การถึงแก่กรรมของเชค มุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ
  จำนวนคนเข้าชม  12184

การถึงแก่กรรม และความเห็นของนักวิชาการ

ต่อเชค มุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ

โดย อ.มุนีร มุฮัมหมัด

การถึงแก่กรรม  

         สัจธรรมของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย คือ เกิดและตาย เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ ก็เช่นเดียวกัน ท่านได้ถึงแก่กรรมในเมืองที่ท่านมีความรักมากที่สุด คือเมืองอัดดิรอียะฮ์ ในปี ฮ.ศ.1206 และถูกฝังในเมืองนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งท่านมีอายุได้ 91 ปี โดยที่ท่านได้ทิ้งทายาทไว้ 4 คน คือ หุเซน, อับดุลลอฮ์, อาลี และ อิบรอฮีม พวกเขาได้ทำหน้าที่สืบทอดการเผยแพร่ตามหลักคำสอนของอิสลามที่ถูกต้องต่อไป

          ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรม ท่านได้เห็นการเผยแพร่ตามหลักการที่ถูกต้องได้สัมฤทธิ์ผล โดยที่ได้แพร่กระจายออกไปทั่วคาบสมุทรอาหรับ และขยายออกไปยังประเทศอิสลามต่างๆ

ผลงานทางด้านการเขียน

           เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ ได้เขียนหนังสือไว้มากมาย หุเซน อิบนุ ฆอนนาม ได้รวบรวมไว้ในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า "ตารีคนัจด์" (ประวัติของแคว้นนัจด์) โดยประมวลถึงวิชาการศาสนาสาขาต่างๆ ทางด้านอะกีดะฮ์ ฟิกฮ์ อุซูลุลฟิกฮ์ ตัฟซีร ชีวประวัติ ฯลฯ ตำราสำคัญที่ เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ เรียบเรียงนั้นคือ

1. หนังสือ "อัตเตาฮีด" ซึ่งเกี่ยวกับสิทธิของอัลลอฮ์ที่มีเหนือบรรดาบ่าว ถือว่าเป็นหนังสือเล่มแรกของท่าน

2. หนังสือ"กัชฟุซชุบฮาต" (เปิดเผยสิ่งคลุมเครือ) เป็นหนังสือตอบโต้ข้อกล่าวหาต่างๆ ที่มียังท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการชะฟาอะฮ์

3. หนังสือเกี่ยวกับการอธิบายอัลกุรอาน โดยที่ท่านมีความละเอียดและพิถีพิถันในการอธิบายอัลกุรอานในทุกอายะฮ์ และยกประเด็นต่างๆ มากกว่า 100 ประเด็น จนถึงเรื่องราวของนะบีมูซา กับนะบีค่อฏีร ในซูเราะฮ์ อัลกะฮ์ฟี

4. หนังสืออัลกะกาเอ็ร (บาปใหญ่)

5. หนังสือ อัลอุซูลุซซาลาซะฮ์ (หลักมูลฐาน 3 ประการ)

6. สรุปชีวประวัติของ นะบีมุฮัมมัด

7. มารยาทของการเดินไปละหมาด ฯลฯ

ความเห็นของนักวิชาการและนักเขียน เกี่ยวกับการเผยแพร่ของ  เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ

     1. อะหมัด อามีน ได้เขียนไว้ในหนังสือของท่านชื่อ "ผู้นำการปฏิรูป" ว่า เป็นที่ชัดเจนว่า มุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ รู้จัก อิบนุ ตัยมียะฮ์ โดยทางการศึกษาแนวอัสละฟียะฮ์ แล้วรู้สึกชอบ จึงได้ศึกษาตำราต่างๆที่ อิบนุ ตัยมียะฮ์ ได้เขียนไว้ ที่พิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษ มีตำราบางเล่มของ อิบนุ ตัยมียะฮ์ คัดลอกโดย มุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ

          มุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ ได้เรียกร้องเช่นเดียวกับ อิบนุ ตัยมียะฮ์ คือให้ละทิ้งสิ่งที่เป็นอุตริกรรม และสิ่งไร้สาระ พร้อมกับหันมาปฏิบัติอิบาดะฮ์ และขอดุอาร์ต่ออัลลอฮ์  องค์เดียว ไม่ใช่วิงวินขอพรจากผู้ที่เป็นวะลีย์ หรือ กุบูร และไม่ต้องมีสื่อกลางขอต่ออัลลอฮ์ หรือในการขออภัยโทษจากพระองค์

     2. ดร.ฏอฮา หุเซ็น  ได้เขียนบทวิจัยในปี ฮ.ศ.1345 เกี่ยวกับวรรณกรรมในคาบสมุทรอาหรับ ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ ว่า

          ขบวนการของเชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ มีทั้งเก่าและใหม่ร่วมกัน ที่ว่าใหม่นั้นคือ เป็นขบวนการที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน และที่ว่าเก่านั้น เนื่องจากว่าเป็นขบวนการที่เรียกร้องไปสู่อิสลามที่บริสุทธิ์ ปราศจากร่องรอยแห่งการตั้งภาคี และการเคารพบูชาเจว็ด เป็นการเชิญชวนไปสู่อิสลามตามที่นะบีมุฮัมมัด นำมา โดยมีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮ์ องค์เดียว ยกเลิกผู้เป็นสื่อกลางระหว่างอัลลอฮ์ กับมนุษย์ เป็นการฟื้นฟูอิสลามที่แท้จริง ซึ่งบริสุทธิ์จากความอวิชา และการปลอมปนกับแนวทางนอกเหนืออิสลาม

     3. เชคมุฮัมมัด อบูซะฮ์เราะฮ์ ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ "แนวความคิดของอิสลาม" ว่า

          แนววะฮาบียะฮ์ เกิดขึ้นในทะเลทรายอาหรับ เป็นผลเนื่องมาจากความลุ่มหลงในการเทิดทูนบุคคล การขอบารอกัตจากพวกเขาและขอให้เขาเป็นสื่อกลางในการใกล้ชิดกับอัลลอฮ์ ด้วยการไปเยี่ยมกุบูรของพวกเขา และเนื่องจากอุตริกรรมได้แพร่หลายอยู่ในสังคม เป็นไปในรูปของพิธีกรรมทางศาสนา และการงานในโลกดุนยา ขบวนการวะฮาบียะฮ์ เกิดมาเพื่อต่อต้านการกระทำที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว และฟื้นฟูแนวความคิดของ อิบนุ ตัยมียะฮ์ ซึ่งนำเสนอจากรูปทฤษฏีไปสู่การปฏิบัติ

     4. นักเขียนชาวตะวันตก ชื่อ โลทรอบ สติวเวอรท ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาชื่อ "โลกอิสลามปัจจุบัน" ว่า

          ในศตวรรษที่ 18 โลกอิสลามตกอยู่ในความตกต่ำอย่างมาก ในศาสนามีจุดดำมืด เนื่องจากเอกภาพที่นะบีมุฮัมมัด ผู้สื่อศาสนาอิสลามได้สั่งสอนกับมนุษย์ไม่ให้เชื่อมั่นในสิ่งไร้สาระ และเปลือกของการขัดเกลาจิตใจ ในขณะที่โลกอิสลามกำลังตกอยู่ในความเสื่อมโทรม ก็มีเสียงเรียกร้องจากใจกลางทะเลทรายคาบสมุทรอาระเบีย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาอิสลาม ได้ปลุกบรรดาศรัทธาชนให้ตื่นขึ้น และเรียกร้องให้พวกเขาทำการปฏิรูปและกลับไปสู่หนทางที่เที่ยงตรง ผู้เป็นเจ้าของเสียงนี้คือ นักปฏิรูปผู้มีชื่อเสียง เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ ท่านได้เรียกร้องให้บรรดามุสลิมปรับปรุงจิตใจ และกอบกู้ความรุ่งโรจน์ของอิสลามกลับคืนมา

     5. นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส มังตัน ได้บันทึกไว้ในหนังสือชื่อ "ประวัติศาสตร์อียิปต์" บทเฉพาะเกี่ยวกับประวัติของเชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ และขบวนการวะฮาบียะฮ์ว่า

         คำสอนนักปฏิรูป เป็นการเสริมสร้างหลักจริยธรรมที่ถูกต้อง เรียกร้องประชาชนให้ปฏิบัติอิบาดะฮ์ ต่ออัลลอฮ์ องค์เดียว พร้อมกับมุ่งสู่พระองค์ด้วยการวิงวอนขอพร(ดุอา) ละหมาด 5 ครั้งในหนึ่งวัน ถือศีลอดในเดือนรอมาฏอน เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ เมืองมักกะฮ์ และจ่ายซากาต ท่านห้ามมิให้กระทำความชั่ว และกระทำบาปใหญ่ พร้อมกับห้ามสร้างโดมหรือหลังคาคลุมหลุมศพ เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นหนทางนำไปสู่การทำชิริก

          สิ่งที่เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ เรียกร้องมีรากฐานมาจากศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง แต่หากว่าบรรดามุสลิมได้ลืม หรือแกล้งลืม และละเลยคำสอนของศาสนา ท่านเชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ จึงได้ลุกขึ้นมาเตือนสติของพวกเขาให้กลับมาสู่แนวทางอิสลามที่บริสุทธิ์

จาก : สารดาริสสลาม

ชีวะประวัติเชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ >>> Click