อะไรที่ต้องทำหลังจากหัจญ์ ?
หนึ่งในจำนวนเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญหลังจากที่ได้ปฏิบัติอะมัลไปแล้วก็คือประเด็นการตอบรับอะมัลว่ามันถูกรับหรือไม่ ? เพราะการได้รับเตาฟีกให้ปฏิบัติอะมัลศอลิหฺนั้นถือว่าเป็นนิอฺมัตที่ยิ่งใหญ่แต่ว่ามันจะไม่สมบูรณ์จนกว่าจะได้รับอีกนิอฺมัตหนึ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั่นคือนิอฺมัตการตอบรับจากอัลลอฮฺ
สิ่งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะหลังจากที่เสร็จสิ้นจากภารกิจหัจญ์ที่บ่าวคนหนึ่งได้ทุ่มเทเหนื่อยยากฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆมากมายแต่หากมันกลับไม่ถูกรับแล้วละก็ยังจะมีอะไรที่แย่ไปกว่านี้อีกเล่า ? ย่อมเป็นเรื่องที่เสียหายมากแค่ไหนถ้าหากอะมัลที่คนผู้หนึ่งได้ทำไปกลับถูกปฏิเสธเขาต้องพบกับความเสียหายที่ชัดเจนเป็นแน่แท้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เมื่อได้รู้แล้วว่ามีงานมากมายที่ถูกปฏิเสธและไม่ถูกรับจากผู้ปฏิบัติเนื่องด้วยสาเหตุต่างๆมากมายย่อมเป็นสิ่งที่สมควรต้องรู้เช่นเดียวกันว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยให้อะมัลนั้นถูกตอบรับถ้าหากบ่าวพบว่ามันมีอยู่ในตัวเขาก็จงสรรเสริญอัลลอฮฺและจงยืนหยัดทำต่อไปบนแนวทางนั้นและหากไม่พบว่ามีอยู่ในตัวเขาก็จงให้ความสำคัญเสียตั้งแต่บัดนี้ด้วยการทำอะมัลด้วยความทุ่มเทและบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ
จำนวนมูลเหตุที่จะทำให้อะมัลศอลิหฺนั้นถูกตอบรับคือ
1. การมองว่าอะมัลที่ได้ปฏิบัติไปนั้นเป็นเพียงความพยายามเพียงเล็กน้อยและไม่มีอาการโอ้อวดหรือลำพองตนกับสิ่งที่ได้ปฏิบัติไป เพราะแท้จริงแล้วมนุษย์นั้นถึงแม้ว่าเขาได้ทำอะไรไปมากมายแค่ไหนก็ตามก็ยังไม่นับว่าได้ทำหน้าที่ขอบคุณต่อนิอฺมัตของอัลลอฮฺแม้เพียงนิอฺมัตเดียวที่ปรากฏอยู่บนร่างกายของเขาได้เลย ไม่ว่าจะเป็นหูตาลิ้นหรืออื่นๆและยังไม่นับว่าได้ทำหน้าที่ทดแทนสิทธิของอัลลอฮฺจนครบแล้วเพราะสิทธิของอัลลอฮฺนั้นมีเหลือคณานับเหนือตัวเขา ดังนั้นหนึ่งในคุณลักษณะของผู้ที่บริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺก็คือเขาต้องมองว่าอะมัลที่ได้ปฏิบัติไปเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยเท่านั้นและไม่ถือว่ามันมีค่ามากมายเท่าใดเลยเพื่อไม่ให้เกิดการโอ้อวดกับสิ่งที่ตนได้ทำไป และไม่มีอาการลำพองตนที่อาจจะทำลายผลบุญของเขาและไม่เป็นสาเหตุให้เกิดความรู้สึกเกียจคร้านที่จะทำความดีต่อไป
สิ่งที่จะช่วยให้เกิดความรู้สึกดังกล่าวก็คือการรู้จักอัลลอฮฺและได้ประจักษ์ถึงนิอฺมัตต่างๆอันมากมายของพระองค์รวมถึงการนึกถึงบาปและความบกพร่องของตนเอง
ลองเราพิจารณาดูสิว่าอัลลอฮฺได้สั่งเสียนะบีของพระองค์ไว้อย่างไรหลังจากที่ทรงสั่งใช้ให้ท่านทำในเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากพระองค์ตรัสว่า
﴿يَا أَيُّهَا الْمُدَّثِّرُ ( 1 ) قُمْ فَأَنذِرْ ( 2 ) وَرَبَّكَ فَكَبِّرْ ( 3 ) وَثِيَابَكَ فَطَهِّرْ (4) وَالرُّجْزَ فَاهْجُرْ ( 5 ) وَلَا تَمْنُن تَسْتَكْثِرُ ( 6 ) ﴾ (المدثر)
ความว่าโอ้ผู้ที่ห่มกายเอ๋ยจงลุกขึ้นแล้วเตือนข่าวร้ายเถิดจงกล่าวตักบีรสรรเสริญต่อพระผู้อภิบาลของเจ้าจงทำความสะอาดเสื้อผ้าของเจ้าจงหลีกห่างจากความสกปรกโสมมจงอย่าอวดอ้างว่าได้ทำงานอย่างมากมายแล้ว (อัล-มุดดัษษิรฺ1-6)
2. การกลัวว่าอะมัลที่ทำไปจะถูกปฏิเสธและไม่ถูกตอบรับ แท้จริงแล้วบรรดาสะลัฟศอลิหฺนั้นต่างได้ให้ความสำคัญกับการตอบรับอะมัลมากเป็นอย่างยิ่งกระทั่งพวกเขาถึงกับอยู่ในสภาพแห่งความหวาดกลัวและหวั่นเกรง อัลลอฮฺได้ตรัสถึงสภาพของพวกเขาว่า
﴿وَالَّذِينَ يُؤْتُونَ مَا آتَوا وَّقُلُوبُهُمْ وَجِلَةٌ أَنَّهُمْ إِلَى رَبِّهِمْ رَاجِعُونَ﴾ (المؤمنون : 60 )
ความว่าและบรรดาผู้ที่บริจาคสิ่งที่พวกเขาได้ให้ออกไปโดยที่จิตใจของเขาเปี่ยมไปด้วยความหวั่นเกรงว่าแท้จริงพวกเขาต้องกลับไปหาพระเจ้าของพวกเขา(อัล-มุอ์มินูน60)
ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้อธิบายอายะฮฺนี้ว่าพวกเขาเป็นผู้ที่ถือศีลอดละหมาดบริจาคและกลัวว่าการงานเหล่านั้นจะไม่ถูกตอบรับจากพวกเขา และได้มีรายงานจากท่านอะลีเราะฎิยัลลอฮุอันฮุว่าท่านได้กล่าวว่าพวกท่านจงให้ความสำคัญกับการตอบรับอะมัลมากกว่าที่พวกท่านให้ความสำคัญต่อตัวของอะมัลนั้นเสียเองพวกท่านไม่ได้ฟังที่อัลลอฮฺตรัสไว้หรือว่า
﴿إِنَّمَا يَتَقَبَّلُ اللهُ مِنَ الْمُتَّقِينَ﴾ (المائدة : 27 )
ความว่าแท้จริงแล้วอัลลอฮฺจะทรงรับจากบรรดาผู้ที่ยำเกรง (อัล-มาอิดะฮฺ27)
3. การมีความหวังและขอดุอาอ์ให้มาก แท้จริงการหวั่นเกรงรต่ออัลลอฮฺนั้นไม่เพียงพอทว่าต้องมีคู่ตรงข้ามของมันนั่นคือการหวังต่อพระองค์เพราะการหวาดกลัวโดยไม่มีความหวังเป็นเหตุทำให้เกิดความท้อถอยและหมดหวังส่วนการหวังโดยไม่มีความกลัวจะทำให้เกิดมูลเหตุของความรู้สึกว่าปลอดภัยจากการลงโทษของอัลลอฮฺ ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสิ่งที่น่าตำหนิทั้งสิ้นและมีผลเสียต่อความเชื่อและอิบาดะฮฺของมนุษย์
การหวังว่าอัลลอฮฺจะรับอะมัลพร้อมๆกับการกลัวว่ามันจะถูกปฏิเสธสามารถก่อให้เกิดความรู้สึกนอบน้อมถ่อมตนต่ออัลลอฮฺ แล้วอีมานก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเหตุนั้น เมื่อมีความหวังมนุษย์ก็จะยกมือทั้งสองของเขาเพื่อวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้ทรงรับงานของเขาเพราะพระองค์ผู้ทรงเอกะเท่านั้นที่ทรงสามารถทำเช่นนั้นได้และนี่ก็คือสิ่งที่บิดาของเราท่านนบีอิบรอฮีมและอิสมาอีลอะลัยฮิมัสสลามได้เคยทำเป็นตัวอย่างให้เรามาแล้วเช่นที่อัลลอฮฺได้เล่าถึงพวกเขาเอาไว้เมื่อครั้งที่ทั้งสองได้สร้างกะอฺบะฮฺว่า﴿وَإِذْ يَرْفَعُ إِبْرَاهِيمُ الْقَوَاعِدَ مِنَ الْبَيْتِ وَإِسْمَاعِيلُ رَبَّنَا تَقَبَّلْ مِنَّا إِنَّكَ أَنتَ السَّمِيعُ الْعَلِيمُ﴾ (البقرة : 127 )
ความว่า และจงรำลึกถึงขณะที่อิบรอฮีมและอิสมาอีลได้ก่อฐานของบ้านหลังนั้นให้สูงขึ้น (ทั้งสองได้กล่าววิงวอนว่า) ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าของพวกข้าพระองค์โปรดรับ(งาน)จากพวกข้าพระองค์ด้วยเถิดแท้จริงพระองค์นั้นทรงได้ยินและทรงรอบรู้ (อัล-บะเกาะเราะฮฺ127)
4. อิสติฆฟารขออภัยโทษให้มาก ไม่ว่ามนุษย์จะพยายามมากแค่ไหนเพื่อทำอะมัลของเขาให้สมบูรณ์แท้จริงแล้วเขาย่อมต้องประสบกับการขาดตกบกพร่องอย่างเลี่ยงไม่พ้นดังนั้นอัลลอฮฺจึงได้สอนพวกเราว่าควรจะปรับปรุงแก้ตัวต่อส่วนที่บกพร่องอย่างไรพระองค์ได้สั่งให้เรากล่าวอิสติฆฟารหลังจากที่ได้ทำอิบาดะฮฺต่างๆเสร็จสิ้นพระองค์ตรัสไว้หลังจากที่ได้กล่าวถึงภารกิจต่างๆในหัจญ์ว่า
﴿ثُمَّ أَفِيضُواْ مِنْ حَيْثُ أَفَاضَ النَّاسُ وَاسْتَغْفِرُواْ اللهَ إِنَّ اللهَ غَفُورٌ رَّحِيمٌ﴾ (البقرة : 199 )
ความว่าแล้วพวกเจ้าจงหลั่งไหลกันออกไปจากที่ที่ผู้คนได้หลั่งไหลกันออกไปและจงขออภัยต่ออัลลอฮฺเถิดแท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงเมตตาเสมอ (อัล-บะเกาะเราะฮฺ199)
และพระองค์ได้สั่งนบีของพระองค์เมื่อได้มาถึงบั้นปลายชีวิตของท่านที่เต็มไปด้วยการอิบาดะฮฺและการญิฮาดต่อสู้ในหนทางของพระองค์อัลลอฮฺว่าให้ท่านนบีกล่าวอิสติฆฟาร
﴿إِذَا جَاء نَصْرُ اللهِ وَالْفَتْحُ ( 1 ) وَرَأَيْتَ النَّاسَ يَدْخُلُونَ فِي دِينِ اللهِ أَفْوَاجاً ( 2 ) فَسَبِّحْ بِحَمْدِ رَبِّكَ وَاسْتَغْفِرْهُ إِنَّهُ كَانَ تَوَّاباً ( 3 ) ﴾ (النصر)
ความว่าเมื่อความช่วยเหลือของอัลลอฮฺและการพิชิตได้มาถึงแล้วและเจ้าได้เห็นประชาชนเข้าในศาสนาของอัลลอฮฺเป็นหมู่ๆดังนั้นจงแซ่ซ้องสดุดีด้วยการสรรเสริญพระเจ้าของเจ้าและจงขออภัยโทษต่อพระองค์เถิดแท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษเสมอ (สูเราะฮฺอัน-นัศรฺ)
ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมจึงได้กล่าวในรุกูอฺและสุญูดว่า
«سبحانك اللهم ربنا وبحمدك، اللهم اغفر لي» رواه البخاري.
ความว่ามหาบริสุทธิ์ยิ่งโอ้พระผู้อภิบาลแห่งเราและด้วยการสรรเสริญสดุดีพระองค์โอ้พระผู้อภิบาลแห่งเราขอทรงอภัยโทษให้แก่ข้าด้วยเถิด (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์)
และทุกครั้งหลังละหมาดท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมจะกล่าวว่าอัสตัฆฟิรุลลอฮฺสามครั้ง
5. การทำความดีให้มาก แท้จริงความดีนั้นเปรียบเสมือนต้นไม้ที่สง่างามมันต้องการการรดน้ำและการดูแลเอาใจใส่เพื่อให้มันเติบโตและแข็งแรง และให้มันออกดอกออกผลและหนึ่งในเครื่องหมายว่าการงานที่ดีนั้นถูกรับแล้วก็คือการได้ทำความดีต่อเนื่องหลังจากนั้น เพราะความดีหนึ่งมักจะเรียกหาความดีอื่นๆด้วยเหมือนกับมันได้กล่าวเรียกว่านั่นพี่น้องของฉันนี่พี่น้องของฉัน และนี่ก็เป็นความเมตตาและบุญคุณความประเสริฐของอัลลอฮฺ ที่ทรงให้เกียรติบ่าวของพระองค์เมื่อเขาได้ทำดีและบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์ด้วยการที่พระองค์เปิดประตูสู่ความดีงามอื่นๆอีก เพื่อให้เขาได้ใกล้ชิดพระองค์มากยิ่งขึ้นและประเด็นที่สำคัญที่สุดที่เรามีความต้องการในขณะนี้ก็คือต้องรักษาความต่อเนื่องในการปฏิบัติอะมัลศอลิหฺของเราที่เคยทำมาแล้วโดยต้องดูแลรักษามันและเพิ่มมันขึ้นเรื่อยๆทีละเล็กทีละน้อยและนี่ก็คือการอิสติกอมะฮฺนั่นเอง
แปลโดยย่อจาก http://www.saaid.net/mktarat/hajj/85.htm
ผู้แปล : ซุฟอัม อุษมาน / Islam House