สกัดพี่ขี้อิจฉา กลัวน้องมาแย่งความรัก
  จำนวนคนเข้าชม  5581

สกัดพี่ขี้อิจฉา กลัวน้องมาแย่งความรัก

 
 
       การเป็นลูกคนโตเพียงคนเดียวของครอบครัว อาจทำให้เด็ก ๆ หลายคนเหงา และอยากมีน้องคนที่สองเอาไว้เป็นเพื่อนเล่น แต่พอคุณแม่ตั้งครรภ์ เตรียมมีน้องอีกคนให้จริง ๆ เป็นไปได้ที่เด็ก ๆ บางส่วนจะเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงขึ้นมาแทน ด้วยหวั่นใจว่า ความรักที่เขาเคยได้จากคุณพ่อคุณแม่เต็มที่จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ พี่คนโตบางคนที่ขาดการเตรียมความพร้อม หรือการทำความเข้าใจอย่างเหมาะสม เมื่อคุณแม่คลอดน้องขึ้นมาจริง ๆ อาจทำให้เขาเกิดความรู้สึกอิจฉาน้องที่มาแย่งความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ไป และมีอาการงอแง สับสนทางอารมณ์มากขึ้นได้
      
       ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรหาเวลาคุย ทำความเข้าใจกับพี่คนโตบ้าง ช่วงเวลาที่เหมาะสมอาจเป็นช่วงที่ครรภ์ของคุณแม่มีขนาดใหญ่พอ เด็กสามารถสังเกตเห็นได้ หรือหากกะเวลาเป็นเดือน ก็ควรเป็นเดือนที่ 7 เพราะหากคุณแม่บอกลูกคนโตไวกว่านี้ สัก 1 - 2 เดือน ก็อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาต้องรอคอยนานมาก และหากบอกช้าเกินไป เด็กก็อาจมีเวลาปรับตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
      
       แนวทางในการเตรียมความพร้อม ช่วยลูกคนโตให้สามารถปรับตัวกับการมาถึงของสมาชิกใหม่ในบ้านมีได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น

      
       - กระตุ้นให้เจ้าตัวเล็กรับรู้ถึงบทบาทใหม่ของตนเอง ว่าเขากำลังจะเป็นพี่ชาย หรือพี่สาวของน้องที่กำลังจะคลอดตามมา เช่น อาจจะเรียกน้องในครรภ์ว่า น้องชาย/น้องสาวของลูก ฯลฯ นั่นจะไปกระตุ้นความรู้สึก "พี่ใหญ่" ให้ตื่นขึ้นได้ และอาจจะดีกว่าการเรียกลูกน้อยในครรภ์ว่า "ลูกของพ่อ หรือลูกของแม่" ให้พี่คนโตรู้สึกสับสน
      
       - ให้ลูกได้มีโอกาสร่วมเตรียมการต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว เช่น ช่วยตั้งชื่อให้น้อง ช่วยจัดห้องใหม่ ช่วยคุณแม่แพ็กตะกร้าเตรียมไปโรงพยาบาล
      
       - เมื่อต้องไปอัลตร้าซาวน์ หรือตรวจครรภ์ตามที่คุณหมอนัด อาจพาพี่คนโตไปด้วย ให้เขาได้ร่วมอยู่ในห้องตรวจครรภ์ ได้มีโอกาสมองภาพของน้องร่วมสายเลือดผ่านทางอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องอัลตร้าซาวน์ หรือฟังเสียงหัวใจเต้นของน้อง ๆ ผ่านทางหูฟัง
      
       - หาหนังสือนิทานเกี่ยวกับการเป็นพี่ชาย/พี่สาวที่ดี หรือนิทานที่ให้แง่คิดเกี่ยวกับการมาถึงของสมาชิกใหม่ในบ้านมาอ่านให้ลูกฟัง
      
       อย่างไรก็ดี เมื่อครบกำหนดคลอด และคุณแม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ต้องมั่นใจว่าระดับความสัมพันธ์ของแม่กับลูกคนโตต้องไม่แตกต่างไปจากเดิม และเมื่อเขาไปเยี่ยมคุณแม่ถึงโรงพยาบาล ขอให้เคลียร์วงแขนให้ว่างเอาไว้ เพื่อจะได้ยังมีอ้อมแขนไว้กอดเจ้าลูกคนโตแน่น ๆ ให้สมกับที่หายไปนาน หรืออาจให้เขาช่วยติดป้ายชื่อให้กับน้อง - ร่วมทักทายน้องด้วยก็ได้
 


     
       ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก parenting.org