ฉลองปีใหม่กันดีไหม !
  จำนวนคนเข้าชม  35426

การเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่สากล

 

         1 มกราคม การเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่สากล กับเงื่อนงำที่แอบแฝงในประวัติศาสตร์ระหว่างมุสลิมกับคริสเตียน

 

               ในทุก ๆ ปี  พลเมืองโลกทั่วไปจะเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ในวันที่  1  มกราคมกันอย่างเอิกเกริก  ในคืนสุดท้ายของปีซึ่งเรียกกันว่า  “คืนส่งท้ายปีเก่า”  จะมีการเตรียมการสำหรับนับถอยหลัง  (Countdown)  ในช่วงการเปลี่ยนวัน  ณ  เวลา  0  นาฬิกา  (เที่ยงคืน)  ซึ่งถือเป็นการขึ้นวันใหม่ตามอย่างสากล  ผู้คนที่ร่วมเฉลิมฉลองในวันขึ้นปีใหม่นั้นต่างก็รู้เพียงว่านั่นคือวันที่  1  ของปีใหม่ที่ควรจะยินดีและต้อนรับด้วยการเฉลิมฉลอง 

                ทว่าคงไม่มีผู้ใดรับรู้หรือฉุกคิดหรอกว่า  ทำไมหนอ  พวกฝรั่งตะวันตกจึงกำหนดเอาวันที่  1  มกราคมของทุกปีเป็นวันเฉลิมฉลองขึ้นปีใหม่  ทั้ง ๆ  ที่ผู้นั้นอาจเป็นคนไทยที่ถือเอาช่วงวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามธรรมเนียมปฏิบัติ  หรือผู้นั้นอาจจะเป็นผู้มีเชื้อสายจีน  ซึ่งก็มีวันขึ้นปีใหม่ตามคติจีนและมิใช่วันที่  1  มกราคมแต่อย่างใด  กระนั้นพวกเขาก็ร่วมเฉลิมฉลองในวันที่  1  มกราคม  ตามสากล  (หรือตามฝรั่งตะวันตก)  ได้อย่างสนิทใจ 

                ที่น่าเศร้าใจก็คือมีชาวมุสลิมเป็นจำนวนมิใช่น้อยที่เข้าร่วมในการเฉลิมฉลองนั้นด้วย  ซึ่งนั่นก็ไม่น่าเศร้าใจเท่ากับการที่ชาวมุสลิมเหล่านั้นขาดภูมิความรู้ทางประวัติศาสตร์แห่งประชาชาติของตน  จะด้วยเพราะไม่รู้หรือมิได้ฉุกคิดก็ตามทีจึงได้เผลอไผลเห็นดีเห็นงามจนเอาเป็นเหตุแห่งการเฉลิมฉลองร่วมกับเหล่าชนอื่น  ทั้ง ๆ  ที่ชาวมุสลิมนั้นมีวันรื่นเริงตามหลักการของศาสนาเป็นของตนเองอยู่แล้ว  คือวันอีดอีดิลฟิฏริ  และช่วงวันอีดิลอัฎฮา  ตลอดจนมีปฏิทินทางจันทรคติในการกำหนดวันเดือนปีและมีศักราชเป็นของเฉพาะตนซึ่งเรียกกันว่า  ฮิจเราะฮฺศักราช

 

                ต่อคำถามที่ว่า  ทำไมหนอ  พวกฝรั่งมังค่าจึงกำหนดเอาวันที่  1  มกราคม  ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่  อาจกล่าวได้ว่า  เรื่องนี้น่าจะมีเงื่อนงำที่แอบแฝง  กล่าวคือ  หากย้อนเวลากลับไปในอดีต  เมื่อปี  คศ.1492  ณ  ดินแดนอัลอันดะลุส  (Andalucia)  ในสเปน  ได้เกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิม  คือ  เหตุการณ์สูญเสียที่มั่นสุดท้ายของชาวมุสลิมในอาณาจักรฆอรนาเฏาะฮฺ  (Granada)  แก่อาณาจักรคริสเตียนสเปนซึ่งถูกรวบรวมให้เป็นหนึ่งภายหลังการอภิเษกสมรสของเฟอร์ดินานด์  หรือ  เฟอร์นานโดที่  5  แห่งแคว้นอรากอน  (Aragon)  กับพระนางอิซาเบลล่า  แห่งแคว้นกิชตาละฮฺ  (Castile) 

                ในช่วงเวลานั้น  อาณาจักรฆอรนาเฏาะฮฺ  (Granada)  มีกษัตริย์นามว่า  อบูอับดิลลาฮฺ  มุฮำหมัด  อัซซ่อฆีร  หรือที่ฝรั่งเรียกว่า  อบูอับดิล  (Abuabdi,  Bodillah)  เป็นผู้ปกครอง  พวกคริสเตียนสเปนได้ยกทัพเข้าปิดล้อมนครฆอรนาเฏาะฮฺตั้งแต่ปี  คศ.1491  การปิดล้อมเป็นไปอย่างหนักและต่อเนื่อง  จนกระทั่ง  อบูอับดิลลาฮฺ  ยอมจำนนต่อฝ่าย คริสเตียนสเปนด้วยการยอมทำข้อตกลงกับฝ่ายคริสเตียนในการส่งมอบเมืองเป็นจำนวนถึง  67  ข้อซึ่งนับเป็นสนธิสัญญาที่ยืดยาวที่สุดฉบับหนึ่งในช่วงสิ้นสุดยุคกลางของยุโรป 

                การลงนามในสนธิสัญญาระหว่างสองฝ่ายเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการในวันที่  2  ร่อบีอุลเอาวัล  ฮ.ศ.897  ตรงกับวันที่  2  มกราคม  คศ.1492  ซึ่งในวันเดียวกันนั้น  กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ที่  5  กับพระราชินี  อิซาเบลล่าก็ได้เสด็จเข้าสู่พระราชวัง  อัลฮัมรออฺ  (Alhambra)  อันเป็นที่ประทับของกษัตริย์  อบูอับดิลลาฮฺ  และมีการนำไม้กางเขนเงินขึ้นสู่ยอดโดมของมัสญิดในพระราชวัง  กษัตริย์อบูอับดิลลาฮฺได้จุมพิตพระหัตถ์ของกษัตริย์คริสเตียนแห่งสเปนและดำเนินออกจากพระราชวัง 

                กษัตริย์อบูอับดิลลาฮฺได้หยุดทอดพระเนตรนครฆอรนาเฏาะฮฺเป็นครั้งสุดท้าย  ณ  เนินแห่งหนึ่งที่เรียกกันว่า  เนินอัลบันดูล  และร่ำไห้พร้อมสะอึกสะอื้น  พระนางอาอิชะฮฺผู้เป็นพระมารดาจึงตะโกนบอกกับอบูอับดิลลาฮฺว่า  “เจ้าจงร่ำไห้เยี่ยงอิสตรีต่ออำนาจที่สูญสิ้น  เจ้าหาได้รักษามันไว้ได้ไม่เยี่ยงเหล่าบุรุษ”  ชาวสเปนเรียกขานเนินแห่งนี้ว่า  “การสะอื้นร่ำไห้ครั้งสุดท้ายของชาวอาหรับ”  (el ultimo  suspiro  del  Moro) 

                อาณาจักรฆอรนาเฏาะฮฺ  หรือ  แกรนาดา  ที่มั่นสุดท้ายของชาวมุสลิมในอัลอันดะลุส  (สเปน)  ปิดฉากลงพร้อมกับชัยชนะของฝ่ายคริสเตียนที่ขับเคี่ยวต่อสู้กับชาวมุสลิมหรือพวกมัวร์มาตลอดระยะเวลาร่วม  800  ปี  ความจริงชาวมุสลิมได้สูญเสียฆอรนาเฏาะฮฺมาตั้งแต่วันที่  1  มกราคมของปีนั้น  (1492)  แล้ว เพียงแต่การสูญเสียอย่างเป็นทางการนั้นเกิดขึ้นในวันถัดมา  คือ  วันที่  2  มกราคม  1492 

                และการสูญเสียนครฆอรนาเฏาะฮฺในปีดังกล่าวก็หาใช่เป็นโศกนาฏกรรมที่แท้จริงไม่ หากแต่ว่าโศกนาฏกรรมที่แท้จริงได้เริ่มขึ้นหลังจากนั้น  เพราะเพียง  7  ปีให้หลัง  (คศ.1499)  เงื่อนไขอันเป็นข้อตกลงในสนธิสัญญาส่งมอบเมืองนั้นก็ถูกละเมิดอย่างไม่แยแสจากฝ่าย คริสเตียน  บรรดามัสญิดถูกสั่งปิด  การประกอบพิธีกรรมถูกสั่งห้าม  การตั้งศาลพิเศษเพื่อตรวจสอบชาวมุสลิมที่ตกค้างอยู่ในฆอรนาเฏาะฮฺโดยฝ่ายศาสนจักรก็มีขึ้น 

 

                มุสลิมถูกบังคับให้เข้ารีตในคริสต์ศาสนา  ตำรับตำราทางวิชาการถูกเผาทำลายไม่เว้นแม้แต่พระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน  มีการสั่งห้ามชาวมุสลิมพูดภาษาอาหรับและห้ามอาบน้ำ  ดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดินแดนอิสลามกลับกลายมาเป็นดินแดนแห่งการปฏิเสธโดยสิ้นเชิงบรรดามัสญิดที่สง่างามด้วยสถาปัตยกรรมอิสลามถูกแปรเปลี่ยนเป็นโบสถ์วิหารในคริสตศาสนาจนหมดสิ้น  มุสลิมจำนวนหลายล้านคนจึงจำต้องอพยพละทิ้งถิ่นฐานของตนซึ่งเคยอาศัยและรังสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองเอาไว้ตลอดระยะเวลาร่วม  8  ศตวรรษ 

                สงครามครูเสดในดินแดนตะวันออก  (เยรูซาเล็ม  ปาเลสไตน์)  พวก คริสเตียนอาจจะพ่ายแพ้ต่อชาวมุสลิมนับแต่ชัยชนะของสุลตอน  ซ่อลาฮุดดีน  อัลอัยยูบีย์หรือสลาดินในการปลดปล่อยแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์  แต่สงครามครูเสดในดินแดนอัลอันดะลุส  มุสลิมเป็นฝ่ายปราชัย 

                อีกทั้งในปีเดียวกันนั้น  (1492)  คริสโตเฟอร์  โคลัมบัส  ผู้ได้รับการอุปถัมภ์จากพระราชินีอิซาเบลล่าของสเปนก็สามารถค้นพบโลกใหม่หรือทวีปอเมริกาได้สำเร็จ  ศักราชแห่งการล่าอาณานิคมและความยิ่งใหญ่ของกองเรือ  อมาด้าของสเปน  และการผงาดขึ้นของมหาอำนาจทางทะเลอย่างโปรตุเกสก็เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับการล่มสลายของการผูกขาดทางการค้าและการควบคุมเส้นทางการค้าทั้งทางบกและทางทะเลของประชาคมมุสลิม 

                นี่กระมังเป็นสาเหตุที่พวกฝรั่งตะวันตกได้ถือเอาวันที่  1  มกราคมเป็นวันเฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามครูเสดที่มีต่อพวกนอกศาสนาอันหมายถึงชาวมุสลิมโดยรวม  ซึ่งช่างเหมาะเจาะกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้นราว  1  สัปดาห์  ที่พวกเขาเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสในวันที่  25  ธันวาคมต่อเนื่องจนถึงวันที่  1  มกราคม 

                การเฉลิมฉลองของชาวคริสเตียนในช่วงเวลานั้นโดยเฉพาะในปี  คศ.1492  จึงเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะที่มีต่อชาวมุสลิมอย่างมิต้องสงสัย  ถึงแม้ว่าเมื่อกาลเวลาผ่านล่วงเลยไปผู้คนในสมัยหลังจะหลงลืมไปแล้วว่า  เพราะอะไรพวกฝรั่งชาวคริสต์จึงถือเอาวันที่  1  มกราคมเป็นวันสำคัญของพวกเขาก็ตาม  ในช่วงคริสต์มาสอีฟ  ทำไมฝรั่งจึงมีธรรมเนียมกินไก่งวง  ในทุกปีทำเนียบขาวจะจัดประเพณีการกินไก่งวงเพื่อขอบคุณพระเจ้า  มีการปล่อยไก่งวงผู้โชคดีให้เป็นข่าวเกรียวกราวไปทั่วโลก 

                ชะรอยไก่งวงที่ว่านี้ก็มีสัญลักษณ์แอบแฝงอยู่   พวกฝรั่งเรียกไก่งวงว่า  เทอคิ  (Turkey)  ซึ่งหมายถึง  ไก่แขกตุรกีและตุรกีในชั้นหลังก็หมายถึง  พวกมุสลิมที่ต่อสู้ขับเคี่ยวกับพวกฝรั่งชาวคริสเตียนในการทำสงครามศาสนา  (ครูเสด)  การฆ่าไก่งวงเพื่อรับประทานเป็นอาหารในช่วงคริสต์มาสอีฟก็คือสัญลักษณ์ในการพิฆาตพวกเติร์กหรือพวกคนต่างศาสนาที่หมายถึง "มุสลิม " นั่นเอง

 

                ย้อนกลับไปยังอัลอันดะลุส  (Andalucia)  อีกครั้ง  ในยุคที่ชาวมุสลิมหรือพวกมัวร์  (Moor)  ปกครองสเปนและมีการสู้รบกับพวกคริสเตียนทางตอนเหนือนั้น  มีการประกาศจากพระสันตะประปาแห่งกรุงโรมให้ชาวคริสเตียนทำสงครามครูเสดกับชาวมุสลิมในสเปนมาโดยตลอด  นับตั้งแต่ครั้งกษัตริย์ชารล์  มาร์แตง  ของพวกแฟรงก์  (ฝรั่งเศส)  ทำศึกกับกองทัพของชาวมุสลิมที่ข้ามเทือกเขาพิเรนีสไปยังตอนใต้ของฝรั่งเศสในสมรภูมิตูร  บูวาติเยร์  (Tour-Poitiers)  เมื่อปี  ฮ.ศ.114  ตรงกับปี  คศ.732  เป็นต้นมา 

                ดังนั้นการสู้รบของพวกคริสเตียนทางตอนเหนือของคาบสมุทรไอบีเรีย  (สเปน)  กับชาวมุสลิมในอัลอันดะลุส  จึงเป็นการทำสงครามครูเสดอย่างไม่ต้องสัย  บ่อยครั้งที่พวกคริสเตียนในสเปนได้รับการสนับสนุนจากกองเรือรบของพวกครูเสดซึ่งมีทั้งฝรั่งเศส,อังกฤษ,เยอรมันและอิตาลี  (เวนิส-เจนัวร์)  ในการศึกเพื่อเข้ายึดครองหัวเมืองชายทะเลในอัลอันดะลุส   พวกคริสเตียนในยุโรปมิเคยละความพยายามในการร่วมมือกันทำการศึกกับชาวมุสลิมเลยนับแต่ยุคกลางจวบจนทุกวันนี้ 

                ฉะนั้นชัยชนะของคริสเตียนในสเปนที่สามารถขับไล่ชาวมุสลิมออกจากอัลอันดะลุสได้สำเร็จ  จึงเป็นชัยชนะร่วมกันของคริสเตียนทั่วยุโรป  เหตุนี้จึงไม่แปลกอันใดในการที่พวกเขาจะเฉลิมฉลองกันอย่างเอิกเกริกในวันที่  1  มกราคมของทุกปี  แต่สำหรับประชาคมมุสลิมแล้ววันที่  1  มกราคมของทุกปีหาใช่เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองไม่แต่เป็นวันแห่งโศกนาฏกรรมและความสูญเสียที่ไม่มีวันคืนกลับ 

         เราอาจจะสูญเสียอัลอันดะลุสไปแล้ว  แต่ที่สำคัญขออย่าให้มุสลิมได้สูญเสียจิตวิญญาณและความเป็นอัตลักษณ์ของตน  เพราะนั่นย่อมหมายถึงความอัปยศและความปราชัยอย่างที่สุดซึ่งจะไปโทษใครมิได้เลยนอกจากตัวเอง

 

 

(لاحول ولاقوة إلابا لله )


อะลี  อะฮฺหมัด  อบูบักร  มุฮำหมัด  อะมีน  อัลอัซฮะรีย์


10  มกราคม  2551 / 1  มุฮัรรอม  1429