กำหนดแห่งความตาย
  จำนวนคนเข้าชม  20845

 

การเสียชีวิตและบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

กำหนดแห่งความตาย

 

            การยืนยงถาวรเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ  เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น และพระองค์ได้ทรงกำหนดให้ทุกชีวิตต้องเผชิญกับความตาย  ดังนั้นแม้นว่ามนุษย์จะมีอายุยืนยาวแค่ไหนก็จะต้องสัมผัสกับความตาย เมื่อนั้นเขาจะถูกย้ายไปจากโลกแห่งการทำอิบาดะฮฺสู่โลกแห่งการตอบแทน และแท้จริงนั้นสุสานคือสถานที่แห่งแรกของโลกแห่งการตอบแทน และสิทธิมุสลิมที่มีต่อมุสลิมด้วยกันนั้นหากมุสลิมคนหนึ่งป่วยจะต้องมีการเยี่ยมเยียน และต้องติดตามศพของเขาหากเสียชีวิต

1.  อัลลอฮฺ ได้ตรัส ความว่า

         “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) แท้จริงความตายที่พวกท่านหนีจากมันไปนั้น มันจะมาพบกับพวกท่าน แล้วพวกท่านจะถูกนำกลับไปยังพระผู้ทรงรอบรู้สิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผย แล้วพระองค์จะทรงแจ้งแก่พวกท่านตามที่พวกท่านได้ประกอบกรรมไว้”

(อัล-ญุมุอะฮฺ : 8)

2.  อัลลอฮฺ ได้ตรัสความว่า

“ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าปรากฏอยู่ ความตายก็ย่อมมาถึงพวกเจ้า

และแม้นว่าพวกเจ้าจะอยู่ในป้อมปราการอันสูงตระหง่านก็ตาม”

(อัน-นิสาอ์ : 78)


สิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วย

           จำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่จะต้องมีความศรัทธาต่อสิ่งที่อัลลอฮฺ ได้กำหนดไว้ (เกาะฎออ์) และอดทนต่อสิ่งที่เขาได้รับและให้คิดในแง่ที่ดีต่ออัลลอฮฺ และให้อยู่ในความรู้สึกกึ่งกลางระว่างความกลัวและความหวัง และไม่โอดครวญเพื่อหวังที่จะตายให้จบๆ และให้เขาจัดการในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิของอัลลอฮฺ และส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิของมนุษย์ด้วยกัน และให้เขียนคำสั่งเสีย และให้สั่งเสียเป็นพินัยกรรมแบ่งทรัพย์สินให้กับญาติพี่น้องของเขาที่ไม่สามารถรับมรดกจากเขาได้หนึ่งในสามส่วนหรือน้อยกว่านั้น ซึ่งมันเป็นการดียิ่งสำหรับเขา และให้เขาทำการรักษาการเจ็บป่วยด้วยวิธีการที่อนุญาตให้กระทำได้ และให้ทำการขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ เพื่อให้หายจากการป่วย
 
     * ส่งเสริมให้ผู้ป่วยคร่ำครวญร้องเรียนบอกกล่าวอาการเจ็บป่วยของเขาต่ออัลลอฮฺ และอนุญาตให้เขาบอกลักษณะอาการเจ็บป่วยของเขาให้คนอื่นรับรู้ แต่ต้องมิใช่ในลักษณะของการโอดครวญ

 

หุก่มการตั้งความหวังที่จะตาย

จากท่าน อะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า ท่านนบี ได้กล่าวว่า

عن أنس رضي الله عنه قال: قال رَسُولُ الله  : «لا يَتَـمَنَّيَنَّ أحَدٌ مِنْكُمُ المَوْتَ لِضُرٍّ نَزَلَ بِـهِ، فَإنْ كَانَ لا بُدَّ مُتَـمَنِّياً لِلْـمَوْتِ فَلْيَـقُلِ: اللهم أحْيِنِي مَا كَانَتِ الحَيَاةُ خَيْراً لِي، وَتَوَفَّنِي إذَا كَانَتِ الوَفَاةُ خَيْراً لِي». متفق عليه

“พวกท่านอย่าได้ตั้งเจตนาที่จะตาย เนื่องจากความทุกข์ได้มาเยือนท่าน

และหากผู้ใดในบรรดาพวกท่านไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงจากความรู้สึกที่ต้องการจะตายได้นั้น ขอให้เขาจงกล่าวว่า

“โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงให้ฉันมีชีวิตอยู่เถิดหากการมีชีวิตของฉันจะนำพาซึ่งสิ่งที่ดีสำหรับฉัน

และขอพระองค์ทรงให้ฉันตายเถิด หากการตายนั้นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับฉัน”

 (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 6351 สำนวนรายงานเป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลข 2680)


การเตรียมตัวสำหรับการตาย

          จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมุสลิมที่จะต้องเตรียมตัวและเตรียมใจที่จะตาย และให้รำลึกถึงความตายอย่างสม่ำเสมอ และวิธีการเตรียมตัวและเตรียมใจนั้นคือ การเตาบะฮฺ สำนึกถึงบาปที่ได้กระทำไว้ การรำลึกถึงวันอาคิเราะฮฺ การจัดการคืนสิทธิต่างๆ ที่ได้ละเมิดต่อผู้อื่นให้เสร็จสิ้น การยอมรับน้อบน้อมต่ออัลลอฮฺ  ด้วยความเต็มใจ และห่างไกลจากสิ่งที่ต้องห้ามทั้งหลาย

     * และส่งเสริมให้มีการเยี่ยมเยียนผู้ป่วย และเตือนใจให้เขาทำการเตาบะฮฺและทำการสั่งเสีย และให้ทำการรักษากับแพทย์ที่เป็นมุสลิม นอกจากว่ามีความจำเป็นก็ให้ทำการรักษากับแพทย์ที่ไม่ใช่มุสลิมและต้องแน่ใจว่าจะไม่ถูกหลอกลวง
 

 

บัญญัติเกี่ยวกับการตัลกีน หรือสอนผู้ป่วยที่กำลังจะตาย
 

          เป็นการส่งเสริมสำหรับผู้ที่ได้ร่วมเป็นสักขีกับคนที่กำลังจะตายให้เขาทำการตัลกีนหรือสอนเขา ให้เขาทำการกล่าวชะฮาดะฮฺปฏิญาณตนว่า ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ และทำการขอดุอาอ์ให้เขา และไม่สมควรที่จะกล่าวต่อหน้าเขานอกเสียจากสิ่งดีๆ เท่านั้น

          เป็นการอนุญาตให้มุสลิมไปเยี่ยมกาฟิร(ผู้ที่มิใช่มุสลิม) และเชิญชวนให้เขารับอิสลามด้วยการกล่าวเชิญชวนว่า “จงกล่าวชะฮาดะฮฺปฏิญาณตนเถิดว่า ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ”

ลักษณะหรือเครื่องหมายที่แสดงถึงการตายดี

1. การกล่าวชะฮาดะฮฺของผู้ตาย

2. การเสียชีวิตของผู้ศรัทธาด้วยเหงื่อที่ผุดขึ้นบนหน้าผาก

3. การตายชะฮีด หรือตายในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุวาตะอาลา

4. การตายในขณะที่ทำหน้าที่เฝ้ารักษาดินแดนหรือศาสนา ในหนทางของอัลลอฮฺ

5. การตายเนื่องจากการปกป้องชีวิตตัวเองหรือทรัพย์สินหรือครอบครัว

6. การตายเนื่องจากเยื่อหุ้มปอดอักเสบ หรือ วัณโรค

7. การตายด้วยโรคฏออูน (โรคห่าหรืออหิวาตกโรค) หรือโรคเกี่ยวกับท้อง หรือจากการจมน้ำ หรือจากการถูกเผา หรือ จากการพังทลายถมทับ

8. การตายของสตรีอันเนื่องจากตกเลือดจากการคลอด เป็นต้น

9. การตายขณะที่ทำอะมัลศอลิหฺ

          และทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีหลักฐานยืนยันจากหะดีษของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวะสัลลัม


ความเข้าใจเกี่ยวกับการตาย

           จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมุสลิมที่ต้องคิดและรำลึกถึงความตายอยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าความตายนั้นเป็นเหตุให้ต้องพลัดพรากไปจากครอบครัวและผู้คนที่รักและความสุขสบายในโลกดุนยา เนื่องจากคิดอย่างนี้เป็นการคิดแบบสั้นๆ หากแต่ความตายนั้นเป็นตัวแยกเราออกจากการทำอิบาดะฮฺไปสู่การรับผลตอบแทนในวันอาคิเราะฮฺ ด้วยการนี้แล้วจะทำให้มุสลิมมีความตั้งใจที่จะทำงานอิบาดะฮฺเพื่อเตรียมตัวสำหรับวันอาคิเราะฮฺ ยอมรับและนอบน้อมต่ออัลลอฮฺ  ส่วนการคิดและรำลึกถึงในรูปแบบแรกนั้นมีแต่จะทำให้เกิดความรู้สึกเสียใจและเสียดาย และแน่นอนหากอัลลอฮฺประสงค์ที่จะให้ผู้หนึ่งตายในสถานที่ใดๆ แล้ว พระองค์จะทำให้เขาผู้นั้นมีความเกี่ยวพันต้องไปหาสถานที่นั้นๆ

          และจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนที่ต้องคิดในแง่ที่ดีกับอัลลอฮฺ  ตอนที่ความตายได้มาเยือน ดังที่ท่านนบี  ได้กล่าวว่า

«لا يَـمُوتَنَّ أَحَدُكُمْ إلا وَهُوَ يُـحْسِنُ الظَّنَّ بِالله عَزَّ وَجَلَّ». أخرجه مسلم

“พวกท่านคนใดคนหนึ่ง จงอย่าตายนอกเสียจากว่าเขาจะต้องคิดในสิ่งที่ดีต่ออัลลอฮฺ อัซซะวะญัล”

(บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 2877)


เครื่องหมายที่แสดงถึงการตาย
 

         สามารถรับรู้ถึงการเสียชีวิตของคนหนี่งคนด้วยการที่ขมับทั้งสองบุบลง จมูกเบี้ยว ฝ่ามือจะกางออก เท้าทั้งสองเหยียดออก ดวงตาแข็งกระด้าง ร่างกายเย็น และขาดการหายใจ


สิ่งที่ต้องกระทำต่อมุสลิมกรณีที่เสียชีวิต
 

          1. กรณีที่มุสลิมเสียชีวิตให้ทำการปิดดวงตาทั้งสองข้างของเขา แล้วให้ทำการดุอาอ์ขณะที่ปิดดวงตาเขาด้วยการกล่าว

«اللَّـهُـمَّ اغْفِرْ لِفُلانٍ، وَارْفَعْ دَرَجَتَـهُ فِي المَهْدِيِّينَ، وَافْسَحْ لَـهُ فِي قَبْرِهِ، وَنَوِّرْ لَـهُ فِيهِ، وَاخْلُفْهُ فِي عَقِبِـهِ فِي الغَابِرِينَ، وَاغْفِرْ لَنَا وَلَـهُ يَا رَبَّ العَالَـمِينَ». أخرجه مسلم

“โอ้ อัลลอฮฺ ขอทรงอภัยให้กับคนผู้นี้ และ

ขอทรงยกระดับชั้นของเขาพร้อมๆ กับผู้ที่ได้รับทางนำ

ขอทรงทำให้หลุมศพของเขากว้างขวาง

ขอทรงให้มีแสงสว่างในหลุมศพนั้น

ขอทรงดูแลผู้ที่อยู่เบื้องหลังของเขาในหมู่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ และ

ขอทรงอภัยให้กับเราและกับเขา

โอ้ พระองค์ผู้อภิบาลจักรวาลทั้งมวล”

(บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 920)

          หลังจากนั้นให้ใช้ผ้ารัดขากรรไกรทั้งสองไว้กับศรีษะ ให้จัดข้อต่างๆ ของร่างกายให้เข้าที่อย่างนุ่มนวล หลังจากนั้นให้ทำการยกศพขึ้นเหนือพื้นเพื่อทำการถอดเสื้อผ้าของผู้ตาย แล้วใช้ผ้าปกปิดร่างกายของเขาทั้งหมด หลังจากนั้นจึงทำการอาบน้ำให้กับศพต่อไป

 

          2. และส่งเสริมให้รีบทำการชำระหนี้สินของผู้ตายที่ยังค้าง และปฏิบัติตามคำสั่งเสียของผู้ตายอย่างเร่งด่วน และจัดการกับศพของผู้ตายอย่างรวดเร็ว และทำการละหมาดให้กับผู้ตาย(ละหมาดญะนาซะฮฺ) และทำการฝังศพในสถานที่ที่ผู้ตายเสียชีวิต และอนุญาตให้ผู้มาเยี่ยมเปิดใบหน้าของศพ จูบศพ และร้องไห้ให้กับผู้ตายได้

 

     * จำเป็นต้องชดในส่วนที่ยังค้างของผู้ตายที่เป็นสิทธิของอัลลอฮฺ  หากยังมีอยู่ อาทิ ซะกาต การบนบาน การจ่ายสินไหม และหัจญ์อิสลาม(หัจญ์วาญิบ) ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกจากทรัพย์สินของผู้ตายก่อนการแบ่งมรดกให้กับเครือญาติที่มีสิทธิในมรดกของผู้ตายและก่อนจะชำระหนี้สินของผู้ตาย เนื่องจากสิทธิของอัลลอฮฺ  ควรแก่การชดใช้ยิ่งกว่า และแท้จริงแล้วมุสลิมคนหนึ่งนั้นจะถูกผูกมัดอยู่กับหนี้สินของเขาจนกระทั่งเขาจะชำระมันให้หมด

 

     * อนุญาตสำหรับมุสลิมะฮฺทำการไว้ทุกข์ต่อการเสียชีวิตของบุตรหรือผู้อื่นที่เป็นญาติเป็นระยะเวลา สามวัน ส่วนการไว้ทุกข์ให้สามีของนางนั้นต้องเป็นเวลาสี่เดือนกับสิบวัน และแท้จริงมุสลิมะฮฺจะอยู่กับสามีคนสุดท้ายของนางในวันอาคิเราะฮฺ

 

     * เป็นการห้าม(บาป)ต่อญาติของผู้ตายหรือใครก็ตามที่จะแสดงกิริยาท่าทางที่โอดครวญร่ำไห้ที่เกินเหตุหรือที่เรียกว่า อัน-นิยาหะฮฺ นั่นคือการกระทำที่เกินขอบเขตเลยเถิดมากไปกว่าการร้องไห้ปกติ แท้จริงผู้ตายจะถูกทรมานในกุโบร(หลุมฝังศพ) อันเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าว และห้าม(บาป)ทำการทุบหน้าตัวเองเพื่อแสดงความเสียใจและโศกเศร้าเนื่องจากประสบทุกข์ หรือ ทำการฉีกเสี้อผ้าตัวเอง โกนหรือขยี้ผมเพราะเหตุดังกล่าว


การประกาศให้ทราบถึงการเสียชีวิตของมุสลิม


          ส่งเสริมให้ประกาศให้ชาวบ้านทราบถึงการตายของมุสลิมคนหนึ่งในหมู่บ้าน เพื่อเป็นพยานและร่วมทำการละหมาดให้กับผู้ตาย และส่งเสริมให้ผู้ประกาศเรียกร้องเชิญชวนให้ผู้อื่นช่วยกันกล่าวดุอาอ์ขออภัยโทษให้กับผู้ตาย และห้ามการประกาศแบบ อัน-นะอฺย์  หมายถึงการประกาศถึงการตายของมุสลิมด้วยการพูดถึงอย่างโอ้อวดและกล่าวแสดงความชมเชยที่เลยเถิด เป็นต้น


สิ่งมุสลิมจะต้องกล่าวและกระทำเมื่อประสบทุกข์

         จำเป็น(วาญิบ)สำหรับญาติของผู้ตายหรือคนอื่นๆต้องอดทน เมื่อทราบถึงข่าวการเสียชิวิตของมุสลิม และส่งเสริมให้พวกเขาจำนนอย่างพอใจต่อสิ่งที่อัลลอฮฺ  ได้ทรงกำหนดไว้ คิดในเชิงหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ  และกล่าวดุอาอ์อิสติรญาอฺ (ดุอาอ์ อินนาลิลลาฮฺฯ)

          1. عن أم سلمة رضي الله عنها زوج النبي صلى الله عليه وسلم قالت: سمعت رسول الله صلى الله عليه وسلم يقول : «مَا مِنْ عَبْدٍ تُصِيْبُـهُ مُصِيْبَةٌ فَيَـقُولُ: إنَّا ٬ وَإنَّا إلَيْـهِ رَاجِعُونَ، أللهم أَجُرْنِي فِي مُصِيْبَتِي، وَأَخْلِفْ لِي خَيْراً مِنْـهَا إلَّا أَجَرَهُ الله فِي مُصِيْبَتِـهِ، وَأَخْلَفَ لَـهُ خَيْراً مِنْـهَا». أخرجه مسلم

 จากอุมมู ซะละมะฮฺ ภรรยาของท่านนบี  กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านนบี  กล่าวว่า

“ผู้ใดก็ตามในหมู่บ่าวของอัลลอฮฺได้ประสบกับทุกข์ใดๆ แล้วเขากล่าวว่า

อินนาลิลลาฮฺ วะอินนา อิลัยฮิ รอญิอูน, อัลลอฮุมมะ อะญุรนี ฟี มุศีบะตี, วะ อัคลิฟ ลี ค็อยร็อน มินฮา

(แท้จริงแล้วพวกเรานั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และพวกเรานั้นจะต้องกลับไปหาพระองค์

โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงตอบแทนในสิ่งที่ฉันได้ประสบมานี้ และขอพระองค์ทรงทดแทนให้กับฉันในสิ่งที่ดียิ่งกว่า)

เช่นนี้แล้ว อัลลอฮฺจะทรงตอบแทนในสิ่งที่เขาได้ประสบและทดแทนให้กับเขาในสิ่งที่ดียิ่งกว่า”

(บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 918)

          2. وعن أنس رضي الله عنه قال: قال النبي صلى الله عليه وسلم «مَا مِنَ النَّاسِ مِنْ مُسْلِـمٍ يُتَوَفَّى لَـهُ ثَلاثةٌ لَـمْ يَبْلُغُوا الحِنْثَ إلَّا أَدْخَلَـهُ الله الجَنَّةَ بِفَضْلِ رَحْـمَتِـهِ إيَّاهُـمْ» أخرجه البخاري.

 จากท่าน อะนัส ได้กล่าวว่า ท่านนบี  ได้กล่าวว่า

“ผู้ใดก็ตามในหมู่มุสลิมที่บุตรสามคนของเขาได้เสียชีวิตลงในขณะที่ยังเยาว์วัย

นอกเสียจากอัลลอฮฺจะทรงให้เขาได้เข้าสวรรค์ ด้วยความเมตตาของพระองค์ต่อบุตรของเขาทั้งสามคนนั้น”

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1248)

          * การอดทน ณ ที่นี้คือ การห้ามความรู้สึกของตัวเองไม่ให้กระวนกระวายหมดความอดทน และห้ามลิ้นจากการโอดครวญ และห้ามร่างกายจากการกระทำที่ไม่อนุญาตเช่น การทุบตีหน้า ฉีกเสื้อผ้า เป็นต้น


การชันสูตรศพ


         อนุญาตให้ทำการชันสูตรศพของมุสลิมหากมีจุดประสงค์เพื่อหาความจริงในเรื่องการฆาตกรรมศพ ตามที่มีคนได้ร้องเรียน หรือเพื่อการพิสูจน์ในเรื่องโรคติดต่อ อันจะนำพาซึ่งผลประโยชน์ของความสงบสุขและความเป็นธรรม และเพื่อการป้องกันโรคติดต่อที่อันตรายไม่ให้เกิดขึ้นกับประชาชนโดยทั่วไป

         และหากการชันสูตรศพเพื่อการศึกษาทางการแพทย์แล้ว แท้จริงมุสลิมคนหนึ่งจะยังมีเกียรติทั้งในยามที่มีชีวิตและทั้งในยามที่ได้ตายไปแล้วก็ตาม ดังนั้นจึงเพียงพอกับการชันสูตรศพของผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม นอกเสียจากมีความจำเป็นจริงๆ และอยู่ในเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ตามความจำเป็นนั้นๆ

 

 


Islam House / แปลโดย : รุสดี การีสา