ความพิเศษแห่งบทบัญญัติ อิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  5999

ความพิเศษแห่งบทบัญญัติ อิสลาม

โดย อ. เอาลา  มูลทรัพย์

 

          สำหรับศาสนาอิสลามนั้น มีหลักบัญญัติศาสนาที่มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากแนวคิด ลัทธิ หรือศาสนาอื่นใดในโลก ซึ่งสมควรที่ผู้ศรัทธาจะต้องศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้ก่อเกิดความรู้สึกสำนึกต่อตัวของเขาเอง ถึงความยิ่งใหญ่ในอัลอิสลาม สิ่งอื่นนอกจากอิสลามล้วนเป็นความจอมปลอมทั้งสิ้น ลักษณะเด่นเป็นพิเศษเหล่านี้มีหลายประการ ส่วนหนึ่งที่สมควรศึกษาเรียนรู้มีดังนี้


1 แหล่งที่มา และจุดมุ่งหมาย คือ พระผู้เป็นเจ้า

          แหล่งที่มา คือ ณ ที่อัลลอฮ์ จุดมุ่งหมาย คือ เพื่อการอิบาดะฮ์ และมุ่งหวังความพึงพอพระทัยจากพระองค์ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครคนใด มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับการตราบัญญัติอิสลาม ณ ที่อัลลอฮ์  แม้กระทั่งท่านเราะซูล  เพราะแท้จริงท่านเราะซูล  เป็นเพียงผู้เผยแพร่สารของอัลลอฮ์  เท่านั้น ดังที่พระองค์ตรัสว่า

"หน้าที่ของเราะซูล นั้นมิใช่อื่นใด นอกจากการประกาศศาสนาเท่านั้น"

          ท่านเราะซูล  ได้นำบัญญัติของอัลลอฮ์  มาใช้บนโลกนี้ ก็เพื่อให้ผู้คนใช้ได้ยึดถือปฏิบัติตามแบบของท่าน ดังที่อัลลอฮ์  ทรงตรัสว่า

"แน่นอน ในเราะซูล ของอัลลอฮ์ มีแบบฉบับที่ดีงาม เพื่อพวกท่านแล้ว"

         ในเมื่อหลักบัญญัติศาสนามีที่มาจากอัลลอฮ์  เพียงองค์เดียวแล้ว จึงไม่พบข้อโต้แย้งใดๆ ในหลักการ ดังที่อัลลอฮ์  ทรงตรัสว่า

"และหากว่า (อัลกุรอาน) มาจากผู้อื่นที่ไม่ใช่อัลลอฮ์ แน่นอนพวกเขาก็จะพบว่า ในนั้นมีข้อขัดแย้งอย่างแน่นอน"

         ในเมื่อจุดมุ่งหมาย เพื่อการอิบาดะฮ์ค่ออัลลอฮ์  เพียงองค์เดียว ก็จะพบว่าผู้ที่ยึดมั่นนั้นมีที่มุ่งหมายที่ชัดเจน มีจุดประสงค์ที่มีความเป็นเอกภาพ ดังที่อัลลอฮ์  ทรงตรัสว่า

"อัลลอฮ์ ทรงยกอุทาหรณ์คนคนหนึ่ง เป็นหุ้นส่วนหลายคนที่ขัดแย้งกัน ไม่ลงรอยกัน

และคนอีกคนหนึ่งที่เป็นของชายคนหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งสองคนนี้จะเป็นอุทาหรณ์ที่เท่าเทียมกันหรือ"

         ด้วยเหตุนึ้จึงพบว่า ชีวิตของผู้ที่ศรัทธานั้น จะรู้จักควบคุมอารมณ์ของเขา  และผลักดันความคิดสู่การปฏิบัติสิ่งที่ดีงาม และละเว้นการกระทำที่สวนทางต่อหลักการของอิสลาม


2. การพิทักษ์รักษาที่มาของหลักการต่างๆ ในบทบัญญัติของอิสลาม

          สำหรับบัญญัติอิสลามนั้นมี 2 แหล่งที่มา ที่ได้รับการพิทักษ์รักษาให้พ้นจากความเสียหาย การบิดเบือน ซึ่งแหล่งที่มาทั้งสองของบัญญัติอิสลามนั้น คือ อัลกุรอาน และซุนนะฮ์ 

ท่านเราะซูล  กล่าวว่า

"แท้จริงแล้ว ฉันได้ทิ้งสิ่งหนึ่งให้พวกท่าน ซึ่งพวกท่านจะไม่มีทางหลงผิด หากพวกท่านยึดมั่นต่อสิ่งนั้น นั่นก็คือ คัมภีร์ของอัลลอฮ์ "

ท่านเราะซูล  ยังได้กล่าวอีกว่า

"ดังนั้นพวกท่าน จงยึดมั่นตามซุนนะฮ์(แบบฉบับ)ของฉัน

และแบบฉบับของบรรดาเคาะลีฟะฮ์ผู้ปราดเปรื่อง ผู้ได้รับทางนำ (เคาะลีฟะฮ์ ทั้งสี่)

โดยกัดมันไว้ด้วยฟันกราม (ยึดมั่นแนวทางดังกล่าวให้แน่น)"


3. ความสมบูรณ์แห่งที่มาของบัญญัติศาสนา

     3.1 อัลกุรอาน และอัซซุนนะฮ์ ได้ประมวลไว้ซึ่งตัวบทหลักฐานถึง 2 ประเภท ดังนี้ 

     (1) ตัวบทที่เป็นเรื่องเฉพาะ คือสิ่งที่บ่งชี้ถึงฮุก่ม (ข้อชี้ขาด)ของปัญหาตามตัวเรื่อง เช่น ข้อบังคับใช้ เรื่องการละหมาด,ซะกาต,บัญญัติที่ห้ามมิให้ทำผิดประเวณี(ซินา)เป็นต้น

     (2) ตัวบทที่เป็นเรื่องทั่วไป คือตัวบทที่คล้ายกับสิ่งที่เป็นหลักเกณฑ์โดยทั่วไปที่เข้าข่ายเดียวกัน ซึ่งไม่มีข้อจำกัดเฉพาะสำหรับสิ่งนั้น ที่จะตัดสินชี้ขาด เช่น กฏเกณฑ์ที่ไม่เกี่ยวพันกับเรื่องเวลา,สถานที่ หรือประเด็นปัญหาที่เจาะจง ดังที่อัลลอฮ์   ตรัสว่า 

"พระองค์ (อัลลอฮ์) คือผู้ทรงสร้างสิ่งทั้งมวลในโลกไว้เพื่อพวกท่าน"

          กล่าวคือ พื้นฐานของสิ่งต่างๆ ทั้งหลายนั้นล้วนเป็นสิ่งที่อนุมัติทั้งสิ้น ยกเว้นสิ่งที่มีหลักฐานทางบัญญัติศาสนามาห้าม ท่านเราะซูล  กล่าวว่า

"ผู้ใดได้ทำขึ้นมาใหม่ในกิจการศาสนาของเรา ซึ่งเรื่องนั้นมิใช่ส่วนหนึ่งจากศาสนา เรื่องนั้นจะถูกตีกลับ คือไม่เป็นที่ยอมรับ"

         เรื่องศาสนานั้นจำเป็นต้องมีตัวบทที่เป็นคำสั่งใช้ คำสั่งห้าม จากอัลกุรอาน และซุนนะฮ์ ห้ามทำเกิน ห้ามทำขาด ห้ามต่อเติม และห้ามตัดทอน

     3.2 อัลกุรอาน และ ซุนนะฮ์ คือสิ่งที่ช่วยเยียวยาทุกๆด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ทางสังคม ทางการเมือง ด้านเศรษฐกิจการคลัง และอื่นๆ

     3.3 อัลกุรอาน และ ซุนนะฮ์ ได้แจ้งถึงทัศนคติที่ถูกต้อง ระหว่างความผูกพันธ์ของปวงบ่าวต่ออัลลอฮ์

     3.4 อัลกุรอาน และ ซุนนะฮ์ ได้แจ้งถึงทัศนคติที่ถูกต้อง ต่อเรื่องจักรวาล เรื่องชีวิต เรื่องมนุษย์

     3.5 อัลกุรอาน และ ซุนนะฮ์ ได้แจ้งถึงเป้าหมายของมนุษย์ในการดำเนินชีวิต วิธีการที่ถูกต้องทำอย่างไร สิ่งใดบ้างที่เขาจะต้องเผชิญภายหลังจากความตาย


4. บัญญัติอิสลาม ได้ประมวลถึงทุกด้านของชีวิต

         บัญญัติอิสลามได้มาจัดระบบกฏเกณฑ์ของชีวิตทั้งหมด ซึ่งไม่ว่าสิ่งใดๆ ก็ตามจะพบว่าไม่สามารถออกไปจากบัญญัติอิสลามได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตตามลำพัง จนกระทั่งพวกมุชริกีนได้มาถามท่าน ซัลมานอัลฟาริซี ว่า

"นะบีของพวกท่าน สอนพวกท่านทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องการขับถ่ายหรือ ?

ท่านซัลมาน ตอบอย่างภาคภูมิว่า : ใช่ นะบีของเรา ห้ามเราหันหน้าไปทางกิบลัตทั้งในขณะถ่ายหนัก และถ่ายเบา"

         ส่วนการใช้ชีวิตร่วมกันทางสังคม เป็นต้นว่า สิ่งซึ่งสมควรจะช่วยเหลือกัน เรื่องผู้พิพากษา และผู้ถูกพิพากษา เรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม ทั้งที่สงบสุขและอยู่ในภาวะสงคราม เรื่องบทลงโทษต่อบุคคลที่ไม่ดำเนินตามบัญญัติของอัลลอฮ์  และแจ้งชนิดของบทลงโทษตามอาญาความผิดที่แตกต่างกัน


5. ความยุติธรรม ความสมดุลย์ และความเป็นสายกลาง

         บัญญัติอิสลามนั้นตั้งอยู่บนความยุติธรรม และความสมดุลย์ระหว่างโลกดุนยา และโลกอาคิเราะฮ์ โดยที่การงานที่ทำไปเพื่ออาคิเราะฮ์ถือเป็นเป้าหมายอันสูงสุด ความสมดุลย์ระหว่างสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ความสมดุลย์ระหว่างสิทธิของบุรุษและสิทธิของสตรี สิทธิเด็กและผู้ใหญ่ สิทธิของวิญญาณกับเรือนร่าง และสิทธิแห่งชีวิตของตัวเองกับของผู้อื่น ตลอดจนความพอดีที่อยู่ตรงสายกลาง ไม่เคร่งครัดจนเลยเถิด และไม่บกพร่องจนหย่อนยานต่อหลักการ

อัลลอฮ์  ทรงตรัสว่า

"ขอพระองค์ทรงนำเราสู่ทางที่เที่ยงตรง คือ ทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงโปรดปรานแก่พวกเขา

ไม่ใช่ทางของพวกที่ถูกกริ้ว (ญะฮูด(ยิว)และพวกที่ฝ่าฝืน) และมิใช่ทางของพวกหลงผิด(นะซอรอ(คริสต์)และพวกที่หลงผิด)"


6. บัญญัติอิสลามมีความเป็นสากล

อัลลอฮ์  ทรงตรัสว่า

"เรามิได้ส่งเจ้า(มุฮัมมัด)มาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย"

         กล่าวคือไม่จำแนกเชื้อชาติ ไม่จำกัดเวลาสถานที่ ครอบคลุมทั้งมนุษย์และญิน คนผิวขาวและคนผิวดำ คนรวย คนจน คนอาหรับและคนที่ไม่ใช่อาหรับ


7. บัญญัติอิสลามมีความสมบูรณ์

         กล่าวคือ ปราศจากข้อบกพร่อง ไม่มีความจำเป็นต้องร่างเพิ่มเติมหรือแก้ไข อัลลอฮ์  ทรงตรัสว่า

"วันนี้ เราได้ให้ศาสนาของพวกท่านสมบูรณ์แก่พวกท่านแล้ว

และเราได้ให้เนี๊ยะมัต(ความเมตตา)ของเรา อย่างครบถ้วนแก่พวกท่านแล้ว

และเรายินดีให้อิสลามเป็นศานาแก่พวกท่าน"


8. ความสะดวก ความง่ายดาย ขจัดปัญหาที่ยุ่งยาก

        บัญญัติอิสลามทั้งหมดนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสะดวก ง่ายดาย อัลลอฮ์  ทรงตรัสว่า

"อัลลอฮ์ ต้องการให้มีความสะดวกแก่พวกท่าน และไม่ต้องการให้มีความลำบากแก่พวกท่าน"

 

จาก : สารดาริสสลาม