ฮัจญ์มับรูร์
  จำนวนคนเข้าชม  32966

 

 

ฮัจญ์มับรูร์

โดย อ. อับดุลเราะมัน เจะอารง


           ในขณะที่บรรดาฮุจญาจ(ผู้ที่ไปประกอบพิธี)บางคนได้ทยอยเดินทางกลับถึงบ้านแล้ว หลังจากได้อำลาและใช้ชีวิตห่างจากครอบครัวประมาณ 30 - 40 วัน เพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ ที่ประเทศซาอุดิอารเบีย ซึ่งถือเป็นบทบัญญัติข้อสุดท้ายของศาสนาอิสลาม

           บรรดาฮุจญาตทั้งหลายที่ไปยังเมืองมะดีนะฮ์ จะมีโอกาสในการได้ไปเยี่ยมกุบูร(หลุมศพ) ของท่านเราะซูล     กุบูรของท่าน อะบู บักรฺและกุบูรของท่านอุมัร 2 สหาย ผู้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ คนที่1 และคนที่ 2 หลังจากท่านได้เสียชีวิต ร่างของทั้งสองได้ฝังไว้เคียงข้างใกล้กับท่านเราะซูล  ในขณะนั้นเป็นห้องของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ซึ่งเป็นบุตรีของอะบูบักรและภรรยาของท่านเราะซูล   ซึ่งอยู่ข้างๆมัสยิดนะบะวีย์ หลังจากนั้นมัสยิดต้องขยายอาณาบริเวณในสมัยต่อมาหลายครั้ง จึงทำให้ปัจจุบันที่ฝังศพของท่านทั้งสามได้เข้าไปอยู่ในบริเวณส่วนหน้าของมัสยิด

           บรรดาผู้ไปประกอบพิธีฮัจญได้ไปเยี่ยมสถานที่หลายแห่ง ในการทำพิธีฮัจญ์ ทั้งทุ่งมีนา ทุ่งอะเราะฟะฮ์  มุซดะลิฟะฮ์   แม้ว่าสภาพสถานที่ดังกล่าวจะแตกต่างจากสภาพสมัยของท่านเราะซูล แต่เรายังต้องปฏิบัติหน้าที่และขั้นตอนต่างๆเหมือนดังที่ท่านเราะซูล ได้ปฏิบัติในสมัยก่อนทุกประการ เช่น การฏอวาฟ กะบะฮ์  การซะแอระหว่างเนินเขาเศาะฟาและมัรวะฮ์  การไปมะบี๊ตที่มินา การวุกูฟที่ทุ่งอะเราะฟะฮ์ และการขว้างก้อนหิน ณ ที่ญุมเราะฮ์ ล้วนแล้วทำให้ได้รำลึกถึงสมัยท่านเราะซูล  ที่ได้ปฏิบัติพร้อม ๆกับบรรดาเศาะหาบะฮ์ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 114,000  คน ถึง 144,000 คน และท่านเราะซูล ได้กล่าวต่อหน้าพวกเขาว่า

 خُدُوا عنِّي مناسِكَكم (رواه البخاري)

  “พวกท่านทั้งหลายจงดูตัวอย่างวิธีการปฏิบัติฮัจญ์จากฉัน”

 

           วัตถุประสงค์สำคัญที่เป็นสุดยอดความต้องการของทุกคนที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์ คือ การได้รับความพึงพอใจจากพระองค์อัลลฮ์   นั่นคือ การที่ได้รับ “ฮัจญ์มับรูร์”

           คำว่า “มับรูร์” ด้านภาษาแปลว่า ดี บริสุทธิ์และสะอาด แต่ศัพท์ทางเทคนิคหมายถึง ฮัจญ์ที่พระองค์อัลลอฮ์   ทรงตอบรับและพึงพอใจ

           ผู้ที่ได้ฮัจญ์มับรูร์ จึงหมายถึงผู้ที่ประสบความสำเร็จสุดยอดในชีวิต เพราะผู้ที่ได้ฮัจญมับรูร์ พระองค์อัลลอฮ์  จะตอบแทนบ่าวของพระองค์ด้วยสวนสวรรค์เท่านั้น ท่านเราะซูล ได้กล่าวเกี่ยวกับบทตอบแทนในฮะดีษบทหนึ่งว่า

 العُمْرةُ إلى العمْرةِ كفَّارةٌ لِما بينَها والحجُّ المبْرورُ ليسَ له جزاءٌ إلا الجنَّة (رواه مسلِمٌ
رقم الحديث 3285)

“การไปเยี่ยมกะบะฮ์จากครั้งหนึ่งไปยังอีกครั้งหนึ่งเป็นการชำระบาปที่ได้กระทำผิดในช่วงนั้น

และฮัจญ์ที่มับรูร์นั้นไม่มีการตอบแทนใดๆ นอกจากสวรรค์เท่านั้น”

 

          เกี่ยวกับความสำคัญของการประกอบพิธีฮัจญ์ ท่านได้ตอบคำถามของเศาะฮาบะฮ์ท่านหนึ่งในตอนหนึ่งว่า

سئِلَ النبِيُّ صلَّى الله عليهِ وسلَّم : أيُّ الأعمالِ أفضَلُ ؟ قال : الإيمانُ بالله ورسولِه
قيلَ : ثمَّ مادا ؟ قالَ : جِهادٌ في سبيلِ الله قيل : ثمَّ مادا ؟ قالَ : حجٌّ مبْرورٌ (رواه
البخاري  1519)

 “มีเศาะฮาบะฮ์ท่านหนึ่งได้มาถามท่านเราะซูล ว่า การงานใดที่ถือว่าประเสริฐที่สุด ?

ท่านตอบว่า การศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮ์และต่อศาสนทูตของพระองค์

ผู้ถามกล่าวว่า แล้วอะไรอีก ?

ท่านตอบว่า  การต่อสู้ในหนทางของพระองค์อัลลอฮ์

ผู้ถามถามต่ออีกว่า แล้วอะไรอีก ? 

ท่านตอบว่า การได้รับ ฮัจญ์มับรูร์

 

           และในฮะดีษอีกบทหนึ่งท่านเราะซูล  ได้กล่าวไว้ว่า

سمِعْتُ النبِيَّ صلَّى الله عليه وسلَّم يقولُ : مَن حجَّ فلم يرْفُثْ ولم يفْسُقْ رجَعَ كيومِ
ولَدَتْه أمُّه (رواه البخاري 1521 ومسلِمٌ 3292)

“ผู้ใดที่ได้ประกอบพิธีฮัจญ์ และไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับภริยาและไม่ได้กระทำสิ่งชั่วร้ายอื่นๆ

เขาจะได้กลับบ้านด้วยความบริสุทธิ์เสมือนกับวันที่แม่ของเขาให้กำเนิดเขา”

 

          เกี่ยวกับการต่อสู้ในหนทางของอัลลฮ์ ในบรรดาสตรี  ท่านเราะซูล ได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า

 عن عائشةَ أنَّها قالَت : يا رسولَ الله نَرى الجِهادَ أفضَلَ العمَلِ (أفلا نجاهِدُ ؟) قال : لا ،
لكنَّ أفضَلُ الجِهادِ حجٌّ مبْرورٌ (رواه البخاري  1520)

 ท่านหญิงอาอิชะฮ์เคยถามท่านเราะซูลว่า

โอ้ ท่านเราะซูล พวกเราเห็นด้วยกับการต่อสู้ในหนทางของพระองค์อัลลอฮ์

ดังนั้นท่านจะอนุญาตให้พวกเราชาวสตรีทั้งหลายต่อสู้ในหนทางของพระองค์อัลลฮ์  ไหม

ท่านตอบว่า ไม่ การต่อสู้ที่ประเสริฐที่สุดของพวกนาง คือ ฮัจญมับรูร์


          การงานทุกอย่างที่พระองค์ทรงตอบรับนั้นมีเครื่องหมายของมัน ซึ่งบางครั้งเราสามารถมอง เห็นได้จากภายนอก เช่นเดียวกับการประกอบพิธีฮัจญ์ ฮัจญ์มับรูร์ที่พระองค์อัลลอฮ์ จะทรงตอบรับมีเครื่องหมายที่เห็นใด้ในชีวิตประจำวันของผู้ที่กลับมาจากการไปทำฮัจญ์  ดังเช่น

          1. ผู้ที่ได้รับฮัจญมับรูร์ จะมีความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเขาในทุกๆ ด้านจากสภาพดีเป็นสภาพดีที่สุด

          2. ความรู้เรื่องศาสนาและการปฏิบัติศาสนกิจจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด

          3. รักษาเวลาละหมาดและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องได้ดีมาก พร้อมกับปฎิบัติละหมาดสุนัตต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ

          4. สามารถอุทิศเวลาสำหรับการอ่านอัล-กุรอาน ศึกษาอัล-กุรอาน รำลึกถึงพระองค์อัลลอฮ์  โดยการกล่าวซิกิร ทั้งเช้าและเย็น เป็นกิจวัตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเวลาละหมาด

          5. ชอบแสวงหาความรู้ เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา มีกำลังใจในการชักชวนผู้อื่นให้กระทำความดีและห้ามปรามจากการประพฤติชั่ว

          6. รักษาคำพูดของตนเอง แต่งกายถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติ อยู่ร่วมสังคมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยความดี ไม่พูดนินทาให้ร้ายผู้อื่น และกล่าวคำหยาบคาย เป็นต้น