คิดเตรียมตัวตายกันบ้างก็น่าจะดี
  จำนวนคนเข้าชม  8189

 

คิดเตรียมตัวตายกันบ้างก็น่าจะดี       


โดย อ.วิทยา  วิเศษรัตน์    

 

           การเกิดการมาเป็นมนุษย์ต้องพบกับอุปสรรคนานาประการโดยเฉพาะคนที่ใช้ชีวิตที่ฝ่าฟันให้บรรลุถึงเป้าหมาย หากเป็นเป้าหมายที่สูงก็จะต้องพบกับสิ่งกีดขวางมากขึ้นกว่าเดิม

              ส่วนคนที่ยอมแพ้กับชีวิตคือได้แต่ฝัน แต่ไม่คิดตื่นขึ้นมาทำให้ความฝันเป็นจริง โดยมีความชื่นชอบอยู่กับความฝัน เพราะคนที่ชอบฝันก็ต้องชอบนอน เพราะความฝันมันมาเวลานอนเท่านั้นถึงแม้นอนกลางวันก็ฝันได้เรียกว่าฝันกลางวัน

               คนเรานั้นจะคิดอย่างไร จะฝันอย่างไร จะมีแนวทางอย่างไร แต่วันหนึ่งก็ต้องพบกับสิ่งที่ไม่อยากจะพบนั้นคือ ความตาย และไม่ว่ามนุษย์หน้าไหนที่กล้าพูดว่าฉันไม่กลัวตาย  ความตายจะเดินทางมาหามนุษย์โดยไม่บอกล่วงหน้า และต้องมาอย่างแน่นอน      เราได้เตรียมพร้อมที่จะพบกับมันจึงเป็นความชาญฉลาด

ดังที่ท่านนะบี    ได้ถูกถามว่า   ใครคือผู้ศรัทธาที่ประเสริฐยิ่ง   

ท่านตอบว่า  ผู้มีนิสัยดี

และใครคือผู้ศรัทธาที่ฉลาด  

ท่านตอบว่า   คนที่นึกถึงความตายบ่อยๆ พร้อมทั้งเตรียมตัวอย่างดี  เพราะว่าหลังจากการตาย  พวกเขา คือ คนฉลาด

(จากหะดิษอิบนูมาญะฮฺ)

ท่านนะบี     ยังได้กำชับอีกว่า

“ท่านทั้งหลายจงระลึกถึงความหมดอร่อยให้มากๆ มันคือความตาย"

(รายงานหะดิษโดยนะซาอี อิบนูมาญะฮฺและตัรมีซีร์)

             แม้จะเป็นคำพูดประโยคสั้นๆ แต่ให้ข้อคิดเตือนใจแก่ทุกคนตลอดชีวิต เพราะจะทำให้เราเป็น

                        - คนรู้จักพอ
                        - คนที่ไม่อิจฉาริษยาใคร
                        - คนที่ไม่คิดเอาเปรียบใคร
                        - คนที่จะไม่คิดทำชั่ว และจะทำแต่กรรมดี

              เพราะรู้ดีว่าชีวิตหลังจากตายต้องอาศัยความดีของตัวเอง จะพึ่งได้ก็คือลูกที่ซอและห์เท่านั้น แต่ในยุคนี้เริ่มหายาก เนื่องจากไม่ได้เรียนรู้ศาสนา การที่จะขอดุอาอฺให้คนตายมีผลหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ แม้แต่ตัวเองจะช่วยได้หรือไม่ยังไม่มีใครรับรองได้

            ฉะนั้นคนที่ยังอร่อยอยู่กับชีวิตดุนยาอยู่เพราะเขาไม่เคยนึกถึงความตาย และไม่รู้ว่าตายไปแล้วจะได้พบกับอะไรแต่เมื่อใดที่นึกถึงความตาย เมื่อนั้นความโอหัง ความหยิ่งยโส และการยกตนข่มท่าน ก็จะถูกทำให้สลายไปจากจิตใจ
                      
          คำเตือนในเรื่องนี้ของคนยุคแรกคือ

 “จงทำงานเพื่อโลกหน้าเสมือนว่าท่านจะตายในพรุ่งนี้ และจงทำงานเพื่อโลกนี้เสมือนว่าท่านจะไม่ตายตลอดไป”

            คำพูดดังกล่าวเป็นเพียงคำปลอบใจให้เรารู้จักการแยกความรู้สึกระหว่างการทำอิบาดะฮฺกับการทำงานเพื่อชีวิตนี้หรือเรียกว่ามูอามาละฮ์ แต่ในความเป็นจริงนั้นทุกคนต้องพบกับตายดังที่อัลลอฮ์  ได้ตรัสไว้ว่าความว่า

 “ทุกชีวิตต้องสัมผัสกับความตาย” (3,185)

             อายะฮฺข้างต้นบอกให้เราได้รู้ว่า ไม่มีใครที่จะหนีความตายไม่ว่าจะรวยหรือจน ไม่ว่าจะใหญ่โตคับบ้านคับเมืองหรือกระจอกในสังคม ทุกคนตายไปแล้วร่างกายก็กลายเป็นดิน

                        นักวิชาการท่านหนึ่งชื่อ ยะซีด อัร-รอกอซ ได้พูดกับตัวเองว่า

                        - โอ้ตัวฉันใครจะละหมาดให้ฉันหลังจากที่ฉันตาย
                        - โอ้ตัวฉันใครจะถือศีลอดให้ฉันหลังจากที่ฉันตาย
                        - ใครจะแสวงหาความพอพระทัยจากพระเจ้าให้แก่เจ้าหลังจากตาย
                        - หลุมฝังศพคือบ้าน ฝุ่นคือที่นอน
                        - หนอนคือเพื่อนสนิท     .... เมื่อเขาพูดจบเขาก็ร้องไห้จนเป็นลมล้มลง
                   

         แน่นอนคนที่ระลึกถึงความตายมากๆ จะได้รับเกียรติ 3 ประการคือ

                        - การรีบสำนึกผิด
                        - ความพอใจของจิตใจ
                        - และความกระตือรือร้นในกรทำอิบาดะฮฺ

ตรงกันข้ามคนที่ไม่นึกถึงความตายก็จะพบกับสิ่ง 3 ประการเช่นกันคือ

                        - ล่าช้าในการเตาบะฮฺ
                        - ไม่พอใจกับความพอเพียง
                        - และเกียจคร้านในการทำอิบาดะฮฺ

ผู้มีปัญญาทั้งหลายคงแยกแยะได้และรู้จักเลือกข้างได้อย่างถูกต้อง


www.cicot.or.th