เรียนรู้ด้วยการเล่น
  จำนวนคนเข้าชม  28867


เรียนรู้ด้วยการเล่น

 

           เป็นที่ทราบกันดีว่า เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีนั้น ต้องเริ่มจาการเรียนรู้ และการเรียนรู้ที่ดีนั้นก็คือ การเรียนรู้ด้วยการเล่น วันนี้เรามีคำแนะนำดีๆ จาก ผศ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ จิตแพทย์เด็ก รพ.ศิริราช มาเล่าสู่ท่านผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกๆ มีพัฒนาการที่ดี ซึ่งพัฒนาการของเด็กจะผ่านการเล่นเป็นสื่อกลาง ตั้งแต่การพัฒนาสติปัญญา ภาษาการสื่อสารของกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่และสังคมจริยธรรม ลองศึกษาดูนะค่ะ..
 

          การเล่นของเด็ก ดูเหมือนเป็นเรื่องเล่นๆ แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่สำคัญและมีคุณค่ามหาศาล ไม่ว่าจะเล่นด้วยวิธีใด ก็เป็นการส่งเสริมพัฒนาการเด็กทั้งสิ้น เรามาดูซิว่า การเล่นแต่ละอย่างของเด็กนั้น ให้ความสำคัญต่อร่างกายของเขาอย่างไร


กล้ามเนื้อมัดเล็ก หมายถึง การใช้มือ การหยิบจับ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการที่เด็กจะพัฒนาการ การเขียน การทำงานในชีวิตประจำวัน และการช่วยเหลือตัวเอง


กล้ามเนื้อมัดใหญ่ คือ กล้ามเนื้อแขนขา การทรงตัว ทำให้เด็กสุขภาพดี แข็งแรง คล่องแคล่ว ทะมัดทะแมงเล่นกีฬาได้ดี


          ด้านสังคมและจริยธรรม การที่เด็กเล่นเป็นกลุ่ม จะเรียนรู้การปรับตัวอยู่กับผู้อื่น พอใจที่จะอยู่ร่วมกับสังคมและมีกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งเรียนรู้ว่าทำอย่างไรให้เป็นที่ ยอมรับของคนอื่น (การเล่นของเด็กโตก็จะมีกติกาเกิดขึ้น นั้นก็คือ พื้นฐานที่เด็กจะได้พัฒนาในด้านของการที่จะเติบโตขึ้นมาอยู่ในกฎระเบียบของครอบครัว โรงเรียน และสังคมได้)


          ด้านภาษา ในการเล่นหลายๆ อย่าง เด็กจะต้องมีการพูดจา สื่อสาร มีการตอบโต้ โดยเฉพาะการเล่นบางอย่างจะต้องใช้การพูดในการเล่น เช่น การเล่นเป็นหมอ พยาบาล พ่อแม่ลูก เป็นการพัฒนาทางด้านภาษาอย่างดี
 

          ในแต่ละวัย แน่นอนว่าจะมีการเล่นที่แตกต่างกัน เนื่องจากความพร้อมทางร่างกายและระดับพัฒนาการของสมองต่างกัน ซึ่งมีความสำคัญมากถ้าพ่อแม่เข้าใจว่าในแต่ละวัยเหมาะที่จะเล่นอะไร พ่อแม่จะได้ช่วยสนับสนุนส่งเสริมได้อย่างถูกต้อง

          จริงๆ แล้วเด็กนั้นชอบเล่นตั้งแต่แรกเกิด อย่าคิดว่าเด็กเล็กๆ จะเล่นอะไรไม่เป็น เราจะเห็นว่า ปัจจุบันนี้จะมีของเล่นสำหรับเด็กตั้งแต่วัยขวบปีแรกซึ่งยังเดินไม่ได้ ของเล่นวัยนี้ควรจะมีสีสันสดใส ของที่เคลื่อนไหวได้มีเสียงดัง หยิบได้เขย่าได้ กลิ้งได้ ของเล่นวัยนี้จะทำให้เด็กได้พัฒนาในด้านของการใช้มือ การมองตามความเคลื่อนไหว สีสันสดใสจะทำให้มองตาม เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดย่อย

          การเล่นของเด็กช่วงขวบปีแรก มักเป็นการเล่นคนเดียว เด็กที่โตขึ้นคือประมาณ 2-3 ขวบ เด็กจะเริ่มเล่นรวมกลุ่ม เมื่อเด็กเห็นคนอื่นเล่น ก็จะสนใจและเดินเข้ามาเล่นด้วย แต่เวลาเล่นกลับเล่นคนเดียว ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กัน ของเล่นเด็กวัยนี้จะเป็นของเล่นที่เริ่มใช้กล้ามเนื้อมัดย่อยและมัดใหญ่เข้ามาบ้าง เช่น การขีดเขียนของเล่น ตอก เรียง เตะ ขว้างเกิดขึ้นบ้าง สามารถที่จะเรียงบล็อก สามารถต่อภาพจิ๊กซอร์ได้บ้าง เล่นตุ๊กตาได้ เมื่อเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป ก็จะเริ่มเล่นเป็นกลุ่ม แบบมีปฏิสัมพันธ์กัน วัยนี้จะชอบเล่นซุกซนวิ่ง ปีนป่าย กระโดดในที่กว้าง เช่น วิ่งเล่น ไล่จับ ไปวิ่งเล่น ไปขี่จักรยานเล่นเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น

          เมื่ออายุ 6 ขวบขึ้นไป จะเพิ่มการเล่นแบบเกมซึ่งมีกติกาจะเริ่มเข้ามา เช่น หมากฮอส เกมเศรษฐี งูไต่บันได ซึ่งเด็กวัยนี้จะเริ่มเข้าใจกติกาการเล่นได้บ้างแล้ว เด็กจะเริ่มสนใจกีฬามากขึ้นเช่น ปิงปอง, แบดมินตัน, ฟุตบอล การเล่นวัยนี้จะช่วยพัฒนาในเรื่องของการเข้าสังคมได้มาก

           แน่นอน พ่อแม่จะมีบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งเสริมลูกน้อยในด้านพัฒนาการ แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจ และเห็นความสำคัญก่อนว่า การเล่นนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก และมีประโยชน์ต่อพัฒนาการสมองเด็กมาก เพราะปัจจุบันหลายครอบครัวมักเน้นไปที่เรื่องของการเรียนอย่างเดียว ทำให้เด็กไม่ได้เล่นอย่างเหมาะสม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือลูกน้อยได้โดย


          สร้างทัศนคติที่เหมาะสม พ่อแม่มีส่วนชักจูงและเป็นแบบอย่างให้เด็กเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเล่นกีฬา พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างปลูกฝัง ให้เด็กดูและเห็นว่า การออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็นประโยชน์ ซึ่งเด็กจะได้ร่วมกิจกรรมมากขึ้น และที่สำคัญมากก็คือ การที่พ่อแม่ร่วมเล่นกับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 - 6 ปี จะช่วยให้เด็กเล่นได้อย่างสร้างสรรค์และได้ประโยชน์เต็มที่ มีจินตนาการ มีพัฒนาการอย่างถูกต้อง นอกจากที่เด็กจะได้รับความสนุกสนาน การชี้แนะจากพ่อแม่ และความผูกพัน ใกล้ชิด มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันเกิดขึ้นในระหว่างนั้น


จัดเวลา กิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม ให้มีโอกาสได้เล่นสม่ำเสมอทุกวัน


          เตรียมอุปกรณ์ สนับสนุน เช่น ของเล่น อุปกรณ์กีฬา รวมทั้งหาสถานที่เหมาะสมที่ต้องใช้ในการเล่น

          ตรงกันข้ามกับเด็กที่ไม่ได้เล่นหรืออยู่กับผู้ใหญ่ที่ไม่ชอบเล่นกับเด็กหรือสุขภาพไม่ดี เล่นไม่ไหว เด็กไม่รู้จะเล่นกับใคร จะมีผลกระทบในด้านของบุคลิกลักษณะคือ อาจเป็นเด็กไม่ร่าเริงแจ่มใส ทักษะทางสังคมน้อย ปรับตัวไม่ดี ไม่ทะมัดทะแมงคล่องแคล่วว่องไว ความตื่นตัวสนใจสิ่งแวดล้อมน้อย รวมทั้งส่งผลถึงการพัฒนาการทางสติปัญญาไม่เต็มที่ด้วย

          ยิ่งในปัจจุบันนี้ มีการเล่นที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ได้ประโยชน์มากมาย ซึ่งอาจทำให้เด็กติดเช่น เล่นวิดีโอเกม คอมพิวเตอร์เกมจะส่งผลเสียต่อเด็ก ซึ่งใช้เวลามากมายทำให้เด็กไม่ได้ออกกำลังกาย และอาจมีความก้าวร้าวและกระตุ้นทางเพศแฝงเข้ามาด้วย พ่อแม่จึงต้องให้ความสำคัญ และให้เวลาเกี่ยวกับการเล่นของลูกน้อยให้เล่นเหมาะสมตามวัยและเพียงพอทุกวัน
 


https://www.myfirstbrain.com