ขั้นตอนการประกอบพิธีหัจญ์
  จำนวนคนเข้าชม  19537

 

 

ขั้นตอนการประกอบพิธีหัจญ์


 
          เป็นขั้นตอนการประกอบพิธีหัจญ์ตามที่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้อธิบายแก่เศาะหาบะฮฺของท่านเราะฎิยัลลอฮุอันฮุม

           สุนัตให้ผู้ที่เริ่มครองอิหฺรอม ณ เมืองมักกะฮฺและชาวมักกะฮฺเองอาบน้ำชำระล้างร่างกายและใส่เครื่องหอม จากนั้นจึงเริ่มเนียตครองอิหฺรอมเพื่อประกอบพิธีหัจญ์ในวันตัรฺวิยะฮฺ (วันที่ 8 ซุลหิจญะฮฺ) ก่อนตะวันคล้อย โดยให้เริ่มเนียตครองอิหฺรอมจากที่ที่เขาอยู่ และให้กล่าวว่า (لَبَّيْكَ حَجّاً) อ่านว่า ลับบัยกะ หัจญัน ส่วนผู้ที่ประกอบพิธีหัจญ์แบบกิรอนและอิฟรอด ก็ให้คงอยู่ในอิหฺรอมกระทั่งได้ขว้างเสาหินในวันอีดแล้ว

           จากนั้นให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบพิธีหัจญ์ออกไปยังตำบลมินาก่อนตะวันคล้อย โดยให้ละหมาดย่อซุฮฺร อัศรฺ มัฆริบ อิชา และฟัจญฺรพร้อมอิหม่าม แต่ถ้าไม่สะดวกก็ให้ละหมาด ณ จุดที่เขาพักได้โดยละหมาดย่อแต่ไม่รวมเช่นเดียวกัน และในคืนนั้นให้นอนค้างที่มินา

          เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นในวันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺซึ่งก็คือวันอะเราะฟะฮฺ ให้ออกจากมินามุ่งหน้าสู่ทุ่งอะเราะฟะฮฺในสภาพที่กล่าวคำตัลบิยะฮฺและตักบีรฺอยู่ตลอดเวลา และให้พักที่นะมิเราะฮฺ (สถานที่ใกล้อะเราะฟะฮฺ แต่ยังไม่ต้องเข้าเขตอะเราะฟะฮฺ) จนกว่าตะวันจะคล้อย

เขตอะเราะฟะฮฺ

 ทิศตะวันออก จากหุบเขาที่ล้อมรอบทุ่งอะเราะฟะฮฺ

 ทิศตะวันตก จากทุ่งอุเราะนะฮฺ

 ทิศเหนือ จากรอยต่อระหว่างทุ่งวะศีกกับทุ่งอุเราะนะฮฺ

 ทิศใต้ ถัดจากมัสยิดนะมิเราะฮฺไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตรครึ่ง

 
           เมื่อตะวันคล้อยให้เคลื่อนเข้าสู่ส่วนแรกของอะเราะฟะฮฺทางด้านมัสยิดอะเราะฟะฮฺ ณ สถานที่นั้น (ทุ่งอุเราะนะฮฺ) อิหม่ามจะอ่านคุฏบะฮฺต่อหน้าผู้คน ซึ่งปัจจุบันสถานที่นี้อยู่ในบริเวณมัสยิด หลังจากนั้นก็จะมีการอะซานและอิกอมะฮฺเพื่อทำการละหมาด โดยอิหม่ามจะนำละหมาดรวมย่อซุฮรฺและอัศรฺ ในเวลาซุฮรฺ ด้วยอะซานเดียวสองอิกอมะฮฺ หากไม่สามารถร่วมละหมาดที่มัสยิดได้ ก็ให้ละหมาดกับกลุ่มของตน ณ ที่พักด้วยวิธีการเช่นเดียวกัน

           เมื่อละหมาดเสร็จสุนัตให้มุ่งหน้าสู่อะเราะฟะฮฺ และหยุด ณ เขาอะเราะฟะฮฺ ให้เขาอะเราะฟะฮฺอยู่ระหว่างตัวเขากับกิบลัต โดยให้หับลุลมุชาฮฺอยู่ข้างหน้าเขา

           และให้ยืน ณ โขดหินใต้ภูเขาเพื่อรำลึกถึงอัลลอฮฺ ยกมือขึ้นขอดุอาอ์และขออภัยโทษด้วยความนอบน้อมถ่อมตน หรือจะอยู่บนพาหนะก็ได้ จะนั่งบนพื้น จะยืน จะเดินก็ได้ทั้งสิ้น ที่ดีที่สุดก็คือให้อยู่ในสภาพที่ทำให้เกิดความสงบนิ่งและรำลึกถึงอัลลอฮฺมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

           และให้ขอดุอาอ์ให้มาก ด้วยดุอาอ์ที่มีรายงานในอัลกุรอานและสุนนะฮฺที่ถูกต้อง หรือจะขอสิ่งใดก็ได้ และให้ขออภัยโทษให้มาก เตาบะฮฺกลับตัว ตักบีรฺ ตะฮฺลีล และสรรเสริญอัลลอฮฺตะอาลา กล่าวเศาะละวาตนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และแสดงความนอบน้อมต่ออัลลอฮฺตะอาลา ขอดุอาอ์อย่างไม่สิ้นหวังหรือรู้สึกว่าอัลลอฮฺตะอาลาทรงตอบรับช้า โดยให้ซิกรุลลอฮฺและขอดุอาอ์เช่นนี้จนกระทั่งตะวันลับขอบฟ้า

           หากไม่สะดวกที่จะยืนที่โขดหินใต้เขา ก็ให้ยืน ณ จุดใดของอะเราะฟะฮฺก็ได้ ซึ่งทุกส่วนของอะเราะฟะฮฺถือว่าเป็นที่วุกูฟได้ยกเว้นกลางทุ่งอุเราะนะฮฺ
 

ช่วงเวลาของการวุกูฟที่อะเราะฟะฮฺ

           เริ่มตั้งแต่หลังตะวันคล้อยในวันอะเราะฟะฮฺจนกระทั่งตะวันตกดิน และต่อเนื่องจนถึงยามรุ่งสางของวันที่สิบซุลหิจญะฮฺ ส่วนผู้ใดเข้าสู่อะเราะฟะฮฺก่อนตะวันคล้อย หรือในคืนก่อนวันอะเราะฟะฮฺก็ถือว่ากระทำได้ แต่ที่เป็นสุนนะฮฺนั้นคือให้เข้าหลังตะวันคล้อย และผู้ใดทำการวุกูฟในเวลากลางคืนเพียงชั่วขณะก็ถือว่าใช้ได้ ซึ่งความหมายของการวุกูฟก็คือ การอยู่บนพาหนะหรือบนพื้นดินก็ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องยืนด้วยเท้าทั้งสองแต่อย่างใด และผู้ใดทำการวุกูฟ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺในเวลากลางวัน แล้วเคลื่อนออกก่อนตะวันตกดินถือว่าเขาได้ละทิ้งสิ่งที่สมควรกระทำ แต่ไม่ต้องเสียดัมแต่อย่างใด และหัจญ์ของเขาก็ถือว่าใช้ได้

عن عُرْوَةَ بن مُضَرِّسٍ رَضِيَ الله عَنْـهُ أنَّـهُ أدْرَكَ النَّبِيَّ صلى الله عليه وسلم بِالْمُزْدَلِفَةِ حِيْنَ خَرَجَ لِصَلاَةِ الْفَجْرِ... فَقَالَ لَـهُ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: «مَنْ شَهِدَ صَلاتَنَا هذِهِ، وَوَقَفَ مَعَنَا حَتَّى نَدْفَعَ وَقَد وَقَفَ بِعَرفَةَ قَبْلَ ذَلِكَ ليْلاً أو نَـهَاراً فَقَدْ أتَمَّ حَجَّهُ وَقَضَى تَفَثَهُ».

ความว่า : จากท่านอุรฺวะฮฺ บิน มุฎ็อรฺริส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านได้ทันพบท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ณ มุซดะลิฟะฮฺขณะออกไปละหมาดฟัจญร์...ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวแก่เขาว่า

         “ผู้ใดร่วมละหมาดกับเราซึ่งละหมาดครั้งนี้ และได้ทำการวุกูฟพร้อมกับเรากระทั่งเราเคลื่อนตัวออก โดยที่เขาได้ทำการวุกูฟ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺ ก่อนหน้านั้นในเวลากลางคืนหรือกลางวัน ก็เท่ากับว่าเขาได้ประกอบพิธีหัจญ์เรียบร้อยแล้ว และได้เสร็จสิ้นภารกิจของเขา”

(บันทึกโดย อบูดาวุด : 1950 และอัตตัรมิซีย์ : 891)

          หลังตะวันลับขอบฟ้า ให้เคลื่อนตัวออกจากอะเราะฟะฮฺมุ่งหน้าสู่มุซดะลิฟะฮฺในสภาพที่กล่าวคำตัลบิยะฮฺและนอบน้อมสงบเสงี่ยมอยู่ตลอดเวลา ไม่เบียดเสียดกับผู้คนด้วยร่างกายหรือยานพาหนะของตน แต่ถ้าเห็นทางว่างจึงค่อยเร่ง เมื่อไปถึงมุซดะลิฟะฮฺให้ละหมาดมัฆริบ 3 ร็อกอัตและอิชาอ์ 2 ร็อกอัตโดยให้รวมในเวลาอิชาอ์ด้วยอะซานเดียวสองอิกอมะฮฺ และนอนค้างที่นั่น พร้อมละหมาดตะฮัจญุดและวิเตรฺ

          เมื่อได้เวลาก็ให้ละหมาดฟัจญรฺพร้อมละหมาดสุนัต ละหมาดเสร็จแล้วให้เดินไปยังอัล-มัชอะริล หะรอม ซึ่งปัจจุบันอยู่บริเวณมัสยิดมุซดะลิฟะฮฺ และยืนผินหน้าสู่กิบลัตกล่าวซิเกรฺ ตะหฺมีด ตะฮฺลีล ตักบีรฺ แล้วกล่าวคำตัลบิยะฮฺ พร้อมขอดุอาอ์บนยานพาหนะ หรือบนพื้นดินก็ได้ จนกระทั่งฟ้าเริ่มสางมากแล้วดังที่อัลลอฮฺตะอาลาตรัสไว้ว่า

“ครั้นเมื่อพวกเจ้าได้หลั่งไหลกันออกจากอะเราะฟาตแล้ว ก็จงกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ ณ อัล-มัชอะริล หะรอม“

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 198)

         ในกรณีที่ไม่สะดวกจะเดินไปยังอัล-มัชอะริลหะรอมก็ให้ยืนขอดุอาอ์ ณ ส่วนใดของมุซดะลิฟะฮฺก็ได้ โดยให้ผินหน้าสู่ทิศกิบลัต

          ส่วนผู้ที่อ่อนแอหรือเจ็บป่วยไม่สบาย ไม่ว่าจะเป็นบุรุษหรือสตรี รวมไปถึงผู้ติดตามดูแลบุคคลเหล่านั้นอนุโลมให้ออกจากมุซดะลิฟะฮฺไปยังทุ่งมินาเมื่อดวงจันทร์ลับไปแล้ว หรือผ่านไปส่วนใหญ่ของคืนแล้ว และเมื่อถึง  มินาก็อนุญาตให้ขว้างเสาหินอัล-อะเกาะบะฮฺทันที

          จากนั้นก็ให้ผู้ประกอบพิธีหัจญ์เคลื่อนตัวออกจากมุซดะลิฟะฮฺมุ่งหน้าไปยังมินาก่อนตะวันขึ้น ด้วยความสงบเสงี่ยมนอบน้อม เมื่อถึงมุหัสสิรฺ (ชื่อทุ่งซึ่งตั้งอยู่ระหว่างมุซดะลิฟะฮฺกับมินาซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของมินา) ก็ให้เร่งการเดินทางให้เร็วขึ้นไม่ว่าจะโดยยานพาหนะหรือเดินเท้า

          และให้เก็บลูกหิน ณ บริเวณเสาหิน หรือระหว่างทางสู่เสาหิน หรือถ้าหากจะเก็บจากมุซดะลิฟะฮฺก็กระทำได้ โดยระหว่างทางนั้นให้กล่าวคำตัลบิยะฮฺและตักบีรฺอยู่ตลอด และให้หยุดกล่าวคำตัลบิยะฮฺเมื่อจะเริ่มขว้างเสาหินอัล-อะเกาะบะฮฺ

          เมื่อถึงยังเสาหินอัล-อะเกาะบะฮฺ ซึ่งเป็นเสาหินสุดท้ายจากด้านมินา ให้ทำการขว้างด้วยหินก้อนเล็กๆ 7 ก้อนหลังตะวันขึ้น โดยให้มินาอยู่ทางขวามือและมักกะฮฺอยู่ทางซ้าย โดยให้ขว้างด้วยมือขวาและกล่าวตักบีรฺในทุกๆครั้งที่ขว้าง

          ในการขว้างหินนั้น สุนัตให้เลือกหินก้อนเล็กๆขนาดเท่าเมล็ดถั่ว และไม่อนุญาตให้ทำการขว้างโดยใช้หินก้อนใหญ่ หรือสิ่งของอื่นใดเช่นรองเท้า รองเท้าแตะ เครื่องประดับ เป็นต้น และไม่ควรเบียดเสียดผู้อื่นขณะทำการขว้าง

          หลังจากขว้างแล้วให้ผู้ประกอบแบบตะมัตตุอฺและกิรอนเชือดสัตว์ฮัดย์ และกล่าวขณะที่เชือดว่า              

 " باسمِ اللهِ واللهُ أكبرُ، اللهم تَقبل مني"      

 "ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ อัลลอฮฺนั้นทรงยิ่งใหญ่ที่สุด   โอ้อัลลอฮฺ ได้โปรดตอบรับจากข้าพระองค์ด้วยเถิด"


عن أنس رضي الله عنه قال: ضَحَّى النَّبِيُّ صلى الله عليه وسلم بِكَبْشَيْنِ أَمْلَحَيْنِ أَقْرَنَيْنِ ذَبَحَهُمَا بِيَدِهِ وَسَمَّى وَكَبَّرَ وَوَضَعَ رِجْلَهُ عَلَى صِفَاحِهِمَا.

          จากท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เชือดอุฎหิยะฮฺเป็นแพะสองตัวซึ่งมีความสมบูรณ์และมีเขา ท่านเชือดด้วยมือของท่าน โดยกล่าวพระนามของอัลลอฮฺ และตักบีรฺ แล้ววางเท้าของท่านบนใบหน้าของมันทั้งสอง

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ : 5558 และมุสลิม : 1966)

           สุนัตให้ทานเนื้อและแกงที่ประกอบจากเนื้อดังกล่าว และให้แจกจ่ายแก่ผู้ยากไร้ และอนุญาตให้นำกลับไปยังภูมิลำเนาของตนได้

           หลังจากที่ได้เชือดสัตว์ฮัดย์แล้ว สำหรับบุรุษให้โกนหรือตัดผม แต่การโกนประเสริฐกว่า ซึ่งตามสุนนะฮฺแล้วให้เริ่มโกนจากศีรษะฝั่งขวาก่อน ส่วนสตรีนั้นแค่ตัดปลายผมกระจุกเล็กๆก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

 عن أبي هريرة رضي الله عنه قال: قال رسول الله صلى الله عليه وسلم: «اللَّـهُـمَّ اغْفِرْ لِلْـمُـحَلِّقِينَ» قالوا: يا رسول الله وللمقصرين؟ قال: «اللَّـهُـمَّ اغْفِرْ لِلْـمُـحَلِّقِينَ» قالوا: يا رسول الله وللمقصرين؟ قال: «اللَّـهُـمَّ اغْفِرْ لِلْـمُـحَلِّقِينَ» قالوا: يا رسول الله وللمقصرين؟ قال: «وَلِلْـمُقَصِّرِينَ». متفق عليه

จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า "โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงอภัยแก่บรรดาผู้ที่โกนผมด้วยเถิด"

พวกเขากล่าวว่า "โอ้ ท่านเราะสูล แล้วบรรดาผู้ที่ตัดผมล่ะ?"

ท่านกล่าวว่า "โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงอภัยแก่บรรดาผู้ที่โกนผมด้วยเถิด"

พวกเขาก็กล่าวอีกว่า "โอ้ ท่านเราะสูล แล้วบรรดาผู้ที่ตัดผมล่ะ?"

ท่านจึงกล่าวว่า "โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงอภัยแก่บรรดาผู้ที่โกนผมด้วยเถิด"

พวกเขากล่าวว่า "โอ้ ท่านเราะสูล แล้วบรรดาผู้ที่ตัดผมล่ะ?"

ท่านจึงกล่าวว่า "และบรรดาผู้ที่ตัดผม"

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ : 1728 และมุสลิม : 1302)

           เมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ถือว่าทุกสิ่งที่เคยเป็นที่ต้องห้ามสำหรับผู้ครองอิหฺรอมเป็นที่อนุญาตแล้ว ยกเว้นการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องหอม และการปิดศีรษะเป็นต้นนั้น ถือว่าให้เป็นที่อนุญาต หากเขาทำการขว้างเสาหินอัล-อะเกาะบะฮฺเพียงอย่างเดียวถือว่าทุกอย่างเป็นที่อนุญาตสำหรับเขายกเว้นการมีเพศสัมพันธ์ แต่หากเขายังไม่ได้โกนผมหรือเชือดสัตว์ฮัดย์(นอกจากว่าเขาจะนำสัตว์ฮัดย์ไปด้วย) เช่นนี้สิ่งที่เป็นข้อห้ามต่างๆจะไม่เป็นที่อนุญาตสำหรับเขาจนกว่าเขาจะขว้างเสาหิน และทำการเชือดฮัดย์ (ซึ่งเรียกว่าเป็นการตะหัลลุลเบื้องต้น)

          สุนัตให้อิหม่ามอ่านคุฏบะฮฺในตอนสายของวันอีด ณ ตำบลมินาบริเวณที่ขว้างเสาหิน โดยให้ทำการอธิบายขั้นตอนการประกอบพิธีหัจญ์ จากนั้นให้ผู้ประกอบพิธีหัจญ์สวมใส่เสื้อผ้า ใส่เครื่องหอมแล้วมุ่งหน้าไปยังมักกะฮฺในตอนสายนั้น เพื่อทำการเฏาะวาฟรอบกะอฺบะฮฺสำหรับพิธีหัจญ์ ซึ่งเรียกว่า เฏาะวาฟอิฟาเฎาะฮฺ หรือ เฏาะวาฟซิยาเราะฮฺ โดยไม่ต้องทำการเราะมัล (กึ่งเดินกึ่งวิ่ง) แต่อย่างใด

         หลังจากนั้น ให้เดินสะแอระหว่างเขาเศาะฟาและมัรฺวะฮฺในกรณีที่ประกอบพิธีแบบตะมัตตุอฺซึ่งถือว่าดีกว่า แต่ถ้าหากผู้ประกอบพิธีแบบตะมัตตุอฺจะทำการเดินสะแอเพียงครั้งเดียวก็ถือว่าใช้ได้ ส่วนผู้ที่ประกอบพิธีแบบกิรอน หรืออิฟรอดและยังไม่ได้ทำการเดินสะแอมาก่อนครั้งที่ทำการเฏาะวาฟกุดูม ก็ให้ทำการเฏาะวาฟแล้วเดินสะแอเหมือนกับผู้ที่ประกอบแบบตะมัตตุอฺ แต่ถ้าเขาได้ทำการเดินสะแอภายหลังการเฏาะวาฟกุดูมมาแล้ว (ซึ่งถือว่าดีกว่า) เขาก็ไม่ต้องทำการเดินสะแอหลังการเฏาะวาฟอิฟาเฎาะฮฺอีก และถือว่าทุกอย่างเป็นที่อนุญาตสำหรับเขาแม้กระทั่งการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่ง ณ จุดนี้เรียกว่าเป็นการตะหัลลุลขั้นสุดท้าย


กำหนดเวลาสำหรับการเริ่มเฏาะวาฟซิยาเราะฮฺ (เฏาะวาฟ อิฟาเฎาะฮฺ)

          สำหรับผู้ที่ทำการวุกูฟที่อะเราะฟะฮฺก็ตั้งแต่หลังจากส่วนใหญ่ของคืนก่อนวันอีดผ่านไป แต่สุนัตให้เฏาะวาฟในช่วงกลางวันของวันอีด และสามารถเลื่อนให้ช้าออกไปได้ แต่ต้องไม่เกินเดือนซุลหิจญะฮฺนอกจากจะมีเหตุจำเป็น

          จากนั้นให้กลับไปยังมินาแล้วละหมาดซุฮรฺ และค้างแรมที่นั่นตลอดวันอีดรวมไปถึงวันตัชรีกทั้งสาม โดยค้างคืนก่อนวันที่ 11 ก่อนวันที่ 12 และคืนก่อนวันที่13 (ในกรณีที่เขาอยู่ครบ 3 วัน ซึ่งถือว่าดีกว่า) แต่ถ้าไม่สามารถนอนค้างได้ทั้งคืน อย่างน้อยก็ให้อยู่นานๆ โดยอาจจะอยู่ช่วงค่ำ ช่วงกลาง หรือช่วงท้ายของคืนก็ได้

          และให้ละหมาด 5 เวลาพร้อมญะมาอะฮฺภายในเวลา โดยละหมาดย่อเพียงอย่างเดียวโดยไม่รวม ณ มัสยิดอัล-คีฟหากกระทำได้ ถ้าหากลำบากก็ให้ละหมาดที่ใดก็ได้ ส่วนการขว้างเสาหินในวันตัชริกทั้งสามนั้น ให้เริ่มขว้างหลังตะวันคล้อย โดยให้เก็บก้อนหินที่ต้องใช้ขว้างในแต่ละวันนั้นจากส่วนใดของมินาก็ได้

          สุนัตให้เดินเท้าไปยังที่ขว้างเสาหินหากกระทำได้ โดยในวันที่ 11 ให้เริ่มขว้างหลังตะวันคล้อยโดยเริ่มจากอัล-ญัมเราะตุศศุฆรอ(เสาหินขนาดเล็กสุด)ซึ่งอยู่ถัดจากมัสยิดอัล-คีฟ โดยใช้หินก้อนเล็กๆ 7 ก้อน และให้ขว้างอย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่ขว้างให้ยกมือขวาแล้วกล่าว อัลลอฮุอักบัรฺ ในขณะที่ผินหน้าไปทางกิบลัต หากกระทำได้

          เมื่อเสร็จแล้วให้เดินขยับไปทางขวามือเล็กน้อย ยืนผินหน้าไปทางกิบลัตยกมือขึ้นขอดุอาอ์ โดยสุนัตให้ขอยาวๆประมาณความยาวของสูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ

          จากนั้นให้เดินไปยัง อัล-ญัมเราะตุลวุสฏอ (เสาหินขนาดกลาง) และขว้างหินขนาดเล็ก 7 ก้อนเช่นเคย พร้อมยกมือขวากล่าวตักบีรฺในทุกครั้งที่ขว้าง จากนั้นให้เดินขยับไปทางซ้ายมือ ยืนหันหน้าไปทางกิบลัตยกมือขอดุอาอ์ โดยให้ขอยาวน้อยกว่าจุดแรก

          หลังจากนั้นให้เดินไปยัง ญัมเราะตุลอะเกาะบะฮฺ (เสาหินขนาดใหญ่ที่สุด) และขว้างหิน 7 ก้อน โดยให้มักกะฮฺอยู่ทางซ้ายมือและมินาอยู่ทางขวามือ โดยไม่ต้องหยุดขอดุอาอ์ เช่นนั้นจึงถือว่าได้ขว้างเสาหินครบ 21 ก้อน สำหรับผู้ที่มีเหตุจำเป็นนั้นเขาอาจจะไม่นอนค้างแรมที่มินาก็ได้ หรืออาจจะรวมเอาการขว้างของ 2 วันมาอยู่ในวันเดียวก็ได้ และก็อาจจะขว้างวันตัชรีกวันสุดท้ายในคราวเดียว หรือจะขว้างตอนกลางคืนก็ถือว่าใช้ได้ทั้งสิ้น

          ในวันที่ 12 ซุลหิจญะฮฺก็ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ทำไปในวันที่ 11 โดยขว้างเสาหินทั้งสามหลังจากตะวันคล้อย

          ผู้ใดต้องการขว้างเพียง 2 วันให้เคลื่อนออกจากมินาก่อนตะวันลับขอบฟ้าในวันที่ 12 ถ้าหากอยู่จนถึงวันที่ 13 ก็จำเป็นจะต้องขว้างเสาหินทั้ง 3 จุดหลังตะวันคล้อยดังเช่นใน 2 วันที่ผ่านมาซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่า เนื่องจากเป็นแบบอย่างของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในส่วนของสตรีก็ให้ยึดปฏิบัติเหมือนบุรุษ เมื่อปฏิบัติสิ่งเหล่านี้เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ถือว่าพิธีหัจญ์เป็นอันเสร็จสิ้นลงแล้ว

          ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ประกอบพิธีหัจญ์เพียงครั้งเดียว นั่นคือ หัจญ์วะดาอฺ (หัจญ์อำลา) ซึ่งท่านได้บอกอธิบายขั้นตอนวิธีการประกอบพิธีหัจญ์ และเชิญชวนไปสู่อัลลอฮฺ ฝากฝังหน้าที่การเชิญชวนให้ประชาชาติของท่านต่อไป ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวในการประกอบพิธีหัจญ์ของท่านว่า

«لِيُبَلِّغ الشَّاهِدُ الغَائِبَ»

 “ผู้ที่มาร่วม (ในครั้งนี้) ก็จงบอกกล่าวสู่ผู้ที่ไม่มา"

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ : 67 และมุสลิม : 1679)

          มุสลิมถูกใช้ให้ทำการซิเกรฺรำลึกถึงอัลลอฮฺตะอาลาหลังเสร็จสิ้นการทำอิบาดะฮฺทุกครั้ง เช่น การละหมาด การถือศีลอด หรือหัจญ์ เนื่องจากอัลลอฮฺตะอาลาทรงให้โอกาสเขาได้ทำความดี ชุโกรฺต่ออัลลอฮฺที่ทรงให้เขาได้ทำอิบาดะฮฺต่างๆได้อย่างสะดวกง่ายดาย และขออภัยโทษต่อความบกพร่องผิดพลาดต่างๆที่เกิดขึ้น โดยไม่มองว่าการทำอิบาดะฮฺของตนนั้นสมบูรณ์แบบทุกประการ

อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า :

 “ครั้นเมื่อพวกเจ้าประกอบพิธีฮัจญ์ของพวกเจ้าเสร็จแล้ว ก็จงกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮ์

ดังที่พวกเจ้ากล่าวรำลึกถึงบรรพบุรุษของพวกเจ้า หรือกล่าวรำลึกให้มากยิ่งกว่า“

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 200)

          เมื่อขว้างเสาหินวันที่ 13 หลังตะวันคล้อยแล้ว ให้เคลื่อนออกจากมินา ซึ่งมีสุนนะฮฺให้หยุดพัก ณ สถานที่หนึ่งเรียกว่าอับเฏาะหฺหากกระทำได้ โดยละหมาดซุฮรฺ อัศรฺ มัฆริบ และอิชาอ์ และนอนค้างที่นั่น

          จากนั้นให้มุ่งหน้าสู่มักกะฮฺเพื่อทำการเฏาะวาฟวะดาอฺ (อำลา) สำหรับผู้ที่ไม่ใช่ชาวมักกะฮฺ ส่วนสตรีผู้มีประจำเดือน และสตรีผู้มีเลือดหลังการคลอดไม่ต้องทำการเฏาะวาฟวะดาอฺ เมื่อทำการเฏาะวาฟวะดาอฺแล้วก็ให้เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาของตนได้ และสามารถนำน้ำซัมซัมกลับไปได้ตามต้องการ

عَن ابْنِ عَبَّاسٍ رَضِيَ اللهُ عَنهُمَا قَالَ: أُمِرَ النَّاسُ أَنْ يَكُونَ آخِرُ عَهْدِهِمْ بِالْبَيْتِ، إِلَّا أنَّهُ خُفِّفَ عَنْ الْـمَرْأَةِ الْـحَائِضِ

 จากท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า

"ผู้คนถูกกำชับใช้ให้สิ่งสุดท้ายของพวกเขาคือ (การเฏาะวาฟ) ณ บัยตุลลอฮฺ แต่สตรีผู้มีรอบเดือนจะได้รับการผ่อนผัน“

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ : 1755 และมุสลิม : 1328)

 

มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม บิน อับดุลลอฮฺ อัต-ตุวัยญิรีย์

แปลโดย: อัสรอน  นิยมเดชา / Islam House