แหล่งที่มาของการนิติบัญญัติยุคซอฮาบะฮ์
เมื่อบรมศาสดา จากไปนั้น อัลกุรอานอยู่ในความจำของคนจำนวนมาก และถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่ท่องจำอัลกุรอานบางคนก็สามารถท่องจำได้ทังหมด บางคนท่องจำส่วนหนึ่ง ส่วนที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรก็บันทึกกันบนแผ่นหนังโดยคณะบุคคลซึ่งบรมศาสดาเป็นผู้เลือกมาด้วยตัวท่านเอง ครั้นบรมศาสดา จากไป อบูบักรขึ้นดำรงตำแหน่งคอลีฟะฮ์และเกิดสงครามริดดะฮ์ ผู้ท่องจำอัลกุรอานจำนวนมากเสียชีวิตในสงครามดังกล่าว ซอฮาบะฮ์เกรงว่าการหายไปของคนเหล่านั้น จะทำให้อัลกุรอานหายไปด้วย การดำเนินการพิทักษ์อัลกุรอานขั้นแรกจึงเป็นการรวบรวมแผ่นหนังบันทึกอัลกุรอานจากที่ต่าง ๆ มารวมไว้ที่เดียวกัน โดยเก็บรักษาไว้กับคอลีฟะฮ์ อบูบักร สิ้นอบูบักรก็เก็บไว้กับคอลีฟะฮ์ อุมัร ครั้นสิ้นอุมัรก็เก็บรักษาไว้ที่ท่านหญิงฮัฟซอฮ์ บุตรีของอุมัร
อิหม่ามบุคอรีย์รายงานเรื่องนี้ไว้ในประมวลวจนะของท่านโดยยึดคำบอกเล่าซัยด์ ซาบิต ว่า
เมื่อรายงานเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตในสงครามยะมามะฮ์ถูกส่งถึงอบูบักรนั้น อุมัรได้รับรู้รายงานนั้นด้วย เขาบอกกับคอลีฟะฮ์อบูบักรว่า "สงครามยะมามะฮ์คร่าชีวิตคนไปจำนวนมาก ข้าเกรงว่าหลายครั้งเข้า ผู้ท่องจำอัลกุรอานก็จะล้มหายตายไปหมด อัลกุรอานก็จะหายไปด้วย ข้าเห็นว่าต้องรวบรวมอัลกุรอานไว้ในทีเดียวเท่านั้น"
คอลีฟะฮ์บอกอบูบักรว่า จะให้ข้าทำสิ่งที่บรมศาสดาไม่เคยทำได้อย่างไร ?
แต่อุมัรก็เฝ้ารบเร้าว่า นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดจนในที่สุดอัลลอฮฺ ก็ทรงเปิดใจให้อบูบักรเห็นไปในทำนองเดียวกับอุมัร เขาเรียกซัยด์ มาหาและบอกกับซัยด์ว่า
เจ้าคนหนุ่มที่มีความคิด ไม่มีข้อกล่าวหาใดติดตัว เคยบันทึกโองการแห่งอัลลอฮฺให้แก่บรมศาสดา ข้ายากให้เจ้าติดตามเอาอัลกุรอานทั้งหมดมารวมกันไว้ที่เดียว
ซัยด์ รำพึงว่าให้เขาเคลื่อนย้ายภูเขาสักลูกหนึ่ง ก็ยังไม่หนักเท่ากับท่านทั้งสอง ทำสิ่งที่บรมศาสดา ไม่เคยทำได้อย่างไร? อบูบักร บอกว่า "ยืนยันว่านั่นเป็นสิ่งที่ดี" ซัยด์ไปหาอบูบักรอยู่หลายครั้งจนอัลลอฮฺได้ทรงเปิดใจให้เขาเห็นเช่นเดียวกับที่ผู้อาวุโสทั้งสองเห็น
ซัยด์ จึงเริ่มติดตามรวบรวมอัลกุรอานทั้งที่บันทึกในแผ่นหนัง แผ่นหิน แผ่นไม้ และที่อยู่ในความทรงจำของบุคคล กระทั่งสุดท้ายได้สองอายะฮ์ของซูรอฮ์เตาบะฮ์อยู่ที่คุซัยมะฮ์ อัลอันซอรีย์ ซึ่งไม่มีที่บุคคลอื่น ๆ สองอายะฮ์ดังกล่าวคือ อายะฮ์ที่มีใจความว่า ที่บังเกิดขึ้นในหมู่พวกเจ้าก็คือศาสนทูต ซึ่งก็มาจากพวกเจ้าด้วยกันเอง....
หลังรวบรวมเสร็จสิ้น คัมภีร์ถูกเก็บรักษาไว้ที่อบูบักร เมื่ออบูบักรถึงแก่อสัญกรรมก็อยู่ที่อุมัร เมื่ออุมัรสิ้นไปก็อยู่ในการดูแลของท่านหญิงอัฟซอร์บุตรสาวอุมัร
ทั้งหมดนี้ชี้ว่าเหตุแห่งการรวบรวมอัลกุรอานเป็นเล่มคือความกลัวว่าอัลกุรอานอาจหายไปบางส่วน เนื่องจากผู้ท่องจำหลายคนได้พลีชีพในการสงครามตามแนวทางแห่งอัลลอฮฺ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคราว สงครามยะมามะฮ์ซึ่งเป็นการต่อสู้กับกลุ่มคนซึ่งปฏิเสธการจ่ายซะกาตภายหลังอสัญกรรมของบรมศาสดา ผู้ที่เริ่มคิดและแนะให้ลงมือทำคืออุมัร ส่วนคนที่บัญชาการให้ทำคือ อบูบักร และผู้ปฏิบัติจริงคือ ซัยด์ ซาบิต ผู้ซึ่งเคยทำหน้าที่บันทึกคำวิวรณ์แก่บรมศาสดามาแล้ว
ที่มาของอัลกุรอาน ที่รวบรวมขึ้นเป็นเล่มคือ โองการต่าง ๆ ที่ถูกบันทึกไว้ในบ้านของบรมศาสดาโดยใช้แผ่นหนัง แผ่นไม้ และแผ่นหิน งานที่ซัยด์ได้รับมอบหมายให้ทำคือ รวมโองการต่าง ๆ ของอัลกุรอานซึ่งกระจายกันอยู่มาไว้ในที่เดียวกัน เรียกอัลกุรอานที่รวบรวมไว้นี้ว่า มุซฮัฟ แต่ชื่อนี้ไม่ได้มาเรียกกันภายหลังไม่ได้เรียกกันในสมัยอบูบักรและอุมัรแต่อย่างใด แม้จะมีซอฮาบะฮ์ท่านอื่น ๆ ทำการรวบรวมด้วย เพื่อจุดประสงค์ส่วนตัว เช่น อุบัย ที่อยู่ในซีเรีย อิบนุมัสอูดในภูฟะฮ์ อบูมูซาที่บัสเราะฮ์ และมิกดาดที่ฮิมซ์ แต่ก็ไม่ได้เรียกว่ามุซฮัฟ เช่นกัน
ซอฮาบะฮ์ให้ประชาชาติอิสลามใช้มุซฮัฟเดียว
ในยุคสมัยของคอลีฟะฮ์อุสมาน มีการณ์อันจำเป็นต้องคัดลอกโองการแห่งอัลกุรอานที่อยู่ในแผ่นบันทึกต่าง ๆ ทั้งหมดซึ่งรวบรวมไว้ในสมัยคอลีฟะฮ์อบูบักรมารวมเป็นเล่มเดียว โดยมีบันทึกเล่าเหตุการณ์ของอิหม่ามบุคอรีย์ ดังนี้
ฮุซัยฟะฮ์ได้เข้าไปหาคอลีฟะฮ์อุสมานก่อนที่จะเข้าบ้านตัวเอง เขาเสนอกับคอลีฟะฮ์ให้รีบช่วยอุมมะฮ์ (ประชาชาติ) ก่อนที่อุมมะฮ์จะพังทลาย คอลีฟะฮ์ถามว่า "ช่วยเรื่องอะไร"
ฮุซัยฟะฮ์ตอบว่า "เรื่องคัมภีร์แห่งอัลลอฮ์ ข้าได้รวมคนจากอิรัก ชาม และฮิญาซ และได้เห็นว่าแต่ละคนอ่านคัมภีร์ไม่เหมือนกันเลย ข้าเกรงว่าประชาชาติของเราจะขัดแย้งกันเรื่องคัมภีร์เหมือนที่ยิวและคริสต์เคยขัดแย้งกันเองมาก่อน"
รายงานจากท่านอลี เล่าต่อมาว่า คอลีฟะฮ์อุสมาน จึงสอบถามความคิดเห็นของคนระดับแกนนำทั้งหลายว่าคิดเห็นอย่างไรกับโองการต่าง ๆ ซึ่งถูกบันทึกไว้หลายฉบับ จึงทำให้ผู้คนอ่านไม่เหมือนกัน แต่ละคนก็ยึดถือว่าแนวการอ่านของตนถูกต้องและดีที่สุด ซึ่งเป็นการกระทำที่คล้ายคลึงกับการกุฟร์ (การปฏิเสธอัลลอฮฺ) คนในที่ประชุมก็บอกว่า ให้คอลีฟะฮ์เสนอมาเถิดว่าจะทำอย่างไรคอลีฟะฮ์เสนอว่า ควรให้ประชาชาตินี้อ่านคัมภีร์ในแนวเดียวกัน เพราะหากวันนี้เกิดความขัดแย้งกันเสียแล้ว ต่อไปข้างหน้าคนรุ่นหลังจะยิ่งขัดแย้งกันหนักกว่านี้
ที่ประชุมเห็นด้วยกับคอลีฟะฮ์ ท่านจึงส่งคนไปยังท่านหญิงอัฟซอฮ์ เพื่อขอนำแผ่นบันทึกที่รวบรวมไว้มาคัดลอกใหม่ โดยคณะบุคคลได้แก่ ซัยด์ ซาบิต, อับดุลลอฮ์ อัซซุบัยร์, สะอีด อัลอาซ, อับดุลรอฮ์มาน อัลฮาริส, โดยคอลีฟะฮ์แนะนำว่า หากมีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับการอ่าน ก็ให้ถือสำเนียงภาษาของเผ่ากุไรซ์เป็นเกณฑ์ เพราะอัลกุรอานถูกประทานมาด้วยภาษาของพวกเขา เมื่อเสร็จภารกิจการคัดลอกจากแผ่นบันทึกสู่การเป็นเล่มใหม่แล้ว ท่านคอลีฟะฮ์ก็ได้จัดส่งอัลกุรอานที่เขียนขึ้นใหม่ไปยังทุกเขตแคว้น และบัญชาให้เผาฉบับอื่น ๆ ที่มีการบันทึกไว้ทั้งหมด ให้ยึดถือเฉพาะที่คอลีฟะฮ์จัดส่งให้เล่มเดียวเท่านั้น โดยมติเห็นชอบของทั้งมุฮาญิรีนและอันศอร
บันทึกคำบอกเล่านี้ สรุปได้ว่าเหตุที่ทำให้ต้องคัดลอกอัลกุรอานมาเป็นเล่มเดียวก็คือ ในสงครามอาร์เมเนียนั้น เหล่าทหารมาจากต่างถิ่นต่างแคว้น บ้างก็มาจากชาม จากฮิญาซ และจากอียิปต์ แต่ละคนก็มีแนวทางการอ่านอัลกุรอานของตนเองตามที่ได้ยินจากซอฮาบะฮ์มา ทั้งนี้ครูซอฮาบะฮ์เหล่านั้นต่างกระจัดกระจายแยกย้ายไปอาศัยอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ ซอฮาบะฮ์ก็ฟังอัลกุรอานจากบรมศาสดา ผู้ซึ่งศึกษาทบทวนอัลกุรอานอยู่เสมอกับเทวทูตญิบรีล ผู้คนในแต่ละเมืองต่างก็ยึดมั่นกับสิ่งที่ตัวเองได้ยินได้ฟัง จนมองคนถิ่นอื่นที่อ่านไม่เหมือนกับตนว่าคนเหล่านั้นอ่านผิด กลายเป็นความขัดแย้งในที่สุด
ผู้ที่ได้สัมผัสกับเรื่องนี้โดยตรงและเป็นกังวลว่าจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในหมู่ประชาชาติอิสลามอันเนื่องมาจากการอ่านคัมภีร์ คือ ฮุซัยฟะฮ์ อัลยะมาน เขาแจ้งปัญหาแก่คอลีฟะฮ์อุสมาน ซึ่งคอลีฟะฮ์ก็ได้เรียกประชุมผู้ทรงคุณวุฒิทันที ที่ประชุมมีมติให้บันทึกอัลกุรอานเป็นเล่มเดียวโดยใช้แนวการอ่านแนวเดียว เพื่อขจัดปัญหาข้อขัดแย้ง ให้มีคณะผู้ดำเนินการคือ ซัยด์ ซาบิต และคนจากเผ่ากุไรช์อีกสามคน แหล่งอ้างอิงหลักในการดำเนินงาน คือแผ่นบันทึกอัลกุรอานที่ได้เก็บรวบรวมไว้ตั้งแต่สมัยอบูบักร
หลังจากที่ได้คัดลอกใหม่แล้ว ทางการมะดีนะฮ์จึงจัดส่งเล่มใหม่ไปยังทุกหัวเมือง และให้เผาอัลกุรอานฉบับอื่น ๆ ที่ขัดแย้งกับฉบับทางการเสียทั้งหมด ด้วยการกระทำดังนี้ อัลกุรอานจึงได้รับการพิทักษ์ปกป้องไว้ และยังคงเป็นประทีปส่องทาง เป็นโอสถสำหรับมนุษยชาติต่อไปตราบจนถึงวันสิ้นโลก