ชีวิตในมหาวิทยาลัยกับการทำงานเพื่ออิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  12606

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยกับการยืนหยัดทำงานเพื่ออิสลาม


          การเป็นนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น คือ พลังสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานเพื่ออิสลาม เพราะนิสิต คือ ปัญญาชน ผู้ที่สามารถส่งเสียงได้ดังกว่าคนอื่น เสียงที่เปี่ยมไปด้วยความคิด ความหวัง และความมุ่งมั่น เพื่อประกาศสัจธรรมและเชิดชูพระดำรัสของอัลลอฮ์ ให้สูงส่ง

        การเป็นนิสิตตลอดระยะเวลา 4 ปีนี้ เรายังไม่มีภาระหน้าที่อันใดต้องรับผิดชอบ นอกเสียจากการเรียน และการศึกษาความรู้ศาสนาควบคู่กันไป ดังนั้นจึงถือว่า การแบ่งเวลาให้ดีจะสามารถสร้างประโยชน์มากมายให้กับการทำงานศาสนาของเรา...”มากกว่าการทำงานศาสนา คือ กระบวนการขัดเกลาตนเอง…”

         หากพวกเราไม่ฉกฉวยเวลาในช่วงนี้อย่างเต็มที่ เราคงพลาดโอกาสตักตวงความดีไปอย่างน่าเสียดาย เวลาไม่อาจหวนกลับคืนได้ ดังสุภาษิตอาหรับที่กล่าวไว้ว่า “เวลาเปรียบเสมือนดาบสองคม หากท่านไม่ตัดมัน มันก็จะตัดท่าน”

        เคยได้มีโอกาสฟังบรรยายของอาจารย์ท่านนึง ได้แนะนำถึงวิธีการทำงานศาสนาในรั้วมหาวิทยาลัย ไว้อย่างน่าสนใจมาก จึงขอนำมาแบ่งปันพี่น้องทุกคนได้รับทราบโดยทั่วกัน


          หากท่านคิดจะทำงานศาสนา ประการแรก ที่ควรให้ความสำคัญคือ  ความอิคลาส  ความบริสุทธิ์ใจในการกระทำทุกอย่างเพื่ออัลลอฮ์ เท่านั้น เพื่อหวังความเมตตา และการช่วยเหลือจากพระองค์

         คงไม่มีใครปฎิเสธได้ว่า ชื่อเสียง เกียรติยศ และคำชมเชยนั้น เป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนา และนั่นก็เป็นเหมือนชิพตัวหนึ่งที่อัลลอฮ์  ทรงฝังไว้ให้อยู่ในหัวใจของพวกเราทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะควบคุมมันอย่างไร และหนึ่งในตัวควบคุมที่ดีก็คือ ความยำเกรงต่อพระองค์ เชื่อมั่นในผลตอบแทนที่พระองค์จะทรงมอบให้กับเรา ซึ่งมิอาจประเมินค่าได้  หากลองนึกย้อนไปดูประวัติศาสตร์อิสลามจะพบว่า บรรดาซอฮาบะฮฺ ผู้เสียสละชีวิตเพื่อทำสงคราม ก็มิได้ต่อสู้เพื่อหวังคำชื่นชม เกียรติยศ ทรัพย์เชลยแต่อย่างใด แต่สิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นทำไป ก็เพื่อการยืนหยัดต่อสู้เพื่ออิสลาม เพื่อให้ศาสนาของอัลลอฮ์ สูงส่ง นั่นเอง..

            ในระหว่างเกิดสงคราม ท่านนะบี  ได้ขอระดมเงิน เพื่อใช้ในการใช้ต่อสู้กับศัตรูอิสลาม ท่านอบูบักรได้มอบทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดที่ตนเองมีเพื่อทำสงครามในครั้งนี้ ท่านอบูบักรบริจาคทุกอย่างที่ท่านมีอยู่จนหมดเกลี้ยง! แล้วท่านจะเหลืออะไร ?  แต่สิ่งที่ท่านเหลืออยู่ก็คือ... อัลลอฮ์  (การศรัทธาในหัวใจ)  และเราะซูล (คำสั่งสอนของท่านเราะซูล)

            ดังนั้น ความมุ่งหวังจากการทำงานศาสนานั้น ก็เพื่อการตอบแทนจากอัลลอฮ์ เป็นการตอบแทนทั้งดุนยา และอาคิเราะฮ์ ซึ่งอาจมากกว่าที่เราคาดหวังไว้เสียอีก  ดังที่อัลลอฮ์  ทรงตรัสไว้ว่า..

“คนที่เสียสละในเรื่องศาสนาของเรา เราจะประทานความดีงามให้แก่เขา”


 ประการที่สอง คือ การประชุมปรึกษาหารือซึ่งกันและกัน

         อัลลอฮ์  จะทรงประทานความจำเริญให้กับกลุ่มทำงานที่มีการประชุม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปรึกษาหารือซึ่งกัน

            ระบบการทำงานศาสนาไม่ใช่การยึดเสียงข้างมาก แต่เราจะบูรณาความคิดทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน และให้ผู้นำการประชุมเป็นผู้ตัดสิน ภายใต้กรอบของศาสนา    อิสลามสนับสนุนการทำงานเป็นทีม มากกว่าการทำงานโชว์เดี่ยว ลุยงานคนเดียว....


            ประการที่สาม คือ ความอดทน 

         การทำงานศาสนานั้น ไม่ได้เรียบง่ายโรยด้วยกลีบกุหลาบ ยิ่งมีอุปสรรคมากขึ้นเท่าใด ผลตอบแทนของความอดทนก็มีมากขึ้นเท่านั้น

"หากอัลลอฮ์ ทรงรักใคร พระองค์ก็จะทรงทดสอบเขา หากเขานั้นอดทนต่อบททดสอบ เขาก็จะได้รับความเมตตาและการช่วยเหลือจากพระองค์ แต่หากเขาไม่อดทนต่อบททดสอบ เขาก็จะได้รับความพิโรธจากพระองค์"

            ลองมองดูชีวประวัติของท่านนะบี  จะพบว่า ตลอดเวลาที่ท่านอยู่ที่มักกะฮ์ ท่านถูกตัดขาดจากญาติพี่น้อง คนใกล้ชิดประกาศตัวเป็นศัตรูกับท่าน ไม่ว่าจะเป็น ญาติของท่าน เพื่อนของท่าน  และอิสลามในตอนนั้นก็มีเพียงหยิบมือเดียว ไม่อาจสู้กับพวกบูชาเจว็ดได้ แต่กระนั้นท่านนะบี  ก็อดทน แม้ว่าจะถูกกลั่นแกล้งมากมายจนเกือบเอาชีวิตไม่รอดก็ตาม...


 ประการที่สี่  คือ การมอบมายต่ออัลลอฮ์

         เมื่อเรามอบหมายการงานทุกอย่างกับพระองค์ ความกลัว ความวิตกกังวลต่างๆจะหายไป  บุคคลที่เกรงกลัวและยำเกรงต่ออัลลอฮ์  พระองค์จะให้หนทางที่ง่ายดายแก่เขา และคนที่มอบหมายต่ออัลลอฮ์  พระองค์จะให้ความพอเพียงแก่เขา

"ลาเฮาละวะลากูวะตะอิลลาบิลลาฮิ"

(ไม่มีอำนาจใด ๆ และไม่มีพลังใด ๆ นอกจากด้วยอำนาจและพลังของอัลลอฮ์ )


          ประการที่ห้า คือ การทำให้ดีที่สุด

         เริ่มด้วยการจัดระบบการทำงานให้ดีเสียก่อน  อัลลอฮ์  ทรงรักบุคคลที่ประณีต ทำให้ดีที่สุดในสิ่งที่เขากระทำ จากนั้นก็มอบหมายความสำเร็จต่อพระองค์  ดังนั้น จงแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดก่อน แล้วจึงขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮ์

          หนึ่งในความล้มเหลวของการทำงาน คือ การไม่ทำสาเหตุให้ดีงามที่สุดก่อน เป็นการขาดกลยุทธที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ  ดังนั้นเราจึงต้องทำการวางกลยุทธในการทำงานศาสนาของเราเสียใหม่ ศึกษาจุดเด่นจุดด้อยขององค์กรของเรา มีการวางแผนการทำงาน และการวางแผนรับมือ เมื่อการทำงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้  มีการแก้ปัญหาเมื่อมีอุปสรรคเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน  ลองมองให้ดีจะพบว่า อิสลามมีวิทยาการที่ผสมกับการทำงานในทุกยุคสมัยได้อย่างดี 

          ประการที่ห้า คือ การตรวจสอบ มีการตรวจสอบตนเองอยู่เสมอ ในเรื่องอีหม่าน พร้อมๆกับการตรวจสอบการทำงานขององค์กร ความคืบหน้าของงาน และความก้าวหน้าของความรู้ที่ได้รับจากการทำงานอิสลามควบคู่กันไป ...จงตรวจสอบตนเองก่อนที่จะถูกตรวจสอบ...


         ประการที่หก คือ การประสานความร่วมมือ มีการแบ่งปันข้อมูล ความรู้ การร่วมมือซึ่งกันและกัน วางเป้าหมายการทำงานเพื่อประโยชน์ร่วมกัน มิใช่หวังประโยชน์ส่วนตัว และมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกันโดยพร้อมเพียงกัน


          หวังว่า 6 ประการที่ได้กล่าวไปนี้ คงเป็นแนวทางในการทำงานเพื่ออิสลามกับพวกเรานิสิตมุสลิมได้ไม่มากก็น้อย จงเก็บเกี่ยวช่วงเวลาเหล่านี้ไว้อย่างเต็มที่ วางอุดมการณ์ไว้ให้ดี ว่า.... ดุนยาที่เหลือนี้...จะทำเพื่ออิสลาม!


"... เท้าทั้งสองขอลูกหลานอาดัม จะยังไม่ก้าวเดินไปไหนในวันกิยามะฮ์ จนกว่าจะถูกถาม เกี่ยวกับอายุของเขาหมดไปในทางใด  จากความรู้ของเขาปฎิบัติตัวอย่างไร   จากทรัพย์สมบัติของเขาได้มาและใช้จ่ายไปในทิศทางใด  และจากวัยหนุ่มสาวของเขาใช้หมดไปในทางใด ..." (บันทึกโดย บุคคอรี)


          ปล. หากการเขียนในครั้งนี้มีข้อผิดพลาด(อันเกิดจากความรู้น้อยนิด)ประการใดก็ขอมะอัฟด้วยนะคะ เป็นการประมวลความรู้จากการฟังบรรยายที่ชมรมเกษตร กำแพงแสน ณ งานสานใจสู่นนทรี’51 โดย อ.ยาซีน สลักเพชร  ค่ะ    แล้วจะขุดเรื่องดีๆจากไดอารี่คู่ใจ ที่ไม่อาจจดบันทึกอะไรไว้อ่านคนเดียวได้อีกแล้ว มาฝากอีกค่ะ อินชาอัลลอฮฺ...
         


Power of Islam...