การแก้ไขความขัดแย้ง
  จำนวนคนเข้าชม  16135

 

 

 

การแก้ไขความขัดแย้งตามแนวทางของอิสลาม


วิทยานิพนธ์ อ.มูฮัมหมัด   เชื้อดี


  1. หลักการที่ใช้ในการแก้ไขความขัดแย้งตามแนวทางของอิสลามมี 2 หลักการคือ

1.   พระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน
2.   แบบฉบับของศาสดามูฮัมมัด

          เนื่องจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน  เป็นพระมหาคัมภีร์มีบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับหลักการศรัทธา  หลักปฏิบัติ  และหลักของคุณธรรม  จริยธรรม  ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมุสลิมที่ทุกคนยอมรับ  ส่วนแบบฉบับของศาสดามูฮัมมัด นั้นหมายถึงบรรดาคำพูด บรรดาการกระทำ และการยอมรับต่างๆที่มาจากศาสดามูฮัมมัด เป็นการอธิบายความหมายและขยายความพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน  เพื่อให้เข้าใจความหมายของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านได้อย่างถูกต้อง(อรุณบุญชม. 2529,  1 : 15)

อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านไว้ดังนี้

บทที่ 4 โองการที่ 59 มีความว่า  

“ผู้ศรัทธาทั้งหลายจงเชื่อฟังอัลลอฮ์ และเชื่อฟังศาสดามูฮัมมัด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย   และถ้าพวกเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งใดก็จงนำกลับไปยังอัลลอฮ์และศาสดามูฮัมมัด  หมายถึงนำสิ่งที่ขัดแย้งนั้นไปตรวจสอบดูกับพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน  และแบบฉบับของศาสดามูฮัมมัด ว่า  ได้มีกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไรแล้วให้ยึดถือตามนั้นโดยปราศจากดื้อดึงใดๆ ทั้งสิ้น” (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419  : 195)

บทที่ 4 โองการที่ 65 มีความว่า

 “มิใช่เช่นนั้นดอก  ข้าขอสาบานด้วยพระเจ้าของเจ้าว่า  เขาเหล่านั้นจะยังไม่ศรัทธาจนกว่าพวกเขาจะให้เจ้าตัดสินในสิ่งที่ขัดแย้งกันระหว่างพวกเขา  แล้วพวกเขาไม่พบความคับใจใดๆในจิตใจของพวกเขาจากสิ่งที่เจ้าได้ตัดสินไป  และพวกเขายอมจำนนด้วยดี” (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419  : 197)

บทที่ 5 โองการที่ 44 มีความว่า

 “และผู้ใดที่มิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานลงมาแล้ว  ชนเหล่านี้คือผู้ปฏิเสธการศรัทธา”     (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419 :  257)

บทที่ 5 โองการที่ 45 มีความว่า

 “และผู้ใดที่มิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานลงมาแล้ว  ชนเหล่านี้คือผู้อธรรม”    (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419  :  257)

บทที่ 5 โองการที่ 47 มีความว่า

 “และผู้ใดมิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานลงมาแล้ว  ชนเหล่านี้คือผู้ที่ละเมิด”     (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419  :  258)

          อรุณ  บุญชม (2529 , 1:18)กล่าวว่า  ศาสดามูฮัมมัด ได้กล่าวว่า แท้จริงข้าพเจ้าได้ทั้งสิ่งสองอย่างไว้แก่พวกเจ้าหากท่านทั้งหลายยึดถือและปฏิบัติตาม  ท่านทั้งหลายจะไม่หลงทางอย่างเด็ดขาดนั้นคือ  พระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน  และแบบฉบับของศาสดามูฮัมมัด


2.  หลักการปฏิบัติที่ใช้ในการแก้ไขความขัดแย้งตามแนวทางของอิสลามมี  2  ประการที่สำคัญคือ

1.  ความถูกต้อง 

ดังที่อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวไว้ดังนี้

บทที่ 2 โองการที่ 213 มีความว่า 

“และทรงได้ประทานคัมภีร์อันกอปรไปด้วยความจริงลงมาจากพวกเขาด้วย  เพื่อว่าคัมภีร์นั้นจะได้ตัดสินระหว่างมนุษย์ในสิ่งที่พวกเขาขัดแย้งกัน  และไม่มีใครที่ขัดแย้ง(ขัดขืน)ในคัมภีร์นั้น”    (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419 :  67)

บทที่ 21 โองการที่ 112 มีความว่า 

“เขา (มูฮัมมัด กล่าวว่า  ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าของพระองค์   ขอพระองค์ทรงชี้ขาดตัดสินแก่เราด้วยความจริง  และพระเจ้าเราคือพระผู้ทรงกรุณาปรานี  ผู้ทรงถูกขอความช่วยเหลือต่อสิ่งที่พวกท่านกล่าวหา ” (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419  :  792)

2.  ความยุติธรรม

 ดังที่อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวไว้ดังนี้

บทที่ 4 โองการที่ 58 มีความว่า 

 “และเมื่อพวกเจ้าตัดสินระหว่างผู้คนจากพวกเจ้าจะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม”    (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419 :  642)

บทที่ 5 โองการที่ 42 มีความว่า

 “และหากเจ้าตัดสินก็จงสินระหว่างพวกเขาด้วยความยุติธรรม  แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงรักบรรดาผู้ที่ยุติธรรม”  (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419 : 195)

บทที่  16 โองการที่ 64 มีความว่า 

 “และเรามิได้ให้คัมภีร์นี้ลงมาแก่เจ้าเพื่ออื่นใดเว้นแต่เพื่อให้เจ้าชี้แจงให้แจ่มแจ้งแก่พวกเขาในสิ่งที่พวกเขาขัดแย้งกัน   เพื่อเป็นการชี้แนวทางและเป็นความเมตตาแก่หมู่ชนผู้ศรัทธา” (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419 :  642)

อรุณ  บุญชม  (2529,8 : 1129)  กล่าวว่า  ความยุติธรรมคือรากฐานของการปกครอง


3.   วิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามแนวทางของอิสลาม

          การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามแนวทางของอิสลามทั้ง 5 วิธี คือ  การต่อสู้  การประนีประนอม      การร่วมมือ   การขออภัย – การให้อภัย  และการนิ่งเฉย ต้องยึดหลักคำสอนของศาสนาเป็นสำคัญโดยใช้กับสถานการณ์ ต่างๆดังนี้ 

1.  การต่อสู้ใช้กับ

1.1  เรื่องความผิดและความถูกต้องที่เกี่ยวข้องกับหลักการของศาสนา
1.2  เรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อใช้ให้ปฏิบัติ - ข้อห้ามปฏิบัติ
1.3  เรื่องที่เกี่ยวข้องกับแพ้- ชนะ
1.4  เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดที่ไม่สามารถอภัยหรือประนีประนอมได้
1.5  เรื่องถูกรุกราน-ถูกขับไล่อย่างไม่เป็นธรรม
1.6  เรื่องที่ไม่สามารถใช้วิธีการอื่น

2.  การประนีประนอมใช้กับ

2.1  เรื่องทะเลาะวิวาทไม่คุ้มกับความพยายามหรือการออกแรงเพื่อการต่อสู้
2.2  เรื่องหนี้สิน
2.3  เรื่องการสงบศึก 
2.4  เรื่องผสานความสามัคคี
2.5  เรื่องการละเมิดที่สามารถประนีประนอมหรือตกลงร่วมกันได้
2.6  เรื่องที่ควรใช้แนวทางสายกลางแก้ไข

3.  การร่วมมือใช้กับ

3.1  เรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างสามี-ภรรยา
3.2  เรื่องที่ต้องการหาวิธีที่ดีที่สุด
3.3  เรื่องที่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ
3.4  เรื่องที่สำคัญต้องการความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่
3.5  เรื่องที่สามารถร่วมมือกันได้เพื่อผสานความความรู้สึกเข้าด้วยกัน
3.6  เรื่องที่ต้องรับตัดสินใจเร่งด่วน

4.  การขออภัย - การให้อภัยใช้กับ

4.1  เรื่องที่ตนเองเป็นฝ่ายถูกต้องหรือเป็นฝ่ายผิด
4.2  เรื่องการเชิญหน้าจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
4.3  เรื่องการเผชิญหน้าอาจทำให้ปัญหาไม่จบสิ้น
4.4  เรื่องที่เล็กน้อยไม่สำคัญที่สามารถให้อภัยกันได้
4.5  เรื่องของอารมณ์ความรู้สึกของจิตใจ

5.  การนิ่งเฉยใช้กับ

5.1  เรื่องไร้สาระ ไม่ใช่สาระสำคัญ
5.2  เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเสียหาย
5.3  เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดและความถูกต้อง
5.4  เรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบ
5.5  เรื่องที่ไม่มีความรู้ความสามารถ 

          ดังนั้นการแก้ไขความขัดแย้งตามแนวทางของอิสลามทั้ง 5 วิธีคือ  การต่อสู้  การประนีประนอม  การร่วมมือ   การขออภัย - การให้อภัยและการนิ่งเฉย ผู้บริหารต้องมีความรู้ความเข้าใจ  นำหลักการของศาสนามาใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างเคร่งครัด  อย่างถูกต้องและเป็นธรรม    การแก้ไขความขัดแย้งที่แตกต่างเกิดจากสาเหตุความขัดแย้งที่ไม่เหมือนกัน  อิสลามส่งเสริมและสนับสนุนอย่างยิ่งในเรื่องการแก้ไขความขัดแย้งควรใช้วิธีการร่วมมือและการประนีประนอมเป็นอันดับแรกๆ  ดังที่อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านดังนี้

บทที่  3  โองการที  159  มีความว่า

 “และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย  ครั้นเมื่อเจ้าได้ตัดสินใจแล้ว  ก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮ์  แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักใคร่ผู้มอบหมายทั้งหลาย” (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419 : 153)

บทที่ 4  โองการที่ 128 มีความว่า

 “และการประนีประนอมเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุด”  (จารึก  เซ็นเจริญและมุฮัมมัด  พายิบ.2540, 3 : 555)

          แต่ในบางครั้งการแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่อสู้  ทำความจริงให้ปรากฏเป็นหนึ่งจากวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง  ดังที่อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านดังนี้

บทที่ 2 โองการที่ 191  มีความว่า

“การก่อความวุ่นวายนั้นรุนแรงยิ่งกว่าการประหัตประหารเสียอีก  หมายความว่า  การปล่อยปัญหาให้คงอยู่ต่อไปโดยไม่มีการจัดการใดๆนั้นคือสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าการจัดการกับปัญหาด้วยวิธีที่เด็ดขาดและรุนแรงก็เป็นได้  กล่าวคือ มีผลเสียน้อยกว่า”  (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย,1419:60 )


          สรุปได้ว่า  การแก้ไขความขัดแย้ง( Conflict Resolution ) เป็นการดำเนินการให้ความขัดแย้งลดน้อยลง สงบลง หรือสิ้นสุดลง  ผู้บริหารแต่ละคนจะมีวิธีจัดการกับความขัดแย้งแตกต่างกัน ความขัดแย้งในสถานการณ์ที่ต่างกันและจากสาเหตุที่ต่างกันย่อมต้องการวิธีจัดการที่แตกต่างกันไป สิ่งที่ผู้บริหารต้องคำนึงในการแก้ไขความขัดแย้งตามแนวคิดของเจ้าของแนวคิดทฤษฎีต่างๆคือ การเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อไห้เกิดผลดีแก่องค์การเป็นหลัก แต่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามแนวทางของอิสลามนั้นต้องยึดหลักการของศาสนาที่วางไว้เป็นสำคัญเพื่อความถูกต้อง และความเป็นธรรมซึ่งทุกฝ่ายต้องยอมรับ  

 

+++++++++++++++++++++++++