กฏเกณฑ์ศาสนาต้องมีหลักฐาน
โดย... อ.ดาวู๊ด รอมาน
"กฏเกณฑ์ของศาสนาจำเป็นต้องอาศัยหลักฐานที่ถูกต้องและชัดเจนยืนยัน"
อธิบายคำนิยาม
นิยามของคำว่า "กฏเกณฑ์ของศาสนา" บรรดานักวิชาการ ให้คำนิยามกฏเกณฑ์ของศาสนาไว้ว่า "เป็นคำกล่าวของอัลลอฮ์
ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของผู้ที่อยู่ในเกณฑ์บังคับของศาสนา โดยบ่งชี้เป็นคำสั่ง เป็นการเลือกกระทำ และการกำหนด"
สิ่งที่เป็น คำสั่งใช้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 ใช้ให้กระทำ แบ่งเป็น 2 ข้อ
ใช้ให้กระทำอย่างจริงจัง คือ วาญิบ (จำเป็น) ใช้ให้กระทำอย่างส่งเสริม คือ มันดูบ (ส่งเสริมให้ทำ)
ประเภทที่ 2 ใช้ให้ละทิ้ง แบ่งเป็น 2 ข้อ
ใช้ให้ละทิ้งอย่างเด็ดขาด คือ ฮะรอม ใช้ให้ละทิ้งแบบส่งเสริม คือ มักรูฮ์ส่วนอีกข้อหนึ่ง คือ การเลือกกระทำ คือ มุบาฮ์
ดังนั้นกฏเกณฑ์ของศาสนาจึงประกอบด้วย 5 กฏ คือ วาญิบ , มันดูบ , ฮะรอม , มักรูฮ์ , มุบาฮ์
ส่วนการกำหนด คือ กฏเกณฑ์ที่ศาสนากำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติ เช่น การกำหนดสาเหตุ ข้อห้าม และเงื่อนไข เป็นต้น
การที่จะยืนยันถึงการกระทำอย่างหนึ่ง อย่างใด ให้เข้าอยู่ในกฏเกณฑ์ทางศาสนา จำเป็นต้องอาศัยหลักฐานที่มีความถูกต้องทางด้านสายสืบ และมีความชัดเจนทางด้านตัวบท และตัวบ่งชี้ หมายความว่า สิ่งใด การกระทำใดที่ไม่มีพื้นฐานทางศาสนา ให้งดการปฏิบัติจนกว่าจะมีหลักฐานมายืนยันเสียก่อน ด้วยเหตุนี้จึงไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดอ้างว่าการกระทำที่ปฏิบัติอยู่ในเกณฑ์ของศาสนา จนกว่าจะมีหลักฐานที่ถูกต้องและชัดเจนมายืนยัน
เพราะการยืนยันสิ่งหนึ่งให้เข้าอยู่ในเกณฑ์ของศาสนาเป็นสิทธิเฉพาะทางศาสนาเท่านั้น หากมีคนใดกล่าวว่าสิ่งที่น่าสงสัยว่าเป็นวาญิบ จงกล่าวถามว่า "หลักฐานอยู่ที่ไหน ?" เพราะเรื่องของศาสนา และการตัดสิน(ฮุก่ม) ยืนยันว่ามีหลักฐาน ต้องแน่ชัดถึงหลักฐานที่มี โดยมิได้พูดลอยๆขึ้นมาว่า "มีหลักฐาน" แต่มิได้แสดงหลักฐานให้ชัดแจ้ง
การยืนยันเรื่องศาสนาโดยไม่ได้ใช้สติปัญญา แต่ใช้อารมณ์ รสนิยม จารีตประเพณี บรรพบุรุษ ญาณวิเศษ และความฝัน ทั้งหมดนั้นต้องพิสูจน์ และถูกตรวจวัดโดยใช้มาตรวัดของอัลกุรอานและซุนนะฮ์นะบีมุฮัมมัด
เมื่อสอดคล้องกับอัลกุรอานและซุนนะฮ์ท่านนะบีมุฮัมมัด
เรื่องนั้นจะถูกตอบรับ แต่ถ้าไม่สอดคล้องและขัดแย้งจะถูกปฏิเสธทันที
ความเห็น คำพูด จะต้องถูกพิสูจน์และตรวจวัดที่ความจริง ความจริงนั้นมิได้พิสูจน์กันที่มัสฮับ(แนวทาง) ไม่ได้พิสูจน์ที่ตัวบุคคลที่พูด ผู้ใดที่กล่าวคำพูดค้านกับอัลกุรอาน หรือซุนนะฮ์นะบีมุฮัมมัด
คำพูดดังกล่าวถือเป็นโมฆะ ไม่ว่าเจ้าของคำพูดจะเป็นใครก็ตาม และบรรดามัสฮับต่างๆ ที่มีความเห็นที่ค้านกับหลักฐาน ก็ให้ถือว่าเป็นโมฆะ ไม่ว่าจะเป็นมัสฮับใดก็ตาม ถ้าหากว่าค้านกับตัวบทและหลักฐาน
หลักฐาน คือ รากฐาน สิ่งอื่นๆถือว่าเป็นข้อปลีกย่อย จะไม่นำหน้ารากฐาน หลักฐานเปรียบเสมือนเจ้านายที่ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม ส่วนข้อปลีกย่อยเป็นเสมือนบ่าวทาสที่ต้องเชื่อฟังเจ้านาย และจะไม่สามารถนำหน้าเจ้านายได้เป็นอันขาด
หลักฐาน เป็นเครื่องมือตรวจวัด ข้อปลีกย่อยเป็นสิ่งที่ถูกตรวจวัด จึงไม่สมควรที่จะยึดถือสิ่งที่ถูกตรวจวัด โดยละเลยเครื่องมือตรวจวัด