14 กุมภา คือวันอะไรกันแน่ ?
  จำนวนคนเข้าชม  23541

 

14  กุมภา คือ วันอะไร ?


- วันแห่งความรัก ทำไมต้องเป็น 14 กุมภาฯ ?

          14 กุมภาพันธ์ ของทุกๆปีเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ชาวมุสลิมผู้ไม่ประสากับข้อเท็จจริงของวันนี้บางคนได้ร่วมเฉลิมฉลองกับชนต่างศาสนิกและลอกเลียนแบบประเพณีของพวกเขาด้วยการส่งการ์ดอวยพรและดอกกุหลาบสีแดงสดแก่คนที่ตนรักเพื่อแสดงถึงความรักที่มีต่อกัน พวกเขาเรียกวันนี้ว่า “วันแห่งความรัก” หรือ “วันวาเลนไทน์”

          จะมีเยาวชนมุสลิมสักกี่คนที่ตระหนักว่า วันที่ 14 ของกุมภาพันธ์นี้เป็นวันสำคัญทางศาสนาคริสต์ เป็นวันหนึ่งที่ชาวคริสต์กำหนดขึ้นตามความเชื่อของพวกเขา เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสรำลึกถึงวีรกรรมแห่งความรักของเซนต์วาเลนไทน์ ที่เป็นเหตุให้เขาต้องจบชีวิตลงด้วยการต้องโทษประหารชีวิตในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 270

          เทศกาลแห่งความรัก ที่ถูกแอบอ้างได้กลายเป็นประเพณีนิยมและแพร่หลายในหมู่เยาวชนหนุ่มสาวมุสลิม เป็นเทศกาลที่ดูภายนอกจะเชิญชวนสู่ความรัก ความห่วงใย และความเป็นมิตร แต่โดยเนื้อแท้กลับเป็นเทศกาลที่เชิญชวนสู่ความหายนะ ความเสื่อมทรามทางจริยธรรม และการหลอกลวง เป็นเทศกาลแห่งการเสียพรหมจารีย์ของสาวๆ ที่ยอมทอดกายให้กับคนรักเพื่อเป็นการบูชาความรักที่มีต่อกัน และเป็นเทศกาลที่หนุ่มๆ โลดลำพองใจ เพราะเป็นวันที่พวกเขาจะได้สารภาพรักกับเพื่อนหญิง ด้วยการขอร่วมหลับนอนและสัมผัสเนื้อหนังอันพึงสงวนของเธอ ! นาอูซุบิลลาฮฺ มินซาลิก


- ทำไมต้องเป็นวาเลนไทน์ ?

          ผู้อ่านบางท่านอาจจะแปลกใจว่า ทำไมเราจึงต้องหยิบยกประเด็นวันวาเลนไทน์ หรือเทศกาลแห่งความรักนี้มาตีแผ่ ในเมื่อมันเป็นเทศกาลที่ขัดแย้งกับหลักการอิสลาม และเป็นตัวทำลายจริยธรรมที่ดีงามของสังคม การนำประเด็นนี้มาวิพากษ์วิจารณ์จะไม่เป็นการเผยแพร่และโฆษณาให้ชาวมุสลิมอีกหลายๆ คนที่ยังไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องมารับรู้เรื่องเช่นนี้และพลอยเห็นดีเห็นงามตามไปด้วยดอกหรือ?

          ที่จริง ถ้าเราสังเกตอย่างถี่ถ้วนต่อสภาพของวัยรุ่นหนุ่มสาวส่วนใหญ่ในวันนี้ เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวทางการค้า และการแลกเปลี่ยนการ์ดอวยพร เราจะเข้าใจทันทีว่า โรคระบาดที่ถูกห่อหุ้มอยู่ในคราบของความรัก และธรรมเนียมที่เลวทรามและป่าเถื่อนนี้ ได้ลุกลามเข้าสู่สังคมมุสลิมอย่างรวดเร็วเสมือนกับการลุกไหม้ของเพลิงไฟในกองฟาง เป็นเทศกาลแห่งการโฆษณาชวนเชื่อที่มีเบื้องหลังอันเลวร้าย เป็นเทศกาลที่มีเบื้องหลังแห่งตัณหา และความบกพร่องทางจริยธรรมแอบแฝงอยู่ภายใต้ชื่อของความรักและอื่นๆ

          ดังนั้น การหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นการปลุกจิตสำนึกอย่างหนึ่งให้เยาวชนหนุ่มสาวของเราได้ตระหนักถึงอันตรายและภัยร้ายจากธรรมเนียมประเพณีนอกรีตที่ถูกนำเข้าสู่วิถีการดำเนินชีวิตของมุสลิม และเกิดการตื่นตัวต่อแผนการทำลายล้างในรูปแบบต่างๆของศัตรูที่พยายามหยิบยื่นมาให้ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายความบริสุทธิ์และความใสสะอาดของพวกเขาภายใต้สโลแกนที่สวยหรูและชวนหลงใหล


- ทำไมเราจึงไม่ร่วมเฉลิมฉลองกับเทศกาลวาเลนไทน์ ?

          หนุ่มสาวชาวมุสลิมที่ร่วมเฉลิมฉลองกับเทศกาลแห่งความรักนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีความเชื่อในเรื่องราวและเหตุการณ์ที่ถูกผนวกเข้ากับที่มาของเทศกาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับชาวโรมันหรือเกี่ยวกับชาวคริสต์ ยิ่งกว่านั้น ส่วนใหญ่ของพวกเขาเหล่านั้นไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าเทศกาลวันวาเลนไทน์มีความเป็นมาอย่างไร แต่สิ่งที่ชักจูงพวกเขาให้ร่วมเฉลิมฉลองด้วยเป็นเพียงความรู้สึกอยากจะปฏิบัติตามพวกเขาเท่านั้นเอง โดยมองว่าธรรมเนียมนิยมต่างๆที่มาจากยุโรปเป็นสิ่งที่ดีและทันสมัย หรือเป็นเพียงโอกาสที่เอื้ออำนวยสำหรับการสนองตอบต่ออารมณ์ตัณหาที่เปิดโอกาสให้กระทำเนื่องในโอกาสดังกล่าวเท่านั้นเอง

          อาจจะมีพี่น้องมุสลิมของเราบางคนที่เห็นด้วยกับเทศกาลการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ข้องใจว่า ในเมื่ออิสลามเป็นศาสนาที่เชิญชวนสู่ความรักและสันติภาพ และเทศกาลแห่งความรักก็เป็นโอกาสหนึ่งที่เราสามารถใช้โอกาสนี้เผยแผ่ความรักและความสามัคคีในหมู่พี่น้องชาวมุสลิม เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำไมจึงสกัดกั้นและห้ามปรามไม่ให้พี่น้องของเราร่วมเฉลิมฉลองในวันนี้?


- สำหรับคำตอบต่อข้อสงสัยข้างต้น พอจะชี้แจงได้ดังนี้

          1- การเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันแห่งความรัก (วาเลนไทน์) เป็นการลอกเลียนแบบธรรมเนียมปฏิบัติของชาวโรมันที่ชาวคริสต์ได้นำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาของพวกเขา ในเมื่ออิสลามห้ามไม่ให้มีพฤติกรรมลอกเลียนแบบชาวคัมภีร์ ดังนั้นการลอกเลียนแบบในความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนาของชาวคัมภีร์จึงเป็นสิ่งที่ยิ่งไม่อนุญาต

«وَلاَ تَكُونُواْ كَالَّذِينَ تَفَرَّقُواْ وَاخْتَلَفُواْ مِن بَعْدِ مَا جَاءهُمُ الْبَيِّنَاتُ»

“และพวกเจ้าจงอย่าเป็นเช่นบรรดาผู้ที่แตกแยกกัน (ชาวยิวและคริสต์) และขัดแย้งกัน

หลังจากที่บรรดาหลักฐานอันชัดแจ้งได้มายังพวกเขาแล้ว”

 (อาล อิมรอน : 105)

          อิมาม อัส-ศ็อนอานีย์ กล่าวว่า “เมื่อมีการลอกเลียนแบบผู้ปฏิเสธศรัทธาในด้านการแต่งกายและเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวทำให้เขาเป็นเหมือนผู้ปฏิเสธศรัทธาคนนั้น เขาก็จะกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาทันที แต่ถ้าเขาไม่ได้มีความเชื่อเช่นนั้น อุละมาอ์ก็ทัศนะที่ขัดแย้งกัน บางคนกล่าวว่ากลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาด้วย และบางคนกล่าวไม่ แต่เขาต้องถูกลงโทษ” (สุบุลุสสลาม  เล่ม 8 หน้า 248)

          2- คนทั่วไปมักจะเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่แอบแฝงอยู่เบื้องหลังของวันแห่งความรัก ซึ่งความรักที่แท้จริงที่พวกเขาหมายถึงในวันนี้คือวันแห่งการเสียตัวของหญิงสาวให้กับชายหนุ่มที่ตนรัก คือวันแห่งการมีเพศสัมพันธ์ที่ต้องห้ามระหว่างคู่ชายหญิงที่ไม่ได้แต่งงานกันโดยปราศจากขอบเขต การแสดงออกเช่นนี้ไม่เพียงขัดกับจริยธรรมที่ดีทางสังคม แต่ยังสวนทางกับหลักคำสอนและเป็นที่ต้องห้ามในอิสลามอย่างสิ้นเชิง

«وَلاَ تَقْرَبُواْ الزِّنَى إِنَّهُ كَانَ فَاحِشَةً وَسَاء سَبِيلاً»

“และพวกเจ้าจงอย่าเข้าใกล้การผิดประเวณี แท้จริงมันเป็นการลามกและทางอันชั่วช้า”

(อัล-อิสรออ์ : 32)

          ดังนั้น หนุ่มสาวมุสลิมคนใดเฉลิมฉลองวันแห่งความรักเพื่อเป้าหมายด้านตัณหาและมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับผู้ที่ต้องห้าม แท้จริงเขาได้กระทำบาปใหญ่ที่ต้องห้ามของศาสนา

          3- ไม่มีศาสนาใดที่กระตุ้นและส่งเสริมให้ทุกคนมีความรัก ความห่วงใย และความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันเฉกเช่นคำสอนของศาสนาอิสลาม ซึ่งได้สอนสั่งให้ประชาชาติอิสลามแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใยกันตลอดทุกวันเวลา ไม่ใช่เพียงบางวันหรือบางโอกาสเท่านั้น

إِذَا أَحَبَّ الرَّجُلُ أَخَاهُ فَلْيُخْبِرْهُ أَنَّهُ يُحِبُّهُ

“เมื่อชายคนหนึ่งรู้สึกรักใคร่พี่น้องของเขา ก็จงบอกเขาว่าตนรัก”

(อบู ดาวูด : 5124, อัต-ติรมิซีย์ : 2392)

          อนึ่งความรักในที่นี้ คือความรักฉันท์พี่น้องผู้ร่วมศรัทธา มิใช่ความรักแบบรักใคร่ชอบพอกับเพศเดียวกันเช่นพวกเกย์หรือเลสเบี้ยน

لاَ تَدْخُلُوْا الْجَنَّةَ حَتَّى تُؤْمِنُوْا، وَلاَ تُؤْمِنُوْا حَتَّى تَحَابُّوْا، أَوَلاَ أَدُلُّكُمْ عَلَى شَيْءٍ إِذَا فَعَلْتُمُوْهُ تَحَابَبْتُمْ، أَفْشُوْا السَّلاَمَ بَيْنَكُمْ

“พวกเจ้าจะไม่สามารถเข้าสวรรค์จนกว่าพวกเจ้าจะศรัทธามั่น

และพวกเจ้าจะยังไม่ศรัทธาเป็นผู้ศรัทธา (ที่แท้จริง) จนกว่าพวกเจ้าจะรักใคร่ซึ่งกันและกัน

พวกเจ้าจะให้ฉันแนะนำบางอย่างไหม เมื่อพวกเจ้ากระทำมัน พวกเจ้าก็จะรักใคร่กัน

นั่นคือพวกเจ้าจงโปรยสลามในหมู่พวกเจ้า”

(มุสลิม : 54)


          - ทำไมต้องมอบกุหลาบแดงในวันวาเลนไทน์ ? 

          หนุ่มสาวบางคนเข้าใจแต่เพียงว่าดอกกุหลาบสีแดงสดเป็นราชินีแห่งดอกไม้นี้เป็นสื่อที่แสดงถึงความสุข ความมีไมตรีจิต ความน่ารักความสวยงาม และเป็นเสมือนตัวแทนแห่งความรัก แต่เขาหารู้ไม่ว่าดอกกุหลาบแดงสดนั้นที่นำมาเป็นตัวแทนที่สื่อถึงความรักในวันวาเลนไทน์นั้น เกิดจากตำนานความเชื่อของชาวคริสต์ ที่เชื่อกันว่าในสมัยที่พระเยซูถูกตรึงไม้กางเขนอยู่นั้น เลือดได้ไหลหยดลงบนต้นหญ้ามอสส์ และได้บังเกิดเป็นต้นกุหลาบที่มีดอกสีแดงสด จึงมีการเรียกขานกุหลาบชนิดนี้ว่า "กุหลาบมอสส์" อันเป็นตัวแทนแห่งความรักที่มีต่อชาวโลก

          เช่นเดียวกับความเชื่อของชาวกรีกที่เชื่อว่าตั้งแต่สมัยกรีก ตำนานเล่าว่า "คลอรีส" เทพธิดาแห่งดอกไม้ ได้บันดาลให้ร่างของนางไม้กลายเป็นกุหลาบ และยกให้เป็นราชินีของดอกไม้ จากนั้นต่อมาก็มีการมอบดอกกุหลาบแก่ "อีรอส" ลูกชาย ซึ่งเป็นเทพแห่งความรัก ความเชื่อต่างๆเหล่านี้ย่อมขัดต่อหลักการศรัทธาที่บริสุทธิ์ของอิสลาม


- จุดยืนของมุสลิมต่อเทศกาลวาเลนไทน์

          จากที่กล่าวมาข้างต้น ถึงที่มาของเทศกาลวาเลนไทน์ เป้าหมายของการจัดงาน และจุดยืนของอิสลามต่อเทศกาลดังกล่าว เราจึงพอจะสรุปถึงจุดยืนของมุสลิมต่อเทศกาลดังกล่าวดังนี้

          1- ต้องไม่ร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ เพราะเป็นวันสำคัญทางศาสนาของอื่นจากอิสลาม หรือเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในงานเฉลิมฉลองดังกล่าว ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าอิสลามห้ามมีส่วนร่วมในงานเทศกาลทางศาสนาของผู้ปฏิเสธศรัทธา

          อิมาม อัซ-ซะฮะบีย์ กล่าวว่า “ในเมื่อชาวคริสต์มีเทศกาลเฉลิมฉลองเฉพาะสำหรับพวกเขา และชาวยิวก็มีเทศกาลเฉลิมฉลองเฉพาะสำหรับพวกเขา ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้มุสลิมเข้าไปมีส่วนร่วมในงานเฉลิมฉลองดังกล่าว เช่นเดียวกับที่ไม่อนุญาตให้มุสลิมเข้าไปมีส่วนร่วมในหลักการศาสนาของพวกเขา และการอิบาดะฮฺหรือร่วมกิบลัตของพวกเขา”

(ตะชับบุฮฺ อัล-เคาะสีส บิอะฮฺลิ อัล-เคาะมีส ดู นิตยสาร อัล-หิกมะฮฺ 4/193)

          2- ต้องไม่ให้ความช่วยเหลือชนต่างศาสนิกในการจัดงานเฉลิมฉลองทางศาสนาของพวกเขา ไม่ว่าจะด้วยการจัดทำและส่งมอบของขวัญ ช่วยจัดพิมพ์การ์ด หรือค้าขายอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพราะเทศกาลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ทางศาสนาของพวกเขา ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือใดๆ ต่อสิ่งดังกล่าวจึงเท่ากับว่าเป็นการยอมรับและช่วยเหลือในการเผยแพร่สิ่งปฏิเสธศรัทธาเหล่านั้น ในขณะที่อิสลามห้ามมิให้มุสลิมเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการทางศาสนาของชนต่างศาสนิกอย่างเด็ดขาด

          อิบนุ ตัยมิยะฮฺ กล่าวความว่า “ไม่อนุญาตให้มุสลิมเข้าไปมีส่วนพัวพันในทุกรูปแบบที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลต่างๆของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การแต่งกาย การอาบน้ำ การจุดไฟฯลฯ และไม่อนุญาตให้จัดงานเลี้ยง มอบของขวัญ หรือขายสิ่งต่างๆที่เป็นการส่งเสริมและช่วยเหลือเพื่อการดังกล่าว...”

(มัจมูอฺ อัล-ฟะตาวา 25/329)

          อิบนุ อัต-ตุรกุมานีย์ กล่าวว่า “เป็นบาปสำหรับมุสลิมที่จะร่วมสมาคมกับพวกเขา และให้ความช่วยเหลือพวกเขาด้วยการเชือดสัตว์ ต้มอาหาร และให้ยืมยานพาหนะสำหรับขับขี่ไปยังเทศกาลและงานเฉลิมฉลองของพวกเขา”

(อัล-ลุมะอฺ ฟี อัล-หะวาดิษ วะ อัล-บิดะอฺ 2/519-520)

         3- ต้องไม่ให้ความช่วยเหลือต่อชาวมุสลิมที่ร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสดังกล่าว และจำเป็นต้องตักเตือนและห้ามปรามพวกเขา เพราะการร่วมเฉลิมฉลองในงานเทศกาลของชนต่างศาสนิกเป็นสิ่งที่มุงกัรและจำเป็นต้องห้ามปราม

(ดูคำอธิบายของอิบนุ ตัยมิยะฮฺ ในอิกติฎออ์ อัส-ศิรอฏ อัล-มุสตะกีม 2/519-520)

          4- ไม่อนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนของขวัญ และส่งการ์ดแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสเทศกาลวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก เพราะมันไม่ใช่เทศกาลของมุสลิม

          อิบนุล ก็อยยิม กล่าวว่า “การแสดงความยินดีด้วยสัญลักษณ์ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผู้ปฏิเสธศรัทธาเป็นสิ่งที่ต้องห้าม(หะรอม)อย่างเป็นเอกฉันท์ เช่นการแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสเทศกาลสำคัญ และการถือศีลอดของพวกเขา ด้วยการกล่าวว่า “ขอให้มีความสุขกับเทศกาลที่ประเสริฐ หรือขอแสดงความยินดีกับเทศกาลนี้ เป็นต้น ถึงแม้ว่าคำพูดเหล่านี้ไม่ (อันตรายถึงขั้น) กลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา แต่เป็นส่วนหนึ่งของคำพูดที่ต้องห้าม(บาป)... ดังนั้นผู้ใดแสดงความยินดีกับสิ่งที่ฝ่าฝืน หรืออุตริ หรือปฏิเสธศรัทธา ก็เท่ากับว่าเขาได้นำพาตัวเองสู่ความโกรธกริ้วและการประณามของอัลลอฮฺ”

(อะหฺกาม อะฮฺลิ อัซ-ซิมมะฮฺ 1/441-442)

          5- ต้องชี้แจงให้พี่น้องชาวมุสลิมที่หลงผิดให้เข้าใจถึงข้อเท็จจริงของเทศกาลวาเลนไทน์นี้ และความจำเป็นที่มุสลิมต้องมีจุดยืนด้านศาสนาที่แตกต่างจากชนต่างศาสนิก ทั้งในด้านหลักการศรัทธา การแต่งกาย และเอกลักษณ์เฉพาะทางศาสนา ฯลฯ และต้องชี้แจงถึงอันตรายจากการลอกเลียนแบบชนต่างศาสนิกในด้านสัญลักษณ์ทางศาสนาของพวกเขา ทั้งในรูปของการจัดงานเทศกาลต่างๆ หรือรูปแบบของเคารพภักดี และวิถีการดำเนินชีวิต เป็นต้น

 

          หวังว่าที่กล่าวมาข้างต้น คงพอจะปลุกจิตสำนึกให้พี่น้องมุสลิมได้ตระหนักว่า แท้ที่จริงแล้ว เทศกาลวาเลนไทน์นั้นถูกอุบัติขึ้นสำหรับใคร และได้ประจักษ์ถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่แห่งอิสลาม และความจำเป็นที่จะต้องยืนหยัดอยู่บนจุดยืนที่เป็นเอกเทศ มั่นคง และห่างไกลจากอบายมุขและสิ่งยั่วยุต่างๆ ที่ค้านกับหลักคำสอนอันบริสุทธิ์ของอิสลามและสร้างความอ่อนแอต่ออีมานและการภักดีของเราต่ออัลลอฮฺ.

فَسَتَذْكُرُوْنَ مَا أَقُوْلُ لَكُمْ، وَأُفَوِّضُ أَمْرِي إِلَى اللهِ، إِنَّ اللهَ بَصِيْرٌ بِالْعِبَادِ

 

ผู้เขียน : อุษมาน อิดรีส  /  Islam House