อุทาหรณ์จากชาวสวน
  จำนวนคนเข้าชม  17221

อุทาหรณ์จากชาวสวน

โดย : อบูอนัส

 

          แท้จริงเรา(อัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ได้ทดสอบพวกเขา (กุฟฟารมักกะห์)  ดั่งเช่นที่เราได้ทดสอบบรรดาเจ้าของสวน เมื่อพวกเขาสาบานว่าจะเก็บเกี่ยวผลของมันตั้งแต่เช้าตรู่
          และพวกเขามิได้กล่าวคำว่า “อินชาอัลลอฮฺ” 
          ดังนั้น การลงโทษจากพระเจ้าของเจ้าก็ได้มาทำลายสวนนั้น ขณะที่พวกเขากำลังนอนหลับอยู่
          ครั้นในตอนเช้า มัน(สวน) ก็กลายเป็นเช่นถูกตัดอย่างราบเรียบ
          ดังนั้นพวกเขาจึงกู่ตะโกนให้ตื่นแต่เช้าตรู่ว่า  :
          จงเข้าไปในสวนของพวกท่านในตอนเช้าตรู่เถิด หากพวกท่านต้องการจะเก็บผลไม้ 
          แล้วพวกเขาพากันออกไป แล้วพวกเขาพูดกระซิบซึ่งกันและกันอย่างเบาๆว่า :  
          วันนี้อย่าได้ให้คนยากจนขัดสนสักคนหนึ่ง เข้าไปหาพวกท่านในสวนนั้น 
          และพวกเขาก็ได้ออกไปแต่เช้า ตั้งใจว่าจะเก็บผลไม้ให้หมดก่อนที่ยากจนจะเข้าไปในสวน   
          ครั้นเมื่อพวกเขาเห็นสวน (อยู่ในสภาพที่ถูกทำลาย) พวกเขาก็กล่าวขึ้นว่า : แท้จริงพวกเราหลงทางเสียแล้ว 
         (บางคนกล่าวว่า) เปล่าดอก พวกเราถูกหวงห้ามสิทธิ์เสียแล้ว 
          คนที่มีสติปัญญาคนหนึ่งในหมู่พวกเขากล่าวว่า ฉันมิได้บอกพวกท่านดอกหรือว่า : ทำไม่พวกท่านจึงไม่กล่าวสดุดีแด่อัลลอฮฺ และไม่กลับเนื้อกลับตัวจากความนึกคิดที่เป็นผลร้ายแก่พวกท่าน
          พวกเขาจึงกล่าวว่า : มหาบริสุทธิ์แห่งพระเจ้าของเรา แท้จริงเรานั้นเป็นผู้อธรรม (เนื่องจากเราไม่ต้องการให้ผู้ขัดสนคนใดได้รับส่วนใดจากพืชผลไม้ในสวนของพวกเขา)
          แล้วบางคนในหมู่พวกเขาก็หันไปต่อว่าซึ่งกันแล้วกัน 
           พวกเขากล่าวว่า : ความหายนะประสบแก่เราแล้วเพราะเราเป็นผู้ละเมิดฝ่าฝืน 
          บางทีพระเจ้าของเรา จะทรงเปลี่ยนแปลงให้ได้รับสวนที่ดีกว่าสวนที่พินาศไป อันเนื่องจากพวกเราสำนึกผิด และกลับเนื้อกลับตัว และมีความปราถนาแรงกล้าที่จะได้รับการอภัยโทษจากพระองค์ 
          เช่นนั้นแหละการลงโทษโลกดุนยา และการลงโทษในโลกอาคิเราะห์นั้นยิ่งใหญ่กว่าอย่างแน่นอน หากว่าพวกเขา(พวกถูกลงโทษ)รู้

ซูเราะห์ อัลกอลัม 68 : 17-33

 

     

   เรื่อง ราวเกี่ยวกับซูเราะห์อัลกอลัม

          ในซูเราะห์นี้(อัลกอลัม) ซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “นูน” เป็นดำรัสของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ทรงกล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าของสวน บรรดานักอธิบายอัลกุรอานมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ซูเราะห์อัลกอลัมนี้ มีด้วยกันทั้งหมด 52 อายะห์ และเช่นเดียวกัน ท่านเหล่านั้นก็เห็นพ้องต้องกันว่า อายะห์ที่ 1 ถึงอายะห์ที่ 16 ถูกประทานลงมาที่นครมักกะห์

           ส่วนอายะห์อื่นๆในซูเราะห์นี้ นักปราชญ์มีความเห็นแตกต่างกันดังต่อไปนี้ ;

ทัศนะที่หนึ่ง :

          ซูเราะห์นี้ทั้งหมดถูกประทานลงมาที่นครมักกะห์ ผู้ที่มีทัศนะดังกล่าวคือ ท่านญาบิร บิน อับดิลลาห์ รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา (รุ่นซอฮาบะห์) ท่านอัลฮาซัน อัลบัสรีย์ ท่านอิกริมะห์ อัลมะกานี และท่านอะฏออฺ อิบนิ อาบีรอบาฮ์ (ทั้งหมดนี้เป็นรุ่นตาบีอีน)

          และมีรายงานจากท่านอิบนิอับบาส รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา กว่าวว่า :

            “ซูเราะห์นูน ถูกประทานลงมาที่นครมักกะห์”

ทัศนะที่สอง :

          ซูเราะห์นี้ตั้งแต่อายะห์แรกจนกระทั่งอายะห์ที่ 16 ถูกประทานลงมา ณ นครมักกะห์ ส่วนอายะห์ที่ 17 ถึงอายะห์ที่ 50 ถูกประทานลงมาที่นครมะดีนะห์ ทัศนะนี้อาศัยรายงานจากท่านอิบนิอับบาส รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา

ทัศนะที่สาม :

          ทัศนะนี้เป็นความเห็นของนักอธิบายอัลกุรอานบางท่านที่กล่าวว่า : อายะห์ที่ 17 ถึงอายะห์ที่ 33 และอายะห์ ที่ 48 ถึงอายะห์ที่ 50 ถูกประทานลงมา ณ นครมะดีนะห์ ส่วนอายะห์อื่นๆถูกประทานลงมาที่นครมักกะห์

         อย่างไรก็ตามมีนักปราชญ์หลายท่านด้วยกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันกล่าวยืนยันว่า : ซูเราะห์นี้(อัลกอลัม) ทั้งหมดถูกประทานลงมา ณ นครมักกะห์

 

ซูเราะห์อัลกอลัมถูกประทานลงมาเมื่อใด ?

          มีรายงานจากท่านอิบนิอับบาส รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา ระบุว่า : ซูเราะห์อัลอะลักเป็นซูเราะห์แรกที่ถูกประทานลงมา ณ นครมักกะห์ จากนั้นก็เป็นเป็นซูเราะห์นูน ซูเราะห์อัลมุซซัมมิล และซูเราะห์อัลมุดดัรซิร

          ส่วนซัยยิดกุฏบฺ รอฮิมะฮุลลอฮ์ มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า : ซูเราะห์นูนหรืออัลกอลัมนั้น ไม่ได้เป็นซูเราะห์ลำดับที่ 2 ที่ถูกประทานลงมา ณ นครมักกะห์ และท่านก็นำรายละเอียดอื่นๆมาสนับสนุนทัศนะของท่าน อย่างไรก็ตามท่านก็ยอมรับว่า ซูเราะห์นูน ซูเราะห์อัลมุซซัมมิล และซูเราะห์อัลมุดดัรซิร เป็นสามซูเราะห์แรกที่ถูกประทานลงมา ณ นครมักกะห์ในช่วงแรกแห่งการเชิญชวนสู่อิสลาม ดังรายละเอียดที่ปรากฏในหนังสือของท่านที่ชื่อว่า : “ฟีซิลาลิลกุรอาน” ซึ่งเป็นหนังสืออธิบายความหมายอัลกุรอาน

 

เรื่องราวเกี่ยวกับชาวสวน

          แม้นว่าสภาพของชาวอาหรับก่อนอิสลามจะอยู่ในฐานะที่ยากจน อาศัยอยู่ในดินแดนที่กันดาร ไร้ซึ่งพืชผลใดๆ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก แต่สำหรับชาวมักกะห์โดยทั่วไปแล้ว พวกเขามีความสุขสบายและมีฐานะอันมั่นคง ไม่ด้อยไปกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดนอื่นๆที่มีความอุดมสมบูรณ์

          บุคคลที่ได้รับความโปรดปราน(เนี๊ยะมัต) เช่นนี้สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของผู้ทรงประทานให้ (อัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) และต้องเป็นผู้กตัญญูรู้คุณต่อท่านผู้นั้น แต่เมื่ออัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้แต่งตั้งท่านนบีมุฮัมหมัด เพื่อทำหน้าที่เชิญชวนสู่อิสลาม ซึ่งสถานที่แห่งแรกที่ท่านนบื ทำหน้าที่ดังกล่าวคือ นครมักกะห์ และชาวมักกะห์แทนที่จะตอบสนองคำเรียกร้องของท่าน ซึ่งถือเป็นการตอบสนองดำรัสของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในฐานะที่พระองค์เป็นผู้สร้าง และเป็นผู้ทรงมอบปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา พวกเขา(ชาวมักกะห์)กลับปฏิเสธ เนรคุณในความโปรดปราน(เนียะมัต) ของพระองค์ และเมื่อพวกเขาปฏิบัติตนเช่นนั้น อัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จึงทรงประสงค์ให้พวกเขาได้พิจารณาต่อบรรดาความกรุณาทั้งหลายที่พระองค์ประทานให้พวกเขา การที่พวกเขาปฏิบัติต่อผู้ประกาศศาสนาของพระองค์เช่นนี้ เท่ากับเป็นการประกาศการเนรคุณ และปฏิบัติตรงกันข้ามกับสิ่งที่จำเป็นจะต้องปฏิบัติ

          เมื่อเป็นเช่นนี้ อัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จึงยกอุทาหรณ์เรื่องราวของชาวสวนให้พวกเขาพินิจพิจารณา เพื่อให้รู้ว่าผู้ที่ละเมิดและเนรคุณความโปรดปรานของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ผลตอบแทนที่เหมาะสมสำหรับพวกเขาก็คือ การลงโทษจากอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เท่านั้น และความโปรดปรานที่พวกเขาจะได้รับจากอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นั้น จะต้องประสบกับความพินาศอย่างแน่นอน

ดังเรื่องราวของชาวสวนที่พระองค์ทรงกล่าวถึงในซูเราะห์อัลกอลัมดังนี้ ;

          “ในสมัยก่อนมีคนดี(ซอและห์) คนหนึ่ง เป็นเจ้าของสวนที่อุดมสมบูรณ์มีผลไม้มากมายเกือบทุกชนิดที่เป็นที่นิยมในยุคนั้น และพืชผลของสวนนั้นก็มีมากจนล้นเหลือในทุกๆฤดู แต่เนื่องจากผู้ที่เป็นเจ้าของสวนผู้นี้เป็นคนซอและห์ รู้บุญคุณของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในฐานะที่พระองค์เป็นผู้ทรงให้ ชายซอและห์คนนี้จึงกตัญญูต่ออัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเสมอ และการกตัญญูต่อพระองค์นั้นทำให้ตัวเขามีความรักใคร่ต่อผู้ที่ขัดสนและยากจน ไม่เคยละเลยที่จะบริจาคส่วนหนึ่งของผลผลิตในสวนของเขาให้แก่ผู้ที่อนาถาและขัดสน ยิ่งไปกว่านั้น เขายังประกาศให้บรรดาผู้ที่ขัดสนและยากจนเหล่าจนได้ทราบถึงวันที่เขาจะเก็บพืชผลในสวนของเขา ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นได้มารับส่วนแบ่งที่เป็นทาน(ซอดะเกาะห์) ก่อนที่ผู้เป็นเจ้าของสวนจะเอาพืชผลกลับไปยังบ้านของเขา

          ครั้นเมื่อผู้ที่เป็นเจ้าของสวนสิ้นชีวิต และสวนนั้นกลายเป็นมรดกของลูกๆ บรรดาลูกๆแทนที่จะปฏิบัติตามแนวทางของบิดาของพวกเขาที่เคยปฏิบัติไว้ กลับปฏิบัติตรงกันข้าม อันเป็นการปฏิบัติที่ถือว่าเป็นการยุแหย่และกระซิบกระซาบของชัยฏอน

          มีอยู่วันหนึ่ง บรรดาลูกๆได้ตกลงกันว่าจะออกไปเก็บพืชผลในสวนอย่างลับๆ ในตอนเช้าตรู่ และสาบานซึ่งกันและกันว่า จะไม่ให้ผู้อนาถา หรือผู้ขัดสนได้รับส่วนหนึ่งส่วนใดจากพืชผลในสวนของพวกเขาในครั้งนี้

          พวกเขาไม่รำลึกถึงความโปรดปรานของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในปัจจัยยังชีพ(ริสกีย์) ที่พระองค์ทรงประทานให้แก่พวกเขา โดยการกล่าวว่า : เราจะปฏิบัติสิ่งที่พวกเราตกลงกันไว้หากแต่อัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประสงค์ พวกเขาไม่ได้กล่าวเช่นนั้น  หากแต่สาบานว่าจะเก็บเกี่ยวผลของมันแต่เช้าตรู่ แสดงถึงจิตใจที่แข็งกระด้างเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว

           และในช่วงที่พวกเขานอนหลับสนิท อัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงสั่งไพร่พลของพระองค์ และนี่ไม่ใช่อื่นใด นอกจากเป็นข้อตักเตือนแก่มนุษย์ ซึ่งไพร่พลของพระองค์ในครั้งนั้น ไม่มีผู้ใดรู้จำนวนหรือประเภทของไร่พลของพระองค์ นอกจากพระองค์เอง สำหรับไพร่พลของพระองค์ของพระองค์ในที่นี้ก็คือไฟ เป็นไฟแห่งการลงโทษของพระองค์ และได้ลุกลามเผาผลาญสวนทั้งหมด ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ไม่ว่าจะเป็นพืชผลที่แห้งหรือสดก็ตาม เพียงชั่วพริบตาเดียว สวนทั้งหมดก็กลายเป็นภาพวาดที่ดำทมึน ไม่เหลือร่องรอยใดๆ แม้เพียงเป็นจุดเล็กๆให้ผู้ที่มองเห็นได้วาดภาพว่าเคยมีสวนที่อุดมสมบูรณ์ เขียวชอุ่ม และมีชิวิตชีวา ณ สถานที่แห่งนั้นมาก่อน

          หลังแสงอรุณของวันใหม่มาถึง บรรดาลูกๆของคนซอและห์ที่มีหัวใจชั่วก็ลุกขึ้น และได้เรียกซึ่งกันและกันให้เตรียมพร้อมเพื่อไปเก็บผลไม้ในสวน พวกเขาคิดว่าบรรดาผู้ที่ยากจนขัดสนคงจะไม่รู้เรื่อง บางคนในหมู่พวกเขากล่าวกับอีกบางคนในสภาพที่มีความปิติยินดีด้วยเสียงกระซิบว่า : วันนี้จะไม่มีผู้ขัดสนใดๆจะมาขอส่วนแบ่งใดๆจากสิ่งที่เราจะเก็บเกี่ยว และสิ่งที่เราจะเก็บจากสวนในวันนี้ก็จะเป็นของเราทั้งหมด

          ครั้นเมื่อพวกเขามาถึงสวน สิ่งที่พวกเขามองเห็นกลับเป็นร่องรอยของไฟไหม้สวน ทำให้พวกเขามีสภาพไม่ต่างกันกับผู้ขาดสัมผัสทั้งห้า กล่าวคือ มองไม่เห็น ไม่รู้อะไรเป็นอะไร และคิดว่าพวกเขาคงจะหลงทางเสียแล้ว และไฟคงจะไหม้โดนสวนของคนอื่นซึ่งไม่ใช่สวนของพวกเขา

          แต่ทว่ายังมีบุคคลหนึ่งในหมู่พวกเขาซึ่งเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะมีใจเป็นธรรม และมีความคิดที่รอบคอบทราบทันทีว่า นี่คือประกาศิตแห่งการลงโทษของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และความกริ้วโกรธของพระองค์ที่มีต่อการกระทำของพวกเขา เขาผู้นี้คือจึงกล่าวกับพวกของเขาว่า : ฉันไม่เคยตักเตือนพวกเจ้าในการให้สิทธิ์แก่ผู้ที่ขัดสนและยากจนในสวนของพวกเจ้ากระนั้นหรือ? พวกเจ้าไม่รู้สำนึกเลยหรือว่า อัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นผู้ทรงให้ความโปรดปรานแก่พวกท่าน พระองค์ทรงสามารถที่จะเอาความโปรดปรานนี้กลับคืนจากพวกเจ้า หากพระองค์ทรงประสงค์ พวกเจาจงขอลุกโทษต่ออัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ด้วยการสำนึกผิด และกลับเนื้อกลับตัวอย่างจริงจังเถิด

          พวกเขาจึงรู้สึกตัวสำนึกผิดในความผิดอันมหันต์ที่พวกเขาประกอบไว้ และยอมรับว่าพวกเขาเป็นผู้อธรรม บางคนในหมู่พวกเขาก็หันไปต่อว่าซึ่งกันและกัน พวกเขาวิงวอนต่ออัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ดีกว่าสวนที่พินาศไปให้แก่พวกเขา และตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะปฏิบัติดีต่อผู้ขัดสนยากจน ดังที่บิดาที่เป็นคนซอและห์ของพวกเขาเคยปฏิบัติไว้  
 

 

เผยแพร่โดย : สายสัมพันธ์