ใหญ่ เล็ก! เกี่ยวหรือไม่ (น้ำนมมาก)
หนึ่งในข้อสงสัยยอดฮิตของคุณแม่และสตรีกว่าค่อนโลก คือ ขนาดของเต้านมมีผลต่อปริมาณน้ำนมหรือไม่ มาติดตามหาคำตอบกัน
เป็นที่รู้กันดีว่า น้ำนมแม่ เป็นอาหารชั้นยอดของทารก ที่จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสติปัญญา ซึ่งคุณแม่ทุกคนก็คงอยากให้ลูกน้อยได้ดูดนมอย่างเพียงพอ
นมแม่ อุดมไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของทารกและง่ายต่อการดูดซึม และยังมีส่วนที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงสารภูมิคุ้มกันโรคที่ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก เปรียบเสมือนวัคซีนป้องกันโรค ยิ่งในช่วง 3-5 วันแรกหลังคลอด คุณแม่จะมีน้ำนมเหลือง คอลอสตรัม ที่มีสีเหลือง ซึ่งอุดมไปด้วยสารภูมิคุ้มกันโรคที่จะช่วยป้องกันโรคให้แก่ทารกแรกเกิด
น้ำนม มาจากไหน
โดยพื้นฐานแล้ว น้ำนมจะถูกสร้างและผลิตมาจากเซลล์ที่บุอยู่ภายในกระเปาะเล็กๆ ของเนื้อเต้านม ซึ่งเซลล์เหล่านี้ได้รับการหล่อเลี้ยงจากเส้นเลือดบริเวณหน้าอก น้ำนมที่ผลิตได้ทีละเล็กละน้อยจะถูกเก็บสะสมไว้ภายใน ขณะที่คุณแม่ให้นมลูก น้ำนมที่เก็บไว้จะถูกขับออกมาจากกระเปาะผ่านไปตามท่อน้ำนมและไหลออกมาทางหัวนมให้ลูกได้ดื่ม โดยในน้ำนมแม่นั้นประกอบไปด้วยสัดส่วนของไขมันสูงกว่า แต่มีส่วนที่เป็นโปรตีนน้อยกว่านมวัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เหมาะกับทารกเนื่องจากไขมันเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองและระบบประสาทของทารกโดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก ส่วนโปรตีนนั้นยังไม่ได้มีความจำเป็นต่อทารกมากนักและยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทารกแพ้โปรตีนที่ได้จากนมวัวอีกด้วย ดังนั้น ความเข้าใจที่ว่าเมื่อตั้งครรภ์ควรดื่มนมวัวเยอะ ๆ จึงไม่มีความจำเป็น และบางทีอาจเป็นสาเหตุไปกระตุ้นให้ทารกแพ้โปรตีนจากนมวัวได้อีกด้วย
จริงหรือไม่ปริมาณน้ำนมขึ้นอยู่กับขนาดเต้านม
ไม่จริง ! เพราะนมแม่เป็นต่อมชนิดหนึ่งเหมือนต่อมเหงื่อ แบ่งเป็นกลีบประมาณ 10-15 กลีบ ประกอบด้วย 2 ส่วนที่สำคัญ คือ
1.ส่วนที่เป็นต่อมและท่อ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการผลิตและลำเลียงน้ำนม
2.ส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อข้างเคียง คือ ส่วนที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบหลัก ทำหน้าที่เหมือนเป็นโครงช่วยประสานให้ส่วนของต่อมและท่อเกาะกลุ่มกันเป็นรูปทรง ซึ่งขนาดของเต้านมจะใหญ่หรือเล็กก็เนื่องมาจากส่วนเนื้อเยื่อไขมันเหล่านี้ ไม่ได้มีผลต่อการสร้างปริมาณน้ำนมแต่อย่างใดตามที่คุณแม่หลายคนเข้าใจกัน
อะไรมีผลต่อปริมาณน้ำนม
จริงๆ แล้ว สิ่งที่มีผลต่อปริมาณน้ำนมที่คุณแม่ผลิต คือ โปรแลกติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่กระตุ้นให้เซลล์ผลิตน้ำนมออกมา ฮอร์โมนตัวนี้ผลิตขึ้นจากต่อมใต้สมองของคุณแม่ และจะหลั่งออกมาในปริมาณมากขณะตั้งครรภ์ และจะลดปริมาณลงทันทีหลังคลอด อย่างไรก็ตาม ระดับโปรแลคตินนี้ จะเพิ่มสูงขี้นทันทีหลังคุณแม่ให้ลูกดูดนม และลดลงอย่างรวดเร็วหลังให้นมเสร็จ นอกจากนี้ ยังมีฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งชื่อ ออกซิโตซิน ผลิตขึ้นจากต่อมใต้สมองส่วนหลังของคุณแม่ ฮอร์โมนตัวนี้จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อรอบๆ กระเปาะน้ำนมหดตัวเพื่อบีบน้ำนมออกมา ซึ่งจะหลั่งออกมามากหากมีการกระตุ้นหัวนม หรือเวลาลูกดูดนม ดังนั้น หากคุณแม่ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ก็เท่ากับเป็นการกระตุ้นการหลั่งทั้งโปรแลคตินและออกซิโตซินนั่นเอง ในทางตรงข้ามคุณแม่ที่ไม่ได้ให้ลูกดูดนมอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนทั้งสองเช่นกัน
ดังนั้น ปริมาณน้ำนมที่ผลิตจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความถี่ในการกระตุ้นเป็นสำคัญ ซึ่งอาจมาจากทารกดูดเองจากเต้าหรือจากคุณแม่บีบกระตุ้นเพื่อเก็บน้ำนมเองก็ได้
เคล็ดลับการสร้างน้ำนม
มีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ ยืนยันว่า การรับประทานอาหารของคุณแม่มีผลโดยตรงต่อการผลิตน้ำนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารพื้นบ้าน เช่น แกงเลียง ยำหัวปลี จะช่วยกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมเพิ่มขึ้น ส่วนการรับประทานยาที่ช่วยขับน้ำนมนั้น มีความจำเป็นน้อยและไม่ควรซื้อมารับประทานเอง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณและลูกน้อย ยกเว้นในกรณีที่อยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ความสำเร็จในการให้นมแม่
1.ด้านคุณแม่ ลักษณะหัวนม เช่น หัวนมสั้นหรือบอดบุ๋ม มีลานหัวนมตึง ทำให้ทารกดูดนมได้ลำบาก ความเครียดหรือวิตกกังวลในการเลี้ยงลูก ทำให้พักผ่อนไม่พอเพียง รวมถึงมีสุขภาพส่วนตัวที่ไม่ดีอยู่ก่อน เช่น เป็นโรคหัวใจ หรือโรคไตวายเรื้อรัง
2.ด้านตัวลูก ทารกอมหัวนมไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ได้รับการฝึกที่ถูกต้อง หรือมีพังผืดใต้ลิ้น ซึ่งอาจต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขดูแลเป็นพิเศษ
3.ด้านครอบครัวและสังคม คุณแม่ที่เพิ่งคลอดควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อหรือคนรอบข้างทั้งร่างกายและจิตใจ ส่วนทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานและชุมชน ควรส่งเสริมหรือให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น หาห้องสะอาดและตู้เย็นสำหรับเก็บน้ำนมแม่ หรือมีการจัดมุมให้นมแม่ เป็นต้น
แน่นอนว่า ช่วงเวลาของการให้นมแม่ ทั้งคุณแม่และลูกน้อยจะได้สัมผัสกันอย่างแนบชิด ก่อให้ เกิดความรักความผูกพันแก่กัน มือที่โอบกอดลูกนั้น ถือเป็นการกระตุ้นระบบประสาทของทารกที่มีประสิทธิภาพสูงมาก และยังทำให้ทารกมีพัฒนาการที่เร็วกว่าทารกที่ไม่ได้รับการกระตุ้น รวมทั้งทำให้คุณแม่มีรูปร่างกลับคืนสู่สภาพเดิมเร็วขึ้น เพราะมีการนำไขมันที่สะสมไว้ในระหว่างตั้งครรภ์มาใช้ในการผลิตน้ำนม
ดีอย่างนี้ คุณแม่ทั้งหลายต้องไม่พลาดให้นมลูกนะคะ
บทความโดย: รศ.นพ.พฤหัส จันทร์ประภาพ สูตินรีแพทย์