาะตุล มุหิบบีน (หน้า 147) ได้กล่าวว่า

         “เมื่อความหลงรักเกิดขึ้นไม่ใช่ด้วยสาเหตุที่ผิด เจ้าของมันก็ไม่ถูกตำหนิ เช่นคนที่รักภรรยาของเขาหรือรักทาสหญิงของเขาเอง แล้วเขามีเหตุจำเป็นต้องพรากจากนาง แต่ความรักของเขาต่อนางยังคงติดอยู่กับเขาไม่ยอมหาย เช่นนี้ เขาก็จะไม่ถูกตำหนิแต่ประการใด เช่นเดียวกับกรณีที่พลั้งไปมองโดยไม่ตั้งใจแล้วก็หันสายตาไปทางอื่น แต่มิอาจจะต้านทานความรู้สึกรักที่เข้ามาครอบงำในใจของเขาโดยที่เขาไม่ได้สมัครใจเลือกที่จะเป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งจำเป็นที่เขาต้องพยายามต่อสู้และสลัดความรู้สึกดังกล่าวให้พ้นไปจากตัวเอง”

 

          จำเป็นที่เขาต้องพยายามเยียวยาหัวใจด้วยการตัดขาดจากผลที่เกิดขึ้นเพราะคนรักของเขา  ด้วยการเพิ่มความรักต่ออัลลอฮฺลงไปในหัวใจแทน ให้มีความรู้สึกเพียงพอกับความรักที่มีต่อพระองค์ และไม่ควรละอายที่จะขอคำปรึกษาจากคนที่มีปัญญาและความจริงใจในการให้คำปรึกษา หรืออาจจะเข้ารับการรักษาจากหมอหรือผู้เชี่ยวชาญทางจิต เพราะเขาอาจจะพบหนทางรักษาได้บ้าง พร้อมๆ กับที่เขาจะต้องอดทนและหวังต่ออัลลอฮฺ ดูแลความบริสุทธิ์ของตนและปกปิดความลับไว้ ซึ่งหวังว่าอัลลอฮฺจะทรงประทานผลบุญให้กับเขา อินชาอัลลอฮฺ

 

ชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ ในมัจญ์มูอฺ อัลฟะตาวา (เล่ม 10 หน้า 133) ได้กล่าวว่า

         “ถ้าหากโดนทดสอบให้มีอาการใคร่หลงอยู่ในความรัก แล้วเขาก็อดทนและปกป้องดูแลความบริสุทธิ์ของตน เขาย่อมจะได้รับผลบุญเนื่องด้วยความยำเกรงของเขาต่ออัลลอฮฺ"

          เพราะเป็นสิ่งที่ทราบกันในหลักศาสนบัญญัติว่า เมื่อผู้ใดปกป้องดูแลตัวเองจากราคะที่ต้องห้าม ไม่ว่าจะเป็นการมอง การพูด การกระทำ และได้ปกปิดสิ่งนั้นไว้ไม่นำไปพูดคุยกับคนอื่น เพื่อไม่ให้เกิดมีการพูดที่ต้องห้ามขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนต่อมัคลูกหรือการเปิดเผยความเลวทรามต่ำช้า หรือการอ้อนวอนร้องขอจากคนรัก พร้อมๆ กับที่เขาอดทนด้วยการปฏิบัติเชื่อฟังอัลลอฮฺและหักห้ามใจจากการกระทำผิดบาป และอดทนต่อบททดสอบของความเจ็บปวดจากความรัก ซึ่งหัวใจของเขาประสบเช่นคนที่อดทนเพราะความเจ็บปวดจากมะอฺศิยะฮฺ แน่นอน คนที่ว่านี้ย่อมต้องเป็นผู้ยำเกรงและผู้อดทน ดังในโองการที่ว่า

﴿إِنَّهُ مَن يَتَّقِ وَيِصْبِرْ فَإِنَّ اللهَ لاَ يُضِيعُ أَجْرَ الْمُحْسِنِينَ﴾ (يوسف : 90)

 “แท้จริง ผู้ใดที่ยำเกรงและอดทน แน่นอนอัลลอฮฺจะมิทรงให้รางวัลของบรรดาผู้ทำความดีนั้นสูญหายหรือไร้ค่า”

(ยูซุฟ 90)

 


ฃอัลลอฮฺทรงเป็นผู้ที่รู้ดียิ่ง

 

 

ผู้แปล : ซุฟอัม อุษมาน / Islam House

www.islamqa.com ฟัตวาหมายเลข 22751