4 สัญญาณอันตราย เตือนพ่อแม่ทำงานใส่ใจลูกวัยทีนก่อนสาย
หากวันนี้คุณเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานเก็บเงินเพื่ออนาคตของลูก ๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลยนอกจากความทุ่มเทให้กับการหาเลี้ยงครอบครัวก็คือ การถามตนเองว่า มีเวลาเอาใจใส่ครอบครัวมากน้อยเพียงใด เพราะในยุคที่กระแสทุนนิยมเชี่ยวกรากเช่นนี้ เด็ก ๆ หลายคนอาจถูกกระแสดังกล่าวพัดพาไปไกลโดยที่พ่อแม่ยังไม่ทันตั้งตัวก็เป็นได้
เหมือนเช่นกรณีของ ฟาง (นามสมมติ) วัย 14 ปี อีกหนึ่งเด็กหญิงที่ปล่อยให้กระแสสังคมพัดพาไปจนเธอตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ฟางเล่าว่า ครอบครัวเธอนั้น พ่อกับแม่แยกทางกัน และมีพี่น้องถึง 5 คน วัยเด็กแม่จึงนำเธอไปฝากเลี้ยงที่บ้านคนรู้จัก นาน ๆ ครั้งจึงจะมาเยี่ยม ก่อนจะได้กลับมาอยู่ร่วมกับพี่น้องคนอื่น ๆ อีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไปถึง 12 ปี นั่นจึงทำให้เธอไม่มีความสนิทสนมกลมเกลียวกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวเท่าที่ควร
กิจกรรมที่ฟางชื่นชอบคือ การคุยโทรศัพท์มือถือ และใช้คอมพิวเตอร์แชตกับเพื่อน ๆ หลังเลิกเรียนในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ โดยเธอเล่าว่า โทรศัพท์มือถือนั้น เธอได้เป็นเจ้าของครั้งแรกตอน ป.2 และผู้ที่เลี้ยงดูเธอมาตั้งแต่วัยเด็ก หรือที่เธอเรียกว่า "ยาย" นั้น เป็นผู้ซื้อให้ และไม่ว่าเธออยากได้อะไร ยายก็จะซื้อให้ตลอด แต่เมื่อถามถึงคำสอนที่เธอได้รับจากยาย เธอกลับบอกด้วยแววตาว่างเปล่าว่า "ไม่มี"
เมื่อยายเสียชีวิต ฟางจึงย้ายกลับมาอยู่กับแม่ และพี่น้องอีกครั้ง และเป็นช่วงที่เธอก้าวขึ้นสู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1ซึ่งถือเป็นวัยที่โตพอสมควร แต่เมื่อถามว่า เธอมีหน้าที่รับผิดชอบใดบ้างที่บ้าน เธอกลับตอบว่าไม่มี ดังนั้น เวลาหลังเลิกเรียนจึงหมดไปกับการโทรศัพท์คุยกับเพื่อน เล่นอินเทอร์เน็ต หรือนัดพบกับเพื่อนสนิท หาอะไรเล่นกันตามประสาเด็ก แต่ไม่เท่านั้น เธอเริ่มมีคนมาทำความรู้จักผ่านเพื่อนสนิท เลิกเรียนก็โทรศัพท์มาหา มีการไปนัดเจอกันนอกบ้านบ่อยครั้ง และจบลงด้วยการไปบ้านของคน ๆ นั้น จนในที่สุด เธอก็ตั้งครรภ์ และต้องยุติการเรียนเพื่อเตรียมตัวให้กำเนิดทารกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ในสภาพครอบครัวที่ยากจน และเธอเองก็ไม่มีความสามารถในการเลี้ยงดูลูกน้อยแต่อย่างใด
ในครอบครัวที่อบอุ่น การรับรู้เรื่องราวของฟางอาจเป็นเพียงอุทาหรณ์เตือนใจพ่อแม่ แต่กับอีกหลายครอบครัวที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน คือพ่อแม่ต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวจนลืมเอาใจใส่ลูก ๆ กรณีของฟางอาจช่วยเรียกสติให้พ่อแม่กลับมาสนใจลูก ๆ อีกครั้งก็เป็นได้ โดยสัญญาณอันตรายที่ผู้ปกครองควรสังเกตว่าเกิดกับครอบครัวและลูกของตนเองหรือไม่ ได้แก่
1. ลูกต้องใช้ชีวิตตามลำพัง หรือถูกปล่อยให้ตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ขาดการเอาใจใส่จากผู้ปกครอง จะทำสิ่งใดก็ไม่มีใครทักท้วง หรือเป็นห่วงเป็นใย ในกรณีนี้ผู้ปกครองควรถามตัวเองว่า ตนเองนั้นมีเวลาให้ลูกเพียงพอหรือไม่ในการรับทราบความเป็นไปในชีวิตของลูก หรือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนอื่น เช่น โรงเรียน ครู เพื่อนลูก เป็นผู้ทำหน้าที่เหล่านี้แทน
2. ลูกไม่มีแรงบันดาลใจในชีวิต และปล่อยให้กระแสสังคม หรือเพื่อนชักจูงตัวเองไปอย่างไร้จุดหมาย
3. ลูกไม่มีภาระหน้าที่รับผิดชอบใด ๆ เลย เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่เคยมอบหมาย พ่อแม่หลายท่านมองว่า ตนเองทำงานส่งเสียให้ลูกได้เรียนอย่างเต็มที่ ลูกก็ควรได้ใช้เวลากับการเรียนอย่างเต็มที่ งานบ้านพ่อแม่เสียสละทำเอง ทั้งกวาดบ้าน ซักผ้า รีดผ้า หุงข้าว ฯลฯ ซึ่งในความเป็นจริง นอกจากจะทำให้พ่อแม่เหนื่อยมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เวลาในการเอาใจใส่ลูกลดน้อยลงไปอีก แถมไม่ได้ฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลืองานบ้าน หรือมีความรับผิดชอบด้วย
4. ลูกมีพฤติกรรมเก็บตัว อยู่ในโลกของตัวเอง ไม่มีเรื่องคุยกับพ่อแม่ เจอหน้ากันก็เมินเฉยต่อกัน แต่สามารถคุยโทรศัพท์ หรือทำกิจกรรมกับเพื่อนได้นาน ๆ
หากเป็นเช่นนี้แล้ว ภารกิจเร่งด่วนที่พ่อแม่ควรทำเพื่อดึงลูกกลับมาคงหนีไม่พ้น การจัดลำดับความสำคัญเสียใหม่ โดยลดความสำคัญของงานให้น้อยลง และหันมาให้ความสำคัญกับครอบครัวและลูกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การอยู่ร่วมกันในบ้าน มีเสียงพูดคุย แทนการเมินเฉย หรือแยกย้ายกันเข้าห้องส่วนตัวหลังเลิกงาน อีกทั้งพ่อแม่ยังควร...
- ตรวจสอบคนที่ลูกคบอยู่ ทั้งเพื่อน และคนที่เป็นมากกว่าเพื่อน โดยอาจให้ลูกชวนมาบ้าน เพื่อมาทำความรู้จัก จะได้สังเกตอุปนิสัยใจคอ ลักษณะท่าทางว่าเป็นอย่างไร
- พยายามชวนลูกคุยในสิ่งที่ลูกสนใจ หรือดึงมาทำกิจกรรมร่วมกันให้มากขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้ลูกออกจากสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ
- พาลูกไปหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ เช่น พาไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม พาไปดูการแข่งขันกีฬา พาไปชมการสถานที่ต่างๆ เพื่อให้เด็กได้พบว่าโลกยังมีอะไรน่าค้นหาอีกมากมาย
- จำกัดการใช้เครื่องมือสื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ตลอดจนเครื่องมือต่าง ๆ เช่น โปรแกรมแชต การเข้าเว็บไซต์บางประเภท หรือการเล่นเกมออนไลน์ ลงให้พอเหมาะ และนำเวลาที่ได้กลับคืนมามาอยู่ร่วมกับครอบครัวแทน
- มอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบในบ้านให้ลูก โดยอาจมีคำชมเชย หรือรางวัลเป็นการตอบแทน
- มองหาจุดเด่นทางการเรียนของลูก และส่งเสริมเขาในแนวทางที่ถูกต้อง เช่น การให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา ให้คำชม ตลอดจนหมั่นสอบถามข้อมูลการเรียนของลูกเสมอ
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคนี้เป็นยุคที่ความเสี่ยงต่าง ๆ ในชีวิตมายืนรอต้อนรับถึงหน้าประตูบ้าน ซึ่งเกราะป้องกันภัยชั้นดี หนีไม่พ้น ความรักความอบอุ่นในครอบครัวที่พ่อแม่ลูกมีให้แก่กัน และคงจะดีกว่าเป็นแน่ หากพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถใส่เกราะนั้นให้ลูกได้เสียตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่สายใยแห่งความผูกพันจะถูกทำลายจนยากจะแก้ไขให้ดีดังเดิม เหมือนเช่นกรณีของน้องฟาง และเด็กหญิงอีกมากที่กำลังเผชิญ
ทีมงาน Life & Family / Manager online