คุณสมบัติของมุฟตี
  จำนวนคนเข้าชม  11003

ความสำคัญและเงื่อนไขของการวินิจฉัยประเด็นศาสนาในทัศนะอิสลาม


โดย  ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา

    
          เป็นที่ทราบกันดีว่า อิสลามเป็นวิถีชีวิตที่ครอบคลุมและมีความบริบูรณ์ในทุกด้านของมนุษย์ อิสลามได้กำหนดบทบัญญัติในประเด็นต่างๆ ที่เป็นความต้องการของมนุษย์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มนุษย์สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างสมเกียรติในฐานะบ่าวผู้น้อมภักดีของอัลลอฮฺ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องได้รับความกระจ่างในข้อปลีกย่อยของศาสนบัญญัติ พร้อมประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงอย่างสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอิสลามที่แท้จริงและเหมาะสมกับศักยภาพและกำลังความสามารถของมนุษย์ไม่ว่าในระดับปัจเจกบุคคลหรือสังคมโดยรวม

         อัลลอฮฺทรงสร้างสรรพสิ่งตามกฎสภาวะดั้งเดิมบนพื้นฐานของเหตุผลและกฎกติกาที่แน่นอน พระองค์ทรงเรียกร้องและเชิญชวนมนุษย์ให้รู้จักใช้สติปัญญาในการทำความเข้าใจกฎสภาวะดั้งเดิมและกฎกติกาดังกล่าว ด้วยการใช้วิจารณญาณ หลักการสังเคราะห์และวิเคราะห์ ศึกษาวิจัย การใช้หลักฐานและเหตุผลบนหลักการของความรู้และวิทยาการ

          ด้วยเหตุดังกล่าว อิสลามจึงตระหนักและให้ความสำคัญกับการวินิจฉัยในประเด็นศาสนา (ฟัตวา) อิสลามถือว่า “ ฟัตวา ” เป็นเงื่อนไขสำคัญที่อัลลอฮฺทรงประกาศให้การรับรองอิสลามว่าเป็นศาสนาสุดท้ายสำหรับมนุษยชาติ และเป็นศาสนาที่เคียงคู่กับมนุษย์ตราบจนวันกียามะฮฺ (วันสิ้นโลก)

ความหมาย

          ฟัตวา หมายถึง การให้ความกระจ่างในสาระที่เกี่ยวข้องกับศาสนบัญญัติ ผู้ให้การฟัตวา คือ ผู้ที่ชี้แจงศาสนบัญญัติของอัลลอฮฺ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือผู้ที่ได้รับฉันทานุมัติให้ลงนามแทนอัลลอฮฺในการทำหน้าที่ชี้แจงบทบัญญัติและข้อกฎหมายต่างๆ ในอิสลาม


บทบัญญัติว่าด้วยการฟัตวา

     1.เป็นฟัรดูอีน (บังคับสำหรับบุคคลเป็นการเฉพาะ) สำหรับผู้มีหน้าที่ให้การฟัตวา(มุฟตี) ในกรณีที่ไม่มีใครทำหน้าที่ให้การฟัตวาร่วมกับเขา

     2.เป็นฟัรดูกิฟายะฮฺ (บังคับสำหรับกลุ่มคนเท่านั้น หากคนใดคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ถือเป็นการเพียงพอแล้ว) ในกรณีที่มีมุฟตีมีจำนวน 2 คน ขึ้นไป

     3.เป็นมันดูบ ( ส่งเสริมให้ฟัตวา / ไม่ถึงขั้นบังคับ) ในกรณีที่เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น แต่มีการฟัตวาล่วงหน้าว่าหากเหตุการณ์สมมุติเกิดขึ้น จะมีข้อวินิจฉัยทางศาสนาอย่างไร

     4.หะรอม ( มีความผิดและเป็นบาป) ในกรณีที่มุฟตีเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือ เป็นคนที่ไม่รู้จริงในประเด็นที่ให้การวินิจฉัย.

     5.มักรูฮฺ ( ไม่ส่งเสริมแต่ไม่ถึงขั้นกระทำผิดและเป็นบาป ) ในกรณีเหตุการณ์สมมุติไม่มีทางเกิดขึ้นในชีวิตจริง เพราะถือเป็นการทุ่มเทพละกำลังโดยเปล่าประโยชน์

     6.มุบาหฺ ( เป็นสิ่งอนุมัติ ) ในกรณีที่ไม่ใช่เป็นไปตามหัวข้อดังกล่าวข้างต้น


ศาสตร์ และวิทยาการของมุฟตี

          เนื่องจากมุฟตีคือบุคคลผู้ทรงความรู้ ที่ปฏิบัติหน้าที่แทนศาสนทูต และเป็นผู้ได้รับฉันทานุมัติให้ลงนามแทนอัลลอฮฺในการให้ความกระจ่างประเด็นศาสนาแก่มนุษยชาติ ดังนั้น มุฟตีจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นผู้รู้ในศาสตร์อิสลามและสารัตถะศาสนา ต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจอย่างแตกฉานเกี่ยวกับอัลกุรอานและสุนนะฮฺ มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอาหรับ มีความรอบรู้ศาสตร์ที่ว่าด้วยชีวิตและสังคมมนุษย์ มีสติปัญญาอันเฉียบแหลมกอปรกับความรู้ความสามารถในการเข้าถึงแก่นแห่งศาสนบัญญัติได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ

ท่านอิมามซาฟิอีย์ได้กล่าวไว้ความว่า :

          “ไม่อนุญาตสำหรับใครก็ตามที่จะทำหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัยประเด็นศาสนา (มุฟตี) เว้นแต่ผู้ที่มีความรู้ในศาสนาของอัลลอฮฺ มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์และข้อปลีกย่อยแห่งอัลกุรอาน มีความแตกฉานในหะดีษ และศาสตร์ว่าด้วยหะดีษ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาอาหรับ สำนวนโวหารและวาทกรรมอาหรับ ทั้งนี้มุฟตีจำต้องมีบุคลิกที่สุขุม รอบคอบ ไม่พูดมาก เป็นคนที่รอบรู้ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างสำนักคิดต่าง ๆ เขาจะต้องเป็นผู้ที่เพียบพร้อมทั้งพรสวรรค์ และพรแสวงของคุณสมบัติของความเป็น มุฟตีที่ดี ”

ท่านอิมามอาหมัดกล่าวไว้ ความว่า

          “สมควรอย่างยิ่งสำหรับมุฟตีที่จะต้องศึกษาค้นคว้า และรอบรู้คำวินิจฉัยของนักวิชาการอิสลาม (อุละมะอฺ) ยุคก่อน หาไม่แล้ว เขาไม่สมควรให้การฟัตวา”


เงื่อนไขสำคัญของการฟัตวา

          การฟัตวา ถือเป็นอะมานะฮฺ (ภาระหน้าที่ของมุสลิม ที่จะต้องถูกสอบสวนในวันกิยามาะฮฺ) กล่าวกันว่า “ไม่อนุญาตให้กล่าวอ้างอิงคำพูดและพฤติกรรมของศาสนทูตมูหัมมัด เว้นแต่โดยผู้ที่ได้รับความเชื่อถือเท่านั้น”

มูหัมมัด บินซีรีน กล่าวว่า “ศาสตร์ที่ว่าด้วยหะดีษนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา ดังนั้นท่านจงศึกษาไตร่ตรองว่า ท่านรับศาสนาของท่านจากผู้ใดบ้าง”

เงื่อนไขสำคัญในการรับหลักฐานทางศาสนบัญญัติ

     1. การยอมจำนนและให้เกียรติต่อหลักฐาน มุฟตีจำเป็นต้องยอมจำนนและให้เกียรติหลักฐานที่ปรากฏในอัลกุรอาน และสุนนะฮฺด้วยหัวใจที่นอบน้อม ถ่อมตน

     2. เชื่อศรัทธาโองการอัลกุรอานทั้งหมด และหะดีษที่เศาะฮีห(ฮาดีษที่มีกระบวนการรายงานที่ถูกต้อง) โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

     3. หลักการให้ความสำคัญและตระหนักต่อสภาพแวดล้อมและภูมิหลังของแต่ละคน


ข้อพึงระวังสำหรับการฟัตวา

     1.ความไม่รู้ ความหลงลืม ไม่รอบคอบ ไม่ตระหนัก และไม่ให้ความสำคัญต่อบทบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นฟัตวา

     2.การตีความที่ผิดพลาด มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ทั้งที่มาจากสาเหตุการคล้อยตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ จิตใจที่อคติเอนเอียง แสวงหาผลประโยชน์หรือคล้อยตามคนอื่นอย่างไม่ลืมหูลืมตา

     3.คล้อยตาม หรือ ยอมจำนนตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ ทั้งอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น

     4.การติดยึดกับการฟัตวาเก่า ๆ ติดกับดักทางความคิดเดิมๆ หรือติดกรอบด้วยกฎกติกาที่กำหนดโดยตำรายุคก่อนๆ โดยไม่คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลง และข้อเท็จจริงร่วมสมัย

     5.การที่ไม่สามารถสรุปแก่นแท้ของปัญหา ให้สอดคล้องกับหลักศาสนบัญญัติที่ถูกต้อง


สรุป


          เนื่องจากศาสนบัญญัติเป็นสิ่งที่ถูกระบุอย่างชัดเจน ในขณะที่สถานการณ์และสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ดังนั้นจึงเป็นภารกิจสำคัญสำหรับมุฟตีที่จะต้องตีความหลักศาสนบัญญัติให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคปัจจุบันที่กระแสความเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็วและไร้ขีดจำกัด มุสลิมต้องรู้จักประยุกต์ใช้คำสอนของศาสนาอย่างรู้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง หาไม่แล้ว คำสอนศาสนาและคำฟัตวาจะไม่เป็นเพียงทฤษฎีในตำราที่ไม่สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงเท่านั้น หากเป็นแหล่งกำเนิดของความโกลาหลวุ่นวายในสังคมอย่างไม่รู้จักจบสิ้น – ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครอง

          มุสลิมทุกคนโดยเฉพาะมุฟตีจำเป็นต้องประดับตนเองด้วยความรู้และวิทยาการร่วมสมัยด้วยการสานเสวนา จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อบรมสัมมนา สร้างเครือข่ายวิชาการทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และนานาชาติโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความรู้ ถกปัญหาและหาข้อยุติในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้าใจในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ดังนี้

1.ศาสตร์ที่ว่าด้วยฟิกฮฺ การเผยแผ่ (فقه الدعوة)

2.ศาสตร์ที่ว่าด้วยฟิกฮฺ ความเป็นจริง(فقه الواقع)

3.ศาสตร์ที่ว่าด้วยฟิกฮฺ การบริหารการจัดการความขัดแย้ง(فقه الاختلاف)

4.ศาสตร์ที่ว่าด้วยฟิกฮฺ ชนกลุ่มน้อย(فقه الأقليات)

5.ศาสตร์ที่ว่าด้วยฟิกฮฺ กำลังความสามารถและศักยภาพ(فقه الاستطاعة)

6.ศาสตร์ที่ว่าด้วยฟิกฮฺ การกำหนดยุทธศาสตร์และการลำดับความสำคัญ(فقه الأولويات)

سبحان ربك ربٌ العزة عما يصفون وسلام على المرسلين، والحمدلله رب العالمين

 


ที่มา  อิกเราะฮ์ ออนไลน์