ถึงพ่อแม่ที่มีลูกเรียนไม่เก่ง
  จำนวนคนเข้าชม  57651

 

ถึงพ่อแม่ที่มีลูกเรียนไม่เก่ง



  
 
       คุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมมีความปรารถนาที่จะให้ลูกของตนเป็นคนที่สมบูรณ์พร้อมในทุกสิ่ง ทั้งเป็นเด็กดีว่านอนสอนง่าย สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีจิตใจและอารมณ์ดี นอกจากนี้แล้ว ความปรารถนาอีกประการหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คืออยากให้ลูกของเราเป็นเด็กที่เรียนเก่ง เพราะเชื่อว่าเด็กที่เรียนเก่งมักจะประสบความสำเร็จในชีวิตทุกสิ่งทุกอย่างนั่นเอง
      
       โดยความเข้าใจของคนทั่วไปเข้าใจว่า “เด็กเรียนเก่ง” หมายความถึงเด็กที่ทำข้อสอบในวิชาต่างๆของโรงเรียนได้คะแนนดี หรือสอบเรียนต่อเข้าในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆของจังหวัดหรือของประเทศได้ ซึ่งถ้าลูกสามารถทำได้เช่นนี้ก็ถือเป็นความโชคดีและเป็นที่ชื่นอกชื่นใจของผู้เป็นพ่อแม่ทุกรายไป แต่ในมุมกลับกัน หากลูกทำข้อสอบได้คะแนนต่ำหรือสอบไม่ผ่านตามเกณฑ์ของโรงเรียนหรือสอบเข้าเรียนต่อที่ดีๆไม่ได้ ลูกของเราก็จะขึ้นชื่อว่าเป็นเด็กเรียนไม่เก่ง โง่ ไม่เอาไหน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมักจะถูกทำนายอนาคตไว้ล่วงหน้าต่อไปเลยว่าเด็กคนนี้คงจะมีชีวิตที่ไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องใดอย่างแน่นอน
      
       จริงๆแล้วการที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกเป็นคนเรียนเก่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่การที่ลูกเรียนไม่เก่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดเช่นกัน เพราะบางกรณีการที่เด็กเรียนไม่เก่งหรือมีปัญหาทางด้านการเรียนอาจไม่ได้เกิดจากระดับสติปัญญาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีหลายปัจจัยแวดล้อมที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้เด็กเรียนไม่เก่งได้ เช่นนี้ ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กเรียนไม่เก่ง อีกทั้งวิธีที่จะให้พ่อแม่ช่วยเหลือลูกที่เรียนไม่เก่ง ดังนี้
      
       1. ปัญหาทางด้านร่างกาย เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กโดยตรง เช่น เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น สายตาสั้น สายตาเอียง ปัญหาการได้ยิน เช่น ได้ยินเสียงคุณครูไม่ชัดเจนหรือได้ยินเพียงเบาๆ หรือเด็กมีร่างกายอ่อนแอ เป็นโรคต่างๆ ปัญหาพวกนี้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนมากและทำให้เด็กเรียนไม่รู้เรื่องได้
      
       - วิธีช่วยเหลือ โดยธรรมชาติของเด็กเล็กมักจะไม่บอกพ่อแม่ถึงปัญหาความผิดปกติทางร่างกายของตนเอง เพราะบางทีเขาไม่รู้และไม่เข้าใจว่านี่คือความผิดปกติ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องคอยพยายามสังเกตลูก เช่น เวลาลูกทำการบ้านหากลูกก้มหัวลงชิดสมุดการบ้านหรือหนังสือมาก อาจต้องพาลูกไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสายตา หรือหากพูดคุยกับลูกแล้วลูกเหมือนไม่ค่อยได้ยินอาจต้องพาลูกไปตรวจการได้ยินว่าเป็นปกติหรือไม่ นอกจากนี้ ปัญหาด้านร่างกายเล็กน้อย เช่น เหนื่อยง่าย เป็นหวัดบ่อย ก็ไม่ควรละเลย ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์และควรดูแลให้ลูกรับประทานอาหารให้ครบ5หมู่และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
      
       2. ปัญหาทางด้านอารมณ์ จิตใจและพฤติกรรม เด็กที่คิดมาก เครียดง่าย วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อตนเอง มักขาดความสุขในการเรียนและการทำกิจกรรมต่างๆ ส่วนเด็กที่ถูกพ่อแม่เลี้ยงอย่างตามใจเกินไปหรือถูกพ่อแม่ละเลยทิ้งขว้าง มักเป็นเด็กที่ขาดระเบียบวินัยในชีวิต ซึ่งเขาจะไม่ใส่ใจการเรียนเพราะเห็นว่าไม่ได้มีความสำคัญอย่างใด แต่จะแสวงหาสิ่งอื่นที่ท้าทายมากกว่า จึงมักมีพฤติกรรมเกเร หนีโรงเรียน ติดยาเสพติด
      
       - วิธีช่วยเหลือ มีเด็กเรียนเก่งมากมายที่กลายเป็นเรียนไม่เก่ง เพราะมีปัญหาทางด้านอารมณ์ จิตใจและพฤติกรรม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องให้เวลาและความอบอุ่นกับลูกให้มาก โดยการใกล้ชิด ดูแล พูดคุยกับลูกหรือทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น อ่านหนังสือด้วยกัน สอนการบ้านลูก ช่วยกันปลูกต้นไม้ พาลูกไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ วิธีเหล่านี้จะช่วยให้ลูกเกิดความมั่นใจในตัวเอง มองโลกในแง่ดีและมีความสุขมากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยให้สมองพร้อมเปิดรับการเรียนรู้ใหม่ๆได้อย่างดีต่อไป
      
       3. ปัญหาการขาดแรงจูงใจ เด็กบางคนรู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องไม่สนุกเหมือนการเล่น และมักไม่เห็นประโยชน์หรือความสำคัญของการเรียนว่าดีกับตนเองอย่างไร หรืออาจเพราะเรียนวิชาหนึ่งแล้วไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง เรียนอ่อนในวิชาใดวิชาหนึ่งเลยพาลรู้สึกว่าไม่อยากเรียนอะไรเลยเพราะคงเรียนไม่รู้เรื่องเหมือนกัน
      
       - วิธีช่วยเหลือ คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามกระตุ้นให้เด็กรู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องสนุกโดยใช้เทคนิคต่างๆเข้ามาช่วยเสริม เช่น การฝึกนับเลขโดยใช้ตุ๊กตาหรือหุ่นยนต์ตัวเล็กๆ การท่องศัพท์ภาษาอังกฤษโดยใช้บทเพลง การเรียนวิทยาศาสตร์โดยใช้สิ่งแวดล้อม การทดลองด้วยตนเองหรือผ่านการดูสารคดี หรือการส่งเสริมให้ลูกได้เรียนในสิ่งที่เขาชอบและถนัด เช่น หากลูกมีแววว่าชอบเรียนทางด้านภาษา ก็สนับสนุนให้เขาได้เรียนอย่างที่เขาพอใจ ไม่ควรบังคับให้ลูกเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อจะเป็นหมอ เพราะคนเรามีความสามารถและความฉลาดในแต่ละด้านที่ต่างกัน
      
       4. ปัญหาการขาดสมาธิ เด็กที่ขาดสมาธิหรือสมาธิสั้นจะขาดความอดทน อยู่ไม่สุข วอกแวกง่าย ไม่สามารถบังคับตัวเองให้จดจ่ออยู่กับการเรียนได้นาน ซึ่งปัญหาการขาดสมาธิในการเรียนจะส่งผลให้เด็กเป็นคนมีความจำที่ไม่ดี ไม่สามารถเรียนได้อย่างปะติดปะต่อ จึงมักเป็นเรื่องยากมากที่เด็กขาดสมาธิจะเป็นเด็กที่เรียนเก่งได้
      
       - วิธีช่วยเหลือ อย่าให้ลูกอยู่ในสิ่งเร้ามากเกินไป เช่น ที่บ้านไม่ควรเปิดวิทยุโทรทัศน์เสียงดังตลอดวัน ควรให้ลูกได้มีเวลาอยู่กับความเงียบสงบบ้าง โดยอาจจัดมุมหนังสือนิทานในบ้านให้เขาได้ใช้เวลาที่จะอยู่ในมุมนั้นโดยเปิดเพลงจังหวะช้าๆเบาๆคลอไปด้วย ก็จะทำให้ลูกมีสมาธิดีขึ้น นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกทำกิจกรรมให้เสร็จไปทีละอย่าง เพราะการปล่อยให้ลูกทำกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกัน จะทำให้ลูกไม่มีสมาธิที่จะจดจ่อในการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีได้เลย เช่น ให้ลูกกินข้าวให้เสร็จก่อนแล้วค่อยไปเล่นได้ ถ้าให้กินไปเล่นไปสองชั่วโมงก็ยังกินไม่เสร็จ แล้วจะเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่มีระเบียบวินัยให้กับลูกด้วย และควรให้เด็กๆมีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน เช่น กลับมาจากโรงเรียนถึงบ้านแล้วทำการบ้าน เสร็จแล้วกินข้าว เสร็จแล้วอาบน้ำ เสร็จแล้วอ่านนิทาน แล้วเข้านอน ก็จะช่วยเรื่องการจัดระบบความคิดให้กับลูกได้
      
       จะเห็นได้ว่าการเรียนไม่เก่งอาจเกิดได้จากปัญหาหลายอย่าง สำหรับผู้เขียนแล้วไม่อายที่จะเล่าว่า ตอนเด็กๆผู้เขียนก็จัดอยู่ในกลุ่มเด็กที่เรียนไม่เก่งเช่นกัน เพราะซุกซนขาดสมาธิและแรงจูงใจในการเรียน อ่อนวิชาเลขมากถึงขนาดเคยสอบซ่อมด้วยซ้ำ แต่ขอบคุณที่คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยบังคับที่จะต้องเรียนเลขให้เก่งให้ได้ แต่กลับสนับสนุนในสิ่งที่ผู้เขียนถนัดคือการเรียนดนตรีและศิลปะจนสามารถนำมาใช้ประกอบอาชีพจนประสบความสำเร็จได้ดีในทุกวันนี้
       
       จึงอยากจะบอกคุณพ่อคุณแม่ทุกคนว่าอย่าอายที่ลูกเรียนไม่เก่ง เพราะการเรียนไม่เก่งไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะล้มเหลว หากเราค้นพบปัญหาว่าลูกเรียนไม่เก่งเพราะอะไรแล้ว และเราพยายามช่วยแก้ไขให้ลูกอย่างดีที่สุดแล้วแต่เขาก็ยังคงเรียนไม่เก่งอยู่นั่นเอง ลองช่วยกันค้นหาต่อไปเพราะว่าเขาอาจชอบทางสายวิชาชีพมากกว่าการเรียนทางสายสามัญปกติก็ได้ ซึ่งจะแปลกอะไรถ้าลูกเราจะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีกิจการที่มั่นคงเลี้ยงชีพตนเองได้ เพราะผู้เขียนเชื่อว่าความสุขและความสำเร็จที่ดีของลูก คือสุดยอดความปรารถนาของพ่อแม่ทุกคน
 
 

ดร.แพง ชินพงศ์
Life & Family / Manager online