มารยาทในการเยี่ยมผู้ป่วย
  จำนวนคนเข้าชม  52441

มารยาทในการเยี่ยมผู้ป่วย

โดย  อ.ฏอฮา  อับดุลเลาะห์

          มารยาทในการไปเยี่ยมผู้ป่วยตามหลักการอัลอิสลามนั้นมีมากมาย จะขอแนะนำแบบอย่างของท่านเราะซูล  ในการเยี่ยมเยียนผู้ป่วยมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติดังต่อไปนี้

          1. พูดปลอบใจให้กำลังใจผู้ป่วย ด้วยคำพูดที่อ่อนโยน นุ่มนวล ไพเราะ สวยงาม ดังที่ปรากฏในบันทึกของ อิบนุมาญะฮ์ แจ้งว่า อบูสะอี๊ด อัลคุดรีย์ กล่าวว่าท่านเราะซูล  ได้กล่าวว่า

"เมื่อพวกท่านไปเยี่ยมผู้ป่วยก็จงพูดปลอบใจ และให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย เพราะการกระทำดังกล่าวก็มิได้เป็นการขัดต่อสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงกำหนด (อะญัล) แต่อย่างใด" (บันทึกโดย ตริมีซีย์)

          นั่นคือการพูด เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าในอีกไม่ช้าเขาก็จะหายดีเป็นปกติ และจะมีอายุยืนยาว เพราะผู้ป่วยจะมีขวัญกำลังใจจากผู้มาเยี่ยมเยียน และบุคคลรอบข้าง จนทำให้รู้สึกเข้มแข็ง กระปรี้กระเปร่าขึ้น เมื่อมีผู้มาเยี่ยมเยียนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้บรดาอุละมาอ์ จึงเตือนผู้ที่ไปเยี่ยมไข้ มิให้พูดถึงเรื่องความตายขณะอยู่ต่อหน้าผู้ป่วย หรือพูดถึงคนที่ตายไปแล้วด้วยโรคเดียวกันนี้ต่อหน้าผู้ป่วย เพราะจะทำให้เสียกำลังใจ หรือทำให้เกิดอาการวิตกกังวลแก่ผู้ป่วย 

          2. ให้ขอดุอาต่ออัลลอฮ์ ให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บป่วย ท่านนะบีมุฮัมมัด เคยใช้มือขวาลูบผู้ป่วย พลางท่านก็อ่านดุอาดังต่อไปนี้ สามครั้งด้วยกัน

" ข้าแต่อัลลอฮ์ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าแห่งมวลมนุษย์ ขอพระองค์ทรงให้อาการป่วยไข้มลายหายไป โอ้ อัลลอฮ์  ขอพระองค์ทรงให้หายป่วย ด้วยพระองค์เป็นผู้ทรงให้หายป่วยได้ ไม่มีการให้หายจากการเจ็บป่วยใดๆ นอกจากด้วยพระองค์เท่านั้น ที่ทรงทำให้หายได้ เป็นการหายป่วยชนิดที่ไม่มีร่องรอยการเจ็บป่วยใดๆ หลงเหลืออยู่เลย "

(บันทึกโดย บุคอรีย์,มุสลิม,อิบนุมาญะฮ์,อัดดาริมีย์,ตริมีซีย์) 

          ท่านเราะซูล  กล่าวเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ป่วยว่า

"(ไม่สบาย)ไม่เป็นไรนะ เหมือนกับการชำระลางตัวให้สะอาด อินชาอัลลอฮ์" (บันทึกโดย บุคอรีย์)

         บางครั้งท่านเราะซูล ก็กล่าวว่า กัฟฟาเราะตุน วะ เฏาะฮูร หมายถึง "การเจ็บป่วยนั้นเท่ากับเป็นการไถ่โทษจากความผิดบาปต่างๆ และเป็นการชำระล้างร่างกาย และจิตใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ จากสิ่งสกปรกโสมมต่างๆ"  ซึ่งก็สมจริงดังฮะดิษที่ท่านเราะซูล กล่าวว่า

" สิ่งที่มุสลิมประสบ ไม่ว่าจะเป็นความเหน็ดเหนื่อย ความยุ่งยาก ความกลุ้มอกกลุ้มใจ ความเดือดร้อน ความเศร้าหมอง ทุกข์ระทมใจ หรือแม้กระทั่งรอยหนามที่ทิ่มตำเขา ดังกล่าวทั้งหมดนี้ อัลลอฮ์ จะทรงให้สิ่งเหล่านี้ลบล้างความผิดเขาจนหมดสิ้นไป" (บันทึกโดย บุคอรีย์ และมุสลิม)

          3. ให้ถามอาการของผู้ป่วย และให้หยิบยื่นหรือมอบสิ่งดีๆที่ผู้ป่วยชอบ และพึงพอใจให้แก่ผู้ป่วย อย่าพูดหรือทำในสิ่งที่ผู้ป่วยไม่ชอบ ดังมีรายงาน ท่านนะบีมุฮัมมัด  เคยนั่งทางด้านศรีษะของผู้ป่วย แล้วถามอาการของผู้ป่วยโดยท่านกล่าวว่า เธอรู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง? และอีกรายงานหนึ่งระบุว่า ท่านเราะซูล เคยถามผู้ป่วยว่า ต้องการสิ่งใด หรือไม่? โดยที่ท่านกล่าวว่า เธอต้องการจะได้อะไรไหม ? หากต้องการสิ่งใด ก็ต้องรู้ด้วยว่าสิ่งนั้นไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้ป่วย ก็จงให้สิ่งนั้นเถิด

          4. ให้ไปเยี่ยมผู้ป่วยโดยใช้เวลาไม่นานนัก เพราะผู้ป่วยต้องการพักผ่อน ต้องการบำบัดรักษา และต้องการความเป็นส่วนตัว  ให้รีบไปและให้รีบกลับ สำหรับการเยี่ยมเยียนคนทั่วไป และสำหรับผู้ป่วยด้วยแล้วยิ่งสมควรกว่า นอกจากกรณีที่ผู้ป่วยต้องการให้อยู่นานๆ หรือการไปเยี่ยมนั้นจะทำให้ผู้ป่วยดีใจ หรือช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยลงก็ไม่เป็นไร เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้นก็ได้ อินชาอัลลอฮ์

          5. ให้ไปเยี่ยมผู้ป่วยทุกคนที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นมุสลิม หรือต่างศาสนิกก็ตาม มีรายงานว่า ท่านนะบี  ได้ไปเยี่ยมมุชริกบางคนที่ป่วยไข้เป็นการส่วนตัว ในฐานะที่เป็นญาติที่ใกล้ชิด ดังเช่น อบูฏอลิบ ซึ่งเป็นลุงของท่าน

          และมีหลักฐานยืนยันว่า ท่านนะบี  ได้ไปเยี่ยมเด็กยิว ซึ่งเคยรับใช้ท่าน ท่านได้เสนอให้เขาเข้ารับอิสลาม ดังที่เคยเสนอแก่ลุงของท่านแต่ลุงของท่านไม่ยอมรับข้อเสนอนั้น ส่วนเด็กน้อยชาวยิวคนนี้ตกลงรับข้อเสนอ และได้ประกาศตนเข้ารับอิสลามในทีสุด ท่านนะบี  กลับออกมาด้วยความดีใจ พลางกล่าวว่า

"การสรรเสริญทั้งมวลนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ ผู้รงทำให้เด็กคนนี้รอดพ้นภัยจากนรก"

         แล้วเหตุไฉนเล่า พวกเรามุสลิมจึงไม่ฟื้นฟูจริยธรรมอันดีงามของอิสลามในด้านนี้ ด้วยการปฏิบัติตามจริยธรรมอันสูงส่งของท่านนะบี  เพื่อเสริมสร้างสังคมที่แข็งแกร่ง เพื่อให้ได้รับความพอพระทัยจากอัลลอฮ์ และเพื่อเราท่านทั้งหลายจะได้รับผลบุญอันยิ่งใหญ่จากพระองค์ทั้งดุนยาและอาคิเราะฮ์...