การละหมาด และ มัสยิด
โดย อ.ดาวูด รอมาน
1. การยึดเอากุโบรมาทำเป็นมัสยิด
จากอิบนุอับบาส ในคำกล่าวของอัลลอฮ์ ที่ว่า
"และพวกเขาได้กล่าวว่า พวกท่านอย่าได้ทอดทิ้งบรรดาพระเจ้าของพวกท่านเป็นอันขาด พวกท่านอย่าได้ทอดทิ้ง วัดด์ และสุวาอ์ และยะฆูษ และยะอูก และนัสร์ เป็นอันขาด" (นูห์/23)
อิบนุอับบาสอธิบายว่า "เหล่านี้เป็นชื่อของคนดีจากหมู่ชนนูห์ แต่เมื่อพวกเขาตายไป มารร้ายได้มายุแหย่แก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า จงสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นในที่พวกเขาเคยพำนักอยู่ และจงตั้งชื่อตามชื่อของพวกเขา โดยที่ยังไม่ถูกกราบไหว้ในตอนแรก จนกระทั่งคนเหล่านี้ตายจากไป ความรู้จึงถูกลืมเลือน เหล่านี้จึงถูกกราบไหว้" (บันทึกโดย บุคอรีย์)
ได้ชี้ให้เห็นว่าศาสนาอิสลามห้ามการหลงใหล คลั่งไคล้ ในตัวของมนุษย์จนเลยเถิด เพราะมันเป็นเหตุที่จะนำไปสู่การเคารพบูชาคนดีๆเหล่านั้น โดยการสร้างสิ่งปลูกสร้างเป็นมัสยิด อาคาร ฯลฯ แล้วผู้คนก็ไปทำการละหมาด ไปทำพิธีกรรม เหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามทั้งสิ้น
ท่านเราะซูล กล่าวว่า
"และแท้จริง บุคคลที่มีชีวิตอยู่ก่อนหน้าพวกท่านนั้น พวกเขาได้ยึดเอากุโบรของบรรดานะบีมาทำเป็นมัสยิด แท้จริงฉันห้ามพวกท่านในเรื่องนี้"(บันทึกโดย มุสลิม)
จึงเป็นที่ชัดเจนว่า อิสลามห้ามยึดเอากุโบรมาทำเป็นมัสยิด ใครที่ฝังคนตายในมัสยิด จำเป็นต้องเอาออกจากมัสยิด และมัสยิดใดที่สร้างบนกุโบร จำเป็นต้องรื้อออก ทั้งนี้เพราะความห่วงใยของนะบี ที่ต้องการให้ประชาชาติของท่านห่างไกลจากสื่อต่างๆ ที่เป็นชิริก หรือจะนำไปสู่การทำชิริก
2. เมื่อรับประทานสิ่งที่มีกลิ่นเหม็นห้ามเข้ามัสยิด
การละหมาดเป็นการทำอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ จำเป็นต้องมีการให้เกียรติอย่างมาในด้านจิตวิญญาณ ร่างกายและสติปัญญา ทั้งนี้เพื่อการบรรลุสู่เป้าหมายอันสูงส่ง ดังนั้นบัญญัติศาสนาจึงได้ส่งเสริมให้มุสลิมมีการเตรียมพร้อม เพื่อเป้าหมายอันสะอาดบริสุทธิ์ โดยการห้ามเอากุโบรเป็นมัสยิด และห้ามละหมาดที่กุโบร เพื่่อหัวใจของผู้ลหมาดจะได้จดจ่ออยู่กับอัลลอฮ์ องค์เดียวเท่านั้น
และได้ห้ามเข้ามัสยิดสำหรับคนที่รับประทานสิ่งที่มีกลิ่นเหม็น เพราะกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์จะไปรบกวนผู้ที่มาร่วมทำอิบาดะฮ์ ด้วยเหตุนี้ท่านเราะซูล จึงได้เป็นต้นแบบในการทำความสะอาด และมีการปะพรมน้ำหอม โดยทำตามคำสั่งของอัลลอฮ์ ที่ว่า
"จงเอาเครื่องประดับกายของพวกเจ้า ณ ทุกมัสยิด (การสวมใส่เครื่องนุ่งห่มให้เรียบร้อย ขณะไปมัสยิด)" (อัลอะอ์รอฟ/31)
และยังมีคำสั่งห้ามเข้ามัสยิดสำหรับผู้รับประทานหัวหอม กระเทียม และสิ่งที่มีกลิ่นฉุน
จากญาบิร บินอับดุลอฮ์ กล่าวว่า ท่านเราะซูล กล่าวว่า
"ผู้ใดรับประทานกระเทียม หรือหัวหอม และสิ่งที่มีกลิ่นแรง ห้ามเข้ามัสยิด จนกว่าเขาจะได้ขจัดออกโดยการแปรงฟัน การบ้วนปากเสียก่อน"
3. การถ่มน้ำลาย ,เสมหะลงในมัสยิด
อิสลามได้กำหนดกฏเกณฑ์และข้อห้ามต่างๆ แก่มัสยิดตลอดจนความสะอาด ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความมักง่ายของผู้คน ที่มักจะทำขึ้นตามสถานที่ต่างๆ โดยไม่สนใจว่าใครจะเดือดร้อน เช่นการถ่มน้ำลาย , การบ้วนเสมหะ , การสั่งน้ำมูกลงบนพื้น ดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ต้องห้ามอย่างยิ่ง
จากอนัส กล่าวว่า แท้จริงท่านเราะซูล กล่าวว่า
"แท้จริงการถ่มน้ำลายในมัสยิดเป็นความผิด และการถ่ายถอนความผิดของมันคือการฝังมัน"
(บันทึกโดย บุคอรีย์ มุสลิม อบูดาวูด ตริมีซีย์ และนาซาอีย์)
อิหม่ามนะวาวีย์ กล่าวว่า การถ่มน้ำลายในมัสยิด ถือเป็นความผิดทุกกรณี จะมีความต้องการหรือไม่ก็ตาม แต่ทว่าให้ถ่มน้ำลายลงในผ้าของเขาเอง และหากเกิดการถ่มน้ำลายลงในมัสยิด ก็ถือว่าเขาได้ทำผิด ซึ่งจะลบล้างมันด้วยการฝังกลบมัน และเมื่อต้องการถ่มน้ำลายหรือเสมหะในขณะที่กำลังละหมาดอยู่ ก็ให้ถ่มไปทางด้านซ้าย หรือไม่ก็ใต้ฝ่าเท้า หรือไม่ก็ชายเสื้อผ้าแล้วก็ขยี้
จากอนัส กล่าวว่า แท้จริงท่านเราะซูล ได้เห็นเสมหะติดอยู่ที่ทิศกิบลัตฮ์ ท่านเกิดความไม่สบายใจ จนเห็นได้จากสีหน้าของท่าน ท่านจึงลุกขึ้นยืนแล้วใช้มือขยี้มัน แล้วกล่าวว่า
"แท้จริงคนหนึ่งคนใดในพวกท่านเมื่อยืนละหมาดอยู่ มันเป็นการขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮ์ นั่นคือพระเจ้าของเขาอยู่ต่อหน้าเขาในทิศกิบละฮ์ คนหนึ่งในพวกท่านอย่าได้ถ่มน้ำลายไปทางทิศกิบละฮ์เป็นอันขาด แต่ว่าให้ถ่มไปทางซ้ายหรือไม่ก็ใต้ฝ่าเท้าของเขา" ต่อมาท่านนะบี ก็จับชายเสื้อคลุมขึ้นมาแล้วถ่มน้ำลายลงไปแล้วขยี้มัน แล้วกล่าวว่า "หรือให้เขาทำเช่นนี้" (บันทึกโดย บุคอรีย์)
4. การค้นหาของหายในมัสยิด
มัสยิดถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่สำหรับการทำอิบาดะฮ์ การทำละหมาด และการซิกรุลลอฮ์ เท่านั้น แต่ผู้คนกลับใช้เป็นที่ค้นหา , ประกาศของหาย ทั้งที่เป็นทรัพย์สินตลอดจนสัตว์เลี้ยง , ใช้เป็นที่ตั้งวงสนทนา และใช้เป็นที่ทำการค้าขาย ฯลฯ
ดังนั้นเพื่อป้องกันมัสยิดให้พ้นจากทุกสิ่งที่มิใช่เป้าหมายของการสร้างมัสยิด และเพื่อขจัดความวุ่นวายต่างๆ ที่จะมารบกวนผู้ละหมาด ผู้ทำซิเกร ผู้ทำอิบาดะฮ์ ศาสนาจึงได้ห้ามประกาศค้นหาของหายในมัสยิด
จากอบูฮุรอยเราะฮ์ กล่าวว่า ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า
"ผู้ใดที่ได้ยินชายคนหนึ่งค้นหาของหายในมัสยิด เขาจงกล่าวเถิดว่า อัลลอฮ์จะไม่คืนของที่หายให้แก่ท่านหรอก แท้จริง มัสยิดมิได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการนี้" (บันทึกโดย มุสลิม อบูดาวูด อิบนุมาญะฮ์)
เพราะฉะนั้น การสาปแช่งคนที่ค้นหาของหายในมัสยิดว่า "เขาจะไม่ได้ของที่หายกลับคืนมา ถือว่าเป็นการลงโทษเขาที่กระทำสิ่งที่ผิดในมัสยิด"
- อิหม่ามนะวะวีย์ กล่าวว่า ยังรวมถึงการซื้อขาย การเช่ายืม และอื่นๆในทำนองนี้
- อิหม่ามมาลิกและผู้รู้กลุ่มหนึ่งกล่าวว่า การใช้เสียงดังในมัสยิดเป็นที่น่าเกลียด
- มัซฮับชาฟิอี กลุ่มหนึ่งกล่าวว่า เรื่องที่ห้ามทำในมัสยิด คือเป็นเรื่องที่ให้ประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้น ห้ามค้าขาย ส่วนเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่คนส่วนรวมด้านศาสนา เช่นการซ่อมแซม การสอนเด็กๆในเรื่องศาสนา เป็นที่อนุญาต
5. การทิ้งละหมาดวันศุกร์
บางคนได้เพิกเฉย และละเลยต่อการละหมาดวันศุกร์ โดยเข้าใจว่าทำละหมาดดุฮ์ริ ทดแทนได้ ทั้งๆที่ท่านเราะซูล ได้คาดโทษอย่างรุนแรงสำหรับผู้ที่ทิ้งละหมาดวันศุกร์โดยไม่มีอุปสรรค
จากอบูฮุรอยเราะฮ์ กล่าวว่า ท่านเราะซูล กล่าวว่า
"แน่นอนว่า คนกลุ่มหนึ่ง(ที่ทิ้งละหมาดวันศุกร์) จะต้องละเลิกจากการทิ้งละหมาดวันศุกร์ หรือไม่อย่างนั้น อัลลอฮ์จะทรงประทับตราบนหัวใจของพวกเขา" (บันทึกโดย มุสลิม)
และอีกบทหนึ่งที่ท่านเราะซูล กล่าวว่า
"ผู้ใดที่ทิ้งละหมาดวันศุกร์ 3 ศุกร์ โดยการเพิกเฉย อัลลอฮ์ ได้ประทับตราลงบนหัวใจของเขา" (บันทึกโดย ตริมีซีย์ นะซาอีย์ และ อิบนุมาญะฮ์)
ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ทิ้งการละหมาดวันศุกร์ คือ ต้องขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ โดยที่ต้องละหมาดวันศุกร์ และต้องไม่ละทิ้งอีกต่อไป
Next part 2 >>>> Click