การให้ทานน้ำและอาหารในช่วงฤดูกาลหัจญ์
  จำนวนคนเข้าชม  5369

 


การให้ทานน้ำและอาหารในช่วงฤดูกาลหัจญ์

 

 

          มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์แห่งอัลลอฮฺ ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก  การประสาทพรและสันติสุขขอจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศาสนทูตผู้ทรงเกียรติที่สุด ตลอดจนวงศ์วานและสหายของท่านทั้งหลาย

          อัลหัมดุลิลลาฮฺ ในจำนวนภารกิจที่มีผลกุศลเป็นที่น่าสรรเสริญและปราโมทย์ ณ พระองค์  อัลลอฮฺและเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในช่วงฤดูหัจญ์ของทุกปีคือการให้บริการน้ำและอาหารแก่เหล่าอาคันตุกะผู้ทรงเกียรติของพระองค์ โดยเฉพาะเหล่าหุจญาตผู้ขัดสน ซึ่งเป็นที่รู้จักในศัพท์ของอัลกุรอานและสุนนะฮฺ ในนาม "สิกอยะตุลหัจญ์และอิฏอามุฏเฏาะอาม" หรือ "อัสสิกอยะฮฺ วัรริฟาดะฮฺ" อันหมายถึง การให้บริการน้ำและอาหารแก่เหล่าผู้มาประกอบพิธีหัจญ์  และสิ่งที่มีชื่อว่า "ฮัดยฺ" ไม่ว่าจะเป็นวาญิบหรือสุนัตก็ตาม

ญาบิร บุตร อับดุลลอฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«اَلْحَجُّ الْمَبْرُوْرُ لَيْسَ لَهُ جَزَاءٌ إِلاَّ الْجَنَّةَ، قِيْلَ: وَماَ بَرُّهُ؟ قَالَ: إِطْعَامُ الطَّعَامِ وَطَيْبُ الْكَلاَمِ»

 

"หัจญ์ที่มีบรูรฺ (หัจญ์ที่ดีและถูกตอบรับ) จะไม่มีสิ่งตอบแทนอื่นใดแก่เขานอกจากสรวงสวรรค์"

มีผู้ถามว่า "แล้วอันใดเล่าที่เป็นความดีอันนั้น?"

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตอบว่า "คือการเลี้ยงอาหารและวาจาที่สุภาพ (ในระหว่างประกอบพิธีหัจญ์)"

(บันทึกโดยอัฏเฏาะบะรอนีย์ ดูหนังสือ สิลสิละฮฺ อัลอะหาดีษ อัศเศาะหีหะฮฺ ของอัลบานีย์ หมายเลข 1264)

 

ประวัติความเป็นมาของการให้บริการน้ำและอาหาร

          อับบาส บุตร อับดุลมุฏเฏาะลิบได้รับการอนุโลม ผ่อนผันไม่ต้องไปค้างคืนที่ทุ่งมินาในค่ำคืนวันตัชรีก (คืนวันที่ 11-13 ซุลฮิจญะฮฺ) เนื่องจากติดภาระกิจสิกอยะตุลหัจญ์ นั่นคือ การให้บริการเครื่องดื่มและอาหารแก่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ อันได้แก่ น้ำซัมซัม นมสด น้ำผึ้ง และผลไม้ และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ชมเชยผู้ที่ปฏิบัติภารกิจดังกล่าวด้วยคำว่า

«أَحْسَنْتُمْ وَأَجْمَلْتُمْ كَذَا فَاصْنَعُوْا»

 "พวกท่านได้กระทำดีและปฏิบัติได้ดีมาก เช่นนี้แหละที่พวกท่านพึงกระทำ"

 (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม)

 

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังได้ชมเชยกลุ่มผู้ให้บริการน้ำซัมซัมแก่เหล่าหุจญาตด้วยคำว่า

«اِعْمَلُوْا فَإِنَّكُمْ عَلَى عَمَلٍ صَالِحٍ لَوْلاَ أَنْ تُغْلَبُوْا لَنَزَلْتُ حَتَّى أَضَعَ الْحَبْلَ عَلَى هَذِهِ» يَعِنىْ عَاتِقَهُ وَأَشَارَ إِلَى عَاتِقِهِ

พวกเจ้าจงทำงาน (ต่อไปเถิด) เพราะแท้จริง พวกเจ้ากำลังปฏิบัติอามัลศอลิหฺอยู่ หากฉันไม่กลัวว่าพวกเจ้าจะถูก (ผู้มีอำนาจ) แย่งงานแล้วไซร้

ฉันจะลงจากพาหนะแล้วเอาเชือกพาดลงบนนี้" หมายถึงไหล่ของท่าน แล้วท่านก็ชี้ไปยังไหล่ของตัวเอง

(บันทึกโดย  อัลบุคอรีย์ เล่ม 2 หน้า 167)

        ปัจจุบันที่นครมักกะฮฺมีหน่วยงานหนึ่งที่มีชื่อว่า "ลัจญ์นะฮฺ อัสสิกอยะฮฺ วัรริฟาดะฮฺ" หมายถึง องค์กรเพื่อการให้บริการน้ำ อาหาร และความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นผลพวงแห่งมรดกที่ตกทอดและสืบสานกันมาจากชาวกุเรช บรรพชนของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง นับตั้งแต่ยุคของกุศ็อย บุตร กิลาบ ตามด้วยอับดุมะนาฟ  และ ฮาชิม ตามด้วยอับดุลมุฏเฏาะลิบ จนถึงอัลอับบาสซึ่งได้รับมอบหมาย โดยตรงจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ให้ดูแลรับผิดชอบในภาระกิจอันทรงเกียรติดังกล่าว พวกเขามีภาชนะไว้บรรจุน้ำซัมซัมขนาดใหญ่ตั้งอยู่หน้ากะบะฮฺสำหรับให้บริการน้ำดื่มแก่ผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีหัจญ์ ณ บัยตุลลอฮฺ นี่คือความหมายของคำว่า (สิกอยะฮฺ)

         นอกจากนั้น ชนเผ่ากุเรชมักจะนำทรัพย์สินบางส่วนของพวกเขาไปมอบให้แก่กุศ็อย เพื่อให้นำทรัพย์สินเหล่านั้นไปจัดทำอาหารและเลี้ยงรับรองแก่เหล่าผู้ประกอบพิธีหัจญ์ เช่น การเชือดอูฐและอื่นๆ นี่คือความหมายของคำว่า (ริฟาดะฮฺ) (ดู ฮิดายะตุสสาลิก เล่ม 4 หน้า 1476)

 

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«أَلاَ إِنَّ كُلَّ مَأْ ثُرَةٍ كَانَتْ فِيْ الْجَاهِلِيَّةِ وَدَمٍ تَحْتَ قَدَمَيَّ هَاتَيْنِ إِلاَّ مَا كَانَ مِنْ سِقَايَةِ الْحَاجِّ وَسِدَانَةِ الْبَيْتِ»

พึงสังวรเถิดว่า แท้จริงทุกๆ กิจการงานอันเป็นวัฒนธรรมโบราณที่สืบทอดมากจากในอดีตสมัยญาฮิลียะฮฺ และการหลั่งเลือด ได้ถูกฝังกลบใต้อุ้งเท้าทั้งสองของฉันแล้ว (ยกเว้นสองประการคือ)

1.  สิกอยะตุลฮัจย์ หมายถึง ประเพณีการให้บริการน้ำดื่มแก่เหล่าผู้ประกอบพิธีหัจญ์

2.  สิดานะตุลบัยตฺ หมายถึง ประเพณีการบริหารดูแลและจัดระเบียบงานที่เกี่ยวกับกะอฺบะฮฺ

(บันทึกโดย อะหมัด เล่ม 2 หน้า 11 อบู ดาวูด เล่ม 4 หน้า 1682 อิบนุ มาญะฮฺ หมายเลข 2628)

         นี่คือส่วนหนึ่งของแบบอย่างจากท่าน  เราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั่นคือ ท่านได้เชือดอูฐจำนวนหนึ่งร้อยตัวในพิธีหัจญ์อำลา (อยู่ในหะดีษมุตตะฟักุนอะลัยฮฺ) และอีกจำนวนหลายสิบตัวทุกครั้งที่ท่านไปทำอุมเราะฮฺ ณ บัยตุลลอฮฺ อัลหะรอม (ฮิดายะตุสสาลิก)


หะดีษที่ส่งเสริมให้บริจาคทาน

นอกจากนี้ ยังมีหะดีษที่มีความหมายโดยรวมอีกมากมายที่ส่งสริมให้มีการบริจาคทาน อาทิ

 

1. รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บุตร อัมรฺ เล่าว่ามีชายคนหนึ่งได้ถามว่าท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า

أَيُّ الإِسْلاَمِ خَيْرٌ؟، قَالَ « تُطْعِمُ الطَّعَامَ، وَتَقْرَأُ السَّلاَمَ عَلَى مَنْ عَرَفْتَ وَمَنْ لَمْ تَعْرِفْ»

 "การงานใดที่ประเสริฐยิ่งในอิสลาม? ท่านตอบว่า ท่านเลี้ยงอาหาร (แก่ผู้อื่น) และให้สลามต่อบุคคลที่ท่านรู้จักและไม่รู้จักกับท่าน"

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม)

 

2. รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บุตร อัมรฺ ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«اُعْبُدُوْا الرَّحْمَنَ وَأَطْعِمُوْا الطَّعَامَ وَأَفْشُوْا السَّلاَمَ تَدْخُلُوْا الْجَنَّةَ بِسَلاَمٍ»

 "พวกเจ้าจงภักดีต่อองค์ผู้ทรงกรุณา จัดเลี้ยงอาหาร และโปรยสลาม แล้วพวกเจ้าจะได้เข้าสรวงสวรรค์โดยสันติอย่างแน่นอน"

(บันทึกโดยอัตติรมิซีย์ : หะสัน เศาะหีหฺ)

 

3. จากท่านอับดุลลอฮฺ บุตร อุมัร จากท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านได้กล่าวความว่า:

"ในสรวงสวรรค์มีห้องหับจำนวนหนึ่งที่สามารถมองเห็นได้อย่างทะลุปรุโปร่งจากด้านในสู่ด้านนอกและจากด้านนอกสู่ด้านใน (เนื่องเพราะใสสว่างของผนังห้อง)"

ท่านอบู มาลิก อัลอัชอะรีย์ จึงถามท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า "ห้องหับเหล่านั้นถูกจัดเตรียมไว้สำหรับผู้ใดหรือ?"

ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตอบว่า

«لِمَنْ طَابَ الْكَلاَمَ وَأَطْعَمَ الطَّعَامَ وَبَاتَ قَائِمًا وَالنَّاسُ نِيَامٌ»

"สำหรับผู้ที่พูดจาไพเราะ และเลี้ยงอาหาร และตื่นละหมาดยามราตรีขณะที่มวลมนุษย์กำลังหลับใหล"

(บันทึกโดยอัฏเฏาะบะรอนีย์ ดู เศาะหีหฺ อัตตัรฆีบ วัตตัรฮีบ หมายเลข 946)

 

4. จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านกล่าวว่า

«لَيْسَ صَدَقَةٌ أَعْظَمَ أَجْرًا مِنْ مَاءِ»

 ไม่มีการให้ทานใดที่มีผลกุศลยิ่งใหญ่ไปกว่าการให้ทานน้ำดื่ม"

 (บันทึกโดย อัลบัยฮะกีย์ ใน ชุอับ อัลอีมาน หมายเลข 3378: หะดีษ หะสันลิฆ็อยริฮฺ)

 

5. จากท่านอะนัส เล่าว่า: แท้จริงท่านสะอัด บุตร อุบาดะฮฺได้ไปหาท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วถามว่า

"โอ้ท่านเราะซูล มารดาของข้าพเจ้าได้สิ้นชีวิตแล้ว แต่นางไม่ได้สั่งเสียใดๆ ไว้ หากข้าพเจ้าจะบริจาคทานให้แก่นาง ไม่ทราบว่านางจะได้รับประโยชน์จากกุศลนั้นไหม?"

ท่านนบีตอบว่า "ใช่ (นางจะได้รับประโยชน์จากกุศลนั้น) และเจ้าจงใช้น้ำเป็นทาน (สำหรับนาง)"

(บันทึกโดยอัฏเฏาะบะรอนีย์ ดู เศาะหีหฺอัตตัรฆีบ วัตตัรฮีบ หมายเลข 961) 

          นี่คือการส่งเสริมของท่านนบี เพื่อให้บริจาคทานด้วยน้ำ เพราะการบริจาคทานด้วยน้ำดื่มเป็นการให้บริจาคที่ประเสริฐที่สุด อาทิ การให้ทานน้ำดื่มแก่ผู้ที่กระหาย หรือขุดบ่อน้ำดื่ม ด้วยเจตนาเพื่อให้อัลลอฮฺส่งผลบุญถึงผู้ตาย

         ดังนั้น สะอัดจึงขุดบ่อน้ำแห่งหนึ่งแล้วตั้งเจตนาในใจว่า กุศลจากบ่อน้ำนี้ขออุทิศให้แก่มารดาของเขา

  (บันทึกโดยอบู ดาวูด อิบนุ มาญะฮฺ และ อิบนุ คุซัยมะฮฺ)

         กุศลจากการทำทานเศาะดะเกาะฮฺจะถึงผู้ตายโดยไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ ในหมู่อุละมาอ์ (ดูคำพูดของ อิมาม อันนะวะวีย์ ในชัรหฺเศาะหีหฺ มุสลิม 8/90)

         ดังนั้น การให้ทานด้วยการเลี้ยงอาหาร หรือเครื่องดื่มในช่วงฤดูหัจญ์ นอกเหนือจากเป็นสัญลักษณ์ของหัจญ์มับรูรฺสำหรับผู้ประกอบพิธีหัจญ์แล้ว ยังเป็นกุศลแก่ผู้ตาย หากเขาตั้งเจตนาแผ่กุศลการบริจาคทานนั้นแก่ผู้ตาย

         ความประเสริฐของการให้ทานในช่วงฤดูหัจญ์ช่างยิ่งใหญ่นัก จะมีผู้ใดอีกเล่าที่ไม่อยากบริจาคทานในช่วงฤดูหัจญ์ หากเขาได้ทราบถึงความประเสริฐที่มากมายเช่นนั้น ?

        มาเถิด เรามาร่วมกันบริจาคทานแก่ผู้ที่ขัดสนด้วยมือของเราเอง หรือบริจาคผ่านโครงการ "อัสสิกอยะฮฺ วัรริฟาดะฮฺ" อันประกอบด้วยอาหาร และเครื่องดื่มที่เตรียมไว้แก่บรรดาผู้ประกอบพิธีหัจญ์ ผู้เป็นอาคันตุกะแห่งพระผู้ทรงกรุณา (ฎุยูฟ อัรเราะหฺมาน)โดยเฉพาะการให้ทานในวันอะเราะฟะฮฺ วันนะหัร และวันตัชรีก เนื่องเพราะมีหะดีษหลายบทได้ระบุถึงความประเสริฐของการประกอบคุณงามความดีในช่วงสิบวันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮฺ

ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«أَفْضَلُ أَيَّامِ الدُّنْياَ أَياَّمُ الْعَشْرِ - مِنْ أَوَّلِ ذِي الْحِجَّةِ»

 "(กลุ่ม) วันที่ประเสริฐที่สุดในโลกนี้คือสิบวัน (แรก) ของเดือนซุลฮิจญฮฺ"

(บันทึกโดย อัลบัซซารฺ ด้วยสายรายงานที่หะสัน ดู กัชฟุลอัสตารฺ เล่ม 2 หน้า 28 และมัจญ์มะอฺ อัซซะวาอิด เล่ม 3 หน้า 25)

 

ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าว

"ไม่มีจำนวนวันที่การประกอบคุณงามความดีในวันดังกล่าวเป็นที่พอใจของพระองค์ ยิ่งไปกว่าสิบวันแรกแห่งเดือน ซุลฮิจญะฮฺ" 

บรรดาเศาะหาบะฮฺจึงถามว่า โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ (การประกอบคุณงามความดีในวันดังกล่าว) ประเสริฐกว่าการสงครามญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ กระนั้นหรือ? "

ท่านตอบว่า: ใช่แล้ว แม้แต่ (ความประเสริฐของ) การญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ ก็ไม่สามารถเทียบเท่า (กับความประเสริฐของการประกอบคุณงามความดีในวันดังกล่าว) เว้นแต่ว่า เขาผู้นั้นได้นำพาตัวเองออกไปญิฮาดพร้อมกับทรัพย์สินของเขา และทั้งเขาและทรัพย์สินของเขาไม่มีโอกาสได้หวนกลับสู่มาตุภูมิของเขาอีกเลย”

(อัลบุคอรีย์ เล่ม 2 หน้า 457)

 

ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«مَا مِنْ يَوْمٍ أَكْثَرَ مِنْ أَنْ يَعْتِقَ اللهُ فِيْهِ عَبْداً مِنَ النَّارِ مِنْ يَوْمِ عَرَفَةَ»

 "ไม่มีวันใดเลยที่พระองค์อัลลอฮฺได้ปลดปล่อยปวงบ่าวจากขุมเพลิงแห่งไฟนรกมากเท่ากับ (การปลดปล่อยของพระองค์ใน) วันอะเราะฟะฮฺ"

(บันทึกโดยมุสลิม 2/982)

        คือวันซึ่งพระองค์อัลลอฮฺทรงแสดงความปีติยินดีกับบรรดาผู้ประกอบพิธีหัจญ์ต่อหน้ามวลมาลาอิกะฮฺ พร้อมกับเทความเมตตาของประองค์อย่างล้นหลามจนชัยฏอนรู้สึกต่ำต้อย

          ส่วนวันนะหัร (วันอีด) และวันตัชรีก (วันที่ 11-13 ซุลหิจญะฮฺ) ก็เป็นวันแห่งการกินดื่ม และกล่าวซิกิรต่ออัลลอฮฺ ที่ส่งเสริมให้เชืดสัตว์ฮัดยฺมากๆ และให้ทานอาหารแก่บรรดาผู้ประกอบพิธีหัจญ์ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดียิ่งแก่ผู้ที่ให้บริการทานน้ำและอาหารแก่บรรดาผู้เป็นอาคันตุกะของอัลลอฮฺในวันดังกล่าวควบคู่ไปกับกล่าวซิกิรต่ออัลลอฮฺอย่างมากมาย

 

เป้าหมายของโครงการสิกอยะฮฺและริฟาดะฮฺ

โครงการสิกอยะฮฺและริฟาดะฮฺมีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคน ดังนี้

     1. น้อมรับคำสั่งของอัลลอฮฺและเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในการให้ทานอาหารเครื่องดื่มแก่เหล่าฮัจญาจญ์

     2. ได้รับหัจญ์มับรูรฺผ่านกิจกรรมการให้บริการทานน้ำและอาหารแก่ฮุตญาจญ์

     3. ยกระดับคุณภาพของประชาชาติจากที่เคยเป็นคนมือล่าง (ผู้รับ) มาเป็นคนมือบน (ผู้ให้) ซึ่งเป็นผู้ที่ประเสริฐและมีเกียรติกว่า ณ อัลลอฮฺและเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

     4. ส่งผลกุศลจากการให้ทานแก่ผู้ล่วงลับที่เป็นบิดามารดา และเครือญาติ รวมทั้งบรรดาผู้เป็นที่รัก เพื่อให้พวกเขาปลอดภัย (จากการลงโทษ) ในสุสาน ได้รับการไถ่ตัวจากไฟนรก และเพื่อยกระดับสถานะของพวกเขาในโลกอาคิเราะฮฺ

     5. แสดงออกซึ่งสัญญาณแห่งการศรัทธา และสัญลักษณ์แห่งหัจญ์มับรูรฺด้านการบริจาคทาน ประกาศถึงความรักใคร่ เอื้ออาทร และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อการสถาปนาความเป็นเอกภาพของประชาชาติอิสลาม

     6. ใกล้ชิดอัลลอฮฺ และมุ่งหวังในผลบุญและการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่จากอัลลอฮฺ ด้วยการมีชีวิตที่ผาสุกบนโลกนี้และได้รับสรวงสวรรค์ในวันอาคิเราะฮฺ พร้อมกับได้รับการไถ่ตัวจากไฟนรกพร้อมๆ กับครอบครัว

         อัลหัมดุลิลลาฮฺ  ในปีนี้ (ฮ.ศ.1430) คณะผู้แทนหัจญ์ไทยทางการได้เปิดโอกาสและให้ความสะดวกแก่บรรดาผู้แสวงบุญเพื่อเข้าร่วมในโครงการอัสสิกอยะฮฺและอัรริฟาดะฮฺ (การให้ทานน้ำและอาหาร) ตามความสามารถของแต่ละท่าน โดยผ่านคณะกรรมการอัสสิกอยะฮฺวัรริฟาดะฮฺของคณะผู้แทนหัจญ์ไทย เพื่อความสำเร็จของโครงการนี้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบรรดาฮุจญา9ไทยสามารถเข้าร่วมโครงการด้วยความบริสุทธิ์ใจและจริงจัง เพื่อยกระดับหัจญ์ของตัวเองสู่ระดับของหัจญ์มับรูรฺ พร้อมๆ กับเป็นการตอบแทนคุณบิดามารดาและครอบครัว หรือผู้ที่มีอุปการะคุณทั้งหลาย

          สุดท้ายขออวยพรให้พระองค์ได้โปรดตอบรับคุณความดีของเราทุกคน และทำให้พวกเราทุกคนได้รับหัจญ์มับรูรฺโดยทั่วกัน อามีน ยาร็อบบัล อาละมีน

         และความสุขสถาพรจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่าน

سبحان ربك ربّ العزّة عمّا يصفون وسلام على المرسلين والحمد لله ربّ العالمين.

 

พี่น้องของท่าน ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา

อะมีรุ้ลหัจญ์ไทยทางการ  7 เชาวาล 1430 ฮ.ศ.

Islam House