บัญญัติเกี่ยวกับการประกอบพิธีหัจญ
มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม บิน อับดุลลอฮฺ อัต-ตุวัยญิรีย์
ขั้นตอนการปฏิบัติในวันนะหฺร์ (วันอีด)
แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบพิธีหัจญ์ คือ การเรียงลำดับขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติในวันอีด (วันที่ 10 ซุลหิจญะฮฺ) ดังนี้
1. ขว้างเสาหินญัมเราะตุลอะเกาะบะฮฺ (หรือที่เรียก อัลญัมเราะตุล กุบรอ คือด้านที่อยู่ใกล้มักกะฮฺมากที่สุด)
2. เชือดสัตว์ฮัดย์
3. โกนหรือตัดผม
4. เฏาะวาฟ
5. เดินสะแอ
เช่นนี้คือขั้นตอนปฏิบัติตามสุนนะฮฺ แต่ถ้าจะโยกย้าย ปฏิบัติข้อใดก่อนหลังก็กระทำได้ เช่น โกนผมก่อนการเชือด หรือเฏาะวาฟก่อนที่จะขว้างเสาหิน เป็นต้น
ระยะเวลาของการเชือดสัตว์ฮัดย์คือตั้งแต่วันอีดจนถึงตะวันตกดินในวันที่ 13
จากท่านอับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ บิน อัล-อาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า :
أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَقَفَ فِي حَجَّةِ الْوَدَاعِ بِمِنًى لِلنَّاسِ يَسْأَلُونَهُ فَجَاءَهُ رَجُلٌ فَقَالَ لَمْ أَشْعُرْ فَحَلَقْتُ قَبْلَ أَنْ أَذْبَحَ؟، فَقَالَ: «اذْبَـحْ وَلا حَرَجَ» فَجَاءَ آخَرُ فَقَالَ لَمْ أَشْعُرْ فَنَحَرْتُ قَبْلَ أَنْ أَرْمِيَ؟، قَال: «ارْمِ وَلا حَرَجَ» فَمَا سُئِلَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنْ شَيْءٍ قُدِّمَ وَلَا أُخِّرَ إِلَّا قَالَ: «افْعَلْ وَلا حَرَجَ»
ความว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยืนที่มินาครั้งหัจญ์วะดาอฺเพื่อให้ผู้คนสอบถามท่าน
มีชายคนหนึ่งเข้ามาหาท่านแล้วกล่าวขึ้นว่า ฉันลืมตัวไปโกนศีรษะก่อนที่จะเชือด (จะเป็นไรไหม?) ท่านตอบว่า “เชือดเถิดไม่เป็นไร"
หลังจากนั้นมีอีกคนเข้ามาถามว่า ฉันลืมตัวไปเชือดก่อนที่จะขว้างเสาหิน (จะเป็นไรไหม?) ท่านก็ตอบว่า "ขว้างไปเถิดไม่เป็นไร"
ซึ่งไม่ว่าจะมีใครถามถึงการทำสิ่งใดก่อนหลัง ท่านก็จะตอบแต่ว่า "ทำไปเถิดไม่เป็นไร"
(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ : 83 และมุสลิม : 1306)
หุก่มการเลื่อนเวลาขว้างเสาหิน
มีสุนนะฮฺให้ขว้างเสาหินในเวลาที่กำหนด
แต่อนุญาตให้ผู้ทำการเลี้ยงปศุสัตว์ ผู้ที่เจ็บป่วยไม่สบาย ผู้ที่มีเหตุจำเป็น หรือไม่สามารถเบียดเสียดกับผู้คน ให้เลื่อนเวลาการขว้างเสาหินไปเป็นวันที่ 13 ได้ และให้ขว้างตามลำดับสำหรับทุกๆวัน โดยขว้างสำหรับวันที่ 11 เริ่มจากเสาแรก ไปยังเสากลาง และสิ้นสุดที่เสาสุดท้าย หลังจากนั้นจึงเริ่มขว้างสำหรับวันที่ 12 ด้วยวิธีการเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าหากเลื่อนไปจนเลยวันที่ 13 โดยไม่มีความจำเป็นถือว่าเป็นบาป แต่ถ้าเลื่อนเพราะมีเหตุจำเป็นก็ไม่ถือว่าเป็นบาป และในทั้งสองกรณีไม่ต้องขว้างเสาหินอีกเนื่องจากได้ผ่านพ้นเวลาที่กำหนดไปแล้ว โดยพิธีกรรมของเขาถือว่าใช้ได้
อนุญาตให้ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์ และผู้ที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่บรรดาผู้ประกอบพิธีหัจญ์เช่นตำรวจจราจร รักษาความปลอดภัย ดับเพลิง หรือแพทย์พยาบาล นอนค้างนอกเขตมินาในค่ำคืนมินาหากมีความจำเป็น โดยไม่ต้องจ่ายฟิดยะฮฺแต่อย่างใด
เขตตำบลมินา
ทิศตะวันออก – ตก ระหว่างทุ่งมุหัสสิรฺ กับเสาหินอัล-อะเกาะบะฮฺ
ทิศเหนือ – ใต้ ภูเขาสูง 2 ลูก
เขตมุซดะลิฟะฮฺ
ทิศตะวันออก มะฟีฎ อัล-มะอ์ซะมัยน์ตะวันตก
ทิศตะวันตก ทุ่งมุหัสสิรฺ
ทิศเหนือ ภูเขาษะบีรฺ
ทิศใต้ เทือกเขามัรฺรีคิยาต
กำหนดเวลาการขว้างเสาหินในวันตัชรีก
1. การขว้างเสาหินหลังจากวันอีดนั้น ทั้งหมดเริ่มหลังตะวันคล้อย ผู้ใดขว้างก่อนตะวันคล้อยจำเป็นที่เขาต้องขว้างใหม่อีกครั้งหลังตะวันคล้อย ถ้าหากว่าเขาไม่ขว้างใหม่จนกระทั่งตะวันตกดินในวันที่ 13 ถือว่าเป็นบาป แต่ไม่ต้องขว้างอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากกำหนดเวลาการขว้างได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยถือว่าพิธีกรรมของเขานั้นใช้ได้
2. วันตัชรีกทั้งสามวันนั้นเมื่อพิจารณาถึงการขว้างเสาหินแล้วเปรียบเสมือนวันเดียวกัน เพราะฉะนั้นผู้ใดขว้างส่วนที่เป็นของอีกวันหนึ่งในอีกวันหนึ่งก็ถือว่าใช้ได้ และไม่ต้องจ่ายหรือปรับสิ่งใดทั้งสิ้น แต่ถือเป็นการละทิ้งสิ่งที่ประเสริฐกว่า
หุก่มการเลื่อนกำหนดการเฏาะวาฟอิฟาเฎาะฮฺ
มีสุนนะฮฺให้ทำการเฏาะวาฟซิยาเราะฮฺในวันอีด แต่ก็สามารถเลื่อนไปเป็นช่วงวันตัชรีกทั้งสามได้ เรื่อยไปจนถึงสิ้นเดือนซุลหิจญะฮฺ และไม่อนุญาตให้เลื่อนไปจนเลยเดือนซุลหิจญะฮฺไปนอกจากจะมีความจำเป็น เช่น ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยซึ่งไม่อาจจะทำการเฏาะวาฟด้วยการเดินเท้าหรือถูกแบกหามได้ หรือสตรีซึ่งมีเลือดหลังการคลอดบุตรก่อนที่จะทำการเฏาะวาฟ เป็นต้น
หุก่มหัจญ์ของผู้ที่มีอุปสรรคขวางกั้นทำให้ไม่สามารถเข้าสู่มุซดะลิฟะฮได้
ผู้ใดที่เคลื่อนตัวออกจากอะเราะฟะฮฺมุ่งหน้าสู่มุซดะลิฟะฮฺแต่มีอุปสรรค เช่น ในกรณีของการเบียดเสียดอัดแน่นของผู้คน ถ้าเกรงว่าจะไม่ทันละหมาดอิชาอ์ก็ให้ละหมาดระหว่างทาง ส่วนผู้ใดที่ไม่สามารถเข้าสู่มุซดะลิฟะฮฺได้จนกระทั่งรุ่งสาง หรือเช้า ให้ยืนอยู่ ณ มุซดะลิฟะฮฺครู่หนึ่ง จากนั้นจึงมุ่งหน้าไปยังทุ่งมินาโดยไม่ถือว่าเป็นบาปแต่อย่างใด และไม่ต้องเสียดัม พิธีหัจญ์ของเขาก็ถือว่าถูกต้อง
ผู้ใดขว้างก้อนหินทั้งหมดในคราเดียวกันนับว่าเป็นหนึ่งก้อน และจำเป็นต้องขว้างอีก 6 ก้อน โดยที่จำเป็นต้องทำคือขว้างให้ลงบ่อหิน โดยไม่จำเป็นว่าต้องโดนเสาหินที่มีไว้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกเท่านั้น
หุก่มการขว้างในตอนกลางคืน
ที่ดีที่สุดของการขว้างเสาหินในวันตัชรีกทั้งสามคือช่วงเวลาตั้งแต่หลังตะวันคล้อยในเวลากลางวัน แต่ถ้าหากมีอุปสรรคในเรื่องของการเบียดเสียดก็ให้ขว้างในช่วงเย็นได้ เนื่องจากท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำหนดเวลาสำหรับเริ่มขว้าง แต่ไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุด
จากท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า :
سُئِلَ النَّبِيُّ صَلَى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَالَ: رَمَيْتُ بَـعْدَ مَا أَمْسَيْتُ فَقَالَ: «لا حَرَجَ» قَالَ: حَلَقْتُ قَبْلَ أَنْ أَنْحَرَ قَالَ: «لا حَرَجَ»
มีคนถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า ฉันขว้างเสาหินหลังจากที่ได้เข้าสู่เวลาเย็นแล้ว
ท่านก็ตอบว่า “ไม่เป็นไร”
เขากล่าวว่า ฉันโกนศีรษะก่อนที่จะเชือด
ท่านตอบว่า “ไม่เป็นไร”
(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ : 1723 และมุสลิม : 1306)
หุก่มการเฏาะวาฟของสตรีผู้มีประจำเดือน
ในกรณีที่สตรีมีรอบเดือนหรือมีเลือดหลังคลอดบุตรก่อนการเฏาะวาฟซิยาเราะฮฺ นางไม่ต้องทำการเฏาะวาฟ แต่ให้รอจนกระทั่งเลือดหยุด และให้อยู่มักกะฮฺต่อจนกระทั่งนางอาบน้ำยกหะดัษและทำการเฏาะวาฟ ในกรณีที่นางไปพร้อมกับกลุ่มซึ่งไม่สามารถรอนางได้ และนางก็ไม่สามารถอยู่ต่อที่มักกะฮฺได้ ก็ให้นางปกปิดอวัยวะด้วยผ้า (กันเปื้อนหรือผ้าอนามัย) ให้มิดชิดแล้วทำการเฏาะวาฟได้ เพราะถือว่านางเป็นผู้มีเหตุจำเป็น และอัลลอฮฺตะอาลานั้นไม่ทรงใช้ในสิ่งที่เกินความสามารถของมนุษย์ และถือว่าพิธีหัจญ์ของนางนั้นใช้ได้ อินชาอัลลอฮฺ
หุก่มการให้ผู้อื่นขว้างแทน
อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีความสามารถไม่ว่าจะเป็นสตรีหรือบุรุษหรือเด็ก วานให้ผู้อื่นขว้างแทนได้ โดยให้ผู้ขว้างแทนนั้นขว้างสำหรับตนเองก่อน แล้วจึงขว้างสำหรับผู้อื่นที่ได้ไหว้วานไว้
เมื่อสตรีเนียตครองอิหฺรอมเพื่ออุมเราะฮฺแล้วปรากฏว่ามีรอบเดือนก่อนจะเริ่มทำการเฏาะวาฟ หากว่ารอบเดือนของนางหมดก่อนวันที่ 9 ก็ให้นางประกอบพิธีอุมเราะฮฺต่อไปแล้วเนียตครองอิหฺรอมหัจญ์และมุ่งหน้าสู่ อะเราะฟะฮฺ แต่ถ้านางยังมีรอบเดือนอยู่จนถึงวันอะเราะฟะฮฺก็ให้นางรวมหัจญ์เข้าไปในอุมเราะฮฺด้วยการกล่าวว่า
لَبَّيْكَ حَجاً وعُمْرَةً ลับบัยกะ หัจญัน วะ อุมเราะตัน
เช่นนี้ถือว่านางได้เปลี่ยนเป็นพิธีกรรมแบบกิรอน และให้นางทำการวุกูฟเหมือนคนอื่นๆ เมื่อหมดรอบเดือนแล้วก็ให้อาบน้ำยกหะดัษ และทำการเฏาะวาฟรอบกะอฺบะฮฺ
ผู้ที่ประกอบพิธีแบบอิฟรอดหรือกิรอนนั้น เมื่อถึงมักกะฮฺแล้ว ให้ทำการเฏาะวาฟและเดินสะแอ โดยสุนัตให้เขาเปลี่ยนพิธีกรรมเป็นหัจญ์แบบตะมัตตุอฺ หรือถ้าจะเปลี่ยนเป็นแบบตะมัตตุอฺก่อนการเฏาะวาฟก็กระทำได้ แต่ผู้ที่ประกอบพิธีแบบอิฟรอดไม่ต้องเปลี่ยนเป็นแบบกิรอน เช่นเดียวกับผู้ที่ประกอบพิธีแบบกิรอนก็ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นอิฟรอด แต่ตามสุนนะฮฺแล้วก็คือให้เปลี่ยนพิธีกรรมแบบอิฟรอดหรือกิรอนเป็นแบบตะมัตตุอฺ ถ้าหากว่าผู้ที่ทำแบบกิรอนนั้นไม่มีสัตว์ฮัดย์
จำเป็นสำหรับผู้ประกอบพิธีหัจญ์หรืออุมเราะฮฺที่จะต้องระมัดระวังคำพูดของตน ไม่ให้มีการโกหกมดเท็จ นินทาว่าร้าย โต้เถียงทะเลาะวิวาท และมารยาทที่ไม่สมควรต่างๆ และจำเป็นที่เขาต้องเลือกกลุ่มเพื่อนร่วมทางที่ดี และต้องใช้จ่ายเงินที่มาจากสิ่งที่เป็นที่อนุมัติ
หุก่มการเข้าไปข้างในกะอฺบะฮฺ
การเข้าไปข้างในกะอฺบะฮฺไม่ถือว่าเป็นวาญิบ หรือสุนัตที่กำชับให้กระทำแต่อย่างใด แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และผู้ใดมีโอกาสได้เข้าไปข้างในกะอฺบะฮฺก็สุนัตให้เขาละหมาด กล่าวตักบีรฺ และขอดุอาอ์ เมื่อเขาผ่านประตูเข้าไปแล้วก็ให้เดินขึ้นไปข้างหน้าเล็กน้อยกระทั่งเหลือระยะห่างระหว่างเขากับผนังข้างหน้าราว 3 ศอก โดยให้ประตูอยู่ข้างหลังเขา แล้วจึงทำการละหมาด
หกสถานที่สำหรับการขอดุอาอ์ในพิธีหัจญ์
- บนเขาเศาะฟาและมัรฺวะฮฺ ในระหว่างการเดินสะแอ
- ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺ
- ณ มุซดะลิฟะฮฺ
- หลังจากขว้างเสาหินแรก
- หลังจากขว้างเสาหินกลาง
ทั้ง 6 สถานที่ดังกล่าวนี้มีแบบอย่างจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมให้ทำการขอดุอาอ์
การเคลื่อนตัวของผู้ประกอบพิธีหัจญ์มีอยู่ 3 ครั้ง
1. จากทุ่งอะเราะฟะฮฺสู่มุซดะลิฟะฮฺคืนก่อนวันอีด
2. จากมุซดะลิฟะฮฺสู่มินา
3. จากมินาสู่มักกะฮฺเพื่อทำการเฏาะวาฟอิฟาเฎาะฮฺ
ลักษณะการค้างแรม ณ สถานที่สำหรับประกอบพิธีหัจญ์
1. มินา มุซดะลิฟะฮฺ และอะเราะฟะฮฺถือเป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีหัจญ์ ไม่อนุญาตให้ผู้ใดครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์
ผู้ใดที่ไม่ค้างแรม ณ มินา 2 หรือ 3 คืนช่วงวันตัชรีกโดยไม่มีเหตุจำเป็นถือว่าเป็นบาป แต่พิธีกรรมของเขาถือว่าใช้ได้ ส่วนผู้ที่ไม่มีที่ให้ค้างแรมในเขตมินา ก็อนุญาตให้ค้างแรมถัดจากเต้นท์สุดท้ายที่อยู่ในเขตมินาได้ จะเป็นทางทิศใดก็ได้แม้ว่าจะอยู่นอกเขตมินาก็ตาม โดยไม่ถือว่าเป็นบาปและไม่ต้องจ่ายดัม และไม่ควรค้างแรมตามทางเท้าหรือถนนหนทางเพราะนอกจากจะเป็นอันตรายต่อตนเองแล้วยังสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นอีกด้วย
2. มินา มุซดะลิฟะฮฺ และอะเราะฟะฮฺเป็นสถานที่สำหรับประกอบอิบาดะฮฺหัจญ์ เปรียบได้ดั่งมัสยิด จึงไม่อนุญาตให้ผู้ใดสร้างบ้านเรือนที่พักอาศัยเพื่อให้เช่า หรือยึดที่ดินส่วนหนึ่งส่วนใดเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเพื่อให้ผู้อื่นเช่า ผู้ใดกระทำเช่นนั้นถือว่าเขาได้กระทำบาป ส่วนผู้เช่าถือว่าไม่เป็นบาป และจำเป็นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องจัดระเบียบการเข้าพักของผู้คนในเขตสถานที่ประกอบพิธีหัจญ์ตามความเหมาะสมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและความสะดวกสบายของบรรดาผู้ประกอบพิธีหัจญ์
จากท่านอับดุรฺเราะหฺมาน บิน มุอาซ จากชายคนหนึ่งในบรรดาเศาะหาบะฮฺ กล่าวว่า
خَطَبَ النَّبِيُّ صلى الله عليه وسلم النَّاسَ بِمِنىً، وَنَزَّلَـهُـمْ مَنَازِلَـهُـمْ فَقَالَ: «لِيَنْزِلِ المُهَاجِرُونَ هَاهُنَا» وَأَشَارَ إلَى مَيْـمَنَةِ القِبْلَةِ «وَالأَنْصَارُ هَاهُنَا» وَأَشَارَ إلَى مَيْسَرَةِ القِبْلَةِ «ثُمَّ لِيَنْزِلِ النَّاسُ حَوْلَـهُـمْ»
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อ่านคุฏบะฮฺต่อหน้าผู้คน ณ มินา และได้แบ่งที่พักแรมของพวกเขา
ท่านกล่าวว่า “บรรดาชาวมุฮาญิรีนให้พักแรมตรงนี้” แล้วท่านก็ชี้ไปทางด้านขวามือของกิบลัต
“และบรรดาชาวอันศอรฺให้พักแรมตรงนี้” แล้วท่านก็ชี้ไปทางซ้ายมือของกิบลัต “ส่วนคนอื่นๆให้พักแรมรอบๆพวกเขา”
(บันทึกโดย อบูดาวุด : 1951 และอันนะสาอีย์ : 2996)
ในกรณีที่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์เลื่อนการเฏาะวาฟซิยาเราะฮฺไปเป็นก่อนจะกลับ ก็ไม่จำเป็นต้องทำการเฏาะวาฟวะดาอฺอีกหากเขาเนียตว่านั่นเป็นการเฏาะวาฟซิยาเราะฮฺ
ผู้ที่วาญิบต้องทำการเฏาะวาฟวะดาอฺ หากว่าเขาออกเดินทางกลับก่อนที่จะทำการเฏาะวาฟวะดาอฺจำเป็นที่เขาต้องกลับเข้าไปใหม่เพื่อทำการเฏาะวาฟวะดาอฺ ถ้าหากเขาไม่กลับไป ถือว่าเป็นบาป แต่พิธีกรรมของเขาถือว่าใช้ได้
แปลโดย: อัสรอน นิยมเดชา / Islam House