การละหมาด
  จำนวนคนเข้าชม  12208

การละหมาด

โดย... อ. ดาวูด รอมาน

 

การพุดคุยกันขณะคุฏบะฮ์วันศุกร์

          ถือว่าการแสดงออกถึงการให้ความสำคัญต่อบทบัญญัติของศาสนา และให้เกียรติต่อมัสยิด คือ การห้ามพูดคุยกันในขณะที่อิหม่ามกำลังคุฏบะฮ์อยู่แม้แต่การห้ามผู้คนที่กำลังพุดคุยกันอยู่โดยใช้คำพุดว่ากล่าวตักเตือน

          จากอบูฮุรอยเราะฮ์ จากท่านนะบี  กล่าวว่า

"เมื่อท่านกล่าวว่า "ท่านจงเงียบ" ขณะที่อิหม่ามกำลังคุฏบะฮ์อยู่ แน่นอนท่านเองก็โมฆะ"

(บันทึกโดย บุคอรีย์ มุสลิม นะวาวีย์ และ อิบนุมาญะฮ์)

          ในฮะดิษได้ชี้ชัดว่าห้ามคำพูดทุกประเภท เพราะหากคนหนึ่งกล่าวแก่เพื่อนเขาว่า "จงนิ่งเงียบ" ซึ่งเป็นคำพูดดี แต่ท่านเราะซูล  กล่าวว่า "เป็นโมฆะ" แล้วคำพูดอื่นๆจากนี้ จึงเป็นที่ต้องห้ามยิ่งกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนการห้ามพูดกันขณะคุฏบะฮ์นั้น กระทำได้โดยใช้สัญญาณแทนการพูด

 

การละทิ้งละหมาดญะมาอะฮ์

         การละหมาดญะมาอะฮ์เป็นหนึ่งในบรรดาเป้าหมายอันสูงสุดของอิสลาม โดยเหตุนี้จึงมีบรรดาฮะดิษมากมายได้กล่าวถึงภาคผลของการละหมาดญะมาอะฮ์ว่า ประเสริฐกว่าการละหมาดคนเดียวถึง 27 เท่า ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้มั่นคงและแน่นแฟ้นในมวลหมู่บรรดามุสลิมที่มาละหมาดร่วมกัน และแยกย้ายกันไปทำมาหากิน มีการช่วยเหลือกันและกัน และปรึกษาหารือกัน

จากอบูฮุรอยเราะฮ์ กล่าวว่า ท่านเราะซูล กล่าวว่า

"แน่แท้ฉันปราถนาที่จะให้มีการละหมาดญะมาอะฮ์ โดยถูกจัดขึ้น ต่อมาฉันจะใช้ให้ชายคนหนึ่งให้นำผู้คนละหมาด

หลังจากนั้นฉันจะพาบรรดาชายหนุ่มออกไปกับฉัน พวกเขามีฟืนเป็นกำๆ โดยไปยังพวกที่ไม่ไปละหมาด และฉันจะเผาบ้านของพวกเขา"

(บันทึกโดย บุคอรีย์ มุสลิม อบูดาวูด อิบนุมาญะฮ์)

อิบนุ อุมมุมักตูม ได้ถามท่านเราะซูล  ว่า

"โอ้ท่านเราะซูล  ฉันเป็นคนตาบอด บ้านอยู่ไกลและคนนำทางฉันไม่เหมาะสม สำหรับฉันมีข้อผ่อนผันหรือไม่ โดยที่ฉันจะละหมาดที่บ้าน

ท่านเราะซูล  กล่าวว่า ท่านได้ยินเสียง อาซาน หรือไม่ ?

เขาตอบว่า ได้ยิน

ท่านเราะซูล กล่าวว่า ฉันไม่พบข้อผ่อนผันสำหรับท่าน"

(บันทึกโดย มุสลิม อบูดาวูด นะซาอีย์ และอิบนุมาญะฮ์)

          ข้อคิดเห็นของบรรดานักวิชาการในการละทิ้งการละหมาดญะมาอะฮ์

กลุ่มที่หนึ่ง

          การละทิ้งละหมาดญะมาอะฮืเป็นที่ต้องห้าม กล่าวคือ การละหมาดเป็นวาญิบ หากละทิ้ง คือการทำสิ่งฮะรอม เป็นความเห็นของ อะตออ์ อิบนุ อบูรอ บาฮ์ เอาซาอีย์, อะห์มัด อิบนุฮัมบัล, อบูเซาร์, อิบนุคุซัยมะฮ์ และดาวูด อัซซอฮิรีย์

กลุ่มที่สอง

          การละหมาดญะมาอะฮ์ ไม่ได้เป็นฟัรฏูอีน(จำเป็น)แก่ทุกคน แต่ว่าเป็นฟัรฏูกิฟายะฮ์ ดังนั้นการละทิ้งละหมาดญะมาอะฮ์ คือการทิ้งสิ่งที่ประเสริฐเท่านั้น เป็นความเห็นส่วนมากของมัซฮับชาฟิอีย์ และ นักวิชาการส่วนมาก โดยให้เหตุผลว่า ฮะดิษที่กล่าวถึงคนไม่ร่วมละหมาดญะมาอะฮ์ในยุคนั้นหมายถึงพวกมุนาฟิก และที่ว่าท่านเราะซูล  จะเผาบ้านพวกเขา แต่ท่านไม่ได้เผา ซึ่งหากว่าเป็นฟัรฏู ท่านเราะซูล  ต้องไม่ปล่อยไว้

          แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความเห็นที่แตกต่างนี้ ก็ไม่ได้ออกจากเรื่องการลงโทษที่รุนแรง นั่นคือ การเผาบ้าน และการละหมาดญะมาอะฮ์นั้นเป็นภาพอันเข้มแข็งของอิสลาม การแตกแยกคือภาพของความอ่อนแอ และการละหมาดญะมาอะฮ์นั้นถือว่า เป็นการช่วยเหลือกันในเรื่องของความยำเกรงต่ออัลลอฮ์  

 

การละหมาดของคนที่หิว และกลั้นปัสสาวะ

         การกลั้นปัสสาวะและอุจจาระ และหิวกระหาย เป็นอาการที่แสดงความทุกข์ ความเจ็บปวดแก่มนุษย์ ซึ่งมีคำสั่งห้ามทำการละหมาดถ้าหากว่าอยู่ในอาการดังกล่าว บรรดานักวิชาการกลุ่มหนึ่งเห็นว่า การละหมาดในขณะที่หิว หรือกลั้นปัสสาวะถือเป็นสิ่งต้องห้าม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งถือว่าเป็นมักรูฮ์ น่ารังเกียจ

          จากท่านหญิงอาอิชะฮ์ กล่าวว่า ฉันได้ยินท่ารเราะซูล  กล่าวว่า

"เขาจะไม่ละหมาด เมื่ออาหารได้จัดวาง และไม่ละหมาดในขณะที่กลั้นปัสสาวะ อุจจาระ"

(บันทึกโดย ตริมีซีย์ นะซาอีย์ อบูดาวูด อิบนุมาญะฮ์)

จากฮะดิษบทนี้ บรรดานักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันดังนี้ คือ

1. ซอฮิรียะฮ์ เห็นว่า ใครที่ละหมาดในสภาพดังกล่าว ละหมาดของเขาใช้ไม่ได้

2. ผู้รู้บางคนในมัซฮับชาฟิอีย์ เห็นว่า ต้องไม่ละหมาดในสภาพดังกล่าว แต่ให้กินอาหารก่อน และไปขับถ่าย ทำความสะอาดก่อนแม้ว่าจะหมดเวลาก็ตาม

3. อิหม่ามนะวาวีย์ กล่าวว่า หากว่าใครละหมาดในสภาพดังกล่าวทั้งๆที่เวลาละหมาดยังมีอีกมาก เขาได้ทำในสิ่งที่น่าเกลียด การละหมาดของเขาถือว่าใช้ได้ และเป็นความเห็นของนักวิชาการส่วนมาก และที่ว่าการละหมาดนั้นใช้ได้ หมายถึง เขาได้ทำสิ่งที่เป็นฟัรฏู แต่แน่นอนว่าความมีสมาธิย่อมบกพร่องไป

 

การปัสสาวะไม่สุด

          คำสอนของอิสลามอีกข้อหนึ่ง คือ การทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้าและสถานที่ โดยเฉพาะเมื่อจะเข้าสู่การละหมาด กล่าวคือการทำความสะอาดร่างกายให้ปราศจากฮะดัษใหญ่ และฮะดัษเล็ก ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการละหมาด หากละหมาดทั้งๆที่มีฮะดัษใหญ่ หรือฮะดัษเล็ก การละหมาดถือว่าใช้ไม่ได้ ดังนั้นการละเลยที่จะปัสสาวะให้สุดจึงเป็นที่ต้องห้าม เพราะว่ามันเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะถูกลงโทษในหลุมฝังศพ

จากอิบนุ อับบาส กล่าวว่า ท่านนะบี  ได้ผ่านไปที่สองหลุมศพ แล้วท่านได้กล่าวว่า

"แท้จริง เขาทั้งสองแน่นอนว่ากำลังถูกลงโทษอยู่ และเขาทั้งสองไม่ได้ถูกลงโทษในเรื่องใหญ่

หนึ่งจากเขาทั้งสอง ไม่ทำให้เสร็จจากการปัสสาวะของเขา ส่วนอีกคนหนึ่ง เขาชอบนินทา"

(บันทึกโดย บุคอรีย์ และมุสลิม)

          การอิสติบรออ์ คือการทำให้ปัสสาวะที่อยู่ในท่อปัสสาวะออกมาให้หมด โดยใช้มือซ้าย ซึ่งมีความแตกต่างตามความต่างของแต่ละคน เป้าหมายคือ มั่นใจว่าไม่มีปัสสาวะค้างอยู่ในลำกล้อง ซึ่งบางคนก็เพียงรูดเบาๆ บางคนก็หลายครั้ง แต่ไม่ถึงขนาดแหวกเอาผ้าเช็ด หรืออยู่ในห้องส้วมเป็นเวลานาน

          นักวิชาการส่วนมากเห็นว่า การอิสติบรออ์ เป็นวาญิบ โดยอาศัยฮะดิษที่ผ่านมา และนักวิชาการบางท่านเห็นว่า การอิสติบรออ์ เป็นซุนนะฮ์ โดยอาศัยฮะดิษที่ว่า

"พวกท่านจงทำความสะอาดจากปัสสาวะ แท้จริงส่วนมากของการลงโทษในกุโบรมาจากมัน"

          การปัสสาวะสุด มันจะไม่ย้อนกลับเข้ามา โดยที่เขามั่นใจว่าตามปกติแล้ว หากปัสสาวะไม่สุดมันจะมีไหลออกมาอีก

 

การละหมาดในกุโบร และในห้องน้ำ

          ความสะอาดเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลทำให้การละหมาดใช้ได้ กล่าวคือ ร่างกายต้องสะอาด สถานที่ เสื้อผ้า และหัวใจต้องสะอาดขณะละหมาดเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงห้ามละหมาดในสถานที่ที่เป็นแหล่งสกปรก

จากอบูสะอีด แท้จริงท่านนะบี  กล่าวว่า

"แผ่นดินทั้งหมดเป็นมัสยิด ยกเว้นห้องน้ำและสุสานฝังศพ "

(บันทึกโดย ตริมีซีย์ อบูดาวูด อิบนุมาญะฮ์)

         ท่านอิหม่ามคอฏฏอบีย์ กล่าวว่า อิหม่ามชาฟิอีย์กล่าวว่า

        "หากว่าสุสานฝังศพมีดินที่ปะปนกับเนื้อหนังของคนตาย และน้ำหนอง น้ำเหลือง ก็ไม่อนุญาตให้ละหมาดในนั้น เพราะมีนะยิส(สิ่งสกปรก) และหากว่าละหมาดในจุดที่สะอาดก็ถือว่าใช้ได้ และห้องน้ำก็เหมือนกัน หากละหมาดในส่วนที่สะอาด ก็ไม่ต้องกลับมาละหมาดใหม่"

อิหม่ามมาลิก กล่าวว่า "ไม่เป็นไรถ้าละหมาดในกุโบร"

อบูเซาร์ กล่าวว่า "ต้องไม่ละหมาดในห้องน้ำและในกุโบร"

อิหม่ามอะห์มัด และอิสหาก ว่า "เป็นมักโรห์ที่จะละหมาดในห้องน้ำและในกุโบร"

กลุ่มที่ห้ามละหมาดในกุโบรอาศัยหลักฐานที่ว่า

"พวกท่านจงละหมาดที่บ้านของพวกท่าน และอย่าทำให้บ้านเป็นกุโบร"

         

 ฮะดิษนี้ชี้ว่า กุโบรไม่ใช่สถานที่สำหรับละหมาด คือ กุโบรเป็นแหล่งนะยิส และมีคนตายถูกฝังอยู่ ส่วนห้องน้ำเป็นแหล่งรวมของนะยิส