ชีวประวัติ เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ
  จำนวนคนเข้าชม  42225

ชีวประวัติ เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ

โดย อ.มุนีร  มูฮัมหมัด

          เชคมุฮัมมัด เป็นบุตรของอับดุลวะฮ์ฮาบ บุตรของสุไลมาน บุตรของอาลี บุตรของมุฮัมมัด บุตรของอะห์มัด บุตรของรอชิด บุตรของบุรอยด์ อัตตะมีมีย์ อันนัจดีย์

          ท่านเชคมุฮัมมัด สืบเชื้อสายมาจากเผ่าตะมีมแห่งแค้วนนัจด์ บรรดานักประวัติทางสายพันธ์ต่างลงความเห็นว่า ตระกูลตะมีมเป็นลูกหลานของอิสลาม บุตรมุฏ็อร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เชื้อสายของท่านบรรจบลงกับเชื้อสายของท่านนะบีมุฮัมมัด  ที่ อิลยาส อิบนุมุฏ็อร ปู่ลำดับที่ 16 ของท่านนะบีมุฮัมมัด

         เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ เกิดในปี ฮ.ศ.1115 / ค.ศ.1703 ณ เมืองอุยัยนะฮ์ ในหุบเขาฮะนีฟะฮ์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของแค้วนนัจด์ และทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอัรริยาฏ เมืองอุนัยยะฮ์ในสมัยนั้นมีสองตระกูล ตระกูลที่มีอำนาจในการปกครองได้แก่ตระกูลมุอัมมัร อีกตระกูลเป็นตระกูลทางด้านวิชาการและทางศาสนา คือ ตระกูลมุชัรรอฟ ซึ่งเป็นตระกูลที่  เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ สังกัดอยู่ บิดาของท่านเป็นตุลาการของเมืองอุยัยนะฮ์ และเป็นนักฟิกฮ์ ตามแนวทางของอิหม่ามอะห์มัด อิบนุ ฮัมบัล ขณะเดียวกันท่านเชคมุฮัมมัด ได้ทำการสอนวิชาฟิกฮ์และหะดิษให้แก่ผู้สนใจ ในเมืองอุนัยยะฮ์ ทั้งในมัสยิดและในบ้านของท่าน ซึ่งการศึกษาในสมัยนั้นยังไม่เป็นระบบเช่นปัจจุบัน

          เชคอับดุลวะฮ์ฮาบ มีบุตร 2 คน คือ มุฮัมมัด และ สุไลมาน อัลลอฮ์ทรงเปิดหัวใจให้มุฮัมมัด ได้มีความรู้แตกฉานจนได้รับฉายานามว่า "ชัยคุลอิสลาม" เป็นผู้ฟื้นฟูการเผยแพร่ศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง และทำการปฏิรูปสังคมมุสลิมที่ยิ่งใหญ่ในแคว้นนัจด์ ซึ่งต่อมาได้แผ่ขยายออกไปยังทั่วคาบสมุทรอาหรับ และกลุ่มประเทศอิสลาม

          การเผยแพร่อิสลามของเชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ เป็นการเผยแพร่ในแนวสลัฟ โดยยึดแนวทางมัซฮับ ฮัมบาลีย์ทางด้านฟิกซ์ และแนวทางอัลกุรอานและซุนนะฮ์ทางด้านอะกีดะฮ์ ส่วนสุไลมานเป็นนักวิชาการ ดำรงตำแหน่งคุลาการในเมืองหุรอยมิลาอ์

การเจริญวัย

          เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ เติบโตในบ้านแห่งวิชาการ และมีความเคร่งครัดทางด้านศาสนา บิดาของท่านได้ทำหน้าที่อบรมและเลี้ยงดู ทั้งยังได้สั่งสอนวิชาศาสนา และภาษาอาหรับให้กับท่าน รวมทั้งฟิกฮ์ในแนวทางของอิหม่ามอะห์มัด อิบนุ ฮัมบัล ท่านเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด มีความจำเป็นเยี่ยม โดยที่ท่านท่องจำอัลกุรอานได้จบเล่มเมื่ออายุได้ 10 ปี

          ท่านอ่านหนังสือทุกชนิดที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือฟิกฮ์ ตัฟซีร หะดิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำราที่เขียนโดย เชคตะกียุดดีน อิบนุตัยมียะฮ์ และตำราของลูกศิษย์ของอิบนุตัยมียะฮ์ คือ อิบนุกอยยิม อัลเญาซียะฮ์ เตาฮีดที่ถูกต้อง และหลักการที่ตรงกันข้ามกับเตาฮีด จึงทำให้ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการจารึกชื่อ ร่วมกับอิหม่ามทั้งสามท่าน ซึ่งเรียกร้องให้ฟื้นฟู นามว่า "นาซิรุซซุนนะฮ์" (ผู้สนับสนุนซุนนะฮ์) อิหม่ามชัยคุอิสลาม อิบนุตัยมียะฮ์ และอิหม่ามอิบนุกอยยิม อัลเญาซียะฮ์ ซึ่งอยู่ในบรรดานักฏิรูป และนักเผยแพร่ในประวัติศาสตร์อิสลาม

การเดินทางแสวงหาความรู้

          เชคอับดุลวะฮ์ฮาบ ทราบดีถึงความต้องการของบุตรชาย คือเชคมุฮัมมัด ในการแสวงหาวิชาความรู้เพิ่มเติม ท่านจึงอนุญาตให้เชคมุฮัมมัดออกเดินทางไปเพื่อแสวงหาวิชาความรู้ โดยที่ท่านได้เดินทางไปยังมักกะฮ์เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ แล้วเดินทางต่อไปยังเมืองมะดีนะฮ์ และพำนักอยู่ที่นั่นเพื่อแสวงหาความรู้ อาจารย์คนสำคัญของท่านได้แก่ เชคมุฮัมมัด หะยาต์ อัซซินดีย์ อัลมะดะนีย์ ผู้เขียนคำอธิบายโดยสรุปในหนังสือซอเฮี๊ยะฮ์อิหม่ามอัลบุคคอรีย์

          ต่อมาท่านได้เดินทางกลับเมืองอุยัยนะฮ์ และเดินทางไปยังเมืองบัศเราะฮ์ โดยได้ติดต่อกับนักวิชาการในเมืองนั้น และได้มีการอภิปรายกันเกี่ยวกับรากฐานทางอะกีดะฮ์ และเตาฮีด ในที่สุดท่านก็ได้จากเมืองนั้น โดยเดินทางไปยังเมืองอะห์ซาอ์ ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมของนักวิชาการและนักปราชญ์ ซึ่งท่านได้รับความรู้อย่างมากมายจากบรรดานักวิชาการเหล่านั้น ต่อจากนั้นเดินทางต่อไปยังเมืองหุรอยมิลาอ์ ซึ่งบิดาของท่านได้อพยพไปอาศัยอยู่ในเมืองนี้

         ระหว่างที่ท่านอยู่ในเมืองหุรอยมิลาอ์ ท่านได้พบปะกับผู้คนและได้เห็นขนบธรรมเนียมทางด้านสังคม และหลักความเชื่อถือในศาสนาที่ผิดๆ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกับเมืองอื่นๆ ในแคว้นนัจด์ ท่านจึงตั้งใจที่จะแก้ไขหลักการศรัทธาของชาวเมืองให้ถูกต้อง พร้อมกับให้ยึดมั่นในแนวทางคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮ์ของท่านเราะซูล  ท่านได้นำเสนอทัศนะ อภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นกับบรรดานักวิชาการ ท่านคัดค้านท่าทีของนักวิชาการที่นิ่งเฉย โดยไม่ต่อต้านการกระทำที่เป็นบิดอะฮ์ (อุตริกรรม) และการกระทำชิริก(ตั้งภาคี) แต่พวกเขาไม่ตอบสนองคำเรียกร้องของเชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ เพราะเกรงกลัวการกลั่นแกล้งของบรรดาผู้ปกครองเมือง ซึ่งพวกเขาต้องการที่จะรักษาประเพณีเดิมๆเอาไว้ โดยไม่ยอมรับการพัฒนาและแก้ไข

จรรยามารยาทของท่าน

          เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ เป็นผู้ที่มีจรรยามารยาทที่ดีงาม มีความสนใจในการอ่านตำรา พูดจาฉะฉาน เป็นผู้ที่มีเหตุผลและมีหลักการในการหาหลักฐานมายืนยันเมื่อมีการอภิปรายและโต้แย้งกัน ท่านอุทิศชีวิตของท่านในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามด้วยความบริสุทธิ์ใจ และด้วยความจริงจัง ท่านมีความมั่นใจในความรู้ของท่าน หลังจากที่ท่านได้ท่องจำอัลกุรอาน ท่านได้ให้ความสนใจในการศึกษาตำราของบรรดานักวิชาการผู้ปฏิรูปจำนวนมาก จึงทำให้ท่านมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทางด้านความคิด ขจัดสิ่งที่เป็นอุตริกรรม และสิ่งไร้สาระออกจากคาบสมุทรอาหรับ

         ด้วยความกล้าหาญ มีความฉลาดและมีไหวพริบ ทำให้บรรดานักวิชาการและผู้นำในสำนักต่างๆ ไม่อาจจะเอาชนะท่านได้ในทุกครั้งที่มีการอภิปรายกัน ทำให้นักศึกษาและผู้แสวงหาความรู้ตามแนวทางสลัฟให้การสนับสนุนท่าน จึงทำให้ชื่อเสียงของท่านขจรขจายไปทั่วคาบสมุทรอาหรับและในโลกอิสลาม ในฐานะเป็นผู้ปฏิรูปและเรียกร้องเชิญชวนบรรดามุสลิมให้กลับมายึดมั่นในคำสอนของอิสลามที่ถูกต้องจากอัลกุรอานและซุนนะฮ์ของท่านเราะซูล

 ขั้นตอนในการปฏิรูปของเชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ

         ปัจจัยที่ทำให้เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ กลายเป็นนักเผยแพร่อิสลาม นักต่อสู้และนักปฏิรูป ได้แก่

1. ครอบครัว

         เป็นที่ทราบดีว่า เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ เติบโตภายในครอบครัวของนักวิชาการ นักการศาสนา และเป็นครอบครัวที่ดำรงธรรม บิดาของท่านเป็นตุลาการที่มีชื่อเสียง เป็นนักนิติบัญญัติอิสลามในแนวทางของอิหม่ามอะห์มัด อิบนุ ฮัมบัล และด้วยความเมตตาของอัลลอฮ์ ที่ทรงประทานจิตสำนึกและสติปัญญาอันเฉียบแหลม ทำให้ท่านมีความศรัทธาอย่างแรงกล้า และหนักแน่น มีจิตใจที่แน่วแน่ในการเผยแพร่บัญญัติอิสลามที่ถูกต้อง และมีจิตใจมุ่งมั่นในการปฏิรูปสังคมมุสลิมสู่แนวทางที่เที่ยงตรง

2. สภาพแวดล้อม

          การที่เห็นหลักความเชื่อมั่นที่ไม่ถูกต้อง การปฏิบัติตามประเพณี และการกระทำที่เป็นอุตริกรรม การสาบานต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์  โดยที่บรรดาผู้ปกครองและนักวิชาการต่างๆละเลย ไม่ตักเตือนและชี้แนะสู่ความถูกต้อง ความเสียหายเช่นนี้ทำให้เชคมุฮัมมัด ตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะทำการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง

3. การศึกษา

         เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ ได้เริ่มทำการศึกษาด้วยการอ่านตำราของเชคตะกียุดดีน อิบนุ ตัยมียะฮ์ จึงทำให้แนวคิดของท่านได้ซึมซับแนวทางปฏิรูปจาก อิบนุ ตัยมียะฮ์ แม้ว่ายุคของอิบนุ ตัยมียะฮ์ จะห่างไกลกันมากกับยุคของท่านก็ตาม แต่ทว่าสภาพทางสังคมของยุคของท่านมีความคล้ายคลึงกัน ขณะเดียวกัน ตำราและความเห็นของ อิบนุ กอยยิม ก็มีผลอย่างมากในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามของ เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ

4. การเดินทางไปแสวงหาความรู้ตามหัวเมืองต่างๆ

        ซึ่งทำให้ท่านเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ พร้อมกับได้เห็นสภาพสังคมมุสลิม ที่ยึดมั่นในบัญญัติอิสลาม และละเลยบัญญัติอิสลาม

การเริ่มเผยแพร่อิสลาม

         หลังจากที่  เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ ออกเดินทางจากเมือง"อัลอะห์ซาอ์"ไปยังเมือง"หุรอยมีลาอ์" ท่านก็เริ่มเผยแพร่อิสลามที่ถูกต้อง และได้สั่งสอนประชาชนถึงความหมายที่แท้จริงของคำว่า "เตาฮีด" อันเป็นความหมายที่ถูกต้อง สูงส่ง พร้อมกับเรียกร้องให้ละทิ้งจากการวิงวอนขอจากกุโบร ขจัดสิ่งที่เป็นอุตริกรรม (บิดอะฮ์) และสิ่งไร้สาระ พร้อมกับหลีกห่างจากการทำบาปใหญ่และการทำชิริก

          ณ ตำบลหุรอยมีลาอ์ บางคนก็ดำเนินตามคำเชิญชวนของท่าน บางคนก็คัดค้านการเผยแพร่ของท่าน ผู้ที่เป็นศัตรูได้วางแผนทำร้ายท่าน โดยให้พวกอันธพาลวางแผนฆ่า ท่านจึงหลบออกจากเมืองหุรอยมิลาอ์

การทำลายกุบูร(หลุมฝังศพ)

         เป็นที่ทราบกันดีว่า ที่เมือง อัลอุยัยนะฮ์ มีกุบูรอยู่มากมาย โดยที่บางแห่งมีการสร้างโดมครอบไว้ ขณะเดียวกันก็มีการเยี่ยมเยือนกุบูร เพื่อแสดงการให้เกียรติและเทิดทูนยกย่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกุบรูของบรรดาศอฮาบะฮ์และบรรดาคนวะลี  ในบรรดากุบูรเหล่านี้ได้แก่กุบูรของท่าน อิบนุ คอฏฏอบ ซึ่งเป็นศอฮาบะฮ์ท่านหนึงของท่านเราะซูล  เป็นน้องชายของคอลีฟะฮ์ อุมัร เสียชีวิตลงในสงครามริดดะฮ์ ฮ.ศ.12 กุบูรซึ่งอยู่ใกล้ตำบลอัลญุบัยละฮ์ ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองอัดดริอียะฮ์ และเมืองอัลอุยัยนะฮ์

          ประชาชนได้มาเยี่ยมกุบูรของท่าน อิบนุ คอฏฏอบ มาบนบานและแก้บน ซึ่งเป็นการแสดงถึงการทำชิริก(ตั้งภาคี) อย่างเปิดเผย  ท่าน เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ จึงได้ออกไปที่กุบรูพร้อมทหารขอเจ้าชาย อุสมาน อิบนุ มุอัมมัร ผู้ปกครองเมือง อัลอุยัยนะฮ์ โดยได้ทำลายโดมที่ครอบกุบรู และทำลายกุบูร พร้อมกับปรับพื้นดินให้ราบเรียบ

         การกระทำของ เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ เป็นที่โจษจันท์กันอย่างกว้างขวางในแคว้นนัจด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มของผู้ที่ไม่มีความรู้ เพราะพวกเขาเชื่อว่าการทำลายโดมและกุบูรของท่านอิบนุ คอฏฏอบ จะต้องเกิดภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงแน่นอน และเชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ จะต้องประสบกับความหายนะ ครั้นเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปหลายวัน หลายสัปดาห์ ก็ไม่ปรากฏว่ามีภัยพิบัติใดๆเกิดขึ้น และเชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ ก็ยังคงปกติดีอยู่ จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากมีความนิยมเลื่อใสในตัวท่าน และเชื่อว่าหลักการศาสนาที่ท่านได้นำมาเสนอนั้นมีความถูกต้อง

การตัดต้นไม้มงคล

          ประชาชนในสมัยนั้น ไม่เพียงแต่จะงวอนขอพรและขอความช่วยเหลือจากกุบูรเท่านั้น และพวกเขายังได้วิงวอนขอจากต้นไม้มงคลทั้งหลาย มีการนำผ้าไปห่มเพื่อเอาบารอกัต หรือเด็ดใบไม้และหักกิ่งไม้มาเก็บไว้เพื่อเป็นสิริมงคล ในเมืองอุยัยนะฮ์ มีต้นไม้ต้นหนึ่ง มีชื่อว่า"อัซซีบ" เป็นต้นไม้ที่ได้รับการเคารพยกย่องอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ที่ไม่มีความรู้ และไม่มีผู้ใดกล้าที่จะตัดต้นไม้นี้ เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ จึงออกไปด้วยตนเอง แล้วตัดมันทิ้ง จึงทำให้ความขลังของมันหมดไป

การขว้างหญิงทำซินา

          หญิงผู้หนึ่งได้มาหา เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ และกล่าวยอมรับว่านางทำซินา และนางแต่งงานแล้ว นางได้เพียรมาหา เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ หลายครั้งโดยสารภาพว่านางทำซินา นางมีปฏิสัมปชัญญะครบสมบูรณ์ เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ จึงทำการสอบสวนนาง จึงแน่ใจว่านางมีสติดีมิได้เป็นคนวิกลจริต ขณะเดียวกันท่านก็ไม่รีบด่วนในการลงโทษ ท่านยังคงทำการสอบสวนนางต่อไป โดยคิดว่านางอาจจะถูกฉุดคร่าอนาจาร แต่นางก็ยืนกรานว่านางสมัครใจในการทำซินามิได้ถูกบังคับขู่เข็ญ หรือฉุดคร่าอนาจารแต่อย่างใด

         เมื่อแน่ใจว่านางทำผิด จึงนำนางมาที่สนามกลางเมืองแล้วทำการลงโทษโดยการขว้างด้วยหินจนตาย เจ้าชายอุสมาน อิบนุมุอัมมัร เป็นบุคคลแรกที่ทำการขว้างนาง ติดตามด้วยการขว้างของประชาชนจนนางถึงแก่ความตาย อันเป็นการปฏิบัติตามบัญญัติการลงโทษในอิสลามของผู้ที่แต่งงานแล้ว ที่ทำซินา(ผิดประเวณี) ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม จะต้องถูกขว้างด้วยหินจนตาย

         การลงอาญาตามบัญญัติอิสลามจะต้องทำด้วยความรอบครอบถี่ถ้วน และต้องพิสูจน์ว่ามีการทำผิดอย่างแท้จริง มิใช่ตัดสินพิพากษาด้วยความรวบรัด หรือรีบด่วน หากแต่ว่าต้องสอบสวนอย่างละเอียด มีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจน มีน้ำหนักอย่างเพียงพอในการลงโทษผู้ต้องหา แม้ว่าบัญญัติอิสลามจะมีบทลงโทษอย่างรุนแรงเฉียบขาดก็ตาม แต่มิได้หมายความว่า จะนำผู้ต้องหามาลงโทษด้วยหลักฐานที่เลื่อนลอย

อ่านเนื้อหาบทความต่างๆ ของเชค มุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ

.......

- การเผยแพร่อิสลามของเชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ

- หลักการเผยแพร่ของเชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ

- ความสบสนเกี่ยวกับการเผยแพร่อิสลาม ของเชค มุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ

- การถึงแก่กรรม และ ความเห็นของนักวิชาการเกี่ยวกับการเผยแพร่อิสลาม ของเชค มุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮ์ฮาบ