ความสำคัญของหลักฐาน
  จำนวนคนเข้าชม  9152

ความสำคัญของหลักฐาน

 

โดย อ.ดาวู๊ด  รอมาน

 

 

          1. การได้อยู่ในทางที่รอดปลอดภัย

 

          กล่าวคือ เราจะไม่รอดปลอดภัย ไม่ได้รับความสุข ไม่ได้รับชัยชนะ ไม่ได้รับความดี นอกจากจะต้องยืนหยัด ยึดถือหลักฐานในทุกเรื่องของศาสนา ต้องตามหลักฐานทางศาสนาโดยไม่เป็นผู้ล้ำหน้าล่วงละเมิด ไม่ว่าจะด้วยคำพูด หรือการกระทำ ดังที่อัลลอฮ์ ทรงตรัสว่า

"โอ้ ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าได้ล้ำหน้า(กระทำการใดๆ) เมื่ออยู่ต่อหน้าอัลลอฮ์  และเราะซูล ของพระองค์"

  (อัลหุญุร๊อต/1)

         คือ อย่าเสนอแนะกิจการใดๆขึ้นมาเทียบเคียง เหนือกว่าคำตรัสของอัลลอฮ์ และการปฏิบัติของท่านเราะซูล ไม่ว่าข้องเสนอนั้นจะเป็นเรื่องการดำเนินชีวิต หรือเรื่องเกี่ยวกับศาสนา และอย่าได้แสดงความคิดเห็น หรือตัดสินชี้ขาดในเรื่องใดๆ ก่อนที่จะกลับไปทบทวนดูคำตรัสของอัลลอฮ์ และคำกล่าวของท่านเราะซูล อายะฮ์นี้ได้กำหนดหลักการที่สำคัญยิ่งของอิสลาม คือ ข้อชี้ขาดตัดสินกรณีใดๆก็ตาม เป็นสิทธิเด็ดขาดของอัลลอฮ์แต่เพียงองค์เดียว ไม่มีการท้วงติง หรือวิพากษ์วิจารณ์ ในข้อตัดสินหรือข้อใช้ข้อห้ามของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ตัดสินที่เที่ยงธรรมที่สุด

         กฏเกณฑ์ของศาสนาขึ้นอยู่กับหลักฐาน สิ่งใดที่ศาสนายืนยันต้องปฏิบัติตาม สิ่งใดที่ศาสนาปฏิเสธต้องปฏิเสธเช่นกัน สิ่งที่เป็นวาญิบ(จำเป็น)ต้องกระทำ คือสิ่งที่อัลลอฮ์ และเราะซูล กำหนดให้เป็นวาญิบ มันดูบ(ส่งเสริม)คือ สิ่งที่อัลลอฮ์และเราะซูล ส่งเสริมให้กระทำ สิ่งหะรอม(ต้องห้าม) คือสิ่ง อัลลอฮ์และเราะซูล ห้ามไว้ มักรูฮ์(น่าเกลียด)คือสิ่งที่อัลลอฮ์และเราะซูล ให้ละทิ้ง มุบาห์(อนุมัติ) คือสิ่งที่อัลลอฮ์และเราะซูล  อนุมัติให้กระทำได้ หรือไม่กระทำก็ไม่ผิด

         ดังนั้นจึงไม่สมควรที่จะยึดถือคำพูและการกระทำอื่นใดในเรื่องศาสนา จนกว่าจะมีหลักฐานที่ถูกต้องและชัดเจนมายืนยัน  

 

          2. การพูดเรื่องหนึ่งเรื่องใดว่าเป็นศาสนา โดยไม่มีหลักฐานยืนยัน เป็นการกล่าวเท็จต่ออัลลอฮ์ โดยขาดความรู้

 

         หลักเกณฑ์นี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นเกราะป้องกัน การแทรกซึมของสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาในบทบัญญัติอิสลาม ทั้งที่เป็นความรู้ การปฏิบัติ และหลักยึดมั่น ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยหลักฐาน หลักฐานจึงเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในเรื่องของศาสนา ดังที่อัลลอฮ์ตรัสว่า

"และเช่นนั้นแหละ เราได้วะฮีย์อัลกุรอานแก่เจ้าตามบัญชาของเรา เจ้าไม่รู้มาก่อนเลยว่า อะไรคือคัมภีร์ และอะไรคือการศรัทธา

แต่ว่าเราได้ทำให้อัลกุรอานเป็นแสงสว่าง เพื่อชี้แนะทางแก่ผู้ที่เราประสงค์ จากปวงบ่าวของเรา

และแท้จริง เจ้านั้นจะได้รับการชี้แนะสู่ทางอันเที่ยงธรรมอย่างแน่นอน"

(อัชชูรอ/52)

 

          3. กฏเกณฑ์ของศาสนาจะต้องมีหลักฐาน

 

          การทำอิบาดะฮ์ จะไม่ถูกตอบรับ เว้นเสียแต่ว่าต้องมีหลักฐานยืนยัน อัลลอฮ์ ทรงตรัสว่า

"จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) “พวกท่านเห็นแล้วมิใช่หรือ ซึ่งเครื่องยังชีพที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้แก่พวกท่าน

แล้วพวกท่านก็ทำให้บางส่วนเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) และบางส่วนเป็นที่อนุมัติ(หะลาล)

จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด)“อัลลอฮ์ทรงอนุมัติให้แก่พวกท่าน หรือพวกท่านปั้นแต่งให้แก่อัลลอฮ์”

(ยูนุส / 59) 

         ฮะลาล และฮะรอม เป็นกฏเกณฑ์ของศาสนา เมื่ออัลลอฮ์ทรงปฏิเสธต่อผู้ที่ปั้นแต่งข้อตัดสินขึ้นมาโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นตัวบ่งชี้ว่า ฮะลาล และฮะรอม ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของอัลลอฮ์  และยังรวมไปถึงกฏเกณฑ์ทั้งหมดของศาสนา

 

          4. ผู้ใดที่พูดเรื่องข้อตัดสินศาสนา โดยปราศจากหลักฐานคือ ผู้ที่กุเท็จต่ออัลลอฮ์  และเราะซูล

 

          ผู้ที่กุเรื่องเท็จต่ออัลลอฮ์ และเราะซูลของพระองค์ ต้องถูกลงโทษอย่างแสนสาหัส

"และพวกเจ้าอย่ากล่าวตามที่ลิ้นของพวกเจ้ากล่าวเท็จขึ้นว่า “นี่เป็นที่อนุมัติและนี่เป็นที่ต้องห้าม” (ไม่มีหลักฐาน)

เพื่อที่พวกเจ้าจะกล่าวเท็จต่ออัลลอฮ์ แท้จริงบรรดาผู้กล่าวเท็จต่ออัลลอฮ์นั้น พวกเขาจะไม่ได้รับความสำเร็จ "

(อันนะหล / 116)

         รูปแบบหนึ่งของการกล่าวเท็จคือ การกล่าวว่านี่เป็นเรื่องฮะลาล นี่เป็นเรื่องวาญิบ นี่เป็นเรื่องซุนนะฮ์ นี่เป็นเรื่องมักรูฮ์ นี่เป็นเรื่องฮะรอม โดยทั้งหมดปราศจากหลักฐานยืนยัน ผู้ที่กล่าวเท็จต่ออัลลอฮ์ จะไม่ได้รับความสำเร็จ และจะต้องถูกลงโทษอย่างเจ็บปวด การนำข้อตัดสินศาสนาไปใช้ในเรื่องใด จะต้องมีหลักฐานที่ถูกต้อง และชัดเจนยืนยัน ไม่ให้ใช้อารมณ์ สติปัญญา และความรู้สึก เป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ให้ใช้หลักฐานจากอัลกุรอาน และซุนนะฮ์ หรืออิจมาอ์ คือ มติเอกฉันท์ ของปวงปราชญ์ และหลักกิยาส การเทียบเคียง ถ้าใช้หลักการอื่นเป็นเครื่องยืนยันได้ อัลลอฮ์ คงไม่ต้องส่งท่านเราะซูล ลงมา และไม่ต้องประทานคัมภีร์อัลกุรอานลงมา

"อัลลอฮ์มิได้ทรงให้มีขึ้น ซึ่งบะฮีเราะฮ์(*1*)และซาอิบะฮ์(*2*) และวะซีละฮ์(*3*) และฮาม(*4*)

แต่ทว่าบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาต่างหากที่อุปโลกน์ความเท็จแก่อัลลอฮ์ และส่วนมากของพวกเขาไม่ใช่ปัญญา  "

(อัลมาอิดะฮ์ / 103)


(1)  คือแม่อูฐที่ผ่าหูอย่างกว้าง แล้วปล่อยมันให้เป็นอิสระ โดยที่มันจะไม่ถูกขี่ จะไม่ถูกรีดนม ไม่ถูกบรรทุกสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะไม่ถูกขับไล่ให้ออกจากแหล่งน้ำ เมื่อมันต้องการดื่มและจะไม่ถูกกีดกันแหล่งหญ้าใด ๆด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมันได้ออกลูก 5 ตัวโดยที่ตัวสุดท้ายเป็นตัวผู้ บางรายงานก็ว่า ตัวสุดท้ายเป็นตัวเมีย ดังรายงานของอิบนิอับบาส
(2)  คือแม่อูฐที่ถูกปล่อยให้เป็นอิสระ เนื่องจากได้บนให้แก่เจว็ด ซึ่งมันจะหาแหล่งหญ้ากินตามที่มันต้องการ มันจะไม่ถูกบรรทุกสิ่งของใด ๆ จะไม่ถูกตัดขน แลจะไม่ถูกรีดนม นอกจากเพื่อแขกที่มาเยี่ยมเท่านั้น
(3)  คือแม่แพะที่หากมันออกลูกเป็นตัวเมียก็เป็นสิทธิของเจ้าของ แต่ถ้ามันออกลูกเป็นสิทธิของเจว็ดของพวกเขา แต่ถ้ามันออกทั้งตัวผู้และตัวเมียแล้ว ถือกันว่า ตัวเมียได้มาทันน้องตัวผู้ของมัน ในการนี้เขาจะไม่เชือดตัวผู้ถวายแก่เจว็ดของพวกเขา
(4)  พ่อพันธุ์ที่ได้ผสมพันธุ์จนแม่อูฐออกลูกถึงสิบท้อง ในการนี้หลังของมันจะถูกคุ้มครองรักษา โดยมันจะไม่ถูกขี่จะไม่ถูกบรรทุกจะไม่ถูกหวงห้ามแหล่งน้ำและแหล่งหญ้าใด ๆ อนึ่งเกี่ยวกับสัตว์สี่ประเภทดังกล่าวนั้นมีรายงานที่ให้ความหายเป็นอย่างอื่นอีก  
    

 

         อัลลอฮ์ ทรงประนามพวกที่กำหนดสิ่งฮะรอม ทั้งๆที่ไม่ใช่สิ่งฮะรอม และพวกเขายังทำให้สิ่งฮะรอมที่กำหนดขึ้น มาเป็นเรื่องศาสนา อัลลอฮ์ ทรงแจ้งว่า คำพูดของพวกเขาเป็นการกุเท็จ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในศาสนา และยังเป็นข้องตัดสินที่ไร้หลักฐานยืนยัน และอัลลอฮ์ ทรงว่าพวกเขาเป็นพวกที่ไม่มีสติปัญญา เพราะจะมีสติปัญญาได้อย่างไร สำหรับพวกที่ห้ามสิ่งต่างๆแก่ตัวเขา ทั้งๆที่สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งฮะลาล(อนุมัติ)สำหรับพวกเขา

         อัลลอฮ์ ทรงตรัสว่า

"จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า แท้จริงสิ่งที่พระเจ้าของฉันทรงห้ามนั้น คือบรรดาสิ่งที่ชั่วช้าน่ารังเกียจ(*1*) ทั้งเป็นสิ่งที่เปิดเผยจากมันและสิ่งที่ไม่เปิดเผย

และสิ่งที่เป็นบาป(*2*) และการข่มเหงรังแกโดยไม่เป็นธรรม(*3*) และการที่พวกเจ้าให้เป็นภาคีแก่อัลลอฮ์

ซึ่งสิ่งที่พระองค์มิได้ทรงประทานหลักฐานใด ๆ ลงมาแก่สิ่งนั้น(*4*) และการที่พวกเจ้ากล่าวให้ภัย(*5*)แก่อัลลอฮ์ในสิ่งที่พวกเจ้าไม่รู้  "

(อัลอะอรอฟ/33)


(1)  เช่นการทำซินา การข่มขืนชำเรา การฆ่ากัน และการปล้นจี้ เป็นต้น
(2)  คือการฝ่าฝืนบัญญัติศาสนาโดยทั่วไป
(3)  คำว่า “โดยไม่เป็นธรรม” นั้นเป็นการย้ำคำที่ว่า “การข่มเหงรังแก”
(4)  คือมิได้ทรงมีหลักฐานยืนยันว่าสิ่งนั้นเป็นภาคีกับพระองค์ ที่กล่าวเช่นนี้เพียงเพื่อแสดงว่าพวกเรากระทำด้วยพละการเท่านั้น ความจริงแล้วไม่มีสิ่งใดเป็นภาคีแก่พระองค์ทั้งสิ้น
(5)  คืออุตริกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น แล้วอ้างว่าเป็นศาสนาของอัลลอฮ์ ปฏิบัติการดังกล่าวนี้ถือเป็นการให้ร้ายแก่พระองค์
 

 

         สิ่งต้องห้ามในอายะฮ์นี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ การกล่าวให้ร้ายต่ออัลลอฮ์  เป็นบาปใหญ่ ถือว่าเป็นการตั้งภาคีอย่างหนึ่ง และการกล่าวเท็จโดยขาดความรู้ คือ การสร้างสิ่งวาญิบขึ้นมาเอง โดยศาสนาไม่ได้กำหนดว่าเป็นวาญิบ การสร้างสิ่งฮะรอมขึ้นมาเอง โดยศาสนาไม่ได้กำหนดว่าเป็นฮะรอม การสร้างสิ่งซุนนะฮ์ขึ้นมาเอง โดยศาสนาไม่ได้กำหนดว่าเป็นซุนนะฮ์ การสร้างสิ่งมักรูฮ์ขึ้นมาเอง โดยศาสนาไม่ได้กำหนดว่าเป็นมักรูฮ์

          เพราะการที่คนหนึ่งจะออกข้อตัดสินในบัญญัติศาสนา เท่ากับเป็นการถ่ายทอดมาจากอัลลอฮ์  ถ้าข้อตัดสินดังกล่าวมีหลักฐานที่ถูกต้องและชัดเจน แสดงว่าเขาได้กล่าวตามหลักฐานที่อัลลอฮ์ทรงยืนยันไว้ เขาจะไม่รวมอยู่ในการถูกตำหนิและถูกลงโทษ แต่ถ้าข้อตัดสินไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องและชัดเจน หมายความว่าเขาคือผู้กล่าวเท็จ ให้ร้ายต่ออัลลอฮ์ และเขาจะรวมอยู่ในผู้ฝ่าฝืนอย่างมิต้องสงสัย

อัลลอฮ์  ทรงตรัสว่า

"และอย่าติดตามสิ่งที่เจ้าไม่มีความรู้ ในเรื่องนั้น แท้จริงหู และตา และหัวใจ ทุกสิ่งเหล่านั้นจะถูกสอบสวน"

 (อัลอิสรออ์ / 36)

          บ่าวของอัลลอฮ์  ถูกห้ามมิให้พูดในสิ่งที่เขาไม่มีความรู้ เพราะเขาจะต้องถูกสอบสวนในวันกิยามะฮ์  เพราะฉะนั้นผู้มีสติปัญญาทั้งหลายต้องรักษาตนเอง และระวังคำพูดให้พ้นจากการสร้างข้อตัดสินทางศาสนาขึ้นมาเอง นอกจากจะต้องมีหลักฐานที่ถูกต้องและชัดเจนเท่านั้น

 

          5. ผู้ที่พูดเรื่องศาสนาโดยปราศจากหลักฐาน คือผู้ประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นมาในศาสนา

 

          การประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นมาในศาสนาผลลัพธ์ คือ การถูกปฏิเสธ และเป็นโมฆะ ดังที่ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า

"ผู้ใดที่ประดิษฐ์สิ่งใหม่ในกิจการของเรา ที่ไม่ใช่กิจการของเราถือว่าเป็นโมฆะ"

          ฮะดิษนี้รวมถึงการปฏิบัติสิ่งใหม่ในด้านการปฏิบัติ และด้านคำพูด ผู้ใดที่ทำหรือพูดสิ่งใดให้เป็นวาญิบ โดยไม่มีหลักฐาน ทำหรือพูดสิ่งใดให้เป็นซุนนะฮ์ โดยไม่มีหลักฐาน และทำหรือพูดสิ่งใดให้เป็นมักรูฮ์ โดยไม่มีหลักฐาน เขาผู้นั้นคือผู้ประดิษฐ์สิ่งใหม่ที่ไม่ใช่เรื่องศาสนา ซึ่งทุกๆการประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นมาในศาสนาถือว่าเป็นโมฆะ

 

          6. การกุเท็จต่อท่านนะบี  ต้องถูกลงโทษในนรก

 

          การยืนยันเรื่องหนึ่งเรื่องใดในข้อตัดสินศาสนา เป็นการยืนยันว่าศาสนาได้กล่าวเรื่องนั้นไว้แล้ว หรือทำเรื่องนั้นไว้แล้ว แต่ถ้าไม่มีหลักฐานยืนยันถือว่าเป็นการโกหก ที่ต้องถูกลงโทษในนรก ดังที่ท่านเราะซูล  ได้กล่าวว่า

"ผู้ใดที่กุเท็จต่อฉันโดยตั้งใจ จงเตรียมที่นั่งของเขาไว้ในนรก"