ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ บารู
Asst.Prof. Dr.Worawit Baru
ตำแหน่งงานปัจจุบัน
- สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดปัตตานี (สว.)
- ประธานสหกรณ์ อิบนุ อัฟฟาน จำกัด
- อาจารย์พิเศษ
ประวัติการศึกษา
- (รายละเอียดยังมาไม่ถึงค่ะ)
ประวัติการทำงาน
- (รายละเอียดยังมาไม่ถึงค่ะ)
สนทนา ถาม-ตอบ
Islammore : อาจารย์มีตำแหน่งงานหลายอย่าง มีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกัน อาจารย์ ชอบงานไหนมากที่สุด ?
Dr.Woraeit Baru : ตอนนี้ผมเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็น สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปัตตานี (สว.) และเป็นประธานสหกรณ์ อิบนุ อัฟฟาน
ตามจริงแล้วผมชอบเป็นอาจารย์ ผมชอบงานสอนมากที่สุด แต่งานที่มีความภาคภูมิใจมากที่สุดคือ การก่อตั้งสหกรณ์อิบนุอัฟฟาน เพราะเป็นสหกรณ์ของมุสลิมอย่างแท้จริง และเป็นงานที่มีระบบการทำงานตามหลักชะรีอะฮ์(กฏหมายอิสลาม) ธุรกิจใดที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย หรือก้ำกึ่งในการตีความเราจะไม่ทำ ส่วนตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพราะเราต้องการต่อสู้เพื่อพี่น้องมุสลิม และมีการประชุมกันในกลุ่มญามาอะฮ์แล้วว่าสมควรที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ จึงลงแข่งขันเลือกตั้งเพื่อทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
Islammore : แนวทางและหลักการทำงานมีอะไรบ้าง ?
Dr.Woraeit Baru : การทำงานของผมจะมีคณะชูรอ(ที่ปรึกษา) เป็นกลุ่มญามาอะฮ์ เป็นการทำงานแบบญามาอะฮ์ เพราะในอัลกุรอาน ได้ระบุถึงการทำงานว่าควรผ่านขั้นตอน ขบวนการชูรอ แม้กระทั่งนะบีมุฮัมมัด ยังปรึกษากับบรรดาศอฮาบะฮ์ ก่อนทำการรบ เพราะฉะนั้นแนวทางและหลักการของผมจะมีผู้ร่วมทำงานและที่ปรึกษาในงานต่างๆเสมอ
Islammore : อาจารย์มีอุปสรรค ในการทำงาน และวิธีการแก้ไขอย่างไร ?
Dr.Woraeit Baru : งานทุกอย่างมีอุปสรรค ยิ่งงานที่เกี่ยวข้องและยืนหยัดตามหลักการศาสนาอิสลาม ยิ่งมีอุปสรรคมากกว่างานอื่นๆ อย่างที่อิสลามมอร์ทำอยู่ก็ต้องมีอุปสรรคเหมือนกันใช่ไหม ! เมื่อมีการเริ่มต้นในการทำงาน ก็จะมีการโจมตีกันต่างๆนานา การใส่ร้ายป้ายสี เราก็จะอธิบายเท่าที่เราสามารถให้พี่น้องมุสลิมได้เข้าใจ ส่วนการแก้ปัญหา คือ การอดทน (ซอบัร)เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด และปรึกษาหารือกันถึงแนวทางในการแก้ปัญหานั้นๆ
Islammore : การทำงานกับคนต่างศาสนิกมีปัญหาหรือไม่ ? และมีการอธิบายให้พวกเขาเข้าใจเราได้อย่างไร ?
Dr.Woraeit Baru : สำหรับผม ไม่มีปัญหา เพราะทุกอย่างอยู่ที่การวางตัวบุคคลิกภาพของเรา ถ้าเราปฏิบัติต่อเขาดี ให้เกียรติกับเขา เขาก็จะให้เกียรติเรา และปฏิบัติตอบกลับเราอย่างดีเช่นกัน ยกเว้นผู้ที่ต่อต้านจริงๆ ก็มีบ้าง ส่วนมากจะขึ้นอยู่กับวิธีคิด ทรรศนคติของแต่ละคนซึ่งต่างกัน เราปฏิบัติโดยการให้ความเคารพเขา เขาก็ให้ความเคารพต่อเราเช่นกัน จนเดี๋ยวนี้เพื่อนๆผมที่เป็นคนต่างศาสนิก เวลาไม่เข้าใจอะไรเกี่ยกับอิสลามก็จะมาถามผม เราก็จะตอบในส่วนที่เราสามารถตอบได้ครับ เพราะคำถามจะเป็นคำถามโดยทั่วไปที่คนต่างศาสนิกสนใจเหมือนๆกันอยู่แล้ว
Islammore : อาจารย์มีส่วนในการเผยแพร่ศาสนาหรือไม่ ?
Dr.Woraeit Baru : โดยส่วนใหญ่เราจะพูดกันในหลักการ เช่น ทำไมอิสลามไม่ให้กินดอกเบี้ย เพราะตอนนี้เราก็สามารถพิสูจน์แล้วว่า ดอกเบี้ย ทำให้คนล่มจมอย่างไร และคนที่มาฝากเงินในสหกรณ์เขาก็จะเลือกทำตามหลักการอิสลาม เราจะไม่มีดอกเบี้ยให้ แต่คนที่เป็นสมาชิกจะมีเงินปันผล และซะกาตของสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนุอัฟฟาน เราก็แจกจ่ายให้กับสมาชิกของเราเช่นกัน
และตามรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตามความเชื่อในศาสนาของตนเองได้อย่างเสรี
และการคบค้าสมาคมกับคนต่างศาสนิก ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการดะวะฮ์อิสลามให้พวกเขาได้เข้าใจ
Islammore : ปัญหาต่างๆ ของภาคใต้อาจารย์คิดว่าเกิดจากสาเหตุใดเป็นสำคัญ และสามารถแก้ไขได้หรือไม่ และเราจะมีวิธีการแก้ไขได้อย่างไร ?
Dr.Woraeit Baru : อาจารย์คิดว่า เกิดจากความล้าหลังในทรรศนะคติของคนไทย ที่คิดว่ามุสลิมต้องเรียนแต่ศาสนา พวกที่จบจากต่างประเทศจะต้องเรียนแต่ศาสนา แล้วทำอะไรไม่เป็น ทำให้พวกเขาเกิดอคติกับนักศึกษาที่จบมาจากต่างประเทศ ทั้งๆที่นักศึกษามุสลิมไปเรียนในสาขาวิชาการต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ศาสนา เหมือนกับคนไทยที่จบจาก สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตเรีย หรือประเทศอื่นๆ เพียงแต่มุสลิมจะเดินทางไปเรียนในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม เพื่อสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ และอาหารการกินก็อุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องระแวดระวังว่าจะกินในสิ่งที่ผิดหลักการ เช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับอิมิเรต คูเวต จอร์แดน และทางยุโรปตะวันออก และที่อื่นๆอีกมากมาย
ทรรศนคติของคนไทยและรัฐบาลจะต้องเปลี่ยน เพราะคนที่จบศาสนาเป็นกลุ่มคนที่จะมาทำงานให้ทางจังหวัดชายแดนภาคใต้สงบสุข มาเผยแพร่หลักการศาสนาที่แท้จริง มิใช่กลุ่มที่จะมาก่อการร้ายดังที่คิดกันอยู่ในปัจจุบัน หลักการศาสนาที่แท้จริงจะนำมาซึ่งความสงบสุขของพี่น้องทางภาคใต้
อีกปัญหาหนึ่งเกิดจากการไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างชาติของพี่น้องในพื้นที่ คนในท้องถิ่นไม่มีโอกาสในการร่วมบริหารงาน และพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ดังเช่น
มุสลิมทั้งหมดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 87% คนต่างศาสนิก 13%
แต่มีข้าราชการที่เป็นมุสลิมเพียง 6% และข้าราชการที่เป็นคนต่างศาสนิกมากถึง 94%
แล้วอย่างนี้จะบอกว่าเขามีส่วนในการสร้างชาติได้อย่างไร การที่รัฐไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้บริหารจัดการในท้องถิ่นของตนเอง ทำให้พวกเขามีอคติกับรัฐ และเจ้าหน้าที่ที่ลงไปทำงานในพื้นที่ ปัญหาต่างๆจึงไม่จบเสียที รัฐบาลจะต้องเปิดทรรศนะคติเสียใหม่ อย่ากลัวว่าถ้าพัฒนาแล้วเขาจะแยกเมืองเป็นรัฐปัตตานี มุสลิทุกคนรักแผ่นดินนี้ และประเทศไทยมีอะไรที่ดีๆอีกมากมาย เป็นประเทศที่มีสิ่งที่สวยงามแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ถ้ามีการพัฒนาทางภาคใต้ ก็จะส่งผลถึงการพัฒนาประเทศไทยอีกด้วย
นักศึกษามุสลิมที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ พวกนี้เขามีความรู้และมีมุมมองในการพัฒนา เพราะเขาไปยู่ในประเทศที่เจริญทั้งด้านวัตถุและมีความเข้มข้นทางด้านศาสนา เพราะฉะนั้นการทำงานของพวกเขาจะมาช่วยพัฒนาประเทศมากกว่าที่จะมาทำลาย หรือแยกตัวออกไป ปัจจุบันนักศึกษามุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้จบการศึกษาจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่จึงไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ไปพัฒนาประเทศมาเลเซีย เพราะรัฐบาลไทย ประเทศไทยไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชาติ เพื่อความเจริญในท้องถิ่น ไปสู่ความเจริญในประเทศไทย
เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องเปลี่ยนกระบวนทรรศใหม่ ไม่ใช่พูดแต่ว่าประเทศไทยเป็นพหุสังคม เป็นสังคมที่มีความหลากหลาย แต่วิธีปฏิบัติกลับใช้แบบแผนเดียวกัน มันจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และรัฐไม่ให้เกียรติพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ คนท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมในการสร้างชาติ
ปัญหาทางด้านภาษา และการสื่อสารอาจารย์คิดว่ามีส่วนหรือไม่ ?
ส่วนปัญหาทางด้านภาษา ก็เป็นปัญหา แต่เป็นปัญหารอง เพราะเมื่อมีคนเข้าไปอยู่ทุกคนก็จะสามารถปรับตัวได้ และเยาวชนมุสลิมสมัยนี้พูดภาษาไทยกันได้ทั้งนั้น เพราะรัฐบังคับให้เรียนประถมในโรงเรียนของรัฐที่สอนภาษาไทย แต่ที่มุสลิมไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้ดี คงต้องย้อนไปดูที่วิธีการสอนที่รัฐจัดหลักสูตรไปให้ ว่ามีความเหมาะสม หรือ สามารถสอนให้เด็กๆรู้เรื่องหรือไม่ !
ดูอย่างเด็กมุสลิมที่ไปเรียนต่างประเทศในกลุ่มประเทศอาหรับ บางคนยังใช้ภาษาอาหรับไม่เป็นเลย แต่นักศึกษาที่ไปเรียนต้องเรียนทางด้านภาษาอาหรับประมาณ 2 ปี และถึงจะเรียนวิชาการต่างๆได้ ทำไมทางประเทศอาหรับเขาใช้หลักสูตรอะไร วิธีการอย่างไร ทำให้นักศึกษาสามารถเข้าใจในภาษาอาหรับเพื่อศึกษาหาความรู้ได้ แต่เด็กมุสลิมประเทศไทยเรียนภาษาไทยตั้งแต่ประถม กลับไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้ดี ทั้งๆที่เป็นภาษาประจำชาติ !
Islammore : จากการสำรวจทำไมเยาวชนมุสลิมเป็นกลุ่มที่ไม่รู้หนังสือ ทั้งๆที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนปอเนาะแถบทุกตำบลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ?
Dr.Woraeit Baru : ผมไม่เชื่อผลการสำรวจนั้น อาจจะสำรวจเฉพาะภาษาไทย แต่สมัยนี้เยาวชนมุสลิมสามารถอ่านภาษาไทยได้หมดแล้ว แต่อาจจะอ่อนทางด้านภาษาไทยมากกว่าที่อื่น และผมยอมรับว่าความอ่อนภาษาไทย มีส่วนในการทำให้การเรียนในวิชาอื่นๆอ่อนตามไปด้วย แต่อย่างที่บอก เราต้องย้อนกลับมาดูหลักสูตรการสอนในระดับประถมที่รัฐบังคับให้เรียน ว่ามีการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพหรือไม่
Islammore : อาจารย์คิดว่าเราควรจะปรับปรุงแก้ไขปัญหาเยาวชนมุสลิมอย่างไรบ้าง ?
Dr.Woraeit Baru : คงต้องเริ่มจากครอบครัว ตอนนี้ครอบครัวมุสลิมมีพื้นฐานทางศาสนาที่อ่อนแอมาก พ่อจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับครอบครัวให้มากๆ และมีส่วนในการเลี้ยงดูลูกๆ เพราะตอนนี้บางครอบครัวปล่อยให้ลูกสาวไปพูดคุยกับทหาร กลับมาก็ค่ำมืดดึกดื่น โดยที่พ่อแม่ไม่สนใจตักเตือน ส่วนเยาวชนชาย ก็มีปัญหาในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เราต้องหันมาดูแลทางด้านสังคมครอบครัวกันอย่างจริงจัง
Islammore : อาจารย์คิดว่า ถ้ามีงบประมาณจำนวนมหาศาลทุ่มลงไปเพื่อพัฒนาในพื้นที่ เหตุการณ์ต่างๆจะสงบลงหรือไม่ และปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากการขาดงบประมาณ หรือการขาดความรู้ของคนในพื้นที่ ?
Dr.Woraeit Baru : พัฒนาด้วยวัตถุอย่างเดียวคงยังไม่จบ ใขณะที่ยังมีปัญหาทางด้านความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมในสังคมอยู่ และการไม่เข้าใจสิทธิขั้นพื้นฐานในการปฏิบัติทางด้านศาสนา เช่น การคลุมฮิญาบของนักเรียนพยาบาล ซึ่งยังไม่สามารถคลุมได้ ทั้งๆที่กระทรวงอนุมัติ แต่หัวหน้าฝ่ายสภามหาวิทยาลัยพยาบาลไม่ยอมอนุมัติ และเขาก็ไม่มีเหตุผลว่าทำไมด้วย เขาบอกว่าไม่อนุมัติ แต่พอที่ประชุมถามเหตุผล กลับไม่ตอบ นิ่งเฉยเสียอย่างนั้น
อาจเป็นเพราะนักศึกษาพยาบาลบางส่วนคลุม บางส่วนไม่คลุม หรือเปล่า จึงทำให้เขามีข้อแตกต่างในการไม่เห็นความจำเป็น เพราะนักศึกษามุสลิมะฮ์บางคนคลุมฮิญาบ ส่วนบางคนไม่คลุม
คงไม่ใช่ เพราะนักศึกษาเขามีกลุ่มในการเรียกร้อง รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง บางคนลาออกเลย ไม่เรียนต่อเพราะไม่ยอมให้คลุมฮิญาบ นักศึกษาจะคลุมฮิญาบมาที่วิทยาลัยอย่างดีเลย แต่พอขึ้นวอร์ด เขาบังคับให้ถอด ถ้าไม่ถอดก็ไม่ให้เรียน เพราะฉะนั้นเลยต้องถอดฮิญาบออก ผมถือว่าอัลลอฮ์ ทรงรับรู้ในเจตนาของนักศึกษามุสลิมะฮ์ครับ และเราก็ต้องเรียกร้องกันต่อไป ส่วนผู้ที่จบแล้ว เป็นพยาบาลอาชีพ สามารถคลุมฮิญาบได้ไม่เป็นไร ทางพยาบาลเขาอนุญาตครับ เพราะมีการเรียกร้องกันอย่างเข้มแข็งตั้งแต่รุ่นแรกๆ
Islammore : นครรัฐปัตตานี อาจารย์คิดว่าสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ ?
Dr.Woraeit Baru : ผมว่าเราอย่าเพิ่งพูดถึง รัฐปัตตานี เลยครับ ที่จะต้องพูดกัน คือการบริหารจัดการปัตตานี สังคมปัตตานี ถ้าจะให้สังคมเป็นสุขได้ในประเทศนี้ รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง รัฐต้องเปลี่ยนกระบวนทรรศในการคิด และทัศนคติใหม่ เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม อย่ากลัวว่ามุสลิมจะแยกตัวออกไป ถ้ารัฐให้ความยุติธรรมกับคนในท้องถิ่น คนในพื้นที่นั้นๆ ไม่เฉพาะสามจังหวัดชายแดนใต้ อย่างตอนนี้เมืองที่ปกครองตนเอง บริหารจัดการทางด้านภาษีเองก็จะมีกรุงเทพ และ พัทยา ส่วนเชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวเหมือนกันก็ยังไม่ได้บริหารจัดการเอง ส่วนปัตตานีเป็นสังคมที่มีประเพณีวัฒนธรรมและศาสนาแตกต่างอย่างเด่นชัด ควรจะปล่อยให้มีโอกาสในการบริหารจัดการเมืองเองด้วย แต่ยังอยู่ภายใต้การปกครองส่วนกลางของรัฐบาล
Islammore : การทำงานทางด้านสหกรณ์ อิบนุ อัฟฟาน มีรูปแบบการทำงานอย่างไร ?
Dr.Woraeit Baru : เป็นแบบสภาชูรอ ผมจะมีที่ปรึกษาทางด้านศาสนาในทุกผลิตภัณฑ์ที่มีการดำเนินการภายใต้สหกรณ์ อิบนุ อัฟฟาน
Islammore : การทำธุรกิจ ต้องมีการแสวงหากำไร เรามีวิธีการให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการเข้าใจได้อย่างไร ?
Dr.Woraeit Baru : คนที่เข้ามาใช้บริการในสหกรณ์อิบนุอัฟฟาน จะเป็นสิ่งที่เขาเลือกเข้ามาเอง เข้าใจในรูปแบบของสหกรณ์ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าเงินฝากไม่มีดอกเบี้ย มีการผ่อนของ มีโปรแกรมอื่นๆอีก มีสวัสดิการให้สมาชิก มีการจ่ายซะกาต ตอนนี้เรามีสมาชิก สี่หมื่นกว่าคนแล้ว มีสาขาอยู่ 7 สาขา
Islammore : คนที่ทำธุรกิจ กับคนที่เรียนศาสนา สามารถเป็นบุคคล คนดียวกันได้หรือไม่ ?
Dr.Woraeit Baru : ได้แน่นอน และจริงๆแล้วอยากให้คนที่เข้าใจในด้านศาสนามาบริหารงานทางด้านธุรกิจ เพราะธุรกิจต้องดำเนินภายใต้หลักการศาสนาถึงจะเป็นงานที่มีความจำเริญ(บารอกัต) แต่เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ เราต้องมอบหมายงานให้คนอื่นๆ ให้พวกเขาได้ทำในหน้าที่ ที่พวกเขาถนัด
Islammore : การใช้ภาษามลายู ภาษาไทย อันไหนมีความสำคัญมากกว่ากัน ปัจจุบันอาจารย์ใช้ภาษาอะไรในการติดต่อสื่อสาร ?
Dr.Woraeit Baru : แต่ละภาษามีความสำคัญแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเราใช้ภาษาในระดับการทำงานอย่างไร เช่น ถ้าเราอยู่ในประเทศไทย เราทำงานร่วมกับคนไทยก็ต้องรู้ภาษาไทย เพราะเป็นภาษาประจำชาติ ส่วนภาษามาลายูเป็นภาษาท้องถิ่น เช่นเดียวกับ ภาษาเหนือ หรือภาษาของเผ่าม้ง ก็เป็นภาษาประจำท้องถิ่นทางภาคเหนือ ภาษาอีสาน(ลาว) หรือ ภาษาเขมร ก็เป็นภาษาท้องถิ่นประจำภาคอีสาน ภาษาไทยสำเนียงใต้ก็เป็นภาษาประจำท้องถิ่นในภาคใต้ ภาษากลางบางพื้นที่ก็มีสำเนียงไม่เหมือนกัน นั่นก็เป็นภาษาท้องถิ่นของคนทางภาคกลาง เพราะฉะนั้นภาษามลายู ก็เป็นภาษาท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดนใต้ และบางอำเภอของสงขลา และสตูล ที่มีอณาเขตชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย
เพราะฉะนั้นแต่ละท้องถิ่นมีภาษาของตนเอง แต่ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ เป็นภาษาประจำชาติไทย ทุกวันนี้ผมก็ใช้ภาษาไทยในการติดต่อสื่อสาร ประชุมสภา แต่เมื่อผมกลับบ้านผมก็ใช้ภาษามลายูกับคนในพื้นที่ กับครอบครัว ซึ่งมันเป็นเอกลักษณ์ของคนในท้องถิ่นนั้นๆ
Islammore : ภาษามลายูในสามจังหวัดชายแดนใต้ กับมลายูในประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ?
Dr.Woraeit Baru : ภาษามลายูในสามจังหวัดชายแดนใต้ คือ ภาษามลายูท้องถิ่น ส่วนภาษามลายูในมาเลเซียก็จะไม่เหมือนกันในแต่ละท้องถิ่น เช่นเดียวกับภาษาในภาคต่างๆของประเทศไทย และทางอินโดนีเซียก็เช่นกัน แต่โดยรวมแล้ว คนที่พูดภาษามลายูได้ก็จะฟังกันรู้เรื่อง ประมาณ 50% ทีมีความคล้ายกันทางด้านการสื่อสาร
Islammore : ภาษาอาหรับ ปัจจุบันมีความสำคัญหรือไม่อย่างไร ?
Dr.Woraeit Baru : ภาษาอาหรับไม่เฉพาะเป็นภาษาที่ใช้ในการอ่านอัลกุรอาน ในงานด้านศาสนาอย่างเดียว ปัจจุบันภาษาอาหรับยังใช้ติดต่อสื่อสารกันทั่วโลก และเป็นภาษาหนึ่งในภาษาของสหประชาชาติ ในยุโรปตะวันออกจะใช้ภาษาอาหรับกันมาก ในฉลากสินค้าจะมีภาษาอาหรับระบุไว้ด้วย ในเชิงธุรกิจปัจจุบันภาษาอาหรับมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะตามโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องการล่ามภาษาอาหรับกันมากขึ้น
Islammore : มีภาษาอะไรบ้างที่เยาวชนมุสลิมจะต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ ?
Dr.Woraeit Baru : แต่ละภาษามีความสำคัญแตกต่างกัน ภาษามลายู เป็นภาษาท้องถิ่น ภาษาไทย เป็นภาษาประจำชาติ ภาษาอาหรับ เป็นภาษาอัลกุรอานและทางด้านศาสนา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล เพราะฉะนั้นถ้าเราเรียนรู้ยิ่งมากก็จะเป็นประโยชน์กับตนเองมากด้วย
Islammore : การเป็นสมาชิกวุฒิสภา(สว.) อาจารย์ได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง ?
Dr.Woraeit Baru : เลือกตั้งครับ เวลาผมไปหาเสียง ถ้าใครมาขอเงินผมก็จะบอกว่าไม่มี และถึงมีก็ไม่ให้ ผมต้องการจะทำตามหลักการอิสลาม ต้องการเข้ามาทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง และถ้ามุสลิม มี สว. และ สส. ที่มีความอิคลาศ(บริสุทธิ์ใจ)จำนวนมาก จะทำให้สังคมมุสลิมมีความเจริญมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ด้วยครับ
Islammore : อาจารย์สามารถประสานงานให้รัฐบาลเข้าใจสังคมมุสลิม และวิถีชีวิตของมุสลิมได้อย่างไร ?
Dr.Woraeit Baru : มีการทำงานกันหลายภาคส่วน และองค์กรต่างๆ เช่น NGO ได้เข้าไปดูแลทางด้านสิทธิมนุษยชน ทางด้านของ ศอบต. จะมีการอบรมทหารที่จะลงไปในพื้นที่ให้เข้าใจพี่น้องมุสลิม แต่บางครั้งสถานะการณ์รุนแรง ก็จะทำให้บางท่านขาดสติได้เหมือนกัน
และพี่น้องมุสลิมก็ต้องเรียนรู้และเข้าใจคนอื่นด้วย ไม่ใช่ให้เขาเข้าใจเราอย่างเดียว เราก็ต้องเข้าใจเขาด้วยเช่นกัน ความมั่นคง ของประเทศ คือ ความมั่นคง ของประชาชน
Islammore : อาจารย์คิดว่าโจรใต้ที่ก่อเหตุในปัจจุบัน คือ กลุ่มที่เรียกร้องการแยกตัวเป็นรัฐปัตตานี จริงหรือไม่ ?
Dr.Woraeit Baru : จริงๆแล้วมันมีหลายกลุ่ม กลุ่มที่เรียกร้องก็ยังมีอยู่ กลุ่มที่สร้างสถานการณ์เป็นมือที่สามก็มีเยอะ เราไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกลุ่มไหนแน่นอน
Islammore : อาจารย์แบ่งเวลาทำงานให้กับครอบครัวอย่างไรบ้าง ?
Dr.Woraeit Baru : ผมโชคดีที่แม่บ้าน(ภรรยา)เข้าใจ ดูแลทุกอย่างให้ ดูแลลูกๆ เพราะผมทำงานบางทีไม่มีเวลาให้ครอบครัว คนที่ทำงานเพื่อสังคมต้องระวังครอบครัวให้มากๆ ต้องดูแลครอบครัว ดีที่ลูกๆผมโตกันหมดแล้ว แต่ก็ยังเสียใจที่ตอนเล็กๆ ไม่ได้ใกล้ชิดกับลูกๆมากนัก และไม่ได้พาเขาไปไหนมาไหนด้วยกัน ทำให้ลูกๆไม่กล้าที่จะเข้าใกล้มาหาพ่อเท่าไหร่นัก
Islammore : อยากฝากบอกอะไรถึงเยาวชนและพี่น้องมุสลิมในภาคใต้ ?
Dr.Woraeit Baru : อยากให้มุสลิม เชื่อมั่นในการเรียนรู้สิ่งที่ดีงามในอิสลาม ต้องใฝ่หาความรู้ และรู้จักตั้งคำถาม อย่าเกียจคร้านที่จะถามผู้รู้ เข้าหาผู้รู้เพื่อเรียนรู้ในหลักการที่ถูกต้องตามแบบฉบับท่านนะบีมุฮัมมัด
Islammore : อยากฝากบอกอะไรถึงพี่น้องมุสลิมที่อยู่นอกพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ?
Dr.Woraeit Baru : อยากให้ช่วยกันขอดูอาร์ ให้พี่น้องมุสลิมได้ต่อสู้บนพื้นฐานของหลักการอิสลาม ใช้แนวทางที่สันติ ไม่ใช่การต่อสู้บนพื้นฐานของชาติพันธุ์ ขอให้รับรู้สิ่งปลีกย่อยว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และทำความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะการช่วยเหลือที่ดีที่สุด คือการช่วยเหลือจากพี่น้องมุสลิมด้วยกันเอง
Islammore : อยากฝากบอกอะไรถึงนักการศาสนาที่กำลังฟื้นฟูในหลักการอิสลาม ?
Dr.Woraeit Baru : ต้องใช้กระบวนการดะวะฮ์ อิสลามในทุกระดับ ตามแนวทางของท่านเราะซูล และใช้การรวมญามาอะฮ์ ใช้สภาชูรอ และต้องเชื่อฟังผู้นำในการทำงาน แม้จะขัดกับอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวก็ตาม และให้ยืนหยัดในหนทางของท่านเราะซูลให้มากที่สุด
Islammore : อยากฝากบอกอะไรถึงนักศึกษามุสลิมในต่างประเทศ และในประเทศไทย ?
Dr.Woraeit Baru : สำหรับนักศึกษาในต่างประเทศ ให้ตั้งใจเรียนรู้ความหลากหลายของสังคม ในประเทศนั้นๆ และนำกลับมาประยุกต์ใช้กับสังคมเรา และพยายามเรียนรู้การบริหารจัดการเชิงธุรกิจในรูปแบบอิสลาม เพื่อนำกลับมาใช้กับท้องถิ่นของเรา
สำหรับนักศึกษามุสลิมในประทศไทย พวกเขากำลังตกเป็นเหยื่อของสังคม การล่อลวงต่างๆ อยากให้พวกเขารวมกลุ่มตักเตือนกันในเรื่องศาสนา ร่วมมือกันอย่าให้หลุดออกจากศาสนา เพราะเราอุตส่าห์เรียนจนจบปอเนาะ จบซานาวีย์ แต่กลับมาหลุดออกจากศาสนา ซึ่งมันไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ร่ำเรียนกันมาเลย
Islammore : อยากฝากบอกอะไรถึงพี่น้องต่างศาสนิกในประเทศไทย ?
Dr.Woraeit Baru : ในศาสนาอิสลาม สอนให้อยู่ร่วมกับคนต่างศาสนิกด้วยดี ไม่มีใครทำร้ายใคร ในคำสอนของอิสลามมีการบอกกล่าวถึงความหลากหลายในชาติพันธุ์ ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
Islammore : อยากฝากบอกอะไรถึงรัฐบาล และทหารที่กำลังทำหน้าที่อยู่ในจังหวัดชายแดนใต้ ?
Dr.Woraeit Baru : อยากให้รัฐบาลปรับกระบวนทรรศ ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ให้โอกาส ให้เกียรติ ประชาชนในพื้นที่ และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ถ้าท้องที่ใดสามาถจัดการดูแลกันเองได้ ควรปล่อยให้พวกเขาได้แสดงผลงาน เพราะผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ก็คือรัฐบาลนั่นเอง และไม่อยากให้รัฐบาลหวาดกลัวเกินกว่าเหตุ การกระจายอำนาจมิใช่การแบ่งแยกแผ่นดิน
สำหรับทหาร พี่น้องมุสลิม คือ พี่น้องร่วมชาติของพวกคุณ อย่ามองประชาชนในแง่ร้าย อย่าทำร้ายพวกเขา อย่าไปจับ หรือกักขังพวกเขา โดยที่คุณยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน และ พรก. ไม่ใช่สิ่งที่จะใช้แก้ปัญหาได้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขอขอบคุณ ดร.วรวิทย์ บารู ญาซากัลลอฮุคอยรอน ในการที่อาจารย์ได้สละเวลาพูดคุยสนทนากับทางเว็บไซต์อิสลามมอร์ ทั้งๆที่อาจารย์มีงานและมีประชุมหลายแห่งมากในแต่ละวัน
แต่ด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮ์ จึงทำให้ทางอาจารย์ได้มีเวลาเพื่อให้สัมภาษณ์ในเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสังคมมุสลิม และคนต่างศาสนิกได้เข้าใจอะไรๆมากขึ้น และให้ข้อคิดเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้รัฐบาลนำไปทบทวน เพื่อช่วยกันในการแก้ไขปัญหาทางจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขอให้ผู้มีส่วนร่วม ได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้พี่น้องทุกศาสนาได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างสงบสุข และพัฒนาประเทศไทยให้เจริญยิ่งขึ้นต่อไป อินชาอัลลอฮ์
Admin Islammore