ฮัจญ์มับรูรฺ องค์รวมแห่งสาสน์สันติภาพ
  จำนวนคนเข้าชม  14551

 

 

ฮัจญ์มับรูรฺ องค์รวมแห่งสาสน์สันติภาพ


โดย ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา

อะมีรุ้ลฮัจย์ประจำปี ฮ.ศ. 1428

 

          อธิบายถึงภาพรวมของกระบวนการที่จะให้ได้มาซึ่งฮัจญ์มับรูร อันเป็นความหวังของบรรดาผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ทุกคน ซึ่งนอกจากจะมีผลตอบแทนเป็นสรวงสวรรค์ในวันอาคิเราะฮฺแล้ว กระบวนการแห่งฮัจญ์มับรูรที่มีพื้นฐานอยู่บนคำสอนของอัลกุรอานและซุนนะฮฺ ยังเป็นภาพรวมแห่งสันติภาพ อันเป็นสาระที่สำคัญยิ่งในศาสนาอิสลาม

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

«وَلِله عَلَى النَّاسِ حِجُّ البَيْتِ مَنِ اسْتَطَاعَ إِلَيْهِ سَبِيلاً»

“และสิทธิของอัลลอฮฺที่มีเหนือมนุษย์นั้น คือการประกอบพิธีฮัจญ์ ณ บัยติลลาฮฺ(บ้านของอัลลอฮฺ) สำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางได้”

(อาละอิมรอน 97)

         ฮัจญ์ เป็นหลักศาสนบัญญัติในอิสลามประการที่ห้า ที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติเพียงครั้งเดียวในชีวิต โดยมีเงื่อนไขอยู่ที่มีความสามารถทั้งสุขภาพร่างกาย ทรัพย์สินเงินทอง และความปลอดภัยในการเดินทาง  

          ฮัจญ์จึงเป็นแหล่งรวมประชาคมโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่สามารถรวบรวมประชากรโลกที่ก้าวพ้นพรมแดนทางเผ่าพันธุ์ ชั้นวรรณะ วัฒนธรรมและประเทศชาติ สู่การหลอมรวมพลโลกให้มีความเป็นเอกภาพทั้งด้านความตั้งใจและวัตถุประสงค์ รูปแบบและวิธีการ สถานที่และแหล่งปฏิบัติ แม้กระทั่งเสื้อผ้าอาภรณ์นอกกาย ทุกคนพร้อมใจปฏิบัติอย่างเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยหัวใจที่นอบน้อมและยอมศิโรราบต่อความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ผู้ทรงบริหารจัดการสากลจักรวาล

          ปรากฎการณ์อันน่ามหัศจรรย์ของประชากรโลกนี้ มิเพียงแต่แสดงถึงความเป็นสากลจักรวาลของสาสน์อิสลามเท่านั้น หากยังเป็นภาพสะท้อนของวิถีชีวิตมุสลิมที่มีความผูกพันและตอบรับการเชิญชวนของอัลลอฮฺด้วยหัวใจที่สำรวม อากัปกิริยาที่อ่อนน้อม จรรยามารยาทอันสูงส่ง และการมีปฏิสัมพันธ์อันดีทั้งต่อตนเอง สิ่งแวดล้อมรอบข้างและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

          กล่าวได้ว่า ฮัจญ์คือการปฏิบัติภาคสนามซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ ที่มีเจตนารมณ์ในการฝึกอบรมและหล่อหลอมพลโลกให้ซึมซาบองค์รวมสาสน์อิสลาม ที่มุ่งให้มุสลิมเป็นทูตสันถวไมตรีและสันติภาพระดับสากล ผู้ยึดมั่นในศาสนาแห่งความกรุณาปรานีอย่างแท้จริง

         ด้วยเหตุดังกล่าว อิสลามจึงให้ความสำคัญกับฮัจญ์มับรูรฺ อันหมายถึงฮัจญ์ที่รังสรรค์ความดีงาม ที่ไม่ผสมผสานอบายมุขทั้งปวง เป็นการประกอบพิธีฮัจญ์ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมและการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ และเป็นที่ยอมรับของพระองค์ ซึ่งเป็นสุดยอดปรารถนาของผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ทุกคน เพราะศรัทธามั่นต่อคำพูดของ นบีมูฮัมมัดที่กล่าวไว้ความว่า

 “ไม่มีผลตอบแทนใดๆ สำหรับฮัจญ์มับรูรฺ เว้นแต่สรวงสวรรค์เท่านั้น"

(หะดีษรายงานโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)

           เจตนารมณ์ของอิสลามอันยิ่งใหญ่นี้ จะไม่สามารถเกิดมรรคผลในภาคปฏิบัติได้ เว้นแต่ผู้เข้าร่วมพิธีฮัจญ์ จะประกอบพิธีฮัจญ์มับรูรฺที่ประกอบด้วยพื้นฐานหลัก 2 ประการ เงื่อนไข 2 ประการ และวิถีทัศน์ 3 ประการ สรุปได้ดังนี้


หนึ่ง พื้นฐานหลัก 2 ประการ ได้แก่

     1.1 มีจิตใจที่บริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮฺเท่านั้น โดยปราศจากการตั้งภาคีใดๆ กับพระองค์ ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ว่า

«وَأَتِمُّوا الحَجَّ وَالْعُمْرَةَ لِله»

“และพวกเจ้าทั้งหลายจงให้สมบูรณ์ ซึ่งการทำฮัจญ์และการทำอุมเราะฮฺเพื่ออัลลอฮฺเถิด”

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ 196)

     1.2 ประกอบพิธีฮัจญ์โดยยึดจริยวัตรของนบีมูฮัมมัด เป็นต้นแบบ โดยไม่มีการอุตริหรือเพิ่มเติมเสริมแต่งในทุกกระบวนการของการประกอบพิธีฮัจญ์ใดๆ ทั้งสิ้น ตามคำอธิบายและคำชี้แจงของนักวิชาการมุสลิม(อุละมาอ์)ที่ได้รับการยอมรับ ดังหะดีษกล่าวไว้ความว่า

 “ท่านทั้งหลาย จงรับต้นแบบการประกอบพิธีฮัจญ์จากฉันเถิด”

(รายงานโดยมุสลิม 1297)

          บนพื้นฐานหลักทั้งสองประการนี้ จึงเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการประกอบพิธีฮัจญ์ที่ได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปรานี


สอง เงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่

     1 ละเว้นและหลีกเลี่ยงข้อห้าม 3 ประการ คือ

1.1 ห้ามมิให้มีการสมสู่หรือมีพฤติกรรมที่กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ

          การห้ามมิให้มีการสมสู่หรือมีพฤติกรรมที่กระตุ้นอารมณ์ทางเพศนั้น ยังรวมถึงการใช้วาจาเสียดสีกระเซ้าเย้าแหย่ การล่วงละเมิดทางเพศแม้เพียงโดยสายตา มุสลิมไม่ได้รับอนุญาตกระทำการดังกล่าวแม้ต่อภรรยาของตนเอง ตราบใดที่อยู่ระหว่างการประกอบพิธีฮัจญ์

           การชุมนุมของผู้คนที่มีการปะปนระหว่างชายหญิง หรือคู่สามีภรรยาตามเทศกาลต่างๆ ของมนุษยชาติ ไม่ว่ามหกรรมกีฬาระดับสากล การอบรมสัมมนานานาชาติ หรือแม้กระทั่งการรวมชุมนุมในนามของเทศกาลแห่งศาสนา ประการหนึ่งที่มีการเตรียมการอย่างใหญ่โตมโหฬารคือการอำนวยความสะดวกในการสนับสนุนโครงการอุตสาหกรรมทางเพศ ให้สามารถดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่สำหรับมุสลิมที่กำลังประกอบพิธีฮัจญ์แล้ว เขามิหาญกล้ากระทำการยั่วยุอารมณ์ทางเพศฝ่ายตรงกันข้าม แม้ต่อภรรยาหรือสามีของตนเอง และถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายผลบุญของการประกอบพิธีฮัจญ์เลยทีเดียว

1.2 ห้ามมิให้มีการล่วงละเมิดโดยรวม

          การกระทำที่ล่วงละเมิด หมายรวมถึงการกระทำบาปทั้งหลาย ทั้งที่เป็นข้อห้ามสำหรับผู้ประกอบพิธีฮัจญ์เป็นการเฉพาะเช่น การล่าสัตว์ตัดชีวิต ตัดหรือเด็ดกิ่งไม้ ตัดเล็บ โกนผม การใช้น้ำหอมและอื่นๆ หรือการฝ่าฝืนข้อห้ามสำหรับมุสลิมทั่วไป ทั้งที่เป็นบาปเล็กหรือบาปใหญ่ ชั่วคราวหรือต่อเนื่อง หรือ แม้กระทั่งการตั้งใจที่จะกระทำบาปในช่วงพิธีฮัจญ์หรือในแผ่นดินหะรอม(มักกะฮฺและมะดีนะฮฺ) อิสลามยังถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ ที่สมควรได้รับโทษอันแสนสาหัสจากอัลลอฮฺเลยทีเดียว

          มุสลิมจะละเลิกสิ่งอบายมุขดังกล่าว เพียงเพื่อแสดงความเป็นบ่าวผู้จงรักภักดีและแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺเท่านั้น

1.3 ห้ามมิให้มีการทะเลาะวิวาทกัน

          การห้ามมิให้มีการทะเลาะวิวาทในที่นี้ ครอบคลุมความหมาย 2 ประการคือ

1) การโต้เถียงในเรื่องหลักการของฮัจญ์ ประวัติความเป็นมาด้านศาสนบัญญัติ ซึ่งถือเป็นความชัดเจนในตัวอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะเป็นข้อพิพาทโต้แย้งโดยใช่เหตุเลย และ

2) การโต้เถียงช่วงก่อน ระหว่างหรือหลังจากการประกอบพิธีฮัจญ์

          ทั้งนี้เนื่องจากฮัจญ์ เป็นที่รวมของผลประโยชน์อันมากมาย ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือหน่วยงานต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับประเทศหรือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาของการประกอบพิธีฮัจญ์ที่มีผู้คนจำนวนมากมายทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลเข้ามา ณ สถานที่และวันเวลาที่จำกัด ซึ่งหากไม่มีการเรียนรู้การลดทิฐิของตนเอง การให้อภัย การให้เกียรติ และการไว้วางใจซึ่งกันและกันฉันท์พี่น้องกันแล้ว ความขัดแย้งที่อาจบานปลายลุกลามขั้นทะเลาะวิวาทก็จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          การทะเลาะวิวาท ณ ที่นี้คือการใช้วาจาโต้เถียงกัน แม้ตัวเองเป็นฝ่ายถูกก็ตาม ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จึงเป็นบุคลิกที่ถูกประดับประดาด้วยคุณลักษณะของการอ่อนน้อมถ่อมตน ใจสำรวม สงวนคำพูด มีสติ  รู้จักระงับอารมณ์โกรธและให้อภัยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด


2 ประกอบคุณธรรม 5  ประการ คือ

           2.1 การเก็บเกี่ยวและรวบรวมเสบียงสำหรับการเดินทาง โดยที่เสบียงที่ดีที่สุดคือความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ อันหมายรวมถึง ความรู้ที่ได้รับการปฏิบัติ การขอพร(ดุอาอ์)และบทกล่าว(ซิกรฺ)ในโอกาสต่างๆช่วงการทำฮัจญ์ การกระทำสิ่งที่อัลลอฮฺทรงใช้ และละเว้นสิ่งต่างๆ ที่พระองค์ทรงห้าม เป็นต้น

           2.2 การโปรยสลาม ไม่ว่าด้วยคำพูด ด้วยการกล่าวอัสสะลามุอะลัยกุม ทั้งต่อคนรู้จักหรือไม่รู้จัก หรือด้วยการกระทำ มุสลิมจะไม่เป็นผู้สร้างความเดือดร้อนหรือลำบากใจแก่ผู้อื่น ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์มีภารกิจหลักที่ติดตัวอยู่ตลอดเวลาคือการเป็นทูตสันถวไมตรีและสันติภาพระดับสากลที่ยึดมั่นในหลักการ

“ไม่มีการกระทำที่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเอง และไม่มีการกระทำที่สร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่น”

(หะดีษรายงานโดยอิมามมาลิก 1426)

           2.3 การใช้สัมมาวาจา โดยการใช้คำพูดที่ดีและไพเราะ ที่แสดงถึงความจริงใจของผู้พูด มีการถามไถ่ทุกข์สุขและรับทราบปัญหาของพี่น้องด้วยความเห็นอกเห็นใจกัน  ทำความรู้จักระหว่างผู้ประกอบพิธีฮัจญ์บนพื้นฐานความเป็นภราดรภาพในอิสลาม

           2.4 การให้อาหาร  ซึ่งถือเป็นการให้ทานที่ประเสริฐสุดในช่วงการทำฮัจญ์ การให้อาหารถือเป็นกิจวัตรของมุสลิมอยู่แล้ว อิสลามได้กำชับแก่มุสลิมให้อาหารแก่คนยากคนจน เด็กกำพร้าหรือแม้กระทั่งเชลยศึกที่ถูกจับได้ในสมรภูมิสงคราม เพราะการให้อาหารถือเป็นหลักพื้นฐานของความดีงาม การมีจิตใจที่โอบอ้อมอารีและเผื่อแผ่เมตตา มุสลิมกระทำการดังกล่าว โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เว้นแต่ความโปรดปรานของอัลลอฮฺเท่านั้น

           2.5 การเปล่งเสียงตัลบียะฮฺและการหลั่งเลือดด้วยการเชือดฮัดย์และสัตว์กุรบานในช่วงประกอบพิธีฮัจญ์


           การละเว้นข้อห้าม 3 ประการ และการประกอบคุณธรรม 5 ประการดังกล่าวช่วงการทำฮัจญ์ ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการได้รับฮัจญ์มับรูรฺ และถือเป็นสาระหลักของความดีที่เป็นหัวใจของฮัจญ์มับรูรฺ ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า

 “และความดีใดๆ ที่พวกเจ้ากระทำนั้น อัลลอฮฺทรงรู้ดี และพวกเจ้าจงเตรียมเสบียงเถิด

แท้จริง เสบียงที่ดีที่สุดนั้นคือความยำเกรง และพวกเจ้าจงยำเกรงข้าเถิด โอ้ผู้มีปัญญาทั้งหลาย

(2/197)
 

สาม วิถีทัศน์ 3  ประการ ได้แก่

      3.1 การตอบรับคำเชิญชวนของอัลลอฮฺด้วยการน้อมรับคำบัญชาของพระองค์โดยเคร่งครัด โดยผ่านคำพูดที่ว่า لَبَّيْكَ  لَبَّيْكَ اللّٰهُمَّ(ลับบัยกัลลอฮุมมะ ลับบัยกะ) หมายถึง โอ้อัลลอฮฺ ฉันได้ตอบรับคำเชิญชวนของพระองค์แล้ว

      3.2 การตอบรับคำเชิญชวนของนบีมูฮัมมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ด้วยการปฏิบัติตามจริยวัตรของท่าน ที่ปราศจากการอุตริเสริมแต่ง โดยผ่านคำพูดที่ว่า لَبَّيْكَ يا رَسُولَ اللهِ  (ลับบัยกะ ยา เราะสูลัลลอฮฺ) หมายถึงโอ้ เราะสูลุลลอฮฺ ฉันตอบรับคำเชิญชวนของท่านแล้ว ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมชีวิตของบรรดาเศาะฮาบะฮฺที่มีต่อนบีมูฮัมมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) 

      3.3 การตอบรับที่จะเชื่อฟังผู้นำผู้ทรงคุณธรรม โดยไม่แสดงอาการกระด้างกระเดื่อง ตราบใดที่ผู้นำสั่งใช้ในสิ่งที่สอดคล้องกับหลักการอิสลาม โดยผ่านคำพูดที่ว่า لَبَّيْكَ يا وَلِيَّ الأَمْرِ  (ลับบัยกะ ยา วะลิยัลอัมริ) หมายถึง โอ้ผู้นำของฉัน ฉันเชื่อฟังท่านแล้ว และนี่คือธรรมเนียมชีวิตของบรรดาเศาะฮาบะฮฺที่มีต่อผู้นำของเขา

           วิถีทัศน์ทั้ง 3 ประการข้างต้นถือเป็นเคล็ดลับสำคัญของฮัจญ์มับรูรฺ เพื่อสร้างมุสลิมให้เป็นผู้มีใจภักดีและมีพฤติกรรมน้อมรับ ซึ่งถือเป็นหัวใจของการกระทำความดีทั้งต่ออัลลอฮฺ เราะสูล ผู้นำและมวลมนุษย์ทั้งหลาย
 
          ด้วยการประกอบพิธีฮัจญ์ที่อยู่บนหลักการดังกล่าวเท่านั้นที่ผู้ประกอบฮัจญ์จะได้รับการตอบรับเป็นฮัจญ์มับรูรฺที่ได้รับการตอบแทนเป็นสรวงสวรรค์ ซึ่งมีผลต่อวิถีชีวิตมุสลิมสู่การใช้ชีวิตที่พอเพียงบนโลกนี้ เป็นผู้ใฝ่โลกอะคีเราะฮฺและไม่หวนกลับกระทำสิ่งอบายมุขทั้งปวง ภายหลังจากกลับสู่มาตุภูมิแล้ว

           ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการฮัจญ์ ไม่ว่าในระดับเอกชนหรือรัฐบาล จำเป็นต้องตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับการยกระดับและพัฒนาฮัจญ์สู่การเป็นฮัจญ์มับรูรฺ ในการทำหน้าที่เป็นเบ้าหลอมสร้างประชากรผู้ทรงคุณธรรมและมีคุณภาพ มีภูมิคุ้มและเรืองปัญญา เหมาะสมเป็นชาวสวรรค์ที่นอบน้อมต่ออัลลอฮฺและเอื้ออาทรต่อบ่าวของพระองค์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศอย่างยั่งยืน สู่การสถาปนาความเป็นเอกภาพของประชาชาติที่ดีเลิศที่เผยแผ่และมอบความโปรดปรานแห่งอิสลามแก่สากลจักรวาล

          วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของหลักศาสนบัญญัติในอิสลาม อันประกอบด้วย คำปฏิญาณตน การละหมาด การถือศีลอด การจ่ายซะกาตและทำฮัจญ์ นอกเหนือจะพยายามฝึกฝนให้มุสลิมหมั่นปฏิบัติเป็นกิจวัตรแล้ว สิ่งที่เป็นแก่นแท้ที่สุดก็คือ การให้มุสลิมรู้จักประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าวให้สามารถเข้ามีบทบาทในวิถีชีวิตประจำวัน หาไม่แล้วก็จะเป็นเพียงการท่องคาถาหรือประกอบพิธีกรรมที่ไร้วิญญาณที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมุสลิมเลย

           โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกอบพิธีฮัจญ์ซึ่งเป็นองค์รวมของสาสน์อิสลาม ที่มุสลิมทุกคนโดยเฉพาะผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ให้ถ่องแท้และรู้แจ้ง หาไม่แล้ว ฮัจญ์ก็จะเป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่ปฏิบัติตามเทศกาลเท่านั้น การเดินทางสู่มหานครมักกะฮฺ ก็เป็นเพียงทัศนาจรที่อยู่ภายใต้การจัดการของอุตสาหกรรมธุรกิจการท่องเที่ยว  โดยไม่มีโอกาสซึมซาบปรัชญาฮัจญ์ที่แท้จริง เป็นผลให้วิถีชีวิตมุสลิมต้องตกอยู่ในวังวนแห่งภาวะความเสื่อมถอยอย่างไม่มีสิ้นสุด

 อัลกุรอานได้กล่าวไว้ความว่า

«ضُرِبَتْ عَلَيْهِمُ الذِّلَّةُ أَيْنَ مَا ثُقِفُوا إِلاَّ بِحَبْلٍ مِّنَ اللَّهِ وَحَبْلٍ مِّنَ النَّاسِ»

“ความต่ำช้าได้ถูกฟาดลงบนพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเขาถูกพบ นอกจากด้วยสายเชือกจากอัลลอฮฺและสายเชือกจากมนุษย์”

(อาละ อิมรอน 112)

         สายเชือกจากอัลลอฮฺ คือ การประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบที่อัลลอฮฺกำหนดไว้ด้วยการทำความเคารพภักดีต่อพระองค์

          ส่วนสายเชือกจากมนุษย์หมายถึง การเชื่อมสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนมนุษย์และการร่วมใช้ชีวิตบนโลกนี้อย่างปกติสุข

          สังคมมุสลิมในทุกระดับ ไม่สามารถปลดห่วงโซ่ตรวนและวังวนแห่งความเสื่อมถอย เว้นแต่จะยึดมั่นในสายเชือกแห่งอัลลอฮฺและสายเชือกของเพื่อนมนุษย์ผู้เป็นบ่าวของอัลลอฮฺที่เป็นพี่น้องกัน โดยยึดมั่นในหลักการเอื้ออาทรและสันติภาพ ซึ่งองค์รวมแห่งสาสน์สันติเหล่านี้ จะถูกผนวกรวมอยู่ใน “ฮัจญ์มับรูรฺ” เท่านั้น

 

มัสลัน มาหะมะ เรียบเรียง


Islam House