รวมฮิต 6 ภัยครอบครัว
การวิเคราะห์เจาะลึกภัยครอบครัวที่ถาโถมเข้าตะลุมบอนให้พ่อแม่หลายท่านเสียศูนย์ทั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์กันมาตลอดปี ซึ่งภัยที่เราหยิบยกขึ้นมากล่าวสรุปในปลายปีนี้จะมีอะไรบ้าง ติดตามกันได้เลยค่ะ
ความรุนแรงในสังคม..ปมชีวิตเด็ก
ภัยแรกที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้เลยก็คือ ประเด็น "การใช้ความรุนแรง" คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภัยชนิดนี้เป็นอีกหนึ่งภัยที่ครอบครัว และสังคมควรจะลด ละ เลิก ให้ได้โดยเร็วที่สุด เพราะมีเด็กจำนวนไม่น้อยกลายเป็นเด็กก้าวร้าว อันธพาล เพราะถูกพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือแม้แต่คุณครูดูแลโดยยึดความรุนแรงเป็นที่ตั้ง
ตลอดปีที่ผ่านมา เราพบว่ามีการใช้ความรุนแรงกับเด็ก หรือการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว รั้วโรงเรียน ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมหลายครั้ง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้กระทำความรุนแรงมีสติยั้งคิด โดยการใช้ความรุนแรงในบ้าน หรือที่โรงเรียน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม (พ่อแม่เป็นคนดุร้าย อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย) การเลี้ยงดูภายในครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น ทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ มีการทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัวให้เด็กได้เห็นจนชินตา หรือจากสภาพสังคมที่มีสื่อภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์เนื้อหารุนแรงเปิดให้เด็กได้รับชมบ่อย ๆ
สภาพจิตใจของเด็กที่ตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ใช้ความรุนแรงนั้น จะมีหลายอารมณ์ เด็กอาจเศร้า กังวล ขี้ตื่นเต้น ตกใจง่าย เมื่อเด็กคับข้องใจบ่อย ๆ และถูกกดดันเป็นเวลายาวนาน จะทำให้เด็กหงุดหงิดและแสดงวาจากิริยาก้าวร้าวตอบโต้ออกมาได้ในที่สุด
ผลกระทบจากความรุนแรงเหล่านี้ที่เห็นชัดที่สุด คือ ระบบการเรียนรู้ สมองจะตื่นเต้น กังวล หวาดกลัว จะทำให้ขาดสมาธิ และจะเห็นชัดว่าหากระดับความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น ผลการเรียนของเด็กก็ต่ำลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาเรื่องพฤติกรรมความรุนแรงในโรงเรียน ครอบครัว ชุมชน ที่พบว่า บรรยากาศที่ก้าวร้าวก็ทำให้เด็กก้าวร้าวตาม เกิดเป็นค่านิยมและถ่ายทอดกันไปรุ่นต่อรุ่นได้ อีกทั้งการเติบโตขึ้นมาในลักษณะดังกล่าว ยังส่งผลให้เด็กกลายเป็นคนที่ทำอะไรก็ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง สนองตอบความถูกใจของตนเองเป็นหลักโดยไม่สนใจว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นจะเหมาะสมหรือไม่ อีกทั้งยังทำให้เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสแสดงอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง หึงหวง รุนแรงกว่าคนทั่วไปด้วย
อย่างไรก็ดี สำหรับการเริ่มต้นใหม่เราได้รวบรวมแนวทางแก้ไขสำหรับพ่อแม่ผู้ประสบปัญหาดังกล่าวเอาไว้ด้วย โดยอาจเริ่มได้จาก การเรียนรู้ความต้องการของลูกในแต่ละช่วงวัย เพื่อรับรู้ถึงอารมณ์ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูก อีกทั้งยังต้องหัดแสดงออกถึงความรัก ความอบอุ่นกับลูก เพื่อที่ลูกจะได้ไม่ต้องพึ่งพาสิ่งเร้าภายนอก หรือหากจะลงโทษก็ไม่ควรลงโทษแบบรุนแรงไร้เหตุผล หรือการพูดจาทับถมให้ลูกเป็นทุกข์มากกว่าเดิม ควรเปลี่ยนเป็นการพูดคุย แลกเปลี่ยน หรือตั้งกฎกติการ่วมกัน ก็จะช่วยให้ความรุนแรงในชีวิตเด็กหายไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เทคโนโลยี...แรงบันดาลใจ หรือยาพิษ
หากกล่าวว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เป็นภัยประการที่สองของครอบครัวในยุค 2552 ก็คงไม่ผิดนัก เพราะในขณะที่คนส่วนมาก โดยเฉพาะผู้พัฒนาเทคโนโลยีจากโลกไอทีมักจะกล่าวถึงความล้ำเลิศของสินค้าและบริการที่ตนเองพัฒนาอยู่เสมอ ๆ ว่า สามารถช่วยย่อโลกให้เล็กลง ช่วยให้ผู้คนได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่สำหรับสถาบันครอบครัวแล้ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้นเปรียบได้กับดาบสองคมที่พร้อมจะสร้างบาดแผลและความเจ็บปวดให้กับเด็ก ๆ หรือแม้แต่ผู้ปกครองหากหยิบใช้ผิดวิธี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านชุมชนออนไลน์ เฟสบุ๊ก ยูทูบ เกม โทรศัพท์มือถือ จนเกิดเป็นพฤติกรรมเสพติด อันนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ฯลฯ
ไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้นอีกตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยีอย่างง่ายดาย ผู้ใหญ่วัยพ่อแม่เองก็หนีจากความเสี่ยงเหล่านั้นไม่พ้น โดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ทำการวิจัยกลุ่มพ่อแม่วัยผู้ใหญ่พบว่า มีถึง 14 เปอร์เซ็นต์ที่ยอมรับว่า ตัดขาดจากอินเทอร์เน็ตเป็นเวลานาน ๆ ไม่ได้ และมีจำนวน 9 เปอร์เซ็นต์ที่พยายามจะปิดบังความต้องการการใช้อินเทอร์เน็ตไม่ให้คนในครอบครัวล่วงรู้ ขณะที่อีก 8 เปอร์เซ็นต์ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นหนทางในการแก้กลุ้มเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริง
อีกทั้งยังมีผลการวิจัยจากศูนย์ Annerberg แห่ง University of Southern California ที่ระบุว่า อินเทอร์เน็ตนั้นเป็นหนึ่งในตัวการทำลายครอบครัวแห่งยุค 2009 อีกด้วย เนื่องจากการเกิดขึ้นของชุมชนออนไลน์ เกม ฯลฯ ทำให้สมาชิกในครอบครัวใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน "น้อยลง" อย่างน่าใจหาย อีกทั้งยังทำให้ครอบครัวขาดทักษะในการสื่อสาร อันนำไปสู่ปัญหาความไม่เข้าใจกันในที่สุด
เพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าวในปีหน้าฟ้าใหม่ หลายหน่วยงานจึงได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจำกัด - ควบคุมการใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีภายในบ้านเอาไว้ดังนี้ 1) ให้ความสนใจกับโลกออนไลน์ของลูก ด้วยการชวนลูกคุย ถามถึงสิ่งที่พวกเขาทำในลักษณะเปิดกว้าง เพื่อให้ลูกเล่าถึงสิ่งที่เขาไปพบเจอได้อย่างสะดวกใจ 2) สอบถามถึง เพื่อนของลูก บนโลกออนไลน์ หรือเพื่อนที่คุยทางโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากคนเหล่านี้ อาจเป็นกลุ่มคนที่ไม่ประสงค์ดี และนำมาซึ่งอันตรายต่อลูก ๆ ในภายหลังได้ 3) สอนให้ลูกรักษาข้อมูลส่วนตัวไว้เป็นความลับ โดยอาจยกตัวอย่าง "คลิปหลุด" เพื่อให้เด็กเห็นภาพได้ชัดเจน และทำให้พวกเขามีความระมัดระวังในการโพสต์ข้อมูลต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น 4) จำกัดการสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยพ่อแม่เป็นผู้กำหนดช่วงเวลาในการใช้งานที่เหมาะสมให้กับลูกนั่นเอง
เซ็กส์ก่อนวัยอันควร
ประเด็น เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งจัดเป็นภัยที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้เกิดขึ้นในครอบครัวได้สูงใน พ.ศ.นี้ มีความสัมพันธ์กับประเด็นของเทคโนโลยีอยู่เป็นอันมาก เนื่องจากเด็กในปัจจุบันนั้นสามารถใช้เครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยได้อย่างคล่องแคล่ว ขณะที่ผู้ปกครองบางกลุ่มไม่สามารถตามเด็กได้ทัน การทำความรู้จักกับเพื่อนที่ไม่เคยเห็นหน้ามาก่อนผ่านทางเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการนัดพบกัน ฯลฯ จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาในข้อนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
อีกทั้งข้อมูลจากการทำโพลล์สำรวจต่าง ๆ มักชี้ให้เห็นว่า อายุเฉลี่ยของเด็กที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์นั้นน้อยลงทุกที โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1) เท่านั้น ส่วนเหตุผลในการมีเพศสัมพันธ์นั้นก็สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมที่เสื่อมทรามลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึกอยากลอง การถูกล่อลวงโดยคนรู้จัก การได้ดูสื่อลามก การเสพยาเสพติด หรือเพียงเพราะอยู่ใกล้ชิดกับเพศตรงข้าม
อย่างไรก็ดี การจะผ่านพ้นปัญหาดังกล่าวไปให้ได้นั้น พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรกล่าวโทษสังคมภายนอกเพียงฝ่ายเดียว เพราะหากบ้านที่เด็กอาศัยอยู่นั้นอบอุ่น มีความรักความเข้าใจ ตลอดจนมีการปลูกฝังสิ่งที่ดีงาม ให้ความรู้กับเด็กอย่างเหมาะสมเกี่ยวกับปัญหาเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เช่น มีความเป็นสุภาพบุรุษ รู้จักการแสดงออกับเพศตรงข้ามอย่างเหมาะสม เอาใจใส่และให้เกียรติเพศตรงข้าม เด็กก็สามารถคิดและตัดสินใจเลือกทางที่ถูกต้อง เพื่อให้ตัวของเขาเองนั้นก้าวข้ามภัยดังกล่าวนี้มาได้อย่างปลอดภัยเช่นกัน
เมื่อไรจะปลอด"หนี้"
ภัยแห่งหนี้ อันเกิดจากการบริโภคโดยปราศจากความยั้งคิดหรือเกิดจากความจำเป็นที่ใหญ่โตเกินไป นำมาสู่ปัญหารายรับไม่พอรายจ่าย เป็นอีกหนึ่งตัวการบ่อนทำลายครอบครัวให้ล่มสลายได้อย่างรวดเร็ว โดยในปัจจุบัน ภาวะหนี้สินส่วนตัวและหนี้สินครัวเรือนของคนไทยตกอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตหลายรูปแบบ เช่น เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การทุจริตคอร์รัปชัน การซื้อสิทธิขายเสียง และการก่อหนี้สินไม่มีที่สิ้นสุดในหมู่ประชาชน อีกทั้งข้อมูลจากเอแบคโพลระบุว่า คนไทยเกินครึ่งหรือร้อยละ 54.5 มีหนี้สินส่วนตัว และจำนวนหนี้ส่วนตัวของประชาชนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 304,842.32 บาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี หากมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการหนี้อย่างชาญฉลาด ก็สามารถข้ามพ้นปัญหาดังกล่าวไปได้เช่นกัน ซึ่งคำถามก่อนที่จะตัดสินใจสร้างหนี้ให้กับครอบครัวนั้นมี 3 ข้อ นั่นก็คือ พิจารณาว่าครอบครัวเรามีความจำเป็นหรือไม่ เป็นหนี้ที่มีประโยชน์หรือไม่ และมีความสามารถที่จะจ่ายคืนได้หรือไม่ โดยคำนึงจากรายได้ปัจจุบัน, รายได้ในอนาคต, ค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน, ค่าใช้จ่ายในอนาคต และเงินออมที่มีนั่นเอง
นอกจากนั้น หลักในการบริหารหนี้อย่างรับผิดชอบก็เป็นสิ่งที่ควรพึงระลึกไว้เสมอเช่นกัน อาทิ ต้องไม่เป็นหนี้เกินความจำเป็นหรือเกินความสามารถ (โดยยึดหลักง่ายๆว่า รายได้หลังหักค่าผ่อนชำระหนี้รายเดือนแล้ว ต้องพอจ่ายค่าใช้จ่ายและเหลือเก็บอีกอย่างน้อยสิบเปอร์เซนต์องรายได้) หรือการเลือกเงื่อนไขการผ่อนชำระเช่น เงินดาวน์ ระยะเวลาการผ่อนให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้เป็นหนี้นานเกินไป แต่ก็มีค่าผ่อนต่อเดือนที่เหมาะกับระดับรายได้ด้วย โอกาสแห่งการปลอดหนี้ของครอบครัวก็จะมาถึงไวยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน
อ้วนคุกคามเด็ก
อาจเป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายครอบครัวกำลังเผชิญหน้าอยู่ กับภาพของเด็กชายเด็กหญิงตัวอ้วนจ้ำม่ำ เดินตุ้มต๊ะตุ้มตุ้ยมาพร้อมกับพ่อแม่เพื่อมารักษาอาการอ้วน และขาดอาหารพร้อม ๆ กัน
ภัยจากโรคอ้วนอันเนื่องจากบริโภคอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการกำลังเป็นอีกหนึ่งปัญหาคุกคามอนาคตของชาติอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย เด็กอ้วนต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน หลอดเลือดอุดตัน ฯลฯ ตั้งแต่อายุยังน้อย อีกทั้งยังขัดขวางไม่ให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากเด็กอ้วนจะหิวบ่อย ทำให้ขาดสมาธิในการเรียน และอาจถูกเพื่อนล้อเลียนได้ ไม่เพียงเท่านั้น การอ้วนที่เกิดจากการเลือกรับประทานก็อาจมีผลทำให้เด็ก ๆ ขาดอาหาร และมีปัญหาทางโภชนาการได้ในที่สุด
หากกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กอ้วนในยุคนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง ไม่ทานให้ครบทุกหมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม บ้างเลือกรับประทานเฉพาะเมนูที่ตนเองชื่นชอบ หรือการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน และเค็ม ในปริมาณสูง ตรงกันข้ามกับผักและผลไม้ที่เด็ก ๆ มีแนวโน้มบริโภคลดลง นอกจากนั้น พฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวันของเด็กไทยในยุคนี้ก็ค่อนข้างเร่งรีบ เต็มไปด้วยการเรียนกวดวิชา หรือมิเช่นนั้นก็มีโอกาสเข้าสู่อบายมุข เช่น การเล่นเกมออนไลน์ หรือการมั่วสุมกับเพื่อน ๆ ได้ง่าย เด็กในกลุ่มนี้จึงขาดโอกาสในการออกกำลังกาย ทำให้เกิดการสะสมของพลังงานส่วนเกินในรูปของไขมัน นำไปสู่ปัญหาโรคอ้วนในที่สุด
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กอ้วนได้ง่ายคือผู้ปกครอง โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Potsdam ประเทศเยอรมนี ระบุว่า ผู้ปกครองกลุ่มที่มีน้ำหนักเกิน หรือกำลังเป็นโรคอ้วนอยู่นั้น มีแนวโน้มว่าจะขาดทักษะในการประเมินสุขภาพลูกของตัวเองทั้งในด้านน้ำหนัก และขนาดของร่างกาย เพราะเป็นเรื่องยากมากสำหรับพ่อแม่อ้วนที่จะมองว่าลูกของพวกเขานั้น "อ้วน" กว่าเกณฑ์ปกติ การค้นพบครั้งนี้จึงถือเป็นความท้าทายครั้งใหม่ในการรักษาเด็กอ้วน เพราะไม่เพียงแต่รักษาเด็ก แต่ยังต้องรักษาผู้ปกครองไปด้วยในคราวเดียวกัน
เมื่อถามถึงผู้ที่จะเข้ามารับผิดชอบแก้ไขปัญหา คงหนีไม่พ้นทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พ่อค้าแม่ขาย นักธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหาร ไม่เว้นแม้แต่บรรยากาศภายในบ้านของแต่ละครอบครัว ว่ามีความจริงจังกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากน้อยเพียงใด หรืออย่างน้อยก็ต้องสร้างความเข้าใจให้พ่อแม่ของเด็กทราบว่า การเกิดโรคอ้วนในเด็กจะทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายหลายอย่างตามมาในอนาคต
ชราอย่างไร้สวัสดิภาพในชีวิต
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในบ้านหนึ่งหลัง ครอบครัวหนึ่งครอบครัวของไทย นอกจากพ่อแม่ลูก ยังมีปู่ย่าตายายที่นับเป็นสมาชิกในครอบครัวอาศัยอยู่ร่วมกันด้วย อีกทั้งในอดีตที่ผ่านมา ค่านิยมของสังคมไทยให้ความสำคัญ และมักแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง แต่จากข้อมูลและการศึกษาวิจัยในปีที่ผ่านมา กลับมีผลการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้สูงอายุในครอบครัวกำลังถูกทารุณกรรมจากบุคคลในครอบครัวหรือก็คือลูกหลานของพวกท่านเองมากที่สุด เช่นใช้วาจา คำพูด กิริยาท่าทางที่แสดงถึงความไม่เคารพ รังเกียจ ไม่เห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ รองลงมาเป็นเรื่องการทอดทิ้ง ไม่ให้การดูแลที่เหมาะสม นอกจากนั้น การเปลี่ยนบทบาททางสังคม เช่น การเสียบทบาทการเป็นหัวหน้าครอบครัว การเสียชีวิตของคู่สมรส ญาติ คนใกล้ชิด หรือเพื่อน ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้ชีวิตในวัยชราของผู้สูงอายุไม่มีความสุขอย่างที่ควรจะเป็น
จากสวัสดิภาพในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีเพิ่มสูงขึ้น โดยหน่วยบริการสังกัดกรมสุขภาพจิต มีการสำรวจพบว่า ในรอบ 5 ปี (พ.ศ.2547-2551) โรคที่ผู้สูงอายุเข้ารับการรักษามากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ 1.โรควิตกกังวล และความเครียด 2.โรคจิต 3.โรคที่มีสาเหตุจากทางสมองและทางกาย เช่น โรคสมองเสื่อม 4.โรคทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า และ 5.โรคที่มีสาเหตุจากสารเสพติด เช่น สุรา
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงการขาดการเตรียมตัวในการเข้าสู่วัยชราของผู้สูงอายุชาวไทยอย่างเห็นได้ชัด ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุแทนที่จะได้ใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายอย่างมีความสุข และเป็นกำลังใจให้ลูกหลาน ส่วนหนึ่งต้องทนทุกข์ และต้องดิ้นรนหาทางออกให้กับตัวเองในรูปแบบต่าง ๆ
สำหรับปีใหม่ที่กำลังใกล้เข้ามาถึง นอกจากจะเป็นปีแห่งการเริ่มต้นใหม่ของลูกหลานวัยทำงานแล้ว กลุ่มผู้สูงอายุก็ไม่ควรถูกละเลยเช่นกัน ซึ่งลูกหลานสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ในหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นของขวัญทางใจ 5 ประการ ได้แก่1. การมอบความรัก เคารพยกย่องให้เกียรติ ห่วงใย เอื้ออาทร ทั้งการกระทำและคำพูด
2.มอบความเข้าใจ โดยต้องยอมรับธรรมชาติของผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมไปตามวัย เข้าใจถึงวัยและสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลง อาจมีการหลงลืม หรือกระทำเรื่องเดิมซ้ำๆ
3.มอบการสัมผัส เช่น การกอด บีบนวด จับมือ เพื่อถ่ายทอดความรัก
4.มอบเวลา ด้วยการพาท่องเที่ยว พูดคุยถามทุกข์สุข ความเป็นอยู่ และ
5.มอบโอกาส การเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุแสดงประสบการณ์ หรือความภาคภูมิใจ และสนใจเรื่องราวต่างๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้ได้ทำงานหรือกิจกรรมที่สามารถทำได้
แม้ว่าปีที่ผ่านมา จะมีภัยมากมายรายล้อมตัวที่พร้อมจะทำลายสถาบันครอบครัวให้ล่มสลายได้ทุกเมื่อ แต่การปรับเปลี่ยนทัศนคติ มุมมอง และการใช้ชีวิต ของสมาชิกทุกคนในครอบครัวให้เป็นไปในทางที่ดีก็จะสามารถช่วยให้ปีที่กำลังจะมาถึงนี้ เป็นปีที่ดีกว่าปีเก่าได้เช่นกัน
Life & Family / Manager online